สถิติอุบัติเหตุปีใหม่รวม 7 วันระวังอันตราย ลดได้เกินเป้า มีผู้เสียชีวิต 434 คน ลดลงเกินเป้าร้อยละ 4.82 ผู้บาดเจ็บ 4,772 คน ลดจากประมาณการร้อยละ 50.55 มท.1 สั่งปิดศูนย์ แต่ยังคงรณรงค์ต่อเนื่อง
วันนี้ (5 ม.ค.) พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แถลงสถิติผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ จากอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2549 รวม 7 วันระวังอันตราย ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2548 - 4 มกราคม 2549 ระบุว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 4,164 ครั้ง เทียบกับปี 2548 ลดลง 2,678 ครั้ง หรือร้อยละ 39.14 ผู้เสียชีวิตสะสม 7 วัน 434 คน ลดลงจากประมาณการจำนวน 102 คน หรือร้อยละ 19.03 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมายคาดคะเนว่าจะลดอย่างน้อยร้อยละ 15 ค่าคาดคะเนสะสม 7 วัน รวม 456 คน สามารถลดได้มากกว่าเป้าหมายจำนวน 22 คน หรือร้อยละ 4.82 จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดสะสม 7 วัน คือ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 20 คน รองลงไป นครราชสีมา 17 คน เชียงใหม่ 15 คน หนองคาย 14 คน อุบลราชธานี 13 คน นครศรีธรรมราช 12 คน ชลบุรี นครปฐม นครสวรรค์ ระยอง สุรินทร์ จังหวัดละ 11 คน ขณะที่จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตทั้ง 7 วัน มี 3 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง ยะลา และสมุทรสงคราม จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสม 7 วัน สูงกว่าประมาณการมี 12 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ สูงกว่า 11 คน หนองคาย 8 คน นครพนม 4 คน ระยอง 3 คน กระบี่ 3 คน นครปฐม สุรินทร์ และอุตรดิตถ์ สูงกว่าประมาณการจังหวัดละ 2 คน อุบลราชธานี ฉะเชิงเทรา เลย และสิงห์บุรี จังหวัดละ 1 คน
สำหรับผู้ได้รับบาดเจ็บสะสม 7 วัน มี 4,772 คน ลดลงจากประมาณการจำนวน 4,879 คน หรือร้อยละ 50.55 จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุดสะสม 7 วัน ได้แก่ นครราชสีมา 167 คน เชียงใหม่ 156 คน ศรีสะเกษ 143 คน พิษณุโลก 131 คน สุรินทร์ 123 คน สกลนคร และสุราษฎร์ธานี 113 คน นครสวรรค์ 112 คน บุรีรัมย์ 109 คน กาญจนบุรี 104 คน ขอนแก่น 103 คน พฤติกรรมเสี่ยงเกี่ยวกับอุบัติเหตุสูงสุดสะสม 7 วัน คือ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 64.87 เมาสุรา ร้อยละ 37 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 20.19 มอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย ร้อยละ 9.29 ไม่มีใบขับขี่ ร้อยละ 9.65 ทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 4.35 ประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดสะสม 7 วัน คือ มอเตอร์ไซค์ ร้อยละ 89.29 รถปิกอัพ ร้อยละ 5.71 รถเก๋ง/แท็กซี่ ร้อยละ 2.41 ประเภทถนนที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดสะสม 7 วัน คือ เขตทางหลวงร้อยละ 36.3 นอกเขตทางหลวง ร้อยละ 63.7
พล.อ.อ.คงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า จะนำสรุปการดำเนินการอุบัติเหตุทางถนนปีใหม่นี้เข้ารายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 10 มกราคม พร้อมเสนอแนวทางและมาตรการรณรงค์ต่อเนื่องต่อไป เพื่อให้ประชาชนเกิดวัฒนธรรมวินัยจราจร รวมถึงจะบังคับใช้กฎหมายจราจรให้เข้มข้นขึ้น หากเด็กและเยาวชนทำผิดกฎจราจรจะไม่ดำเนินคดีทางอาญา แต่จะให้รับใช้สังคมแทน เช่น ใครที่ขับรถเร็วจะให้ไปถือเครื่องเลเซอร์ตรวจผู้ที่ขับรถเร็วให้ได้ 100 คัน หากฝ่าฝืนสัญญาณจราจรให้ไปยืนโบกรถ 2-3 วัน
“ได้คุยกับตำรวจเบื้องต้นบ้างแล้ว หรือถ้าใครทำผิดครั้งแรกก็ยึดใบขับขี่ 1 วัน ถ้าทำผิดอีกยึดใบขับขี่ 2 วัน ถ้าทำผิดเป็นครั้งสามก็ยึดใบขับขี่ตลอดชีวิต คือ เราจะทำให้เข้มข้นขึ้น เชื่อว่าจะได้ผล เพราะจากสถิติอุบัติเหตุที่ลดลงส่วนใหญ่มาจากการบังคับใช้กฎหมาย แต่ถ้าถามว่ากฎหมายที่มีอยู่เพียงพอต่อการบังคับแล้วหรือไม่ ต้องขอวิเคราะห์ศึกษาก่อน ไม่ใช่อยู่ ๆ จะพูดได้ทันทีต้องวิเคราะห์ให้ถูกต้อง รวมถึงจังหวัดที่มีสถิติผู้เสียชีวิตเกินประมาณการก็ต้องไปวิเคราะห์ให้รอบด้านว่าเพราะอะไร เพราะเท่าที่ผมไปตรวจดูการทำงานก็เห็นทำกันเต็มที่กางปฏิทินกันเลย บางคนถึงกับจุดธูปจุดเทียนไม่ให้เกินเป้า” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว
ด้าน นายเสริมศักดิ์ กล่าวว่า วันที่ 22-24 มีนาคม จะมีสัมมนาใหญ่เครือข่ายป้องกันอุบัติเหตุรวมทั้งประเทศ จะเน้นผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์และให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อขยายความร่วมมือความปลอดภัยบนถนน และจะฝึกอาสาป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) เพิ่มในปี 2549 อีกร้อยละ 2 ให้มาช่วยงานรณรงค์ลดอุบัติเหตุ
พล.ต.ต.สุวิระ ทรงเมตตา ผบก.ทล. กล่าวว่า การตรวจจับความเร็วปีนี้มีมากขึ้น เพราะได้รับเครื่องมือจากกรมทางหลวง ทำให้อุบัติเหตุที่จะมาจากการขับรถเร็วลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการแถลงข่าวเสร็จสิ้นลง พล.อ.อ.คงศักดิ์ ได้ทำพิธีปิดศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน พร้อมกล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน อาสาสมัคร และประชาชนทุกคนที่ให้ความร่วมมือ