xs
xsm
sm
md
lg

คำพิพากษาศาลฎีกายกฟ้องคดีค่าโง่ทางด่วน 6 พันล้านฉบับเต็ม

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


บุญของประเทศ กทพ. ไม่ต้องจ่ายค่าโง่ 6.2 พันล้าน ศาลฎีกากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกคำร้องของบีบีซีดี ระบุ อดีต ผู้ว่า กทพ. ทำสัญญามีลักษณะฉ้อฉล รับผลประโยชน์ซื้อหุ้นต่ำกว่าราคาตลาดฟันกำไรรวมกันกว่า 4 ล้าน

วันนี้ ( 15 ก.พ. ) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ศาลฎีกา สนามหลวง นายชาลี ทัพพิมล ผู้พิพากษาศาลฎีกาคณะคดีปกครองพร้อมองค์คณะ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดีค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาท ที่ บริษัท บิลฟิงเกอร์ เบอร์เกอร์ เอจี ที่ 1 บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ที่ 2 และ บริษัท วัลเทอร์ เบา เอจี ที่ 3 ในนามบริษัท กิจการร่วมค้า บีบีซีดี ยื่นฟ้อง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ขอให้บังคับตามคำที่ชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้ กทพ.ชำระค่าปรับจำนวน 6,039,493,254 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี เนื่องจากส่งมอบพื้นที่ใช้ในการก่อสร้างทางสาบบางนา-บางพลี-บางประกง ล่าช้า

ทั้งนี้ ก่อนเริ่มการอ่านคำพิพากษา ศาลฎีกาได้อ่านคำสั่งยกคำร้องที่บริษัทกิจการร่วมค้าบีบีซีดี ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขออนุญาตสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมอีก 3 ปาก เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ร้องทั้ง 3 ยื่นบัญชีระบุพยาน 3 ปากในศาลชั้นต้น แต่กลับไม่นำพยานทั้งสามเข้าเบิกความ โดยนำพยานปากอื่นเข้าเบิกความแทนจนเสร็จสิ้น แล้วแถลงหมดพยาน และไม่ประสงค์จะนำพยานปากอื่นเข้านำสืบ จนกระทั่งศาลฎีกาเขียนคำพิพากษาเสร็จสิ้น ศาลฎีกาจึงเห็นว่าไม่มีเหตุอันควรให้สืบพยานเพิ่มเติม มีคำสั่งยกคำร้อง

จากนั้นศาลได้อ่านคำพิพากษาในคดี โดยคดีนี้ กทพ.ผู้ถูกฟ้องยื่นอุทธรณ์คัดค้านว่า การดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมาย สัญญาดังกล่าวทำขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาโดยมีพฤติการณ์ฉ้อฉลหลายประการ และในขณะผู้ว่าการ กทพ.บางคน ถือหุ้นอยู่ในบริษัท ช.การช่างฝ่ายผู้ฟ้องคดี โดยซื้อในราคาจองก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ และขายไปภายหลังลงนามในสัญญา และมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกหลายคนได้รับสิทธิการจองหุ้นในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ทำให้ได้ประโยชน์ส่วนต่างของราคาซื้อเมื่อเข้าสุ่ตลาดหลักทรัพย์อันมีลักษณะการให้ประโยชน์ ตลอดจนการลงนามจ้างวิศวกรที่ปรึกษาขัดต่อมติของคณะกรรม กทพ. และเหตุผลอื่นหลายประการ ขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยสรุปว่า ที่ กทพ. ผู้ถูกฟ้องคดียกข้อต่อสู้ว่า สัญญาอนุญาโตตุการทำขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของ กทพ. ที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาร่วมกิจการร่วมค้าบีบีซีดี ผู้ฟ้องมีพฤติการณ์ฉ้อฉลหลายประการ ซึ่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้วินิจฉัยข้อต่อสู้ดังกล่าวว่า นิติกรรมหรือสัญญาที่ขึ้นระหว่าง บีบีซีดี ผู้ฟ้องคดี และ กทพ. ผู้ถูกฟ้องคดี หากมีการทำขึ้นเพราะกลฉ้อฉล ผลในทางกฎหมายอย่างมากก็เป็นเพียงโฆฆียะ ในเมื่อไม่ปรากฎการบอกล้าง สัญญาจึงชอบด้วยกฎหมายและฟังไม่ได้ว่าเป็นสัญญาที่เกิดจากกลฉ้อฉลนั้น เห็นว่า กทพ. ผู้ถูกฟ้องเป็นหน่วยงานทางปกครองที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายฝ่ายมหาชน สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกง ที่กิจการร่วมค้า บีบีซีดี ผู้ฟ้องคดี ทำกับ กทพ. ผู้ถูกฟ้องคดี นั้น กทพ. ผู้ถูกฟ้องคดี ทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในฐานะหน่วยงานทางปกครองที่เป็นองค์กรนิติบุคคล การใช้อำนาจของผู้ว่าการ กทพ. ซึ่งกระทำในนาม กทพ. ผู้ถูกฟ้องคดีจะผูกพัน กทพ. ผู้ถูกฟ้องคดีต่อเมื่ออยู่ภายใต้หลักความชอบด้วยกฎหมาย และการใช้อำนาจดังกล่าวจะต้องมิใช่เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ หรือมีการบิดผันอำนาจทางหนึ่งทางใดอีกด้วย ที่ กทพ. ผู้ถูกฟ้องคดีอุทธรณ์ในเรื่องดังกล่าวว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของประกาศคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 ซึ่งเป็นกฎหมายที่จัดตั้ง กทพ. และเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ฟ้องคดีย่อมยกขึ้นกล่าวอ้างได้

เมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีรับฟังได้ว่า ก่อนลงนามในสัญญาจ้างเหมาออกแบบก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ นายศิวะ เจริญพันธ์ ผู้ว่าการกทพ.ในขณะนั้นได้รับผลประโยชน์จากฝ่ายกิจการร่วมค้าบีบีซีดี ผู้ฟ้องในรูปสิทธิซื้อหุ้นผู้มีอุปการะคุณของ บริษัท ช.การช่างฯ ผู้ฟ้องที่ 2 ในราคาต่ำกว่าราคาตลาดจำนวน 1หมื่นหุ้น และสิทธิซื้อหุ้นในฐานะเป็นกรรมการกทพ.อีก 7 หมื่นหุ้นต่อมามีการขายหุ้นทำให้นายศิวะได้กำไรรวมเป็นเงิน 2.8 ล้านบาท

ทั้งนี้ขณะนั้นนายศิวะได้ดำเนินการให้มีการลงนามในสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ ให้จงได้ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นมีปัญหาความไม่พร้อมหลายประการเช่น กรมทางหลวงยังไม่ได้ข้อยุติอนุญาตให้ใช้พื้นที่ ฯลฯ จนเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการขยายระยะเวลาและเรียกร้องค่าใช้เพิ่มเติมในเวลาต่อมา นายศิวะยืนยันการส่งมอบพื้นที่ให้ผู้ฟ้องเริ่มงานอันเป็นผลให้ผู้ฟ้องมีสิทธิได้รับเงินเพื่อใช้เริ่มงานก่อสร้างจำนวน 1,977 ล้านบาทและเป็นการเริ่มนับกำหนดเวลาแล้วเสร็จของการดำเนินการก่อสร้างทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่ายังไม่พร้อมที่จะส่งมอบพื้นที่ให้แก่ผู้ฟ้อง

นอกจากนี้ นายเรืองฤทธิ์ พูลสวัสดิ์ ผู้ว่าการ กทพ. คนต่อมาสมัยเป็นรองผู้ว่าการ กทพ.รับผิดชอบโครงการทางด่วนดูแลปัญหาการขอขยายระยะเวลารู้ปัญหาแต่ไม่เปิดเผย และพบว่าเคยซื้อหุ้นจองจากบริษัท ช.การช่างฯ ผู้ฟ้องที่ 2 และขายได้กำไร 7.9 แสนบาท และข้อเท็จจริงปรากฎว่านายศิวะและนายเรืองฤทธิ์และเจ้าหน้าที่กทพ.รวม 10 คนถูกกระทรวงมหาดไทยดำเนินคดีอาญาฐานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและยังมีเจ้าหน้าที่กทพ. อีก 13 คนถูกสอบสวนวินัย

เมื่อพิจารณาประกอบกับประโยชน์ที่รับจากการจองหุ้นดังกล่าวแล้ว น่าเชื่อว่าผู้ว่าการ กทพ.ขณะนั้นต้องการจะช่วยเหลือผู้ฟ้องโดยเห็นแก่ประโยชน์ที่ฝ่ายผู้ฟ้องจัดให้จึงถือว่าการใช้อำนาจในฐานะผู้ว่าการ กทพ.ในขณะนั้นลงนามในสัญญาจ้างเหมาดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งการจัดสรรหุ้นของบริษัทในเครือให้ผู้ว่าการ กทพ.และเจ้าหน้าที่ กทพ.มีสิทธิซื้อก่อนทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบร่วมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ ถือว่าผู้ฟ้องได้ให้ประโยชน์แก่ผู้ว่าการกทพ.ในขณะนั้นและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อจูงใจให้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการทำสัญญาดังกล่าวโดยเอื้อประโยชน์แก่ผู้ฟ้องกรณีจึงต้องถือว่า ในการทำสัญญาดังกล่าวของผู้ฟ้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริตอีกด้วย สัญญาจ้างเหมาออกแบบร่วมก่อสร้างโครงการทางด่วนฯ ซึ่งเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงไม่มีผลผูกพันผู้ถูกฟ้อง หากศาลบังคับให้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงพิพากษากลับให้ยกคำฟ้องของผู้ฟ้อง

ภายหลังศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้อง โดยที่ กทพ. ชนะคดีไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย นายมณเทียร กุลธำรงค์ รองผู้ว่าฯกทพ. ฝ่ายกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน ที่เข้าร่วมฟังการพิพากษา กล่าวสั้นๆ ด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้มว่า ต้องขอขอบคุณพนักงานอัยการ ที่เข้าช่วยเหลือในการฎีกาคดีนี้ คำพิพากษาของศาลฎีกาถือว่าเป็นที่สุด จากนี้ไปยังไม่ทราบว่าฝ่าย กิจการร่วมค้า บีบีซีดี จะดำเนินการอย่างไร

ด้านนายนพดล อินทรลิบ ทนายความของฝ่าย กิจการร่วมค้า บีบีซีดี กล่าวว่า เท่าที่ฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา ยังไม่เข้าใจในบางประเด็นว่าศาลมีความหมายว่าอย่างไร คงต้องคัดคำพิพากษาไปปรึกษากับทาง กิจการร่วมค้า บีบีซีดี อีกครั้ง เพื่อดูสัญญาว่าจ้างการก่อสร้าง ว่าจะสามารถเรียกร้องค่าเสียทางใดได้บ้าง แต่ในคดีนี้คงไม่สามารถดำเนินการใดๆได้อีก เนื่องจากคำพิพากษาของศาลฎีกาถือเป็นที่สุด นอกจากจะหาช่องทางว่าจะสามารถนำเงินที่ลงทุนไปนั้นกลับคืนมาอย่างไร และดูความเป็นไปได้ว่าจะนำทางด่วนสายดังกล่าวกลับมาดูแลได้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น