xs
xsm
sm
md
lg

นักธุรกิจเฮ!! คดีเช็คเด้งห้ามฟ้องอาญา

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ยุติธรรมเตรียมยกเลิก พ.ร.บ.เช็ค ออกจากคดีอาญา ระบุหากเกิดคดีเช็คเด้งให้เจ้าหนี้-ลูกหนี้ ฟ้องร้องกันในคดีแพ่ง เผยทำให้รัฐเสียงบประมาณโดยใช่เหตุเป็นการเอาเปรียบสังคมและประชาชนส่วนรวม

นายพงษ์ภัฏ เรืองเครือ ผอ.สำนักกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่ากระทรวงยุติธรรม ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้ศึกษารายละเอียดในการยกร่างกฎหมายยกเลิก พ.ร.บ. เช็ค โดยขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว เตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.

สำหรับแนวคิดในการยกเลิก พ.ร.บ.เช็คนั้นนายพงษ์ภัฏ กล่าวว่ากฎหมายเช็คเป็นกฎหมายที่ลงโทษผู้ที่ทำมาค้าขายประกอบอาชีพโดยสุจริต บางครั้งการออกเช็คชำระหนี้เกิดความผิดพลาด เช่น ประชาชนหรือผู้ประกอบ ออกเช็คให้กับบุคคลอื่นล่วงหน้าไปก่อน แต่เมื่อนำเช็คไปเบิกกับธนาคารปรากฎว่าไม่มีเงินในบัญชี ทั้งที่ผู้ออกเช็คไม่ได้มีเจตนาฉ้อโกงหรือเบี้ยวการชำระหนี้ เมื่อมีการแจ้งความที่โรงพัก ฟ้องร้องคดีอาญากันในชั้นศาล ส่วนใหญ่มีการต่อรองกัน โดยเลื่อนการพิจารณาคดีกันหลายครั้ง เพียงเดือนละ 1-2 ครั้ง ทำให้คดีเกิดความล่าช้า บางคดีมีเลื่อนคดีเพื่อจะต่อรองกันถึง 50 ครั้ง 5-6 ปี ก็ยังไม่เสร็จ ทั้งนี้ในการพิจารณาคดีอาญา รัฐต้องเสียงบประมาณเป็นค่าเงินเดือนผู้พิพากษา กับ อัยการ เฉลี่ย 1 พันบาทต่อครั้ง และค่าเงินเดือนเจ้าหน้าที่ธุรการอีกครั้งละ 200-300 บาท รวมครั้งค่าน้ำประปา ไฟฟ้า คิดเป็นเงินประมาณ 3,000 บาท

ผอ.สำนักกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม กล่าวต่อว่า โดยทั่วไปการฟ้องร้องในคดีอาญา จะมีการพิจารณาคดีประมาณ 15 ครั้ง คิดเป็นเงินเฉลี่ย 4 หมื่นบาท บางคดีประชาชนฟ้องร้องกันแค่ 2 หมื่นบาท แต่รัฐต้องเสียงบประมาณจำนวนมาก เพราะฉะนั้นจึงมีแนวคิดว่าคดีเช็คไม่ควรจะเป็นคดีอาญา วงการนักธุรกิจเมื่อไม่มีเงิน วิธีการที่จะได้เงินมา ก็คือการเซ็นเช็ค เพื่อนำไปแลกเป็นเงินสด คือการเอาสิทธิเสรีภาพของตนเองไปเป็นการประกันหนี้ แต่พอมีการฟ้องเป็นคดีอาญา เจ้าหนี้กลับสบาย ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล ไม่ต้องจ้างทนาย มีเจ้าหน้าที่กระบวนการยุติธรรมไปดำเนินการให้จนเสร็จสิ้น ทั้งที่ตำรวจมีหน้าที่จับผู้ร้าย รักษาความสงบ อัยการมีหน้าที่ฟ้องคดี กลายเป็นต้องมาทวงหนี้ให้เอกชน แทนที่รัฐจะได้ประโยชน์เป็นค่าธรรมเนียมศาลจากเจ้าหนี้กลับเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมาย จึงไม่คุ้มค่าต่อส่วนรวมและถือเป็นการเอาเปรียบสังคมอย่างมาก

นายพงษ์ภัฏ กล่าวอีกว่า เมื่อมีการเลิก พ.ร.บ.เช็ค เดิม ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่จะกำหนดให้เอกชนฟ้องร้องกันเอง เป็นคดีแพ่ง เหมือนกับเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ธรรมดา ไม่เป็นคดีอาญาไม่สามารถแจ้งความที่โรงพักได้ ทั้งนี้หากต้องการให้ศาลอาญา ติดตามการชำระหนี้ จะต้องมีการชำระค่าธรรมเนียมศาล สำหรับเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ที่ยากจน ในต่างประเทศเขามีระบบช่วยเหลือทางกฎหมาย มีทนายอาสา อัยการช่วยเหลือด้วย ซึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายถูกกว่า ในส่วนของปัญหาที่ตามมา คือ เช็คอาจจะไม่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนหรือผู้ประกอบการ แต่อย่างไรก็ตามหากทางธนาคารจะแก้ปัญหานี้จริงๆ สามารถทำได้เพราะขณะนี้ได้มีกฎหมาย อยู่ 2 ฉบับ คือ กฎหมายข้อมูลเครดิตและกฎหมายธนาคารพานิชย์ ที่สามารถตรวจสอบประวัติบุคคลที่เคยออกเช็คเด้งหากพบควรไม่ให้เครดิต
กำลังโหลดความคิดเห็น