ศาลอาญา พิพากษา จำคุกตลอดชีวิต สุภาพ สีแดง ระบุ แม้จำเลยในความผิดฐานเดียวกัน ให้การซัดทอด รับฟังเป็นพยาน ตาม พ.ร.บ.มาตรการปรามปรามยาเสพติดให้โทษได้ ทนายความ ขอเวลา 2 เดือนสู้ในชั้นอุทธรณ์ อัยการ ชี้ นำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม สมบูรณ์แบบ เพราะ จนท.รัฐร่วมมือเป็นอย่างดี
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 9 กันยายน ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา ให้จำคุกตลอดชีวิต นายสยาม ทรัพย์วรสิทธิ์ หรือสุภาพ สีแดง หรือภาพ 70 ไร่ อายุ 34 ปี จำเลยในความผิด ฐานสมคบกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเพื่อจำหน่ายยาเสพติดประเภท 1 (ยาบ้า) ตามที่พนักงานอัยการสำนักงานคดียาเสพติด 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญา
เมื่อวันที่ 18 เม.ย.46 ที่ผ่านมา อัยการโจทก์ บรรยายฟ้องสรุปความผิดของจำเลย ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 - 28 ม.ค. 41 จำเลยกับนายสุชาติ หรือหมู ปานทะโชติ และพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ตกลงกันจำหน่ายยาบ้าจำนวน 12,000 เม็ด จำหน่ายให้กับนายอุดร หรือเปาะ มาบางครุ ไปจำหน่ายให้บุคคลอื่น ภายหลังนายอุดรถูกจับกุมและศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 33 ปี 4 เดือน
นอกจากนี้ตั้งแต่วันที่ 1 - 15 มิ.ย.43 จำเลยสมคบกับพวกพวกตั้งแต่สองคนขึ้นไปจำหน่ายยาบ้าจำนวน 10,600 เม็ด โดยนายสุชาตินำยาบ้าดังกล่าวมาจากจำเลย แล้วร่วมกับนายชำนาญ ระรวยทรง และนายสมศักดิ์ แซ่ลิ้ม ครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายยาบ้าดังกล่าวอันเป็นการสมคบกันกระทำความผิด ภายหลังนายสุชาติ นายชำนาญ และนายสมศักดิ์ ถูกจับกุมดำเนินคดี ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก นายสุชาติ 33 ปี 4 เดือน พิพากษาจำคุกนายชำนาญและนายสมศักดิ์ คนละ 25 ปี ต่อมาเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ปปส.) มีหนังสือแจ้งคำสั่งอนุมัติจับกุมผู้ต้องหา
ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นว่าคดีตามฟ้องโจทก์ ในประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มี พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ ผู้กำกับการฝ่ายวิเคราะห์ข่าว กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ปส.) ที่เคยร่วมจับกุมนายสุชาติ หรือหมู ปานะโชติ นักโทษคดียาเสพติดที่เป็นผู้รับยาเสพติดจากนายสุภาพมาจำหน่าย ขึ้นเบิกความถึงความเป็นมาในการติดตาม และจับกุมนายสุภาพ ในคดีสมคบกับพวกค้ายาเสพติดตั้งแต่ช่วงปี 2537 และทราบว่าครอบครัวจำเลยค้ายาเสพติด และนำเงินที่ได้มาปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่งต่อมาพบว่า จำเลยมีฐานะทางการเงินที่สูงขึ้น
