xs
xsm
sm
md
lg

คดีดัง! มรดกเลือด.. ใคร ? ฆ่า "ห้างทอง"

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


เป็นประจำทุกสิ้นปี ที่แต่ละโต๊ะข่าว ของแต่ละสำนักข่าว จะสรุปข่าวประจำปี ด้วยการจัดอันดับข่าวที่น่าสนใจ ยอดนิยม โดยส่วนใหญ่ มักจัดอันดับข่าวไล่มาตั้งแต่อันดับ 10 ถึงอันดับ 1 ซึ่งในปีนี้"ทีมข่าวอาชญากรรม ผู้จัดการออนไลน์" ไม่ประสงค์ที่จะจัดอันดับข่าวดังกล่าว แต่จะขอนำเสนอในรูปแบบการสรุปข่าวในเชิงคดีประวัติศาสตร์ คดีอุกอาจ-ฆาตกรรมโหด คดีโศกสลด-สะเทือนขวัญ คดีอาชญากรรมที่น่าสนใจซึ่งมีผลกระทบต่อสังคม และเพื่อเป็นการคลายเครียด "เรา" ทีมข่าวอาชญากรรม ผู้จัดการออนไลน์ ยังได้จัดคดีข่าวฮา แบบขำ ขำในรอบปี ที่คัดสรรไว้แล้วมานำเสนอ และข่าว"คดีดัง! มรดกเลือด.. ใคร ? ฆ่า "ห้างทอง"" เป็นอีกชิ้นที่จัดไว้ในหมวดหมู่ "คดีอาชญากรรมที่น่าสนใจซึ่งมีผลกระทบต่อสังคม"ในรอบปี 

             ********************

คดีฆาตกรรม "ห้างทอง ธรรมวัฒนะ" นับได้ว่าเป็นคดีดังที่ยังไม่ถึงจุดจบ แม้ว่าการตายของห้างทองจะเกิดขึ้นในปี 42 ก็ตาม แต่การฆาตกรรมซ่อนเงื่อน ที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า ใคร ? ฆ่า ห้างทอง หรือเป็นการกระทำ อัตนิวิบากกรรม จนบัดนี้ศาลยังไม่ได้ตัดสิน

คดีนี้มี "นพดล ธรรมวัฒนะ" น้องชายในตระกูลตกเป็นจำเลยทั้งในชั้นศาลและจำเลยสังคม การตายของคนในตระกูล "ธรรมวัฒนะ" ล้วนโยงใยกับศึกมรดกหมื่นล้าน ที่เป็นชนวนแห่งสาแหรกเลือด ศพแล้วศพเล่า ซึ่งหลายคดีฆาตกรรมยังคงมืดมนอยู่จนทุกวันนี้ กระทั่งมาถึงศพ "ห้างทอง" ที่เสียชีวิตมากว่า 6 ปี คดียังคงอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาในชั้นศาล

ย้อนรอยคดีฆ่า "ห้างทอง"
-6 ก.ย. 2542 เวลา 03.40 น. พบศพ "ห้างทอง" ภายในคฤหาสน์หรูกว่า 400 ล้านของตระกูล "ธรรมวัฒนะ" ย่านสะพานใหม่ เลขที่ 299/9 ม. 7 ถ.พหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน สภาพศพยังคงนั่งอยู่บนเก้าอี้ คอห้อยแหงนไปด้านหลัง ขาเหยียดตรง กระสุนลูกปรายเจาะเข้าทะลวงศีรษะผู้ตาย 1 นัด ในมือขวายังคงกำปืนลูกโม่ขนาด .38 วางไว้บนตัก เสียชีวิตภายในห้องนอนของ "นพดล ธรรมวัฒนะ" น้องชายคนรอง

พนักงานสอบสวนชุดแรกที่เข้าคลี่คลายคดีสรุปความเห็นว่าเป็นการฆ่าตัวตาย

-ต่อมามีการรื้อคดีโดยกองปราบฯ ใช้เวลารวบรวมพยานหลักฐาน 4 ปีเศษ จนกระทั่งบุกเข้าจับกุม "นพดล ธรรมวัฒนะ" น้องชายนายห้างทอง เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 46 และแจ้งข้อหา "ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา" จากพยานหลักฐานที่รับฟังได้ว่า นพดลกับผู้ตายมีความขัดแย้งถึงขนาดจะฆ่ากันมาก่อน และอยู่ด้วยกันในห้องเกิดเหตุเพียงสองต่อสอง ก่อนที่ห้างทองจะสิ้นชีพ แต่จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและต่อสู้คดีมาโดยตลอด

