xs
xsm
sm
md
lg

ปรับตัวรถเมล์กรุงเทพฯ รับความเปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

9 เมษายน 2567 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ยุติการเดินรถ 6 เส้นทาง ส่งต่อเอกชนเดินรถแทน ตามแผนปฏิรูปรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง

ได้แก่ สาย 34 รังสิต-หัวลำโพง กับสาย 39 ตลาดไท-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ ขสมก. ยุติการเดินรถปรับอากาศไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 มาคราวนี้ยุติให้บริการรถธรรมดาครีมแดงไปด้วย แทบเรียกว่าปิดตำนานก็ว่าได้

สาย 197 วงกลมมีนบุรี-ถนนรามอินทรา ที่เข้าเส้นถนนคู้บอน ถนนเลียบคลองสอง ถนนหทัยราษฎร์ สาย 210 สะพานพระราม 4-สถานีรถไฟฟ้าบางหว้า ที่มีรถเมล์ครีมแดง 2 คัน ไปทางถนนราชพฤกษ์ และถนนชัยพฤกษ์

สาย 525 สวนสยาม-หมู่บ้านเธียรทอง 3 ผ่านถนนประชาร่วมใจ (คู้ซ้าย) ถนนมิตรไมตรี ถนนประชาสำราญ สาย 526 สวนสยาม-บ้านเอื้ออาทรสันติสุข ผ่านถนนราษฎร์อุทิศ (คู้ขวา) ถนนเลียบวารี และถนนสังฆสันติสุข

สองเส้นทางนี้เป็นขวัญใจคนหนองจอก ให้บริการแก่ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งเรียกว่า “บ้านนอกกรุงเทพฯ” มาตั้งแต่ปี 2555 ยาวนานถึง 12 ปี โดยทั้งสองเส้นทางอยู่ในสังกัดอู่สวนสยาม มีรถครีมแดงให้บริการเส้นทางละ 9 คัน

ทั้งหมดนี้จะมีผู้ประกอบการเอกชน คือ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด ทำหน้าที่เดินรถแทน ขสมก. ตามที่กรมการขนส่งทางบกให้ใบอนุญาตเป็นเวลา 7 ปี โดยใช้รถโดยสารปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า

คาดว่าการยุติเดินรถ 6 เส้นทางครั้งนี้ จะทำให้มีรถโดยสารคืนเข้ามาในระบบ 85 คัน ซึ่งเป็นรถครีมแดงทั้งหมด โดยที่ก่อนหน้านี้มีรถเมล์ครีมแดงสาย 34 และสาย 39 ไปช่วยวิ่งเส้นทางอื่นแล้ว 18 คัน

อย่างไรก็ตาม การยุติเดินรถของ ขสมก. ครั้งนี้ สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ขณะนี้ขาดแคลนรถโดยสาร เนื่องจาก ขสมก. ตัดจอดรถโดยสารปรับอากาศเอ็นจีวี สีฟ้า ยี่ห้อบอนลัค 486 คัน มาตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา


สาเหตุมาจากกรณีพิพาทระหว่าง ขสมก. กับบริษัทเหมาซ่อม คือ กลุ่มผู้ร่วมทำงาน SCN-CHO จึงไม่สามารถนำรถออกมาให้บริการได้ เพราะหากนำรถออกมาให้บริการแล้วรถเสียหรือเกิดอุบัติเหตุ ขสมก. ต้องรับผิดชอบเอง

ส่งผลทำให้รถประจำทางที่เคยใช้รถปรับอากาศเอ็นจีวี สีฟ้า ต้องเปลี่ยนมาใช้รถเมล์ครีมแดง สลับกับรถเมล์ยูโรทู สีส้ม และมีการสลับสับเปลี่ยนรถโดยสารในแต่ละเส้นทาง ในลักษณะที่เรียกว่า “รถช่วยวิ่ง”

ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เพราะมีแต่รถเมล์ครีมแดง ซึ่งเป็นรถร้อน ไม่มีรถปรับอากาศ บางคนที่ซื้อบัตรรายเดือนรถโดยสารปรับอากาศ เติมเงิน 1,020 บาท กลับได้แต่นั่งรถเมล์ร้อน โดยที่ ขสมก. ไม่มีการชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีรถโดยสาร ขสมก. อีก 19 เส้นทาง ที่เตรียมจะยุติเดินรถ เพื่อส่งต่อเอกชนเดินรถต่อไป และอีก 3 เส้นทางที่ ขสมก. ช่วยเดินรถชั่วคราวแทนเอกชน ตามคำร้องขอของกรมการขนส่งทางบก