นอกจากนี้โจทก์ยังมี พ.ต.อ.ทนงศักดิ์ ทั่งทอง ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 2 (ปส.) ในฐานะที่เข้าร่วมสืบสวนปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดในชุมชนหมูบ้านพัฒนาคลองเตย เบิกความว่าต้นปี 2546 พยานเข้าสืบสวนพบว่าจำเลยเป็นค้ารายใหญ่ระดับหนึ่งใน ชุมชนคลองเตย โดยมีเครือข่ายกว้างขวาง มีนายสุชาติหรือหมู ปานทะโชติ เป็นคนรับยาบ้าไปจำหน่ายให้ลูกค้ารายย่อย ซึ่งจำเลยรู้จักกับนายสมหมาย นาคคล้าย ที่เคยรับยาบ้าจากจำเลยมาจำหน่าย 50-100 มัด มัดละ 2,000 เม็ด โดยระหว่างปี 2538-2540 จำเลยมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้นเรื่อยๆจนถึงขั้นร่ำรวย
นอกจากนี้โจทก์ยังมีพยานอีก 2 ปาก พ.ต.ท.กิตติพงษ์ สินจิต อดีตหัวหน้าสถานี สน.ท่าเรือ และจสต.ตัว จ.ส.ต.เชษฐวิทย์ นันทสิทธิ์ อดีตพนักงานสืบสวนสอบสวน ประจำ สน.ท่าเรือ ขึ้นเบิกความถึง พฤติกรรมของนายสุภาพมาตั้งแต่ปี 2524 ที่นายสุภาพอายุเพียง 13 -14 ปีได้ค้าเฮโรอีน จนมาถึงปัจจุบัน พบว่านายสุภาพมีอิทธิพลมากขนาดที่ตำรวจในสน.ท่าเรือไม่กล้าดำเนินการจับกุม นายสุภาพรู้จักสนิทสนมใกล้ชิดและคบหากับนายตำรวจ สน.ท่าเรือ เกือบจะทั้งสถานีรวมทั้งพ.ต.ท.จรัล มโนยศ อดีตหัวหน้าสถานีขณะนั้น รวมทั้งนักการเมืองท้องถิ่น มีเพียงพยานและ พ.ต.ท.กิตติพงษ์ ร่วมกันติดตามพฤติกรรมและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับนายสุภาพตลอดมา ระหว่างปี 2538 -2541 และพบว่าพี่ชายจำเลยคือนายสมนึกหรือช้าง สีแดง เคยถูกจับกุมในความผิดค้ายาเสพติด และจำเลยเคยมาวิ่งเต้นเคลียร์คดีกับพ.ต.ท.กิตติพงษ์แต่ไม่สำเร็จ แต่ก่อนนี้จำเลยเคยวิ่งเต้นเคลียรคดีกับพ.ต.อ.จรัล ในคดีที่นายสมพร สีแดง ถูกจับกุมพร้อมยาบ้า โดยในครั้งนั้นได้ทำสำนวนเปลี่ยนเป็นข้อหาลักลอบเล่นการพนันโดยผิดกฎหมายแทนเพราะพยานไม่กล้าให้การเนื่องจากเกรงกลัวอิทธิพล อีกทั้งเมื่อครั้งที่พ.ต.อ.จรัลเป็นหัวหน้าสถานีจำเลยได้ร่วมกับพ.ต.อ.จรัลเปิดบ่อนการพนันอีก 7-8 แห่ง โดยนำเงินที่ได้มาจากการค้ายาเสพติดไปดำเนินการ นอกจากนี้จำเลยยังเปิดร้านเช่าวีดีโอ และบริษัทถูกกฎหมายขึ้นบังหน้า
พฤติกรรมการค้ายาบ้าของจำเลยจะไม่เข้าไปแตะต้องยาเสพติดหรือรับเงินจากการค้ายาบ้าด้วยตนเอง แต่จะให้นายอำนาจ พัชนี และนางนภาพร แซ่แต้ ภรรยานายอำนาจไปเก็บเงินจากเครือข่ายค้ายาบ้า และเคยไปเก็บเงินจากนายสุชาติได้ครั้งละ 1-1.5 ล้านบาท แต่ไม่ทราบว่าเป็นเงินค่าอะไร นอกจากนี้จำเลยยังต้องไปรับเงินเงินจากนายสุชาติด้วยเนื่องจากนายอำนาจและนางนภาพรนายสุชาติปฏิเสธที่จะให้เงินกับพยานทั้งสองพร้อมทั้งบอกให้จำเลยไปรับเงินเอง
