xs
xsm
sm
md
lg

ยกฟ้องผู้จ้างวานฆ่า “ไมเคิล วันสเลย์” - ทีมฆ่าจำคุกตลอดชีวิตถึงประหาร!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ศาลอาญาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต และประหารชีวิต 3 จำเลยทีมฆ่า “ไมเคิล เอร์วิน วันสเลย์” ผู้ตรวจบัญชีโรงงานน้ำตาลชาวออสซี่ ส่วน “ประดิษฐ์ ศิริวิริยะกุล” กรรมการบริหารโรงงานน้ำตาลเกษตรไทย ผู้จ้างวานฆ่า พิพากษายกฟ้อง

วันนี้ (5 ก.ย.) ที่ห้องพิจารณาคดี 912 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 5 ก.ย.49 เวลา 10.30 น. ศาลมีคำพิพากษาคดีที่ พนักงานอัยการจังหวัดนครสวรรค์ และนายอดัม เออร์วิน วันสเลย์ ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายบุญพรรณ สุทธิวิริวรรณ คนสนิทของนายประดิษฐ์ ศิริวิริยะกุล , นายสมโชค สุทธิวิริวรรณ น้องชายนายบุญพรรณ , นายประดิษฐ์ ศิริวิริยะกุล กรรมการบริหารโรงงานน้ำตาลเกษตรไทย และนายสมพงษ์ บัวสกุล หรือพงษ์ ปากพนัง ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานจ้างวาน ฆ่า และร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน

ตามฟ้องระบุความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 1 0มี.ค.42 เวลากลางวัน จำเลยที่ 3 มีเจตนาฆ่านายไมเคิล เออร์วิน วันสเลย์ อายุ 58 ปี หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบบัญชีของบริษัท เซ้าท์สาทร แพลนเนอร์ จำกัด โดยจำเลยที่ 3 จ้างวานให้จำเลยที่ 1 , 2 และ 4 และนายสมชาย ใจห้าว จำเลยร่วมในคดีนี้ ซึ่งศาลจังหวัดนครสวรรค์ มีคำพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต กับพวกซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกัน ใช้อาวุธปืนขนาด 11 มม.ยิง ผู้ตาย โดยมีคนร้าย 2 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์ประกบรถตู้โตโยต้า ทะเบียน 5ฝ-8231 กรุงเทพมหานครของผู้ตาย ที่กำลังเดินทางไปยังโรงงานน้ำตาลเกษตรไทย แล้วใช้อาวุธปืน 11 มม. รัวยิงใส่เข้ารถตู้ กระสุนถูกศีรษะและลำตัวผู้ตายจนเสียชีวิตคารถตู้ ซึ่งผู้ตาย ตรวจสอบพบการทุจริตของโรงงานน้ำตาลเกษตรไทยที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ เหตุเกิดที่บริเวณถนนทางเข้าโรงงานน้ำตาลเกษตร ต.หนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ซึ่งจำเลยทั้ง 4 ให้การปฏิเสธ โดยโจทก์ขอให้ศาลลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ม.83 , 84 , 288และ 289

ศาลพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติว่า ผู้ตายนั่งโดยสารรถตู้ เดินทางจาก กทม.เพื่อไปยังโรงานน้ำตาลเกษตรไทย โดยบุคคลอื่นรวม 5 คนร่วมเดินทางมาด้วย และเมื่อถึงสถานที่เกิดเหตุมีคนร้าย 2 คนขับรถจักรยานยนต์แซงทาด้านซ้าย ใช้อาวุธยิงผู้ตายหลายนัด กระสุนยิงถูกต้นคอ ศีรษะและร่างกายหลายแห่ง จนถึงแก่ความตาย คดีจึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่

