xs
xsm
sm
md
lg

อ่านไปโกรธไป คำพิพากษาคดีกำนันนก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

คดีสั่นสะเทือนวงการสีกากี กรณีลูกน้อง “กำนันนก” นายประวีณ จันทร์คล้าย นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และเป็นผู้มีอิทธิพลในจังหวัดนครปฐม ยิง “สารวัตรศิว” พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว สารวัตรทางหลวงหนุ่มเสียชีวิต นำไปสู่เหตุการณ์ต่อเนื่องในแวดวงตำรวจอีกมากมาย

คำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ที่สั่งจำคุกกำนันนก 2 ปี และผู้ต้องหาคนอื่นทั้งตำรวจและพลเรือน ลดหลั่นไปตามฐานความผิด ตั้งแต่ 2 ปี ถึง 2 ปี 8 เดือน แต่ลดโทษเหลือ 1 ปี 4 เดือน ถึง 1 ปี 9 เดือน 10 วัน บางส่วนคุมประพฤติ 2 ปี อยากให้ตำรวจกว่า 2 แสนนายทั่วประเทศได้มีโอกาสอ่านอย่างละเอียด 

เพราะเป็น “หนังชีวิต” ที่ไม่มีใครกำกับ แต่เป็น “หนังชีวิต” ที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของสารวัตรหนุ่มอนาคตไกล วัย 31 ปี ต้องจบชีวิตลง เพราะไม่ยอมก้มหัวให้กับผู้มีอิทธิพล ร้องขอให้ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็ไม่ได้ ขออะไรที่ไม่ถูกต้องก็ไม่ให้ จึงทำให้ “หน่อง ท่าผา” หรือ นายธนัญชัย หมั่นมาก ลูกน้องคนสนิทของกำนันนก เป่าหัวคนขวางทางเดินนาย ลั่นไกปืนใส่แล้วออกไปอย่างเลือดเย็น

ซ้ำด้วยบรรดานายตำรวจรายล้อมกำนันนก นิ่งดูดายไม่พอ ช่วยกันทำลายหลักฐานอีก เอาปืนไปฝังดิน เอากล้องวงจรปิดไปทิ้งลงคลอง แถมยังช่วยพากำนันนกหลบหนี

เรื่องของข่าวคำพิพากษากำนันนก แม้สื่อมวลชนหลายสำนักนำเสนอเบื้องต้นไปหมดแล้ว แต่บอกตามตรงว่า ตอนที่มอนิเตอร์ข่าว ได้อ่านคำพิพากษาคดีกำนันนกฉบับเต็ม “อ่านไปโกรธไป” แต่นับว่าศาลพิพากษาออกมาอย่างเป็นธรรมมากที่สุด พออ่านจบก็อยากถ่ายทอดเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังเป็นภาษาชาวบ้าน เพื่อให้เข้าใจง่าย 

ถึงกระนั้น ก็อยากให้ไปอ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม ซึ่งแต่ละสำนักข่าวลงข่าวออนไลน์แบบละเอียดยิบ เว็บไซต์ MGR Online ของเราก็มี เพราะมีประโยชน์อย่างมากต่อการปฎิบัติหน้าที่ของตำรวจ และเพื่อที่จะได้ “รักษาระยะห่าง” กับผู้มีอิทธิพล ที่ทำให้ประชาชนเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม

ความจริงคดีกำนันนกมีอยู่ 2 คดี คดีแรก คือ คดีจ้างวานฆ่า มีผู้ต้องหา 2 คน คือ หน่อง ท่าผา จำเลยที่ 1 ซึ่งศาลจำหน่ายคดีไปแล้วเพราะถูกวิสามัญฆาตกรรม กับกำนันนก จำเลยที่ 2 ข้อหาจ้างวานฆ่า และพยายามฆ่าผู้อื่น

ตอนนี้คดีอยู่ระหว่างรอศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 22 เมษายน 2567 ที่จะถึงนี้ ซึ่งกำนันนกให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ขณะนี้ยังควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