นอกจากนี้โจทก์ยังมีบุคคลในชุมชนและบุคคลใกล้ชิดจำเลยมาเบิกความเจือสมถึงความผิดอิทธิพลของจำเลยว่ามีนายตำรวจหนุนหลัง รวมถึงนายทรงศักดิ์ ทองสุกใส อดีตรองประธานชุมชน 70 ไร่ ย่านคลองเตยขึ้นที่เบิกความสรุปว่า รู้จักกับจำเลยตั้งแต่ปี 2529 ขณะนั้นจำเลยมีฐานะปานกลาง และมาสนิทสนมกันในปี 2542 เมื่อครั้งที่ตนเป็นรองประธานชุมชน 70 ไร่ โดยก่อนหน้านั้นปี 2539 พบว่ายาบ้าระบาดหนักในชุมชนฯ จึงเข้าช่วยเหลือราชการโดยการแจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับยาเสพติดภายในชุมชนให้กองกำลังรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.)ทราบในปี 2542 โดยมีชาวบ้านที่เป็นสายลับในชุมชนแจ้งข่าวให้ทราบ
ศาลเห็นว่าคำเบิกความของพยานโจทก์หลายปากเป็นบุคคลในชุมชนและคนใกล้ชิดจำเลย ไม่เคยมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุระแวงสงสัยที่จะมาเบิกความปรักปรำกลั่นแกล้งจำเลย จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ และรวมถึงตำรวจกองปราบปรามโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองผบก.ป.ได้รื้อคดีการสังหารนายชาคริต อภิธนาวงศ์ ซึ่งพบว่ามีการโทรศัพท์จากบ้านของจำเลยไปหาผู้ตาย ซึ่งจำเลยให้นางแก้วตา สีแดง น้องสาวเป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ จึงพบว่ามีการค้ายาเสพติด และจากการสอบสวนยังพบว่ามีนางสมส่วน ศิริยิ่ง ร่วมค้ายาเสพติดกับจำเลยด้วย เห็นว่าพยานโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ต่างหน่วยงาน ทำงานคนละที แต่มาเบิกความได้สอดคล้องกัน โดยในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการทำงานเป็นคณะทำงานมากกว่า 60 คน ตามคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) รวมทั้งมีการสอบปากคำพยานบุคคลมากมาย ทั้งคนในชุมชนและคนใกล้ชิด จึงเชื่อว่าไม่เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ ส่วนข้อต่อสู้ที่จำเลยอ้างว่ามีเหตุโกรธเคืองกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และที่ถูกจับเพราะตำรวจต้องการเงินรางวัลนำจับ ซึ่งมีจำเลยเบิกความเพียงปากเดียว ไม่มีพยานปากอื่นมาสนับสนุน ทำให้เชื่อว่าจำเลยเป็นผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังการกระทำผิด โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่และนักการเมืองท้องถิ่นบางคนได้รับผลประโยชน์จากการกระทำผิดของจำเลยด้วย
จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยได้ร่วมสมคบกับนายอุดร มาบังครุ ค้ายาเสพติดที่ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 33 ปี 4 เดือน หรือไม่ ศาลเห็นว่าคำให้การในชั้นสอบสวนกับคำเบิกความในชั้นศาลของนายอุดรขัดกันในสาระสำคัญ จนไม่สามารถนำมาฟังได้อันใดเป็นข้อเท็จจริง โดยในชั้นสอบสวนครั้งแรกนายอุดรไม่ได้ให้การพาดพิงถึงจำเลยและนายสุชาติไว้ และในชั้นพิจารณาคดีนายอุดรให้การปฏิเสธว่าไม่ได้สมคบในการรับยามาจากจำเลยเพื่อไปจำหน่ายต่อ แต่รับยามาจากนายขาว ไม่ทราบนามสกุล ศาลเห็นว่าโจทก์มีเพียงพ.ต.ท.ไพโรจน์ ปัญจประทีป อดีตสว.ผ4กก.2ป.ที่จับกุมนายอุดร ระบุเพียงว่า นายอุดรป็นลูกน้องมือขวาของนายสุชาติ มีพฤติกรรมค้ายาเสพติด โดยไม่มีพยานปากอื่นเบิกความสนับสนุน จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอฟังได้
