xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟฟ้าไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ไม่เกินเอื้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 การรถไฟมาลายา (KTM Berhad) ประเทศมาเลเซีย จะขยายการให้บริการรถไฟ ETS (Electric Train Service) จากเดิมสิ้นสุดการให้บริการที่ สถานีเกอมัส (Gemas) รัฐเนกรีเซมบีลัน ขยายไปถึง สถานีเซกามัต (Segamat) รัฐยะโฮร์

ก่อนหน้านี้เฟซบุ๊ก KTM Berhad ของการรถไฟมาลายา เผยแพร้อินโฟกราฟิก แล้วสื่อมาเลเซียนำเสนอข่าว เป็นที่ฮือฮาแก่ชาวมาเลเซีย รวมทั้งเฟซบุ๊กประชาสัมพันธ์ของรัฐยะโฮร์อย่าง Media Digital Johor ยังจัดทำอินโฟกราฟิกเผยแพร่ข้อมูลต่อ แต่ภายหลัง KTM Berhad ลบอินโฟกราฟิกทิ้งไปแล้ว  

ถึงกระนั้น จากสถานีเซกามัต ถ้าต้องการไปเมืองยะโฮร์บาห์รู (Johor Bharu) เพื่อต่อรถไฟไปยังประเทศสิงคโปร์ ต้องต่อรถโดยสารประจำทางที่ สถานีเดินรถเซกามัต (Terminal Bas Segamat) อีกประมาณ 3 ชั่วโมง 15 นาที หรือต่อด้วยรถไฟ KTM Intercity ไปยัง สถานีเจบี เซ็นทรัล (JB Sentral) อีกประมาณ 4 ชั่วโมง 30 นาที ที่มีเพียงวันละ 3-4 ขบวน

รอจนกว่าโครงการรถไฟทางคู่ไปถึงสถานีเคมปัสบารู (Kempas Baru) เมืองยะโฮร์บาห์รู คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 และมีขบวนรถไฟ ETS จากสถานีเจบี เซ็นทรัล ไปสถานีเคแอล เซ็นทรัล (KL Sentral) กรุงกัวลาลัมเปอร์ และสถานีปาดังเบซาร์ (Padang Besar) รัฐปะลิส ใกล้ชายแดนไทย-มาเลเซีย เดินทางแบบไร้รอยต่อ

ภาพ : pmcc-corporation.com
การขยายเส้นทางดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการรถไฟทางคู่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เกอมัส-ยะโฮร์บาห์รู (Gemas-Johor Bahru Electrified Double-Tracking Rail Project หรือ Gemas - JB EDTP) โดยปรับปรุงทางรถไฟเดิม จากทางเดี่ยวเป็นทางคู่ ติดตั้งระบบจ่ายไฟเหนือหัว (Overhead Catenary) ระยะทาง 192 กิโลเมตร

พร้อมก่อสร้างสถานีรถไฟ รวม 11 สถานี ได้แก่ สถานีเซกามัต (Segamat) สถานีเกอนวง (Genuang) สถานีลาบิส (Labis) สถานีเบกอก (Bekok) สถานีปาลอห์ (Paloh) สถานีกลวง (Kluang) สถานีเมิงกีบล (Mengkibol) สถานีเรนกัม (Rengam) สถานีลายัง-ลายัง (Layang-Layang) สถานีคูไล (Kulai) และสถานีเคมปัสบารู (Kempas Baru)

โครงการนี้เริ่มต้นก่อสร้างเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561 ใช้งบประมาณก่อสร้างราว 1 หมื่นล้านริงกิต แต่เกิดความล่าช้าออกไปหลายครั้ง โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เมื่อเดือนกันยายน 2566 นายลก เซียว ฟุก รัฐมนตรีคมนาคมมาเลเซีย กล่าวยอมรับว่าโครงการล่าช้าจริง แต่มั่นใจว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568

เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะทำให้รถไฟ ETS สามารถขยายบริการจากเดิมสถานีเกอมัส สถานีเซกามัต ไปถึงสถานีเจบี เซ็นทรัล โดยขบวนรถไฟทำความเร็วได้สูงสุด 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีความเร็วเดินทางเฉลี่ยประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อีกทั้งทางรถไฟก่อสร้างแบบระบบปิด เกิดความปลอดภัย รถไฟสามารถทำความเร็วได้มากขึ้น