อีกคดีหนึ่งที่เพิ่งพิพากษาไป คือ คดีเจ้าหน้าที่รัฐประพฤติมิชอบ ตำรวจได้ขออนุญาตโอนคดีจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 มาที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กรุงเทพฯ มีจำเลยทั้งหมด 23 คน

แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 16 นาย นำโดย พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ สมสุข สารวัตรสืบสวน สภ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ฐานเป็นผู้กระทำความผิด ส่วนอีก 7 คน เป็นพลเรือน ฐานเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ กำนันนก

คดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหา 28 คน อัยการสั่งไม่ฟ้อง 5 คน เหลือ 23 คน อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง สนใจคดีนี้มาก เพราะตำรวจทั่วประเทศก็อยากรู้เหมือนกันว่า ศาลจะวางบรรทัดฐานอย่างไร

เหตุการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อพบความผิดซึ่งหน้าหรือเมื่อเผชิญเหตุ ศาลจะได้วางบรรทัดฐานไว้ว่า อะไรคือการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ ตำรวจจะได้รู้ว่าต้องวางตัวอย่างไร อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายมีเพียงใด

รวมถึง “จรรยาบรรณและจิตสำนึก” ของการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อันจะเป็นที่พึ่งของประชาชน ไม่ใช่พอเกิดเหตุแล้วไม่ทำอะไรเลย หรือทำนิดๆ หน่อยๆ แล้วแยกย้ายกันหลบหนี

สำหรับคำฟ้องของคดีนี้ โดยสรุปก็คือ วันเกิดเหตุ 6 กันยายน 2566 กำนันนกจัดงานเลี้ยงโดยเชิญตำรวจหลายหน่วยงาน และคนคุ้นเคยหลายคนมาร่วมงาน กำนันนกไม่พอใจสารวัตรศิวอย่างมาก

จึงสั่งให้นายหน่อง ลูกน้องคนสนิท ใช้ปืนยิงสารวัตรศิวหลายนัด ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตที่โรงพยาบาลนครปฐม และกระสุนยังพลาดไปถูก พ.ต.ท.วศิน พันปี รองผู้กำกับการ 2 บก.ทล. ได้รับบาดเจ็บ

จำเลยที่ 1-16 ซึ่งเป็น “เจ้าพนักงานตำรวจ” พบเห็นความผิดซึ่งหน้า มีหน้าที่จับกุมตามกฎหมาย แต่ไม่จับกุม กลับปล่อยให้นายหน่องหลบหนีไป โดยมีตำรวจ 12 นาย เร่งรีบออกจากที่เกิดเหตุ ไม่ระงับยับยั้งตามความจำเป็น

ส่วนตำรวจอีก 4 นาย ช่วยเหลือกำนันนกและนายหน่องไม่ให้ต้องรับโทษ ได้แก่ พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ สมสุข จำเลยที่ 1, ร.ต.ท.ประสาร รอดผล จำเลยที่ 2 รองสารวัตร (ปราบปราม) สถานีตำรวจทางหลวง 1 กก.2 บก.ทล., ร.ต.ท.นิมิตร สลิดกุล จำเลยที่ 3 รองสารวัตร (จราจร) สภ.เมืองนครปฐม และ ร.ต.ท.สรรเสริญ ศรีสวัสดิ์ จำเลยที่ 5 รองสารวัตร (ปราบปราม) สถานีตำรวจทางหลวง 1 กก.2 บก.ทล. แยกเป็นพฤติการณ์ดังนี้

พฤติการณ์ที่ 1 ร.ต.ท.ประสาร แย่งปืนจากนายหน่องไปห่อด้วยผ้าคลุมเก้าอี้โต๊ะจีน แล้วส่งให้ พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ เก็บไว้ จากนั้น พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ ร.ต.ท.ประสาร และนายอาทิตย์ เก้าลิ้ม จำเลยที่ 23 คนขับรถ ใช้ให้นายสนธยา สุดแน่น จำเลยที่ 17 คนสวนบ้านกำนันนก เอาไปฝังดิน (ตามรายงานข่าวคือบริเวณอ่างเก็บน้ำประปานคร)