-จนกระทั่งคดีขึ้นสู่กระบวนการในชั้นศาล เมื่อ 23 ม.ค. 47 เมื่ออัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายนพดล เป็นจำเลยในความฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามคดีหมายเลขดำที่ 248/2547 โดยคณะทำงานอัยการได้ขอนำสืบพยานโจทก์ประมาณ 16 ปาก แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มญาติพี่น้องผู้ตาย เกี่ยวกับสาเหตุความขัดแย้ง กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เกี่ยวกับหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ และกลุ่มพนักงานสืบสวนสอบสวนชุดจับกุม

-28 ก.ย. 2547 ศาลสืบพยานโจทก์กลุ่มแรก ญาติพี่น้อง โดย "ณฤมล มังกรพานิชย์" น้องสาวคนที่ 7 เบิกความเป็นปากแรก ชี้ปมมรดกหมื่นล้านนำมาซึ่งความขัดแย้งภายในตระกูล หลังมารดาเสียชีวิต ปัญหาพินัยกรรมทำให้พี่-น้องแตกเป็น 2 ฝ่าย

-ต่อจากนั้น ศาลสืบพยานโจทก์เรื่อยมา อาทิ ปริญญา–ฐานิยา-คนึงนิตย์- นงนุช รวมทั้ง รปภ.ที่ดูแลบ้านธรรมวัฒนะ สรุปคำเบิกความสอดคล้องกันในประเด็นมรดก และปัญหาพินัยกรรม และเหตุการณ์วันเกิดเหตุ

-27-28 ม.ค.48 ศาลสืบพยานโจทก์กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เบิกความ ให้ความเห็นประเด็นหลักฐานด้านนิติวิทยาศาสตร์ สรุปว่าการเสียชีวิตของห้างทองเกิดจากการฆาตกรรม มีการจัดฉากโดยให้เหตุผลลักษณะการไหลของคราบเลือดที่ขัดแย้งกับทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก ลายพิมพ์นิ้วมือที่ผิดปกติที่ปรากฏในภาพถ่ายของศพ การกระเด็นของคราบเลือด และยกความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์จาก 4 ประเทศ ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืน ผู้เชี่ยวชาญด้านคราบเลือด และนิติวิทยาศาสตร์ ต่างลงความเห็นว่า การตายของห้างทอง ไม่ใช่ฆ่าตัวตาย แต่เกิดจากฆาตกรรม

-22 ก.พ.2548 พล.ต.ต.โกสินทร์ หินเธาว์ ผบก.น.5 ในตำแหน่ง ผบก.ป. สมัยนั้น ขึ้นเบิกความเป็นพยานโจทก์ปากสุดท้ายในกลุ่มพนักงานสอบสวน จากนั้นการสืบพยานโจทก์ได้หยุดชะงักเรื่อยมา เนื่องจากคงรอการสืบพยานโจทก์ปากสุดท้ายอีกเพียงปากเดียว คือ "ดร.เอเดรียน แม็ททิว ทอนดันลินาเคอร์" ผู้เชี่ยวชาญด้านคราบเลือดจากอังกฤษ ที่อัยการขอนำสืบ ซึ่งต้องรอศาลอังกฤษกำหนดวันสืบพยาน โดยอัยการไทยต้องเดินทางไปขึ้นศาลอังกฤษ จากนั้นจึงจะถึงขั้นตอนการสืบพยานจำเลย ซึ่งทนายจำเลยก็ได้เตรียมพยานไว้นำสืบหลายปากเพื่อสู้คดี

**แต่ระหว่างที่คดีหยุดอยู่ในชั้นศาลเพื่อรอสืบพยานโจทก์ปากสุดท้ายนั้น ความขัดแย้งของพี่-น้องก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ เมื่อทั้งสองฝ่ายเปิด "ศึกชิงศพ" ขึ้นมาอีกครั้ง จนกระทั่งคู่ความต้องเดินขึ้น-ลงบันไดศาลเป็นว่าเล่น

