อดีตผู้บริหารเอ็นพาร์ค รอดตัว “อัยการสูงสุด” ชี้ขาดสั่งไม่ฟ้อง ระบุไม่ผิดโอนสิทธิ์ซื้อกิจการ ส่งผลให้คดีถือเป็นที่สิ้นสุดแล้ว
วันนี้ (2 มี.ค.) นายอรรถพล ใหญ่สว่าง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาสั่งคดีผู้บริหารบริษัท แนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ N-PARK กระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 เรื่องการโอนสิทธิ์ซื้อคืนทรัพย์สินจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) ว่า หลังจากครั้งแรกอัยการฝ่ายพิเศษ 1 ได้สรุปความเห็นสั่งไม่ฟ้อง นายทศพงศ์ จารุทวี อดีตผู้บริหารเอ็นพาร์ค, นายธารากานต์ พรตปกรณ์, นายสุบรรณ ถนอมบูรณ์เจริญ ซึ่งเป็นกรรมการเอ็นพาร์ค, บริษัท ดีซีเอช จำกัด และนางสว่าง มั่นคงเจริญ ผู้บริหาร บ.ดีซีเอช ผู้ต้องหาที่ 1-5 ในความผิดร่วมกันปิดบังข้อเท็จจริงในการซื้อคืนเอ็นพาร์ค ผ่าน บ.ดีซีเอช โดยมิได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการและผู้ถือหุ้นเอ็นพาร์ค ทำให้ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ขาดประโยชน์จากการมีสิทธิ์ซื้อคืนทรัพย์สินตามกฎหมาย ก.ล.ต. เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะฟังได้ว่านายทศพลกับพวกซึ่งเป็นอดีตกรรมการ N-PRAK ได้กระทำผิด แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า N-PRAK เป็นทรัพย์สินของ บบส.ซึ่งขายให้กับนางสว่างและ บ.ดีซีเอช ดังนั้น อัยการจึงเห็นว่าผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งน่าจะถูกกล่าวหาว่ามีการสมยอมขายเอ็นพาร์คในราคาต่ำให้กับบริษัท ดีซีเอช น่าจะเป็น บบส. และต่อมา พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้โต้แย้งคำสั่งอัยการดังกล่าวไปยังอัยการสูงสุดเพื่อให้เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด
ล่าสุด นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด พิจารณาสำนวนโดยละเอียดรอบคอบและมีคำสั่งชี้ขาดสั่งไม่ฟ้องนายทศพงศ์ อดีตผู้บริหารเอ็นพาร์ค กับพวกทั้ง 5 คนแล้ว ทั้งนี้เป็นไปตามรายงายความเห็นที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 อัยการเจ้าของสำนวน มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งห้า
โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ตามกฎหมายกำหนดว่า เมื่อพนักงานสอบสวนส่งความเห็นแย้งความเห็นการสั่งคดีของอัยการ ต้องให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาชี้ขาด ซึ่งปรากฏว่าอัยการสูงสุดเห็นชอบตามรายงานความเห็นครั้งแรกของอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 ที่สั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด ดังนั้น ขณะนี้จึงทำให้ผลคดีถึงที่สุดแล้ว เว้นแต่พนักงานสอบสวนจะพบพยานหลักฐานใหม่จึงนำคดีมาส่งให้อัยการพิจารณาฟ้องได้
สำหรับคดีนี้ สืบเนื่องจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ลงทุนว่า ช่วงปี 2542 เอ็นพาร์ค โดยนายทศพงศ์ ผู้รับผิดชอบได้ปรับโครงสร้างหนี้โดยเจรจาประนอมหนี้กับ บบส.เป็นผลสำเร็จได้ลดหนี้ และบริษัทในเครือ 5 บริษัทต้องโอนทรัพย์สินที่เป็นการประกันการชำระหนี้ให้ บบส. และนายทศพงศ์มอบสิทธิซื้อคืนเอ็นพาร์คให้กับนางสว่าง และบ.ดีซีเอช อันเป็นการกระทำผิดต่อมาตรา 311 พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ส่วนนางสว่าง และบ.ดี ซีเอช กระทำผิดฐานร่วมรับรู้ผลประโยชน์ของการประนอมหนี้ และรับประโยชน์จากสิทธิซื้อคืนทรัพย์สินทำให้เจ้าหนี้เอ็นพาร์ค และผู้ถือหุ้นเสียหายถือเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 315 พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต.จึงนำเรื่องเข้ากล่าวโทษต่อดีเอสไอให้ดำเนินคดีนายทศพงศ์ จารุทวี อดีตผู้บริหารเอ็นพาร์ค กับพวกดังกล่าว