ศาลเห็นว่า พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ส่งมอบปืนให้นายสนธยา ซึ่งไม่ใช่ตำรวจ แต่เป็นคนสวนบ้านกำนันนก ทั้งที่ตอนนั้นมีตำรวจอยู่เต็มไปหมด ยังพอให้ตำรวจคนอื่นเก็บไว้เพื่อดำเนินการไปตามขั้นตอน พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ รับราชการมาแล้ว 31 ปี ย่อมรู้ว่าปืนจะต้องส่งให้พนักงานสอบสวนเพื่อตรวจพิสูจน์ ไม่ใช่ให้ประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง 

หนำซ้ำพอเหตุการณ์คลี่คลายแล้ว ภายหลังกลับไม่ใส่ใจติดตาม ทวงถามขอเอาปืนคืน ทั้งที่เป็นวัตถุพยานสำคัญที่จะพิสูจน์ผู้กระทำความผิด ผิดวิสัยนายตำรวจตำแหน่งสารวัตรสืบสวน ที่ผ่านการศึกษาอบรมเกี่ยวกับอาวุธปืนของกลาง 

เรื่องนี้ นายสนธยาให้การรับสารภาพว่าได้รับคำสั่งจาก ร.ต.ท.ประสาร จำเลยที่ 2 และมีข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์ระหว่างนายสนธยา กับนายอาทิตย์ จำเลยที่ 23 ทั้งสองต่างเป็นลูกจ้างกำนันนก และคำให้การในชั้นสอบสวนน่าเชื่อถือกว่าในชั้นศาล

พฤติการณ์ที่ 2 พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ ใช้ให้ นายนิวัติชัย ปั้นดา จำเลยที่ 19 นายกฤษดา เหล่งดอนไพร จำเลยที่ 20 และนายชาตรี เขียวทับ จำเลยที่ 21 คนสนิทกำนันนก เก็บปลอกกระสุนปืนไปทิ้ง ล้างคราบเลือด และเก็บโต๊ะจีน VIP ที่เกิดเหตุ

ศาลเห็นว่า นายนิวัติชัย รู้จักกับ พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ มาก่อน รู้เห็นเหตุการณ์โดยตรง ไม่มีเหตุให้ปรักปรำ ส่วนการสั่งให้เคลียร์พื้นที่เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้าฉับพลัน และในทางไต่สวนไม่พบว่าตำรวจบังคับขู่เข็ญ และเป็นการยากที่จะตัดสินใจจัดการเอง

ศาลชี้ว่า คำให้การในชั้นสอบสวน น่าเชื่อถือกว่าคำให้การในชั้นศาล ที่มีการเสริมแต่งข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในภายหลัง

การที่นายนิวัติชัย นายกฤษดา และนายชาตรี ช่วยกันเก็บปลอกกระสุนปืน ล้างคราบเลือด เก็บโต๊ะจีน VIP ที่เกิดเหตุ เป็นไปตามคำสั่งของ พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ เพื่อจะช่วยกำนันนกทำลายพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ

พฤติการณ์ที่ 3 ร.ต.ท.ประสาร และ ร.ต.ท.สรรเสริญ ใช้ให้นายฐิตินันท์ อินทร์ต้นวงศ์ จำเลยที่ 18 เจ้าหน้าที่เรือนจำกลางราชบุรี คนสนิทกำนันนก เอาเครื่องบันทึกภาพกล้องวงจรปิด ไปทิ้งลงคลองบริเวณโค้งสะพานวัดตาก้อง

ศาลเห็นว่า นายฐิตินันท์รับสารภาพตรงกันทั้งชั้นสอบสวนและชั้นศาล ตรงที่หลังจากกำนันนกออกจากห้องเรือนกระจก ตำรวจหนึ่งในสองนายพูดว่า "กล้อง" อีกคนกล่าวว่า "เออๆ มีกล้องวงจรปิด"

นายฐิตินันท์ จึงถามกำนันนกว่า "กล้องอยู่ที่ไหน" กำนันนกตอบไปว่า "อยู่ในร้านกาแฟ" นายฐิตินันท์จึงวิ่งไปที่ห้องที่เป็นร้านกาแฟ ถอดเครื่องบันทึกภาพกล้องวงจรปิด สารภาพว่าที่ทำไปเพราะกำนันนกมีบุญคุณมาก่อน