ย้อนรอยศึกชิงศพ
-ก่อนหน้าวันครบรอบ 6 ปี การจากไปของพี่ชาย ฝ่าย ปริญญา-ณฤมล ยืนยันจะเผาศพพี่ชายในวันที่ 6 ก.ย. 48 โดยทำหนังสือถึงสำนักพระราชวัง ขอพระราชทานเพลิงศพ แต่ฝ่ายนพดล ค้านหัวชนฝา ยื่นคำร้องต่อศาล คัดค้านการเผาศพ อ้างคดียังไม่ถึงที่สุดเผาไม่ได้ ในเมื่อศึกชิงศพขึ้นสู่ชั้นศาลอีกครั้ง สำนักพระราชวังจึงต้องแจ้งงดการพระราชทานเพลิงศพ โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากการตายของห้างทองยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นการฆ่าตัวตาย หรือฆาตกรรม

-ต่อมา 5 ก.ย. 48 "นพดล" เฮ! เมื่อศาลมีคำสั่งอายัดศพ "ห้างทอง" จนกว่าคดีจะสิ้นสุด ตามการร้องขอ ให้เหตุผลว่าศพยังเป็นวัตถุพยานสำคัญ อาจเป็นประโยชน์และเพื่อความเป็นธรรมต่อจำเลยเนื่องจากคดียังไม่สิ้นสุด

-5 ต.ค. 48 ขั้วปริญญา-ณฤมล แก้เกมส์ ยื่นคำร้อง ขอให้ศาลออกคำสั่งให้นายนพดลเป็นผู้จ่ายค่าดูแลรักษาศพจำนวนกว่าล้านบาท และค่าดูแลศพปีละ 7 แสนบาท หลังจากศาลสั่งอายัดศพ จากกรณีที่ "นพดล" ร้องคัดค้านการพระราชทานเพลิงศพ

-10 ต.ค. 48 "นพดล" ยื่นคำร้องต่อศาลขอผ่าพิสูจน์ศพ "ห้างทอง" เป็นครั้งที่ 3 อ้างเพื่อความเป็นธรรมและประโยชน์ในการต่อสู้คดีของจำเลย พร้อมกับยื่นคำร้องคัดค้านจ่ายค่ารักษาศพพี่ชาย แฉหลักฐานยัน ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ตามที่ฝ่ายปริญญากล่าวอ้าง

-28 พ.ย. 48 ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผ่าศพห้างทองเป็นครั้งที่ 3 ตามการร้องขอของ "นพดล" ได้ เนื่องจากเห็นว่า ที่ผ่านมาระหว่างการสืบพยานโจทก์ ฝ่ายจำเลยคัดค้านมาโดยตลอดเกี่ยวกับกระบวนการพิสูจน์ความผิดของจำเลยว่ายังไม่ถูกต้องครบถ้วน ดังนั้น เพื่อเป็นการให้โอกาสจำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินการผ่าชันสูตรพลิกศพนายห้างทองครั้งที่ 3

- 14 ธ.ค.48 ศาลนัดพร้อมคู่ความแถลงรายละเอียดผ่าศพห้างทอง โดยจำเลยเสนอชื่อแพทย์ผ่าศพเพียบ และเลือกสถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ รวมทั้งร้องขอกำหนดประเด็นตรวจพิสูจน์อย่างละเอียด ขณะที่อัยการคัดค้าน ระบุว่าไม่จำเป็นต้องใช้หมอมากไป และขอตรวจสอบรายชื่อแพทย์เพื่อคัดเลือกให้เหลือเพียง 3 คน รวมทั้งสถานที่ผ่าพิสูจน์ศพว่ามีความพร้อมจริงหรือไม่ ศาลจึงนัดพร้อมคู่ความอีกครั้ง 27 ธ.ค. 48 เพื่อแถลงรายละเอียดการผ่าพิสูจน์ศพ

ขณะที่ "ศึกชิงศพห้างทอง" ศาลได้ชี้ขาดและผ่านพ้นไปแล้ว ดูเหมือนว่านพดลจะเป็นฝ่ายกำชัยชนะ เหลือเพียงรอกำหนดวันผ่าศพเท่านั้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าผลของการตรวจพิสูจน์ศพในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อจำเลยหรือไม่ มากน้อยเพียงใด แต่ศึกหนักที่นพดลยังคงต้องรออย่างใจจดใจจ่อต่อไปอีก คือวันที่ศาลนัดชี้ชะตา แต่ก็เชื่อว่า กว่าจะถึงวันนั้น คงต้องใช้เวลาอีกยาวนาน

และเมื่อศาลมีคำพิพากษา จะเป็นบทพิสูจน์ความบริสุทธิ์หรือไม่? ของ "นพดล ธรรมวัฒนะ" เกี่ยวกับการตายของพี่ชายร่วมสายเลือด



กำลังโหลดความคิดเห็น