คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้น จำนวน 9 จุดทั่ว กทม. ได้สร้างความหวดผวาแก่คนกรุงส่วนใหญ่เป็นอย่างมาก การใช้ชีวิตตามปกติ ดูเหมือนจะไม่ปกติอีกต่อไปเมื่อมีอาการหวาดระแวงเพิ่มเข้า โพลล์หลายสำนักชี้ว่าสุขภาพจิตของคนกรุงแย่ขึ้น และยังไม่มั่นใจว่าจะมีเหตุการณ์ณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกหรือไม่ การเก็บกู้วัตถุอันตรายหรือระเบิด จึงเป็นภารกิจของ นักทำลายล้างวัตถุระเบิดหรือนัก E.O.D (Expolsive Ordnance Disposal) ซึ่งกระจายอยู่หลายหน่วยงานใน 4 เหล่าทัพ คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และสำนักวานตำรวจแห่งชาติ
หลังเกิดเหตุระเบิดที่กรุงเทพมหานคร และการขู่วางระเบิดในพื้นที่ต่าง ๆ สร้างความสับสนและความวิตกกังวลกับประชาชนโดยทั่วไป รวมทั้งทำให้เกิดคำถามว่าประชาชนสามารถหรือควรระมัดระวังและปฏิบัติตัวอย่างไรกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ชุดปฏิบัติการตรวจเก็บกู้ระเบิด กองสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงฝากคำแนะนำพร้อมแนวทางปฏิบัติเบื้องต้นสำหรับประชาชนในการป้องกันชีวิต และทรัพย์สินให้พ้นภัยจากวัตถุระเบิด ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หลายกรณี
วัตถุต้องสงสัย คืออะไรบ้าง วัตถุต้องสงสัยหมายถึง กล่องพัสดุภัณฑ์ไปรษณีย์ หีบห่อ กระเป๋าเดินทางสิ่งที่มีลักษณะต้องสงสัยอื่น ๆ ว่าจะมีวัตถุระเบิด หรือสิ่งอันตรายบรรจุภายใน ซึ่งไปรษณีย์ระเบิดหรือกล่องพัสดุภัณฑ์ไปรษณีย์ ต้องสงสัย ส่วนมากจะเกิดระเบิดเมื่อบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายเปิดกล่อง หีบห่อ หรือกระเป๋าเอกสารที่บรรจุระเบิดแสวงเครื่องไว้ภายใน ซึ่งการสังเกตวัตถุต้องสงสัย หรือไปรษณีย์ระเบิด คือ จะมีน้ำหนักมากเกินขนาด ,ซองจดหมายมีลักษณะแข็งพับงอไม่ได้ ,ห่อพัสดุหรือซองจดหมายมีลักษณะโป่งบวมหรือพองผิดปกติ ,ลักษณะการห่อแน่นหนาเกินควร ,มีสายไฟเส้นเล็ก ๆ ยื่นออกมา ,มีคราบน้ำมันหรือสีซีดจางที่กระดาษห่อ ,ไม่มีชื่อผู้ส่ง ,มีการเขียน ข้อความหรือติดภาพที่เรียกร้องความสนใจ เช่นภาพเปลือย ,เป็นจดหมายที่ไม่คาดคิดว่าจะได้รับ เช่น ส่งมาจากผู้ที่เสียชีวิตแล้ว ,ติดแสตมป์มากเกินขนาด (โดยเฉพาะไปรษณีย์ภายในประเทศ) ,มีการทำเครื่องหมายพิเศษต่าง ๆ บนซองหรือกล่องพัสดุภัณฑ์ เช่น “เฉพาะส่วนตัว” หรือ “เฉพาะบุคคล” ,ลายมือเขียนหรือพิมพ์จ่าหน้าซองไม่เป็นระเบียบ ,มีชื่อผู้รับ แต่ระบุตำแหน่งหรืยศไม่ถูก ,สะกดผิดในคำง่าย ๆ ,ผู้ที่มีกรณีขัดแย้งอย่างรุนแรงกับผู้อื่น ควรสงสัยและระมัดระวังเป็นพิเศษ