พฤติการณ์ที่ 4 ร.ต.ท.ประสาร ร.ต.ท.นิมิตร และ ร.ต.ท.สรรเสริญ ร่วมกับนายอาทิตย์ พากำนันนกหลบหนีไปที่บ้านอีกหลังหนึ่ง โดยมีนายอาทิตย์เป็นคนขับ และมี ร.ต.ท.นิมิตร ขี่รถจักรยานยนต์คุ้มกันกำนันนกอีก

ข้อนี้ศาลเห็นว่า แม้ ร.ต.ท.ประสารจะเข้าไปในห้องเรือนกระจกร่วมกับกำนันนก แต่ข้อเท็จจริงทางไต่สวน ยังไม่มีหลักฐานชี้ให้เห็นว่ามีการปรึกษาหารือว่าจะหลบหนีไปที่อื่นหรือไม่ แต่ผิดตรงที่ ร.ต.ท.นิมิตร ขับขี่รถจักรยานยนต์ตามไปส่งบ้านกำนันนกอีกหลัง

ความน่าสนใจของคดีนี้ คือพยานหลักฐาน ทั้งข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือของจำเลยแต่ละคน รวมทั้งเครื่องบันทึกภาพกล้องวงจรปิด ที่นายฐิตินันท์เอาไปทิ้งน้ำ ตำรวจกู้คืนไฟล์วีดีโอได้ 12 ไฟล์ จับภาพการกระทำต่างๆ ละเอียดยิบ

ศาลเห็นว่าจำเลยที่ 1-16 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ย่อมมีอำนาจหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยและสืบสวนคดีอาญา แม้จะไม่ได้อยู่ในเขตท้องที่ แต่ก็มีอำนาจหน้าที่จับกุมผู้ต้องหาได้ โดยเฉพาะ “ความผิดซึ่งหน้า”

ย้ำว่า ไม่มีกฎหมายใดจำกัดให้ปฎิบัติหน้าที่ได้เฉพาะในเขตท้องที่ ตำรวจทุกคน ทุกชั้นยศ มีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิด และสืบสวนคดีอาญาได้ “ทั่วราชอาณาจักร” และมีอำนาจหน้าที่จับกุมผู้ต้องหาได้ทั่วไป

ศาลไล่เรียงลำดับขั้นตอนของตำรวจ ตั้งแต่ขั้นเผชิญเหตุ ขั้นประเมินค่าอันตราย ขั้นตอบโต้เหตุการณ์หรือบังคับใช้กฎหมาย และขั้นประเมินผล หนึ่ง-สอง-สาม-สี่ ถ้าท้องที่ไหนไม่ใช่พื้นที่รับผิดชอบ ก็แจ้งตำรวจพื้นที่รับผิดชอบทราบ

ที่อ่านแล้วปรี๊ดก็คือ พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ จำเลยที่ 1 อ้างว่าตกใจ สับสน ไม่มีลูกน้องในที่เกิดเหตุ แถมนายหน่องสูงใหญ่แข็งแรงกว่า เลยไม่กล้าควบคุมตัว อีกทั้งเมาสุรา ยืนลังเล ตำรวจคนอื่นกล่าวว่า “ไม่ให้ยุ่งเกี่ยว ให้กลับบ้านไป”

แต่ศาลพิจารณาคลิปวงจรปิดและข้อมูลการใช้โทรศัพท์ที่รีสอร์ตใน อ.ดอนตูมแล้ว เห็นว่าไม่สมเหตุสมผล เหตุซึ่งหน้ายิงกันตายอย่างนี้ อย่างน้อยถ้าไม่มีอาวุธ ก็ใช้ตัวเองหวงกั้น ปิดกั้นที่เกิดเหตุเพื่อรักษาสถานที่เอาไว้ แต่ไม่ทำ

ในคำพิพากษายังกล่าวอีกว่า นายหน่องทำผิดซึ่งหน้า พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ เป็นสารวัตรสืบสวน สภ.กระทุ่มแบน ถือเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ย่อมมีวุฒิภาวะตัดสินใจ อีกทั้งรับราชการกว่า 31 ปี มีประสบการณ์มาก

