xs
xsm
sm
md
lg

เครื่องจับเท็จ!!ท้าชนโจรปากแข็ง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

" มีผู้เข้าเครื่องจับเท็จกว่า 1 พันคน มีเพียงไม่กี่รายที่ผลออกมาในลักษณะที่ก้ำกึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องยกผลประโยชน์ให้กับผู้ต้องหา " นั่นคือคำพูดของ พ.ต.ต.หญิงดวงหทัย เลาหเวชรานันท์ผู้ที่ทำงานเคียงคู่กับ"เครื่องจับเท็จ" เครื่องมือทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ที่ทรงอานุภาพในการจับโกหกจอมวายร้าย


สภาพปัญหาอาชญากรรมทุกวันนี้นับวันจะมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเกิดจากอาชญากรที่ก่อเหตุมีความเชี่ยวชาญในการซ่อนเร้นอำพราง การค้นหาพยานหลักฐานในการเอาผิดผู้ร้ายเหล่านี้จึงมีความยากลำบากมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้นการทำงานของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ อย่างตำรวจจึงต้องพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือตลอดจนเทคโนโลยีและวิทยาการอันทันสมัย เพื่อให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีไฮเทค ที่เข้ามามีบทบาทต่อการทำงานสืบหาความจริงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คือ เครื่องจับเท็จ หรือ โพลีกราฟ( polygraph )

โดยเครื่องจับเท็จได้ถือกำเนิดครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ 100 ปีมาแล้ว ก่อนที่จะแพร่หลายเป็นที่ยอมรับในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทีสุด และเป็นบ้านเกิดของเจ้าเครื่องจับเท็จอย่างสหรัฐอเมริกาเอง ก็ได้ มีการนำเครื่องจับเท็จมาใช้ในสืบสวนสอบสวนและในการกลั่นกรองตัวบุคคล ของหน่วยงานด้านความมั่นคง อย่าง เอฟบีไอ ซีไอเอ หรือกระทรวงกลาโหม อีกทั้งในองค์กรเอกชนต่างๆ ของประเทศนี้ ก็มีการใช้เครื่องมือดังกล่าว กันอย่างแพร่หลาย ในการตรวจสอบการทุจริตของพนักงานในองค์กร

สำหรับในประเทศไทยเอง เครื่องจับเท็จได้เข้ามามีบทบาทในงานสืบสวนสอบสวนของตำรวจในกว่า 20 ปีที่ผ่านมา โดยกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานแรก และหน่วยงานเดียวที่นำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้ และยังคงมีประจำการอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยผู้ที่จะเข้าเครื่องจับเท็จนั้นอาจเป็นผู้ต้องสงสัยที่ต้องการจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง หรือ เป็นผู้ต้องหาในคดี แต่ทั้งนี้ผู้ที่จะเข้าเครื่องจับเท็จจะต้องยินยอม โดยปราศจากการบังคับจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เดิมทีนั้นเครื่องจับเท็จที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้ในระยะเริ่มแรกนั้น เป็นแบบแมนนวลมีลักษณะคล้ายแผงควบคุมในห้องอัดเสียง มีปุ่มควบคุมระบบต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ควบคุมการทำงานของเครื่องมือทั้งหมด ต่อมาเมื่อปี 2544 เครื่องจับเท็จแบบใหม่ซึ่งควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ได้เข้ามาประจำการแทน โดยเครื่องแบบใหม่นี้จะประมวลผลได้อย่างแม่นยำ และช่วยแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ได้อย่างมาก

เครื่องจับเท็จ คือ เครื่องตรวจหรือบันทึกลักษณะทางสรีระวิทยาที่ไม่สามารถสังเกตจากภายนอกได้ เช่นการเปลี่ยนแปลงของความดัน การหายใจ การเต้นของหัวใจการวัดความต้านทานกระแสไฟฟ้าที่ผิวหนัง โดยในเครื่องจับเท็จนั้นจะมีชุดอุปกรณ์ 3 ส่วนประกอบด้วย เครื่องมือวัดระดับการหายใจช่วงอกและท้อง,เครื่องวัดความดันโลหิต และเครื่องวัดความต้านทานกระแสไฟฟ้าที่ผิวหนัง โดยจะแสดงผลผ่านทางเส้นกราฟ ซึ่งหากผู้ต้องหาพูดโกหก การขึ้นลงของเส้นกราฟจะมีการเปลี่ยนแปลงจนสังเกตได้ชัด