ดังนั้นจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกับพวกสมคบกันค้ายาเสพติดหรือไม่ โจทก์มีนายสุชาติเบิกความจำเลยค้าเฮโรอีนตั้งแต่อายุ 12-13 ปี และมาค้ายาบ้าในปี 2538 จำเลยเป็นนักค้ายาบ้าระดับเจ็กปั๊วหรือนายทุนใหญ่ สามารถนำยาบ้าเข้าชุมชนได้ครั้งละ 4-5 ล้านเม็ด ต่อมานายสุชาติติดหนี้การพนันจึงได้ปรึกษากับจำเลยว่าจะค้ายาเสพติด โดยนายสุชาติเป็นนักค้ายาระดับ 2 เคยรับยาบ้าจากจำเลย และจากนายยงยุทธ จตุรงค์อมร พ่อค้ายาบ้าระดับเจ็กปั๊ก จ.เชียงราย โดยนายสุชาติเบิกความว่าระดับเจ็กปั๊วจะไม่ส่งยาและรับเงินเอง แต่มีลูกน้องทำให้ สำหรับนายสุชาติจะมีนายธาดา หรือตี๋ ซีวิค เป็นคนเดินยาและรับเงินให้
ต่อมาวันที่ 5 มิถุนายน 2543 นายสุชาติสั่งยาบ้าจากจำเลย 100 มัด เป็นเงิน 5.5 ล้านบาท และต่อมาในวันที่ 10 มิถุนายน 2543 ได้สั่งยาบ้า 100 มัดจากจำเลย และสั่งจากนายงยุทธ อีก 100 มัด แล้วแบ่งยาบ้าจำนวนหนึ่งให้นายชำนาญ 5 มัด แล้วที่เหลือนำไปฝังไว้ในคลองหลังบ้าน กระทั่งนายสุชาติถูกจับกุมพร้อมยาบ้า 10,600 เม็ด แม้ว่าในครั้งนั้นนายสุชาติไม่ได้ซัดทอดจำเลย ก็เพราะจำเลยเคยสัญญาว่าจะดูแลช่วยเหลือครอบครัวและวิ่งเต้นคดีให้ แต่จำเลยผิดสัญญา
นายสุชาติจึงซัดทอด แม้ว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บัญญัติห้ามไม่ให้รับฟังคำซัดทอดจากผู้ต้องหา แต่กฎหมายก็ไม่ได้ระบุรวมถึงคำซัดทอดของจำเลย แต่ก็ต้องฟังด้วยความระมัดระวัง จึงมีประเด็นว่าคำเบิกความของนายสุชาติมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ เห็นว่าพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำนายสุชาติถึง 3 ครั้ง โดยนายสุชาติร่วมกระทำผิดด้วยแต่พนักงานสอบสวนกันไว้เป็นพยาน และคำเบิกความดังกล่าวไม่ได้ทำเพื่อให้ตัวเองพ้นผิดเพราะนายสุชาติถูกศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 33 ปี 4 เดือนไปแล้ว คำเบิกความจึงไม่ปรากฎเหตุให้สงสัย รวมทั้งโจทก์ยังมีนายชำนาญมาเบิกความสนับสนุนว่า นายสุชาติเคยเล่าให้ฟังว่ารับยาบ้ามาจากจำเลย แม้ว่าจะเป็นเพียงพยานบอกเล่าแต่ถือว่าเป็นข้อเท็จจริง และคำเบิกความสอดคล้องกับคำให้การในชั้นสอบสวน
ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่ายาบ้าจำนวนดังกล่าวนายสุชาติรับมาจากนายยงยุทธแต่ไม่ได้รับมาจากจำเลย รวมถึงที่จำเลยอ้างว่าไม่เคยรู้จักสนิทสนมกับนายสุชาติมาก่อน เห็นว่าโจทก์มีภาพถ่ายงานบวชนายสุชาติที่มีจำเลยไปร่วมงานด้วย และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำการสืบสวนมาเบิกความว่านายสุชาติรับยาบ้ามาจากจำเลยรวม 200 มัด ซึ่งเป็นพฤติกรรมตามที่พ.ต.อ.กิตติพงษ์ และจสต.เชษฐวิทย์ ข้ออ้างของจำเลยไม่สามารถหักล้างคำเบิกความของพยานโจทก์ได้