เมื่อตำรวจอีกนายคว้าปืนออกจากนายหน่องแล้ว นายหน่องไม่มีอาวุธที่ตัว ถ้าทำผิดซึ่งหน้าจะต้องควบคุมตัวนายหน่องด้วยตัวเอง หรือสั่งการ หรือร้องขอให้ตำรวจคนอื่นที่อยู่ในที่เกิดเหตุช่วยกันควบคุมตัว

ส่วน ร.ต.ท.ประสาร จำเลยที่ 2 พกปืน 9 มม.พร้อมกระสุน 10 นัดติดตัวมาด้วย เมื่อคว้าปืนจากนายหน่องมา น่าจะยับยั้งไม่ให้นายหน่องหลบหนี แต่กลับอ้างว่าอายุมากแล้ว สุขภาพไม่ดี และมึนเมาสุรา ศาลเห็นว่าเป็นข้ออ้างไม่ได้

เมื่อ ร.ต.ท.ประสาร และ ร.ต.ท.นิมิตร จำเลยที่ 3 ช่วยพยุงร่างสารวัตรศิวไปที่รถกระบะ ถือว่าทำถูกต้องแล้ว แต่ต่อมากลับเดินทางไปกับกำนันนก ไม่อยู่ปิดกั้นสถานที่เกิดเหตุ และไม่ช่วยเปิดทางระหว่างส่งตัวผู้บาดเจ็บไปโรงพยาบาล

ส่วน ร.ต.ท.สรรเสริญ จำเลยที่ 5 ภาพจากกล้องวงจรปิดพบว่า หลังเกิดเหตุเดินเข้าไปในห้องเรือนกระจกที่มีกำนันนกอยู่ก่อนแล้ว พอกลับออกมาก็มานั่งรถยนต์ออกจากที่เกิดเหตุไปพร้อมกับกำนันนก

การที่ ร.ต.ท.สรรเสริญอ้างว่าในวันเกิดเหตุ ร้องตะโกนเร่งรัดให้คนเข้ามาช่วยนำรถยนต์เข้ารับผู้บาดเจ็บ ภาพจากกล้องวงจรปิดก็ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่า พยายามช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจริง

และที่อ้างว่าห้ามไม่ให้คนหยิบปลอกกระสุนปืนก็ฟังไม่ขึ้น เพราะไม่มีการปิดกั้นหรือป้องกันสถานที่เกิดเหตุ หรือรวบรวมพยานหลักฐาน แต่กลับออกจากที่เกิดเหตุไปพร้อมกับกำนันนก

ส่วนจำเลยที่เหลือส่วนใหญ่คือพวกหนีกลับบ้าน ซึ่งศาลชี้ว่าถ้าพบคนทำผิดซึ่งหน้า ก็ต้องระงับยับยั้งไม่ให้หลบหนี หรือเข้าจับกุม ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ปิดกั้นป้องกันสถานที่เกิดเหตุ หรือรวบรวมพยานหลักฐาน

แต่ส่วนใหญ่กลับปล่อยปะละเลย อย่าง ร.ต.ท.ณรงค์ศักดิ์ แตงอำไพ จำเลยที่ 4 รองสารวัตร สถานีตำรวจทางหลวง 1 กก.2 บก.ทล. นั่งอยู่ที่โต๊ะจีน พอเกิดเหตุก็เดินขึ้นรถ พอนายหน่องหลบหนีก็กลับบ้าน ทั้งที่พกอาวุธปืนสั้น สามารถใช้ป้องกันตามยุทธวิธีตำรวจก็ไม่ทำ

การที่ ร.ต.ท.ณรงค์ศักดิ์ อ้างว่านั่งรอในรถรอเหตุการณ์ปกติ แก่แล้ว สุขภาพไม่ดี เจ็บป่วย กลัวคนอื่นได้รับอันตราย ศาลเห็นว่าฟังไม่ขึ้น เพราะเป็นเพียงข้ออ้างเหตุผลส่วนตัว ผิดวิสัยของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