โจทก์และโจทก์ร่วม มีบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนายสมชาย ใจห้าว จำเลยคดีหมายแดงที่ 874/2542 ของศาลจังหวัดนครสวรรค์ ส่งต่อศาล ระบุว่า นายสมชาย ให้การว่า วันที่ 4 มี.ค.42 จำเลยที่ 4 ชักชวนนายสมชาย จาก จ.นครศรีธรรมราชเพื่อไปหางานทำที่ จ.นครสวรรค์ โดยนั่งเครื่องบินออกเดินทางเมื่อวันที่ 6 มี.ค.42 เมื่อมาถึงสนามบินพบจำเลยที่ 2 กับผู้หญิงคนหนึ่งมารอรับ จากนั้นจำเลยที่ 2 พานั่งรถกระบะยี่ห้ออีซูซุ ไปยังโรงแรมจิระโฮเต็ล จ.พระนครศรีอยุธยา แล้วได้พบกับนายพิเชษฐ์ แก้วสามดวง หรือ ส.ทักษิณ (มือปืน) ซึ่งนายสมชายรู้จักมาก่อนแล้วประมาณ 1 ปีเนื่องจากอยู่ในจังหวัดเดียวกัน ต่อมาวันที่ 7-8 มี.ค.42 เวลา 20.00 น. จำเลยที่ 2 พานายสมชาย จำเลยที่ 4 และนายพิเชษฐ์ ไปที่ร้านอาหารแม่ลาปลาเผา จ.สิงห์บุรี และจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิ ปาเจโร่ มาพบเพื่อร่วมรับประทานอาหารกัน กระทั่งเวลา 22.00 น. จำเลยที่ 2 พาจำเลยที่ 4 นายสมชาย และนายพิเชษฐ์ กลับมาที่โรงแรม ขณะที่อยู่ในห้องนายพิเชษฐ์บอกกับนายสมชายว่าจำเลยที่ 1-2 บอกว่ามีงานให้ไปยิงคนที่จ.นครสวรรค์ โดยให้นายสมชายเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ พานายพิเชษฐ์ไปยิง ซึ่งนายสมชายตกลง ต่อมาวันที่ 9 มี.ค.42 เวลา 12.00 น. จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์เก๋งสีเขียว พานายสมชาย นายพิเชษฐ์ จำเลยที่ 4 ไปดูตัวผู้ตายที่ กทม. แต่จนถึงเวลา 18.00 น. เมื่อไม่พบผู้ตาย จึงพากันเดินทางกลับไปยังร้ายอาหารแม่ลาปลาเผา และจำเลยที่ 1 ขับรถมาร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน โดยพูดคุยถึงเรื่องการดูตัวผู้ตาย กระทั่งเวลา 21.00 น. จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์มิตซูบิชิ ปาเจโร่ พานายสมชายและนายพิเชษฐ์ออกจากร้านอาหาร ซึ่งได้บรรทุกรถจักรยานยนต์ที่จะขับไปยิงผู้ตายไปด้วย เพื่อไปดูเส้นทางใกล้โรงงานน้ำตาล ซึ่งจำเลยที่ 1 นายสมชาย และนายพิเชษฐ์ ช่วยกันนำรถจักรยานยนต์ลงจากรถ แล้วมีชายคนหนึ่งได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 1 ให้มารับรถแล้วขับขี่ออกไป ซึ่งจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ออกจากโรงงานเมื่อเวลา 02.00 น.