ซึ่งขั้นตอนในการจับเท็จนั้น ในห้องจะมีเพียงเจ้าหน้าที่และผู้ต้องหาแค่ 2 คน โดยผู้ต้องหาจะนั่งเก้าอี้ ในท่าที่สบาย โดยผู้ตอบคำถามหันหน้าไปคนละทาง และจะไม่สบตากับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้มีสมาธิในการตอบคำถาม โดยเจ้าหน้าที่จะต้องประเมินความพร้อมของผู้ต้องหาว่ามีสภาพจิตใจที่พร้อมที่จะรับการทดสอบจริง ๆจึงจะเริ่มป้อนคำถาม ซึ่งเส้นกราฟจะเริ่มเดินต่อเมื่อผู้ต้องหามีสภาพที่พร้อมจะตอบคำถาม โดยในชั้นแรกก็จะมีการป้อนคำถามสบาย ๆเพื่อสร้างความคุ้นเคย และลดความตื่นเต้น จากนั้นจึงมีการถามคำถามที่เจ้าหน้าที่ต้องการจะรู้ โดยให้ผู้ตอบคำถาม ตอบเพียงว่าใช่หรือไม่ใช่เท่านั้น โดยในระหว่างนี้หากมีการจาม หรือ ไอ หรือมีเหตุที่ทำให้เส้นกราฟเดินไม่ปกติ เจ้าหน้าที่จะต้องจดบันทึกเอาไว้ ในตลอดการทดสอบซึ่งจะใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงจึงจะเสร็จสิ้น จากนั้นเจ้าหน้าที่จะวิเคราะห์ผลจากเส้นกราฟที่ปรากฏ และนำเอาผลการสังเกตพฤติกรรมของผู้ตอบคำถามมาประกอบ ก่อนจะสรุปผลส่งให้พนักงานสอบสวนเพื่อใช้ประกอบสำนวนต่อไป

พ.ต.ต.หญิงดวงหทัย เลาหเวชรานันท์ เจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ (สบ 2) กองพิสูจน์หลักฐาน ผู้ซึ่งคร่ำหวอดอยู่กับเครื่องจับเท็จมาเป็นเวลานานกว่า 13 ปี และเป็นผู้เชี่ยวชาญเพียงหนึ่งเดียวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เล่าให้ฟังอย่างภาคภูมิใจถึงการทำงานด้านนี้ว่า การทำงานกับเครื่องจับเท็จนั้น ต้องอาศัยเทคนิคในการป้อนคำถามของผู้ชำนาญการ และประสบการณ์ในการวิเคราะห์ โดยผู้ที่จะมาทำงานด้านนี้จะต้องมีใจรัก และปราศจากอคติใด ๆทั้งสิ้น จากการทำงานที่ผ่านมามีผู้เข้าเครื่องจับเท็จกว่า 1 พันคนนั้นมีเพียงไม่กี่รายที่ผลออกมาในลักษณะที่ก้ำกึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องยกผลประโยชน์ให้กับผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยนั้น ๆ

" การทำงานที่ผ่านมามีความภูมิใจมากที่ได้ทำประโยชน์ให้กับสังคม ในการแยกแยะอาชญากรออกจากผู้บริสุทธิ์ และนำคนผิดมาลงโทษ ที่ผ่านมาได้รับกำลังใจจากผู้บังคับบัญชามาโดยตลอดว่าไม่ให้หวั่นไหว ทำงานอย่างถูกต้องตรงไปตรงมา เพราะชีวิตคนเป็นสิ่งมีค่า ผู้ที่จะทำงานด้านนี้จะต้องมีจิตวิญญาณในการทำหน้าที่ เพื่อให้การทำงานของพนักงานสอบสวนเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง " พ.ต.ต.หญิงดวงหทัยกล่าว

พ.ต.ต.หญิงดวงหทัย กล่าวอีกว่า แม้เครื่องจับเท็จจะมีความแม่นยำในการประมวลผลและเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแนวทางสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ แต่ในกรณีของผู้ต้องหาที่เป็นโจรโดยสันดารและมีจิตใจที่หนักแน่น อาจทำให้การทำงานของเครื่องไม่ได้ผลก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ซึ่งทำการทดสอบจะใช้ประสบการณ์และเทคนิคในการสร้างคำถาม เพื่อให้ผู้ต้องหารายนั้น ๆคายความจริงออกมาจนได้ในที่สุด

สำหรับคดีสะเทือนขวัญและเป็นที่กล่าวขานอย่าง คดีที่นายเสริม สาครราษฎร์ นักศึกษาแพทย์วชิรพยาบาลฆ่าหั่นศพ น.ส.เจนจิรา พลอยองุ่นศรี แฟนสาวนักศึกษาแพทย์ศิริราช หรือ คดี "หมวยโซ"จอมลวงโลกที่ปั้นเรื่องกล่าวหาว่าถูกโชเฟอร์ตุ๊กตุ๊กข่มขืน,คดีฆาตกรรมอำพรางนางศยามล ,คดีนักเรียนนายเรือร่วมกับเพื่อนสังหารแฟนสาว หรือคดีฆ่านายปรีณะ ลีพัฒนะพันธ์ ผู้ว่าฯยโสธร และล่าสุดคดีกระสุนปืนปริศนาปลิดชีพนายสุนทร ฤทธิ์ภักดี รองผู้ว่า ฯปัตตานี ซึ่งเครื่องจับเท็จก็เข้ามามีมีบทบาทสำคัญในการคลี่ปมปริศนาในคดี

โดยเฉพาะคดีของนายสริมนั้นนับเป็นครั้งแรกที่ศาลได้อ้างอิงรายงานผลการเข้าเครื่องจับเท็จของจำเลยในคำพิพากษา และนับเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญ ที่เครื่องมือทางนิติวิทยาศาสตร์ เข้ามามีบทบาทในกระบวนการยุติธรรมของไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น