ด้าน จ.ส.ต.พิสิฐ ชิวปรีชา จำเลยที่ 6 ผู้บังคับหมู่ สถานีตำรวจทางหลวง 1 กก.2 บก.ทล. ที่มีข่าวว่าเป็นหลานกำนันนก คนนี้รีบกลับออกจากที่เกิดเหตุเลย ไปให้การว่ายิงไล่ให้กลับบ้านเพื่อความสะใจ ไม่ทราบว่าเป็นการยิงกันตาย

ขณะที่ ร.ต.อ.จตุรวิทย์ ชวาลเกียรติธนา จำเลยที่ 7 รองสารวัตรปราบปราม สภ.เมืองนครปฐม แม้อ้างว่านั่งอยู่ไกล แต่ศาลเห็นว่ายังตะโกนเรียกให้จับกุมนายหน่องได้ หนำซ้ำแทนที่จะใช้รถจักรยานยนต์สายตรวจนำรถผู้บาดเจ็บ กลับขี่รถกลับบ้าน

ส่วน ร.ต.อ.นุชิต บรรณชัย จำเลยที่ 12 รองสารวัตร กก.5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) หลังสิ้นเสียงปืนก็วิ่งไปที่รถ อ้างว่าหาปืนมาระงับเหตุ พอหาไม่เจอก็ขาดความมั่นใจ เลยขับรถกลับบ้านที่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ศาลเห็นว่าเป็นเจ้าพนักงานก็ทำหน้าที่ระงับเหตุได้ กลับไม่ทำ

ด้าน ด.ต.ถนอมศักดิ์ มีศรี จำเลยที่ 13 ผู้บังคับหมู่ (ปราบปราม) สภ.สามความเผือก หันไปมองเห็นนายหน่องยืนอยู่ข้างสารวัตรศิวซึ่งหน้า ศาลดูไปถึงประวัติรับราชการที่เคยอยู่จังหวัดชายแดนใต้ ยะลา 3 ปี นราธิวาส 5 ปี และงานป้องกันและปราบปราม รวมแล้ว 18 ปี แสดงให้เห็นว่าเชี่ยวชาญยุทธวิธี และการใช้อาวุธปืน

แต่วันเกิดเหตุกลับรีบเดินออกจากที่เกิดเหตุไปที่รถกระบะ แล้วขับรถกลับบ้าน ไปที่แฟลตตำรวจสามควายเผือก ทั้งที่มีอาวุธปืนสั้นของทางราชการอยู่ในลิ้นชักรถกระบะ ย่อมใช้ระงับยับยั้งไม่ให้นายหน่องหลบหนี แต่ไม่หยิบมาใช้

ที่น่าสมเพชก็คือ ด.ต.ถนอมศักดิ์ อ้างว่าเมาสุรา และอ้างว่าการใช้อาวุธปืนนอกเวลาราชการ ถ้าไม่เกี่ยวกับคดีใช้ไม่ได้ แต่ศาลระบุเลยว่า ถ้ามีคนทำผิดซึ่งหน้าต้องจับกุมทันที เป็นความชอบด้วยกฎหมาย ส่วนระเบียบมีไว้เพื่อความปลอดภัยและให้เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น ที่ว่านอกเวลาราชการทำไม่ได้ ฟังไม่ขึ้น

ขณะที่ ร.ต.อ.ศิริชัย รูปสวย จำเลยที่ 15 รองสารวัตร (ปราบปราม) กก.5 กองปราบปราม ตอนเกิดเหตุเดินไปที่ห้องน้ำแล้วไปทางหน้าเวที หลังเกิดเหตุขับรถกลับบ้านที่ อ.กำแพงแสน แทนที่พบเห็นเหตุการณ์จะระงับยับยั้งกลับไม่ทำ แม้แต่ช่วยโบกรถยังไม่ช่วย ออกจากที่เกิดเหตุทันที