หากประชาชนได้รับกล่องพัสดุไปรษณีย์ ที่มีลักษณะดังที่กล่าว หรือมีผู้อื่นลอบนำไปวางไว้ภายในบ้านหรือใกล้บริเวณบ้าน ให้รีบแจ้งตำรวจท้องที่ไปตรวจสอบทันที อย่าแตะต้อง แงะ งัด แกะ เปิด หรือรบกวนอย่างหนึ่งอย่างใด
กรณีเกิดเหตุ “ขู่วางระเบิด” ควรทำอย่างไร ส่วนใหญ่การขู่วางระเบิดจะใช้โทรศัพท์ติดต่อ เพราะคนร้ายต้องการให้เกิดความตื่นเต้นตกใจในทันทีทันใด ในการวิเคราะห์ข่าวนั้น ขั้นแรกให้ตั้งสมมติฐานขั้นต้นว่า “เป็นเรื่องจริง” ไว้ก่อน จากนั้นให้สืบสวนหาข้อเท็จจริงและแหล่งที่มาของข่าว พิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับคุณลักษณะของผู้ขู่วางระเบิด พิจารณาตรวจสอบก่อนว่าเคยมี่กรณีเกิดขึ้นบ้างหรือไม่ โดยให้มีการการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องเพื่อประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นอย่างมาก โดยสิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่อได้รับข่าวขู่วางระเบิด คือ ให้ระงับอารมณ์อย่าตื่นเต้นตกใจ รวมทั้งตั้งใจฟังและอย่าขัดจังหวะการพูด ,พยายามจดจำคำพูดให้หมด และในเวลาที่ได้รับข่าวควรพูดอย่างสุภาพ ,พยายามถ่วงเวลาพูดให้นาน ๆ และหากเป็นไปได้พยายามอัดเทปคำพูดไว้ ,สังเกตเสียงแทรกในขณะพูดว่ามีเสียงเครื่องจักร เสียงเครื่องยนต์ เสียงเพลิง หรือเสียงอื่น ๆ หรือไม่ นอกจากนี้ให้พยายามสังเกตสำเนียงของผู้พูดหรือคุณลักษณะเสียงของผู้พูดว่าเป็นอย่างไร หญิง หรือชาย น้ำเสียงนุ่มหรือกระด้างจากนั้นให้รีบรายงานการรับข่าวแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเข้าปฏิบัติงานและควบคุมสถานการณ์ให้เร็วที่สุดและอย่าเปิดเผยแหล่งข่าวแก่ผู้ไม่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ยังมีข้อปฏิบัติในการตรวจสอบการขู่วางระเบิด ซึ่งพนักงานรับโทรศัพท์หรือผู้ที่รับโทรศัพท์ควรพยายามสอบถามคนร้ายหรือผู้ที่ขู่วางระเบิด ว่า ระเบิดที่วางไว้ อยู่ไหน จะระเบิดเวลาใด ,ระเบิดที่ว่านั้นมีรูปร่างอย่างไร หรือคล้ายกับอะไร ,เป็นระเบิดชนิดใด จะระเบิดได้อย่างไร ,คุณเป็นคนวางระเบิดใช่หรือไม่ ทำไมถึงเอาระเบิดมาวางไว้ ,คุณอยู่ที่ไหน ชื่ออะไร โดยพยายามหารายละเอียดให้มากที่สุดเกี่ยวกับระเบิดและสถานที่วางระเบิด ส่วนการอพยพคนออกจากนอกสถานที่นั้น ควรเป็นขั้นตอนสุดท้าย
กรณีพบวัตถุระเบิด ควรทำอย่างไร เมื่อพบวัตถุระเบิดจริงๆ เช่น ลูกระเบิด ดินระเบิด ฯลฯ ลักษณะดังกล่าวนี้บางคนก็รู้จักบางคนก็ไม่รู้จักว่าเป็นระเบิดก็ต้องรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนทันที อย่าผลีผลามเข้าไปแตะต้องรบกวนหรือพยายามเคลื่อนย้ายด้วยตัวเอง ระยะปลอดภัยตามหลักการคือ การอยู่ให้ห่างวัตถุระเบิดนั้นอย่างน้อย 300 เมตร ขึ้นไป โดยถือหลักการที่ว่า ยิ่งอยู่ห่างยิ่งปลอดภัย แต่หากเกิดเหตุระเบิดแล้ว