ทำให้การเดินทางจากสถานีเคแอล เซ็นทรัล (KL Sentral) กรุงกัวลาลัมเปอร์ ไปยังสถานีเจบี เซ็นทรัล เพื่อต่อไปยังด่านวู้ดแลนด์ (Woodlands) ประเทศสิงคโปร์ จากเดิม 7 ชั่วโมง เหลือไม่ถึง 4 ชั่วโมง และหากเดินทางจากสถานีปาดังเบซาร์ (Padang Besar) ใกล้ชายแดนไทย-มาเลเซีย จะใช้เวลาประมาณ 9 ชั่วโมง

รถไฟ ETS ขบวนที่ EG9420 เกอมัส-ปาดังเบซาร์ จอดที่สถานีเคแอล เซ็นทรัล (KL Sentral) กรุงกัวลาลัมเปอร์ ภาพถ่ายเมื่อเดือนตุลาคม 2566
นอกจากนี้ ยังเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าทางราง ระหว่าง ท่าเรือกลัง (Port Klang) กับ ท่าเรือตันจุงเปเลปัส (Tanjung Pelepas) รวมทั้งยังกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐยะโฮร์ หากมีการเดิน รถไฟฟ้าชานเมือง (KTM Komuter) ความถี่รายชั่วโมง เช่นเดียวกับสายปาดังเบซาร์ – บัตเตอร์เวิร์ธ ที่ประชาชนตามแนวเส้นทางสามารถเดินทางได้ทุกวัน

ประโยชน์ที่คาดว่าประเทศไทยจะได้รับก็คือ นอกจากนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียจะเข้ามายังประเทศไทย ผ่านด่านปาดังเบซาร์ ไปยังพื้นที่ภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาแล้ว หากมีการเดินรถไฟ ETS จากสถานีเจบี เซ็นทรัล มายังสถานีปาดังเบซาร์ทุกวัน ก็จะมีนักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์เข้ามายังประเทศไทยเช่นกัน

ที่ผ่านมาด่านศุลกากรปาดังเบซาร์มีคนเดินทางขาเข้าราว 100,000-140,000 คนต่อเดือน ขึ้นอยู่กับฤดูกาลท่องเที่ยว ขณะที่เทศกาลสงกรานต์ 2567 ซึ่งตรงกับเทศกาลฮารีรายอ นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียและสิงคโปร์นับหมื่นคน เข้ามายังประเทศไทย เพื่อร่วมงานหาดใหญ่มิดไนท์สงกรานต์อย่างคึกคัก โรงแรมที่พักกว่า 30,000 ห้องเต็มทุกห้อง

ส่วนโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินที่สำคัญ หนึ่งในนั้นคือระบบการชำระเงิน CROSS-BORDER QR Payment ที่นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย และสิงคโปร์ สามารถใช้มือถือสแกนจ่ายด้วย DuitNow มาเลเซีย และ NETS สิงคโปร์ เข้ากับ QR Code PromptPay ร้านค้าในประเทศไทย อย่างที่ตลาดกรีนเวย์ หาดใหญ่ มีร้านค้าให้สแกนจ่ายอย่างสนุกมือ

ขณะที่การรถไฟมาลายาจัดเดินรถขบวนพิเศษ มายสวัสดี (MY SAWASDEE) ระหว่างสถานีเคแอล เซ็นทรัล กรุงกัวลาลัมเปอร์ ถึงสถานีชุมทางหาดใหญ่ จ.สงขลา ในวันหยุดนักขัตฤกษ์ของมาเลเซีย แม้ราคาเริ่มต้นจะเพิ่มขึ้นจาก 75 ริงกิต (ประมาณ 583 บาท) เป็น 95 ริงกิต (ประมาณ 738 บาท) แต่ก็มีนักท่องเที่ยวใช้บริการราว 400 คน

ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานหาดใหญ่ จ.สงขลา ระบุว่า ตลอดปี 2566 ที่ผ่านมา การรถไฟมาลายา ให้บริการรถไฟขบวนพิเศษ กัวลาลัมเปอร์-หาดใหญ่ รวมกว่า 20 เที่ยว นำนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่มากกว่า 8,000 คน ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียที่นิยมเข้าประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มครอบครัว กลุ่ม Active Senior และกลุ่มวัยทำงาน

ภาพ : thai.tourismthailand.org
นึกถึงโครงการรถไฟทางคู่ หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร พบว่าคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.) มีมติเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 อนุมัติให้ดำเนินโครงการพร้อมกับรถไฟทางคู่ปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 281 กิโลเมตร และ ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร

ขั้นตอนต่อไป คือ นำรายละเอียดรถไฟทางคู่ทั้ง 3 โครงการเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติดำเนินงานตามขั้นตอน หลังคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 อนุมัติโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 29,748 ล้านบาท ระยะดำเนินการ 5 ปี