พยานโจทก์จึงพอฟังได้ว่า นายสุชาติเป็นเครือข่ายของจำเลยตั้งแต่ปีพ.ศ.2539 และตกลงใจกันสมคบค้ายาเสพติดอย่างถาวรต่อเนื่อง โดยสมคบกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เป็นการกระทำผิดตามฟ้อง ต่างกรรมต่างเวลา ฐานสมคบค้ายาเสพติดได้สำเร็จแล้ว เห็นว่าพยานโจทก์มีน้ำหนักฟังได้ว่าจำเลยสมคบกับนายสุชาติกันกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย แม้ว่าจำเลยจะไม่ได้ลงมือซื้อขายเอง ดังนั้นจำเลยต้องระวางโทษความผิดเช่นเดียวกับนายสุชาติ และจำเลยยังมีความผิดตามพรบ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ.2534 มาตรา 8 และพรบ.ยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522 มาตรา 66 พิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ส่วนข้อหาอื่นให้ยก
ภายหลังจำเลยรับฟังคำพิพากษา นายสุภาพมีสีหน้าเศร้าสลด และโผเข้ากอดนางชลอ สีแดง มารดา และร้องไห้เสียใจ แต่ไม่มีน้ำตา จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงควบคุมตัวนายสุภาพไปยังห้องคุมขังใต้ถุนศาล พบว่า นางสาวแก้วตา สีแดง น้องสาวนายสุภาพ ยืนเกาะลูกกรงห้องขังร้องไห้สะอึกสะอื้นด้วยความเสียใจอย่างหนักพร้อมทั้งตะโกน ว่า “พี่ชายไม่ได้เป็นคนทำผิด และเชื่อในความบริสุทธิ์ แต่ทำไมคนที่ทำผิดจริงๆถึงลอยนวลอยู่ เป็นเพราะมียศมีตำแหน่งเท่านั้นหรือ” พร้อมทั้งบอกบอกให้นายสุภาพฆ่าตัวตายไปเลย เพราะไม่มีใครให้ความยุติธรรมได้แล้ว
ด้านนายบัญชา ชัยจำ ทนายความจำเลย กล่าวว่า ยังไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาในหลายประเด็น จากนั้นจะขอคัดคำพิพากษาฉบับสมบูรณ์เพื่อมาศึกษาและยื่นอุทธรณ์คดีต่อไป ทั้งนี้คงต้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปประมาณ 2 เดือน เนื่องจากคงไม่สามารถเขียนอุทธรณ์ได้ทันภายใน 1 เดือนตามที่กฎหมายกำหนด
ด้านนายธนพล จูฑะเตมีย์ อัยการประจำกรม สำนักงานอัยการเขต 6 จ.สุโขทัย อัยการเจ้าของสำนวน กล่าวว่า ทางอัยการคงไม่อุทธรณ์เพื่อขอให้เพิ่มโทษจำเลย เพราะคำพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตนี้ถือว่าเป็นโทษบทหนักที่สุดแล้ว คดีนี้จะเห็นได้ว่าในชั้นสืบพยานฝ่ายจำเลยนำพยานสืบ 17 ปาก ส่วนฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าสืบ 29 ปาก การทำงานในการนำพยานเข้าสืบของฝ่ายโจทก์ได้ร่วมมือกันเป็นอย่างดีระหว่างอัยการ ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง นับเป็นคดีที่มีความสมบูรณ์ในเรื่องของพยานหลักฐานมากที่สุดคดีหนึ่ง