กระทั่งวันที่ 10 มี.ค.42 เวลา 08.00 น.จำเลยที่ 2 คืนห้องพักที่โรงแรม และขับรถออกไป ซึ่งระหว่างเดินทางได้พูดคุยถึงแผนการฆ่าผู้ตาย เมื่อถึงปั๊มน้ำมัน ปตท.จำเลยที่ 1 ขึ้นมาบนรถยนต์แล้วนำอาวุธปืนที่จะใช้ยิงผู้ตายมาให้ด้วย โดยจำเลยที่ 1 บอกว่าคนที่จะให้ยิงเป็นฝรั่ง รูปร่างสูงใหญ่ ศีรษะล้าน นั่งโดยสารรถตู้มาจาก กทม. มาประชุมที่โรงงานน้ำตาล และให้นายสมชายขับรถจักรยานยนต์ มีนายพิเชษฐ์นั่งซ้อนท้ายไปยิง แล้วเมื่อเวลา 10.00 น.จึงพากันไปยังวัดหนองโพ เห็นนายฉลอง พินผ่อง นำรถจักรยานยนต์มาจอดรอไว้ จากนั้นจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์พาจำเลยที่ 1 และ 4 ออกไปจากวัด แต่ก่อนออกไปจำเลยที่ 2 ให้โทรศัพท์มือถือกับนายสมชายเพื่อใช้ติดต่อกัน ต่อมาเวลา 11.00 น.จำเลยที่ 2 โทรบอกนายสมชายว่ารถตู้กำลังมา เมื่อรถตู้ขับเลี้ยวเข้าทางแยกโรงงานน้ำตาล นายสมชายขี่รถจักรยานยนต์พานายพิเชษฐ์ตามไปแล้วแซงขึ้นทางซ้ายมือ แล้วนายพิเชษฐ์ใช้อาวุธปืนขนาด 11 มม. ยิงเข้าไปในรถตู้หลายนัด เมื่อนายสมชายเห็นฝรั่งในรถตู้ถูกยิงแล้วจึงขี่รถไปยังวัดหนองโพ ไปพบนายฉลองซึ่งรออยู่โดยมีจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์มิตซูบิชิ ปาเจโร่มาจอดรอรับ จากนั้นจำเลยที่ 1 ขับพานายสมชายและนายพิเชษฐ์ไปยังปั๊ม ปตท. ที่มีจำเลยที่ 2 และ 4 รออยู่ โดยจำเลยที่ 2 ขับรถพานายสมชายไปส่งที่ กทม. พร้อมให้เงิน 1,500 บาท
ศาลเห็นว่า คำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าว ระบุรายละเอียดในการกระทำผิดอย่างชัดเจน และเป็นไปตามลำดับขั้นตอนสมเหตุสมผล ยากที่จะปั้นแต่งเรื่องได้ นอกจากนี้ยังปรากฏว่านายสมชาย ให้การรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนหลังจากถูกจับกุมได้เพียง 1 วัน ยิ่งกว่านั้นนายสมชาย ยังเป็นผู้นำชี้ที่เกิดเหตุตามสถานที่ต่างๆ ตามที่ให้การไว้ รวมทั้งชี้ยืนยันรถยนต์มิตซูบิชิ ปาเจโร่ และเมื่ออัยการยื่นฟ้องนายสมชายต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ นายสมชายยังคงยืนยันให้การรับสารภาพตามฟ้อง อีกทั้งยังปรากฏว่านายสมชายยื่นคำร้องประกอบคำสารภาพขอให้ศาลลดโทษโดยระบุรายละเอียดตามคำให้การชั้นสอบสวน และภายหลังศาลพิพากษาลงโทษแล้วนายสมชายยังคงยืนยันให้การเช่นเดิม ซึ่งโจทก์และโจทก์ร่วม มี พล.ต.ท.โสภณ สะวิคามิน และ พ.ต.อ.สมพงษ์ เรืองประไพ พนักงานสอบสวน มาเป็นพยานเบิกความรับรองในชั้นสอบสวนว่านายสมชายให้การไว้จริง อีกทั้งไม่ปรากฏเหตุว่านายสมชายจะต้องให้การปรักปรำบุคคลที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด จึงเชื่อว่านายสมชายให้การต่อพนักงานสอบสวนตามความจริงด้วยความสมัครใจ

ส่วนที่นายสมชาย มาเบิกความในชั้นพิจารณาทำนองว่า ไม่รู้จักจำเลยที่ 4 มาก่อน และที่ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เนื่องจากมีผู้เสนอสินบนนำจับเป็นเงิน 200,000 บาทโดยมี น.ส.สายฝน กลางกิ่ง เป็นผู้รับเงิน ซึ่งภายหลัง นายสมชาย ลงลายมือชื่อในบันทึกคำให้การแล้วนายสมชายได้รับเงินอีก 1 แสนบาท โดยข้อความในบันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การที่ระบุถึงชื่อบุคคลต่างๆร่วมกระทำผิดนั้น นายสมชาย คัดลอกชื่อมาจากเอกสารที่ตำรวจจัดทำขึ้น ศาลเห็นว่าเป็นการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอยไม่สมเหตุผล น่าเชื่อว่าเป็นการเบิกความบ่ายเบี่ยงเพื่อช่วยจำเลยทั้ง 4 ไม่ให้ต้องรับโทษ โดยแม้ว่าคำให้การในชั้นสอบสวนของนายสมชาย เป็นพยานบอกเล่าและมีลักษณะเป็นคำซัดทอดให้เป็นความผิดของผู้อื่นแต่ก็เป็นการแจ้งเรื่องราวตามที่ได้ประสบมา จากการกระทำผิดของตัวเอง ยิ่งกว่าเป็นการปรับปรำผู้อื่นดังนั้นคำให้การในชั้นสอบสวนของนายสมชาย จึงเชื่อได้ว่าเป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณา

นอกจากนี้ โจทก์และโจทก์ร่วม ยังมีนายชูชีพ ท่วมคล้าย ซึ่งเคยทำงานและรู้จักกับจำเลยที่ 2 ที่โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ,นายธนันต์ อิ่มมณี พนักงานโรงงานน้ำตาลเกษตรไทย ,นายฉลอง พินผ่อง และนางสุภลัคน์ พินผ่อง ภรรยานายฉลอง มาเบิกความเป็นพยานว่า ในคืนก่อนเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ มิตซูบิชิ ปาเจโร่พร้อมกับนายสมชาย และนายพิเชษฐ์ มาที่โรงงานและให้นายธนันต์ ช่วยยกรถจักรยานยนต์ลงจากท้ายรถจำเลยที่ 1 พร้อมสั่งให้นำกุญแจรถจักรยานยนต์ไปมอบให้นายฉลอง ในเช้าของวันที่ 10 มี.ค. 42 ซึ่งหลังจากตำรวจจับนายสมชาย ได้แล้ว นายธนันต์ได้ชี้ยืนยันนายสมชายพร้อมกับพาเจ้าหน้าที่ไปยึดเงินจำนวน 8,000 บาทที่จำเลยที่ 1ให้ไว้ ขณะที่นายฉลองเบิกความรับว่านายธนันต์นำกุญแจรถมามอบให้เมื่อเวลา 07.00น.ของวันที่ 10 มี.ค. 42 และนายฉลองขับขี่รถจักรยานยนต์ไปจอดไว้ที่ วัดหนองโพ พบจำเลยที่ 1 นายสมชาย และนายพิเชษฐ์ รออยู่ที่วัดซึ่งจำเลยที่ 1 นำเงินจำนวน 30,000 บาทมามอบให้นายฉลองในวันที่ 12 มี.ค.42 โดยบอกว่าเป็นค่าเหนื่อย ศาลเห็นว่าพยานดังกล่าวรู้จักกับจำเลยที่ 1 จึงย่อมจำจำเลยได้ไม่ผิดตัว สำหรับนายสมชาย และนายพิเชษฐ์นั้นเนื่องจากนายฉลองเป็นผู้ส่งมอบกุญแจให้เชื่อว่ามีเวลาพอสมควรที่นายฉลองจะจดจำรูปร่างหน้าตาของทั้งสองได้