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในบรรดา 19 เส้นทาง มีบางเส้นทางที่เรียกว่าเป็น “เส้นทางทำเงิน” ของ ขสมก. ได้แก่ สาย 77 อู่สาธุประดิษฐ์-หมอชิตใหม่ สาย 84 อู่ไร่ขิง/อ้อมใหญ่-คลองสาน และสาย 515 ศาลายา-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ


หากยุติการเดินรถ เฉพาะ 19 เส้นทางนี้ทั้งหมด จะทำให้มีรถโดยสารคืนเข้ามาในระบบ ได้แก่ รถเมล์ครีมแดง 269 คัน รถเมล์ปรับอากาศ 143 คันโดยประมาณ แต่ก็มีรถบางส่วนไปช่วยเดินรถเส้นทางอื่นแล้วบางส่วน

แต่เนื่องจากรถเมล์ครีมแดงมีอายุการใช้งานมากถึง 30 ปี แม้จะมีความพยายามจาก ขสมก. ในการจัดหารถเมล์ EV จำนวน 3,390 คัน แต่บอร์ด ขสมก. ชุดปัจจุบันเพิ่งตีกลับให้ไปทำข้อมูลตัวเลขและรายละเอียดใหม่

ตอนนี้คนที่นั่งรถเมล์ ขสมก. เป็นประจำอาจต้องทำใจที่เห็นแต่รถเมล์ร้อน รถเมล์ครีมแดงบ่อยครั้ง ในขณะที่อากาศในเมืองไทยขณะนี้เป็นฤดูร้อน อุณหภูมิมีโอกาสสูงถึง 40 องศาเซลเซียส แม้ค่าโดยสารจะถูกกว่าก็ตาม

ถ้าไม่อดทนมากพอ คงต้องจำใจไปใช้บริการรถเมล์เอกชน แต่จะทำอย่างไรให้กระทบน้อยที่สุด?

ผู้เขียนเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับความเดือดร้อนจากรถเมล์เอ็นจีวีสีฟ้าตัดจอด เนื่องจากรถเมล์สาย 4-18 สมุทรสาคร-สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี ที่ผ่านมาใช้รถเมล์เอ็นจีวีสีฟ้าเป็นหลัก โดยมีรถเมล์ครีมแดงปนมาด้วยส่วนหนึ่ง

ส่วนตัวเป็นคนที่ชอบใช้บริการรถเมล์ ขสมก. เพราะสามารถใช้บัตร EMV (บัตรเครดิตและบัตรเดบิต) แตะจ่ายได้ ไม่ต้องพกเงินสด และที่ผ่านมามีบัตรเดบิตพ่วงประกันอุบัติเหตุ ซึ่งคุ้มครองเมื่อแตะจ่ายค่ารถเมล์

แต่เมื่อรถเมล์เอ็นจีวีสีฟ้าตัดจอด ทำให้เหลือแต่รถเมล์ครีมแดง อีกทั้งการจราจรติดขัด บนถนนพระรามที่ 2 จากการก่อสร้างทางด่วนและมอเตอร์เวย์ยกระดับ ต่อด้วยถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน กับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง

ที่สุดแล้วจึงตัดสินใจเปลี่ยนตัวเลือกไปทางถนนเอกชัย โดยใช้รถเมล์เอกชนอย่าง “ไทย สมายล์ บัส” ที่มีบัตรโดยสารที่ชื่อว่า HOP CARD แทน ใช้โปรโมชัน DAILY MAX FARE ค่าโดยสาร 40 บาท นั่งได้ทั้งวัน


แต่การที่จะได้โปรโมชัน DAILY MAX FARE ต้องทำตามกติกาก็คือ หนึ่ง ต้องแตะขึ้นที่ประตูหน้า แตะลงที่ประตูหลัง หากลืมแตะลงจะถูกปรับค่าโดยสารสูงสุดและตัดสิทธิโปรโมชันในวันนั้น และสอง ต้องมีเงินในบัตรเหลือ 25 บาท

วันไหนที่กะว่าจะใช้บริการทั้งวัน ขึ้นไปบนรถคันแรกของวัน แตะขึ้นเสร็จแล้วจะเติมเงินครั้งละ 50 บาท แล้วอัปเดตยอดที่เครื่องสีเหลือง ก่อนแตะลงเมื่อถึงปลายทาง ยกเว้นวันไหนที่ใช้บริการเพียงครั้งเดียว ก็จะใช้เงินสดชำระแทน