ควรตรวจสอบผู้บาดเจ็บให้ความช่วยเหลือปฐมพยาบาลนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยด่วน ขณะเดียวกันต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบโดยเร็วที่สุด และให้ผู้คนออกไปในพื้นที่ปลอดภัย ห้ามเข้าทำการตรวจค้นหรือเคลื่อนย้ายสิ่งของต่าง ๆ เพื่อป้องกันการระเบิดซ้ำสอง และเพื่อไมให้วัตถุพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่คนร้ายได้ทำขึ้นสูญหายไป ควรมีการป้องกันรักษาสถานที่ด้วยการล้อมเชือกกันบริเวณที่เกิดเหตุ พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าสังเกตการณ์ในระยะห่างพอที่จะสังเกตการณ์ได้ตลอดเวลา เพื่อป้องกันผู้ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าไปรบกวนทำลายร่องรอยพบพยานหลักฐาน ในที่เกิดเหตุจนกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไปถึงและดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ สำหรับป้องกันวัตถุระเบิดหรือวัตถุต้องสงสัย คือ ยางนอกรถยนต์ที่ไม่ใช่แล้ว 5-6 เส้น เลือกขนาดที่มีน้ำหนักพอสมควรสำหรับได้ครอบป้องกันวัตถุระเบิดหรือกล่องต้องสงสัย ,กระสอบทราย กว้างประมาณ 1 ฟุต ยาว 1.5 ฟุต ตั้งแต่ 10-20 ลูก ยิ่งมากยิ่ดีสำหรับวางล้อมระเบิดหรือกล่องต้องสงสัย ,เชือกสำหรับขึงป้องกัน ห้ามผู้ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้ารบกวนกรณีพบวัตถุระเบิดโดยเลือกชนิดที่มีสีเห็นได้ชัดเจนหรือใช้ผ้าสีส้มหรือสีแดงผูกไว้หลาย ๆ จุดบนเชือก ,ป้ายเตือนอันตราย ที่มีขนาดเห็นได้ชัด เขียนข้อความ “อันตราย-ห้ามเข้า” ติดไว้กับเชือกทั้งสีด้านหรือไว้ให้เห็นเด่นชัด ตามช่องทางหรือเส้นทางใกล้เคียงที่เกิดเหตุ ,น้ำยาดับเพลิงหรืออุปกรณ์ดับเพลิง ควรมีไว้ให้เพียงพอและฝึกฝนให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องอย่าสม่ำเสมอ ,ซักซ้อมและเครียมประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยทางโทรศัพท์ เช่น หน่วยพยาบาล หน่วยไฟฟ้า หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดของกองสรรพาวุธตำรวจและตำรวจท้องที่ เส้นทางเข้าออกที่เกิดเหตุและวิธีการรายงานผู้รับผิดชอบบังคับบัญชาในหน่วยงานนั้น
การแนะแนวทางการป้องกันระเบิดเป็นสิ่งที่น่าสนใจและเนื้อหาก็พอจะทำให้ประชาชนเข้าใจได้ถึงอันตรายของระเบิด แต่คงจะดีกว่านี้ หากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะจัดทำเป็นรูปเล่มที่น่าอ่านมีภาพประกอบที่ชัดเจนและสามารถเก็บรักษาได้ ไม่ใช่เป็นเพียงกระดาษขนาดเอ 4 ที่นำมาแจกจ่ายตามจุดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานีรถไฟฟ้า ศูนย์การค้าสยามพารากอน ห้างมาบุญครอง หรือสถานที่อื่น ๆ ซึ่งเมื่อคนที่รับมาสุดท้ายคงเพียงมองผ่าน ๆ และขยำทิ้งลงถังขยะเท่านั้นเอง