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ให้การรถไฟฯ ปรับแผนการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 (เฟส 2) โดยให้นำช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ วงเงิน 7,864 ล้านบาท มาดำเนินการลำดับแรกๆ เนื่องจากเป็นเส้นทางที่จะสนับสนุนการค้าชายแดนให้มีความสะดวกมากขึ้น และนักธุรกิจและประชาชนในพื้นที่ร้องขอให้เร่งดำเนินการ

หากโครงการรถไฟทางคู่ หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ยังเป็นรถไฟทางคู่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า โดยติดตั้งระบบจ่ายไฟเหนือหัว จะทำให้รถไฟ ETS จากมาเลเซียสามารถเดินทางข้ามมายังสถานีชุมทางหาดใหญ่ จ.สงขลาได้สะดวก เพราะแต่เดิมขบวนรถ MY SAWASDEE ต้องเปลี่ยนหัวรถจักรที่สถานีปาดังเบซาร์

ขณะเดียวกัน การรถไฟฯ ที่มีประสบการณ์ทำโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง สามารถนำตู้รถไฟฟ้ามาให้บริการช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ให้สอดคล้องกับการรถไฟมาลายา ที่มีขบวนรถไฟ ETS จากสถานีเกอมัส และสถานีเคแอล เซ็นทรัล กับรถไฟชานเมือง KTM Komuter Utara สายปาดังเบซาร์ - บัตเตอร์เวิร์ธ มีวันละ 18 ขบวน

รถไฟไทยกำลังจะออกจากสถานีปาดังเบซาร์ ฝั่งประเทศมาเลเซีย ภาพถ่ายเมื่อเดือนตุลาคม 2566
ส่วนข้อกังวลที่ว่าระบบไฟฟ้าอาจจะเอื้อประโยชน์ให้กับระบบเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวของประเทศมาเลเซีย ซึ่งใช้ระบบรถไฟฟ้าอยู่แล้วมากกว่าเอื้อประโยชน์ให้กับการเดินรถไฟของฝ่ายไทย ความจริงแล้วถ้าเป็นการท่องเที่ยว ไทยได้ประโยชน์มากกว่า เพราะหากเปิดเดินรถไฟประจำ นักท่องเที่ยวมาเลเซียเข้าประเทศไทยได้สะดวก

และหากมีการเดินรถไฟ ETS ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าทางไกลที่ทันสมัย ทำความเร็วได้สูงสุด 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากสถานียะโฮร์บาห์รู ไปยังสถานีปาดังเบซาร์ หากทางรถไฟของไทยมีระบบจ่ายไฟเหนือหัวรองรับ ก็สามารถเดินทางระหว่างสถานีชุมทางหาดใหญ่ ประเทศไทย ผ่านประเทศมาเลเซีย ไปยังประเทศสิงคโปร์ได้โดยใช้เวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง

เหลือเพียงแต่ช่วงสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึงสถานีชุมทางหาดใหญ่ ปัจจุบันรถไฟทางคู่จากกรุงเทพฯ มาถึงสถานีชุมพรเท่านั้น ยังเหลือช่วงสถานีชุมพร ถึงสถานีชุมทางหาดใหญ่ ที่ยังคงเป็นรถไฟทางเดี่ยว โดยการรถไฟฯ มีโครงการอยู่ในมือ 2 โครงการ ได้แก่ รถไฟทางคู่ชุมพร-สุราษฎร์ธานี 168 กิโลเมตร และสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา 321 กิโลเมตร

ทางรถไฟสายใต้ตลอดเส้นทางยังไม่มีระบบจ่ายไฟเหนือหัว ซึ่งหากจะทำคงต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะยังต้องทำทางรถไฟระบบปิด เพื่อความปลอดภัยในการเดินรถและต่อผู้โดยสาร ต้องล้อมรั้วป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอก รวมทั้งสัตว์เข้าไปในระบบราง ป้องกันอันตรายและป้องกันอาชญากรรมจากการลักลอบตัดสา่ยไฟ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็อยากจะลุ้นให้มีรถไฟทางคู่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อรองรับรถไฟ ETS จากมาเลเซีย ที่ก่อสร้างเกือบถึงสิงคโปร์แล้ว หากยังคงเป็นคอขวดที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย สถานีปาดังเบซาร์ ก็ย่อมเป็นอุปสรรคด้านการท่องเที่ยวและการค้าชายแดน

อย่างน้อย ความหวังที่จะได้นั่งรถไฟจากประเทศไทย ผ่านมาเลเซีย ไปสิงคโปร์ ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม.
กำลังโหลดความคิดเห็น