โดยสรุปก็คือ บัตร HOP CARD ต้องใช้ขึ้นรถไทยสมายล์บัสมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไปถึงจะคุ้ม จากประสบการณ์เคยใช้ขึ้นรถได้มากที่สุดตลอดวันอยู่ที่ 5 ครั้ง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่ามีเวลามากน้อยขนาดไหน และมีรถเมล์ให้บริการเมื่อใด

ที่ใช้ควบคู่กัน คือ แอปพลิเคชัน TSB GO ใช้ตรวจสอบระบบ GPS ว่ารถเมล์อยู่ตรงไหน จะได้กะเวลาถูกว่าจะรอนานเท่าไหร่ แต่ก็ใช่ว่าจะราบรื่น เพราะต้องคอยปิดแอปฯ แล้วเปิดใหม่บ่อยครั้ง

ทราบมาว่า ไทย สมายล์ บัส จะเปิดตัวแอปพลิเคชัน TSB GO เวอร์ชันใหม่ในเร็ววันนี้ ต้องคอยดูว่านอกจากหน้าตาจะเป็นอย่างไรแล้ว ความเสถียรในการใช้งาน โดยเฉพาะสัญญาณ GPS จะแสดงผลได้ดีกว่าเดิมหรือไม่


อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนพยายามเรียนรู้หลังความเปลี่ยนแปลงก็คือ ในวันหยุดสุดสัปดาห์จะหาโอกาสนั่งรถเมล์ไทย สมายล์ บัส ในเส้นทางแปลกๆ ที่ไม่เคยไป เพื่อเรียนรู้ว่ารถเมล์คันนี้ไปถึงไหน

เช่น สาย 173 เคหะธนบุรี-ตลาดบางกะปิ ปรากฏว่าขึ้นทางด่วนที่ด่านสุขสวัสดิ์ ใช้ทางด่วนเฉลิมมหานครและทางด่วนฉลองรัช ลงทางลงพัฒนาการ ถึงสี่แยกคลองตัน ไปตามถนนรามคำแหง แยกลำสาลี สิ้นสุดที่ตลาดบางกะปิ

อีกเส้นทางหนึ่งที่ไม่เคยไป แต่เกือบหลงก็คือ วันหนึ่งรอรถเมล์หน้าสายใต้ใหม่ (ตลิ่งชัน) เพื่อไปเดอะมอลล์บางแค เจอสาย 157 เดอะมอลล์บางแค-อนุสาวรีย์ชัย (ทางด่วน) เมื่อขึ้นรถ คนขับกล่าวว่า “รถไปอนุสาวรีย์ชัยนะครับ”

ทีแรกเราก็งง ตอนหลังถึงบางอ้อ เพราะรถเมล์เริ่มต้นจากเดอะมอลล์บางแค เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพุทธมณฑล สาย 1 เลี้ยวซ้ายผ่านสายใต้ใหม่ หลังจากนั้นจะไปถนนกาญจนาภิเษก แล้วขึ้นทางด่วนประจิมรัถยาที่ด่านฉิมพลีนั่นเอง

แม้ว่าเครือข่าย ไทย สมายล์ บัส จะมีรถเมล์มากถึง 123 เส้นทาง และเรือ 3 เส้นทาง จดจำยังไงก็จดจำไม่หมด แต่ที่สุดแล้วเราจะจดจำเฉพาะสายที่ใช้บริการในชีวิตประจำวันเป็นประจำมากกว่า

นึกถึงเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน สมัยที่ผู้เขียนยังเป็นเด็ก มีบริษัทที่ชื่อว่า บางกอกไกด์ ทำหนังสือรวบรวมเส้นทางรถเมล์ พร้อมกับแผนที่รถเมล์จำหน่าย ตอนนั้นยังเคยซื้อมาอ่าน อยากรู้ว่าแต่ละเส้นทางไปไหนได้บ้าง

แต่เดี๋ยวนี้หนังสือแบบนี้ไม่มีใครทำออกมาขายแล้ว หันมาใช้วิธีออกอินโฟกราฟิกแทน ซึ่งจับต้องไม่ได้ ถ้าให้เซฟลงเครื่อง เซฟวันนี้พรุ่งนี้ลืม แต่ปัญหาของสิ่งพิมพ์ก็คือ ข้อมูลอัปเดตไม่ได้ เมื่อเทียบกับทำข้อมูลบนโลกออนไลน์