สำหรับที่จำเลยที่ 1 นำสืบต่อสู้คดีโดยอ้างถิ่นที่อยู่ ซึ่งแม้ว่าจะมีนายจิต ทวีตา เบิกความว่าคืนวันที่ 9 มี.ค.42 พักอยู่ด้วยกันกับจำเลยที่ 1 ที่โรงแรมพิมาร จ.นครสวรรค์ แต่เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีบ้านพักในจ.นครสวรรค์ อยู่แล้วไม่มีความจำเป็นต้องไปพักที่โรงแรมอีกทั้งปรากฏว่า พยานเป็นญาติกับจำเลยที่ 1 เชื่อว่าพยานอาจเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ไม่ให้รับโทษ และที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าไม่รู้กับจำเลยที่ 4 เห็นว่าเป็นการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอยไม่มีน้ำหนักรับฟังได้เช่นเดียวกับที่จำเลยที่ 2 ซึ่งนำสืบอ้างถิ่นที่อยู่ว่าทำงานอยู่ที่โรงงานน้าตาลเกษตรไทย ทั้งในวันที่ 9-10 มี.ค.2542 ซึ่งแม้ว่าจะมีรายงานการปฏิบัติงานมาแสดงแต่ไม่แน่ว่าจำเลยที่ 2 อาจเป็นผู้ทำบันทึกขึ้นเองและที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าไม่รู้จักจำเลยที่ 4 ก็เป็นการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย สำหรับจำเลยที่ 4 แม้จะอ้างถิ่นที่อยู่ในวันเกิดเหตุว่าอยู่ที่บ้านพัก ใน จ.นครศรีธรรมราช โดยมีนายโชคดี กาญจนมัย มาเบิกความสนับสนุนก็ตาม แต่พยานดังกล่าวไม่ได้พักอาศัยอยู่บ้านเดียวกับจำเลยที่ 4 จึงไม่น่าเชื่อว่าพยานจะพบกับจำเลยทุกวันในช่วงเกิดเหตุซึ่งพยานรู้จักสนิทสนมกับจำเลยมาตั้งแต่เด็กจึงเชื่อว่าอาจเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 4 ไม่ให้ต้องรับโทษ และที่จำเลยที่ 4 อ้างว่าตำรวจจับผิดตัว เนื่องจากมีคนชื่อ – นามสกุลเดียวกันอีกถึง 3 คน ศาลเห็นว่าไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้

พยานหลักฐานจำเลยที่ 1,2 และ 4 จึงไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมได้ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ,2 และ 4 กระทำการต่างๆตามที่นายสมชาย ให้การไว้ในชั้นสอบสวนจริง แม้ว่าจำเลยที่ 2และ 4 ไม่ได้อยู่ด้วยขณะที่นายพิเชษฐ์ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายก็ตาม แต่จำเลยทั้ง 2 มีส่วนร่วมในการกระทำผิดของ นายสมชายและนายพิเชษฐ์ เพื่อให้ก่อเหตุยิงผู้ตายจนเสียชีวิตในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำอันมีความผิดเป็นตัวการร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และแม้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมวางแผนฆ่าผู้ตายตั้งแต่ต้นในการพานายสมชาย และนายพิเชษฐ์ไปดูเส้นทาง จัดเตรียมอาวุธปืน และรถจักรยานยนต์ที่จะใช้ในการยิงผู้ตายจึงถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ช่วยเหลือและให้ความสะดวกผู้อื่นกระทำความผิดจึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา ม.86

สำหรับจำเลยที่ 3 โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีพยานคนใดเบิกความยืนยันว่า รู้เห็นเหตุการณ์การใช้จ้างวาน ซึ่งแม้ว่าคำเบิกความของนายฉลองจะระบุว่า เมื่อวันที่ 12 มี.ค.42 เวลา 20.00 น. จำเลยที่ 1 เรียกนายฉลองเข้าไปคุยในรถยนต์มิตซูบิชิ ปาเจโร ที่มีจำเลยที่ 3 นั่งอยู่ที่เบาะหลัง ซึ่งจำเลยที่ 3 พูดว่า “ เรื่องนี้ต้องให้เงียบที่สุด ดีแล้วที่ฝรั่งมันตาย มันจะได้ไม่ต้องมายุ่งกับเรา เราจะได้อยู่สบาย” ศาลเห็นว่าข้อความดังกล่าวยังไม่ชี้ชัดว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้สั่งให้ฆ่า อีกทั้งจำเลยที่ 3 นำสืบต่อสู้คดีโดยอ้างว่าวันที่ 12 มี.ค.42 อยู่ที่ จ.อุตรดิตถ์ และแม้ว่าพนักงานสอบสวนจะเบิกความว่าจำเลยที่ 3 ใช้โทรศัพท์มือถือโทรติดต่อกับจำเลยที่ 2ในวันที่ 2 มี.ค.42 แต่โจทก์และโจทก์ร่วมก็ไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันว่าเป็นการโทรศัพท์ให้สั่งฆ่าผู้ตาย นอกจากนี้ยังได้ความจากนางไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล เบิกความเกี่ยวกับสาเหตุการตายว่าน่าจะมาจากที่ผู้ตายตรวจสอบบัญชี ของบริษัทน้ำตาลทราบ 3 แห่งที่พบความผิดปกติในการชำระหนี้ การซื้อขาย-การกักเก็บน้ำตาลทราบซึ่งกรณีดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 3 โดยตรงดังนั้นพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักมั่งคงเพียงพอให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ใช้จ้างวาน
พิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 1 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.289 (4) และฐานเป็นผู้ให้การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกผู้อื่นกระทำผิด ตาม ม.86 และให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 2 และ 4 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.289 (4) และม.83 สำหรับจำเลยที่ 3 พิพากษาให้ยกฟ้อง