ส่วน ร.ต.ท.สมโชค บัวไชย จำเลยที่ 16 รองสารวัตรสืบสวน กองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธร ภาค 7 คุยโทรศัพท์อยู่ข้างสระน้ำ พอได้ยินเสียงปืน กลับรีบเร่งมุ่งไปทางลานจอดรถ แม้จะช่วยเปิดประตูรถยนต์ ขับรถออกไปแล้วกลับมาอีกรอบ แต่จุดเกิดเหตุถูกเก็บกวาดสถานที่หมดแล้ว

ที่น่าสนใจก็คือ ร.ต.อ.ประสมมาศ แสงสุขดี จำเลยที่ 8 เป็นรองสารวัตรจราจร สภ.กำแพงแสน มากับลูกน้อง 3 นาย คือ ส.ต.ต.สุทธิกานต์ แซ่ฮ้อ ส.ต.ต.สรรเสริญ ศรีอุบล และ ส.ต.ต.ธนทัต ท่าน้ำตื้น จำเลยที่ 9 ถึง 11

ลูกน้องทั้ง 3 นาย เป็นตำรวจจบใหม่ เพิ่งบรรจุเข้ารับราชการไม่นาน คนที่อยากเป็นตำรวจ คนที่จะสอบเข้านายสิบตำรวจ และคนที่เพิ่งรับราชการตำรวจไม่นาน คงอยากรู้ว่าผลออกมาอย่างไร?

วันเกิดเหตุ กล้องวงจรปิดพบภาพ ร.ต.อ.ประสมมาศ พร้อมด้วยลูกน้องทั้ง 3 คน ลุกจากโต๊ะจีน แต่กลับไม่เข้าไปช่วยเหลือผู้ตายและผู้บาดเจ็บ ข้ออ้างว่าเกรงจะเป็นการกีดขวางการช่วยเหลือ ศาลเห็นว่าไม่สมเหตุผล

ส่วนข้ออ้างที่ว่า ไม่ติดตามจับกุมเพราะเห็นตำรวจคนอื่นเข้าไปควบคุมตัวแล้ว แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีตำรวจนายใดควบคุมตัวนายหน่องเลย การกล่าวอ้างดังกล่าวจึงไม่อยู่บนข้อเท็จจริง

ศาลยังตำหนิว่า ร.ต.อ.ประสมมาศ รับราชการตั้งแต่ปี 2540 มีประสบการณ์มีวุฒิภาวะพอสมควร จะต้องมีความกล้าหาญในการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ให้ประจักษ์ เป็นตัวอย่างให้แก่ลูกน้องอีก 3 คนที่เป็นตำรวจจบใหม่

แต่กลับพากันออกจากจุดเกิดเหตุ ไปที่ไปหลบนั่งรออยู่บนรถยนต์กระบะตราโล่แล้วออกไป อ้างว่ากลัวลูกน้องไม่ปลอดภัย ทั้งที่เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีอำนาจหน้าที่อย่างน้อยปิดกั้นที่เกิดเหตุและรวบรวมพยานหลักฐานตามสมควร

ส่วนลูกน้อง 3 นาย ซึ่งเป็นตำรวจจบใหม่ ศาลเห็นว่าผ่านฝึกอบรมวิชาการตำรวจมาแล้ว ฝึกยุทธวิธีตำรวจอย่างน้อยระดับพื้นฐานมาแล้ว พอเกิดเหตุซึ่งหน้าย่อมสังเกตและช่วยเหลือตำรวจคนอื่นๆ จับกุมนายหน่องแต่กลับไม่ทำ

อย่างไรก็ตาม ศาลให้ความเป็นธรรมกับตำรวจจบใหม่ทั้ง 3 นาย จากประวัติพบว่า ส.ต.ต.สุทธิกานต์ อายุ 27 ปี ส.ต.ต.สรรเสริญ อายุ 21 ปี และ ส.ต.ต.ธนทัต อายุ 23 ปี เพิ่งเข้ารับราชการตำรวจเมื่อ 1 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา

โดยฝึกอบรมศึกษาที่ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 7 จังหวัดนครปฐม ในช่วงโควิด-19 ผ่านระบบออนไลน์ไม่เต็มตามระบบ จบออกมาจึงบรรจุแต่งตั้งเป็นสิบตำรวจตรี เป็นผู้บังคับหมู่กองร้อยควบคุมฝูงชน ตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม

ก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 เดือน ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าพนักงานตำรวจจราจร ไม่เคยทำงานด้านป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมเลย อีกทั้ง ศาลคำนึงถึงอายุขณะเกิดเหตุ พบว่าอายุยังน้อย

แม้ตำรวจใหม่ทั้ง 3 นาย จะถูกพิพากษาให้ทั้งสามจำคุก 2 ปี ปรับคนละ 60,000 บาท ก่อนลดโทษเหลือ 1 ปี 4 เดือน ปรับคนละ 40,000 บาท แต่โทษจำคุกรอการลงโทษ โดยคุมประพฤติ 2 ปี ทำงานบริการสังคมฯ 30 ชั่วโมง

ถือว่าศาลให้โอกาสตำรวจจบใหม่ทั้ง 3 นายอย่างถึงที่สุดแล้ว และเป็นบทเรียนให้ตำรวจคนอื่นๆ ทั้งตำรวจจบใหม่ รวมทั้งตำรวจคนอื่นๆ มีความกล้าหาญในการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เป็นที่พึ่งพาแก่ประชาชน

ส่วนจำเลยเพียงหนึ่งเดียวที่ศาลยกฟ้อง ได้แก่ จ.ส.ต.อภิรักษ์ โรจน์พวง จำเลยที่ 14 เป็นผู้บังคับหมู่ กองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ขณะเกิดเหตุกำลังยืนพูดคุยโทรศัพท์อยู่ข้างสระน้ำ พอได้ยินเสียงปืนก็แอบหลบ ต่อมารับโทรศัพท์จาก จ.ส.ต.ทศพร แซ่อึ้ง ผู้บังคับหมู่ตำรวจทางหลวง ที่กำลังช่วยเหลือสารวัตรศิว ให้เก็บสิ่งของของสารวัตรศิว ที่อยู่บนโต๊ะจุดเกิดเหตุนำไปส่งที่โรงพยาบาลนครปฐม จึงเก็บสิ่งของและขับรถติดตามไปในทันที

ศาลชี้ว่า จ.ส.ต.อภิรักษ์ พยายามติดตามสถานการณ์จากบุคคลที่เกี่ยวข้อง ขับรถนำสิ่งของสารวัตรศิวมาที่โรงพยาบาลในเวลากระชั้นชิด และไปยืนเฝ้าบริเวณหน้าประตูห้องฉุกเฉินเพื่อป้องกันเหตุซ้ำซ้อน ข้อต่อสู้ฟังขึ้น

ถือเป็นตำรวจตัวอย่างที่ยังช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ไม่เหมือนจำเลยคนอื่นๆ ถ้าไม่หนีกลับบ้าน ก็ช่วยกำนันนกหลบหนีและทำลายหลักฐาน ขนาดตำรวจที่ขี่รถจักรยานยนต์ ยังไม่ช่วยเปิดทางให้ผู้บาดเจ็บเลย

คำพิพากษาคร่าวๆ ที่นำมาเล่าให้ฟังโดยสรุปมีเท่านี้ แต่อยากให้อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม คุณผู้อ่านที่ไม่ใช่ข้าราชการตำรวจก็อ่านได้ จะได้ช่วยกันกระตุ้นจิตสำนึกความเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ของข้าราชการตำรวจอีกทางหนึ่ง

จำเลยที่เป็นตำรวจทุกนาย พลเรือนเกือบทั้งหมดอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ต่างแยกย้ายกันกลับบ้านไปแล้ว บางคนที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำได้รับหมายปล่อยตัวไปแล้ว เหลือเพียงกำนันนกที่ยังมีหมายขังคดีจ้างวานฆ่าอยู่ ทุกคนได้รับบทเรียนถึงเหตุการณ์นี้ และสังคมคาดหวังว่านับจากนี้ จิตสำนึกของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์คงมีมากขึ้น

ถ้าตำรวจกลัวหรือเกรงใจผู้มีอิทธิพล ต่อให้ทำผิดชั่วช้าอย่างไรก็ตาม แล้วบ้านเมืองจะอยู่อย่างไร?
กำลังโหลดความคิดเห็น