นี่เป็นประสบการณ์คร่าวๆ จากการใช้บริการไทย สมายล์ บัส มาประมาณ 2 ปี ในยามที่รถเมล์ ขสมก. มีปัญหา ก็กลายเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการเดินทาง แม้ค่าโดยสารเหมาจ่าย 40 บาทจะถูกมองว่าแพงไปสำหรับคนรากหญ้าก็ตาม

ในเมื่อรถเมล์ถูกปฎิรูปแบบย่อยยับไม่มีชิ้นดี ด้วยฝีมือกรมการขนส่งทางบก นอกจากเสียงด่าซึ่งไม่มีความหมายแล้ว การปรับตัวก็เป็นอีกหนทางหนึ่งเพื่อความอยู่รอด ในยามที่ค่าเดินทางแพงขึ้นทุกที และทุกที


หมายเหตุ : เส้นทางเดินรถที่ ขสมก. ยุติการเดินรถแล้ว

สาย 203 ท่าน้ำนนท์-สนามหลวง (1 พฤษภาคม 2563)
สาย 29 หัวลำโพง-รังสิต (1 พฤศจิกายน 2563)
สาย 7 คลองขวาง-หัวลำโพง (1 มีนาคม 2565)


เส้นทางเดินรถ ขสมก. ยุติการเดินรถ หลังกรมการขนส่งทางบกประมูล 77 เส้นทาง

สาย 42 วงกลมท่าพระ-เสาชิงช้า (1 พฤษภาคม 2566)
สาย 8 สะพานพระพุทธยอดฟ้า-เคหะชุมชนร่มเกล้า (1 พฤศจิกายน 2566)
สาย 140 อู่แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ทางด่วน) (1 พฤศจิกายน 2566)
สาย 517 หมอชิต 2-ศูนย์การค้าเทิดไท (1 พฤศจิกายน 2566)
สาย 34 รังสิต-หัวลำโพง (รถปรับอากาศ 1 พฤศจิกายน 2566 รถธรรมดา 9 เมษายน 2567)
สาย 39 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (รถปรับอากาศ 1 พฤศจิกายน 2566 รถธรรมดา 9 เมษายน 2567)
สาย 197 วงกลมมีนบุรี-ถนนรามอินทรา (9 เมษายน 2567)
สาย 210 สะพานพระราม 4-สถานีรถไฟฟ้าบางหว้า (9 เมษายน 2567)
สาย 525 สวนสยาม-หมู่บ้านเธียรทอง 3 (9 เมษายน 2567)
สาย 526 สวนสยาม-บ้านเอื้ออาทรสันติสุข (9 เมษายน 2567)


เส้นทางเดินรถ ขสมก. เตรียมยุติการเดินรถเร็วๆ นี้

สาย 1 ถนนตก-สนามหลวง
สาย 2 สำโรง-ปากคลองตลาด
สาย 4 ท่าเรือคลองเตย-ท่าน้ำภาษีเจริญ
สาย 11 ประเวศ-มาบุญครอง
สาย 12 ห้วยขวาง-ปากคลองตลาด
สาย 18 ตลาดท่าอิฐ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
สาย 25 ปากน้ำ-ท่าช้าง
สาย 65 วัดปากน้ำ-สนามหลวง
สาย 71 สวนสยาม-วัดธาตุทอง
สาย 77 อู่สาธุประดิษฐ์-หมอชิตใหม่
สาย 80ก หมู่บ้าน วปอ.11-เขตบางกอกใหญ่
สาย 82 พระประแดง-สนามหลวง
สาย 84 อ้อมใหญ่-คลองสาน
สาย 88 มจธ.บางขุนเทียน-ลาดหญ้า
สาย 97 กระทรวงสาธารณสุข-โรงพยาบาลสงฆ์
สาย 132 พระโขนง-เคหะบางพลี
สาย 165 พุทธมณฑลสาย 3-เขตบางกอกใหญ่
สาย 515 ศาลายา-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
สาย 555 รังสิต-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ


เส้นทางเดินรถ ขสมก. นำรถช่วยวิ่ง ในช่วงที่เอกชนยุติการเดินรถ

สาย 3-21 (207) มหาวิทยาลัยรามคำแหง 1 - มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2 บางนา
สาย 3-26E สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ - โรงพยาบาลรามาธิบดี
สาย 4-70E เซ็นทรัลศาลายา - BTS หมอชิต
กำลังโหลดความคิดเห็น