ภายหลังมีคำพิพากษา บุตรสาวของนายบุญพรรณ จำเลยที่ 1 ได้โผเข้ากอบบิดาด้วยน้ำตานองหน้า ขณะที่ญาติของจำเลยที่ 1 , 2 และ 4 ที่เดินทางมาร่วมพังคำพิพากษากว่า 50 คนต่างก็โผเข้ากอดจำเลยทั้ง 3 และช่วยกันปลอบใจ ที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษ ส่วนจำเลยที่ 3 ยังคงมีสีหน้านิ่งเฉยไม่ได้แสดงความดีใจที่ศาลมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง อย่างไรก็ดี นายบุญพรรณ ,นายสมโชค ,และนายสมพงษ์ จำเลยที่ 1 , 2 และ 4 กล่าวจะยื่นต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดโดยจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ นายอดัม เออร์วิน วันสเลย์ บุตรชายของนายไมเคิล ไม่ได้เดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาแต่อย่างใด แต่ได้มอบอำนาจให้ผู้แทนชาวไทย และเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประประเทศไทยมาร่วมฟังการพิพากษา

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในส่วนของนายพิเชษฐ์ แก้วสามดวง หรือ เชษฐ์ ส.ทักษิณ มือปืน ผู้ต้องหาคนสุดท้ายถูกจับกุมและแยกสำนวนฟ้องเมื่อ 2545 ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์ของศาลอาญา

สำหรับคดีนี้มีคนร้าย 2 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์ประกบรถตู้โตโยต้า ทะเบียน 5ฝ-8231 กรุงเทพมหานครของนายไมเคิล ที่เดินทางไปยังโรงงานน้ำตาลเกษตรไทย แล้วใช้อาวุธปืน 11 มม.รัวยิงใส่เข้ารถตู้ กระสุนถูกศีรษะและลำตัวของนายไมเคิล รวม 7 นัด เสียชีวิตคารถตู้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อ.ตาคลี บก.ภ.นครสวรรค์ และ ตร.ภาค 6 ร่วมกันคลี่คลายคดีจนทราบสาเหตุสังหารว่ามาจากเรื่องขัดผลประโยชน์ทั้งภายนอกและในโรงงานเกษตรไทยที่ประสบกับการขาดทุนจนเป็นหนี้ธนาคาร 6 แห่งเป็นเงินกว่า 5 พันล้านบาท ซึ่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ธนาคารเจ้าหนี้เข้าฟื้นฟูกิจการแทนนายประดิษฐ์ โดยกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้ได้ว่าจ้างบริษัท เซ้าท์สาทร แพลนเนอร์ เข้าไปดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สิน และบริหารโรงงานน้ำตาลเกษตรไทย ซึ่งทางบริษัท เซ้าท์สาทรฯ ได้ส่งนายไมเคิลผู้ตายไปดำเนินการ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนจนทราบว่านายประดิษฐ์เป็นผู้จ้างวานนายบุญพรรณ คนสนิทของนายประดิษฐ์ ให้จัดหาทีมมือปืน จึงออกหมายจับทั้งสองในข้อหาเป็นผู้ใช้จ้างวานฆ่าผู้อื่น และร่วมกับพวกฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และไตร่ตรองไว้ก่อน โดยนายประดิษฐ์เข้ามอบตัว ซึ่งได้รับการประกันตัวระหว่างสู้คดี
นายประดิษฐ์ ศิริวิริยะกุล กรรมการบริหารโรงงานน้ำตาลเกษตรไทย ซึ่งศาลพิพากษายกฟ้องข้อหาจ้างวานฆ่า

กำลังโหลดความคิดเห็น