กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เมื่อวันก่อนมีโอกาสไปเยี่ยมวงดนตรีกองทัพบกเพื่อประชาชน หรือ สไมล์ อาร์มี่ (Smile Army) มาบันทึกเทปรายการ วีอาร์โซลเยอร์ (We’re Soldier) ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 (ททบ.5) สนามเป้า
รายการนี้ ออกอากาศไปเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 หลังจากที่วงสไมล์ อาร์มี่เสร็จสิ้นเดินสายการแสดงคอนเสิร์ตสไมล์ อาร์มี่ ซีซั่น 2 ทั่วประเทศ ในช่วงปลายเดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา
แม้ว่านักร้อง นักแสดง และทีมงานมากันเพียงแค่ส่วนหนึ่ง จากทั้งหมดนับร้อยชีวิตที่ออกเดินสายทั่วประเทศ แต่ก็ยังมีการแสดงไฮไลต์ของวงสไมล์ อาร์มี่ พร้อมเปิดตัวเพลงใหม่ที่แต่งขึ้นเองกลางรายการ
พร้อมกันนี้ยังได้นำเสนอของฝาก “ไข่เค็มดินสอพอง” จากสมาคมแม่บ้านทหารบก สาขากองพันปฎิบัติการจิตวิทยา หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จังหวัดลพบุรี เพื่อกำลังและครอบครัวเพิ่มอาชีพเสริม เพิ่มรายได้
น่าเสียดายที่รายการมีเวลาออกอากาศครึ่งชั่วโมง แต่ก็ได้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจไม่เปลี่ยนแปลง
สำหรับวงสไมล์ อาร์มี่ มาจาก กองพันปฏิบัติการจิตวิทยา (พัน.ปจว.) หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี คนทั่วไปเรียกว่า “รบพิเศษป่าหวาย” หรือ “รบพิเศษลพบุรี”
เดิมวงดนตรีกองทัพบกเพื่อประชาชน แบ่งออกเป็น 3 วง รวมกันประมาณ 80 นาย ทำหน้าที่สนับสนุนแผนป้องกันชายแดน เดินสายแสดง เข้าไปมอบความสุข รอยยิ้ม ความสมัครสมานสามัคคีให้ประชาชนทั่วทุกภาคของประเทศ
กระทั่งสมัย พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ไว้วางใจให้ทำการแสดงดนตรีทั่วประเทศ จึงรวมกันเป็นวงใหญ่ จัดแสดงคอนเสิร์ตรักไทยหัวใจ 4 ภาค เดินสายรวม 22 เวทีทั่วประเทศ เมื่อปี 2566
โดยการแสดงสื่อถึงให้ผู้ชมภาคภูมิใจในความเป็นไทย รับทราบถึงบทบาทหน้าที่ของกองทัพบก ควบคู่ไปกับการแสดงดนตรี การแสดงชุด THAI ARMY SPIRIT เพลงที่กำลังเป็นกระแส ตลกคณะฮาพระกาฬ และความบันเทิงต่างๆ
พร้อมกันนี้ ยังมี “ทีมงานยิ้มกว้าง” ถ่ายทำบรรยากาศคอนเสิร์ต เพื่อนำไปจัดทำเป็นวีดีโอขนาดสั้น เผยแพร่ผ่านทางติ๊กต็อก “ช่องยิ้มกว้าง” (yimkwang2023) เพื่อให้วงสไมล์ อาร์มี่ และ พัน.ปจว. เป็นที่รู้จักแก่ประชาชนมากขึ้น
ที่กลายเป็นไวรัล คือ คลิปทหารเต้นที่สยามสแควร์ ที่มี “ส.อ.ภูริทัต ศรีหร่าย” หรือ “เป้ สไมล์อาร์มี่” ออกแบบท่าเต้น พร้อมกับทหารหญิงที่เป็นกำลังพล กระทั่งมีแฟนคลับตามไปให้กำลังใจตามเวทีต่างๆ
อาจมีคนดรามาไปว่า ทหารมีไว้รบไม่ใช่หรือ? ต้องบอกว่าการรบนั้นมีหลายรูปแบบ ไม่เพียงแต่การใช้อาวุธ แต่ยังมีการใช้เครื่องมือทางจิตวิทยาเข้าช่วย เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน และเกิดความรู้สึกเห็นด้วยอีกทางหนึ่ง
หนึ่งในนั้นคือการใช้เสียงเพลง ดังคำกล่าวที่ว่า “ดนตรีไม่มีพรมแดน” เพราะความไพเราะของดนตรี ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นมิตรระหว่างประชาชนกับทหาร ดูซอฟต์ลงกว่าการปฎิบัติการทางจิตวิทยารูปแบบอื่นๆ เช่น ใบปลิว โฆษณา
มาถึงคอนเสิร์ตสไมล์ อาร์มี่ ซีซั่น 2 ร.ต.ณัฐพงษ์ มิตรมาตร หรือ “นับ ยิ้มกว้าง” ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “หัวหน้านับ” หัวหน้าวงสไมล์ อาร์มี่ ก็ได้นำทีมออกเดินสายจัดคอนเสิร์ตไปทั่วประเทศ รวม 8 จังหวัด
ผลตอบรับจากประชาชนเป็นไปด้วยดี มีแฟนคลับจากจังหวัดนครสวรรค์ พิษณุโลก และแพร่ เหมารถไปชมคอนเสิร์ตสไมล์ อาร์มี่ ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ทำเอาที่นั่งไม่พอ ผู้ชมยอมนั่งกับพื้นเพื่อชมวงโปรดเลยทีเดียว
สิ่งที่แตกต่างไปจากคอนเสิร์ตซีซัน 1 ก็คือ ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการแสดงให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น จุดแข็งที่มีอยู่อย่างการแสดง THAI ARMY SPIRIT ยังคงมีอยู่ การแสดงเพลงแม่ฮ่างมหาเสน่ห์ก็ยังอยู่ การแสดงตลกก็ยังอยู่
ที่เพิ่มเติมก็คือการแสดงเพลงที่เข้ากับยุคสมัย เช่น เพลง “HELLO MAMA” ของวงไททศมิตร เพลงที่เป็นไวรัลในติ๊กต็อกอย่างเพลง “ลืมฮูดซิป” รวมทั้งการแสดงเพลงที่ชื่อว่า “ทูตสวรรค์” โดยกำลังพลที่เป็นหญิงล้วนอีกด้วย
ความพิเศษของคอนเสิร์ตสไมล์ อาร์มี่ ซีซั่น 2 คือ จากเดิมเคยเล่นเพลงเกี่ยวกับพลทหาร ทหารถึงทหาร มาคราวนี้ผู้บังคับกองพันฯ มีแนวคิดให้แต่งบทเพลงอินดี้ร่วมสมัย เกี่ยวกับทหารและประชาชน เพื่อให้เข้าถึงผู้ฟังทุกเพศทุกวัย
หนึ่งในนั้นคือเพลง “เพาเวอร์แบงก์” ขับร้องโดย “ต๊ะ สไมล์ อาร์มี่” ส.ท.ณัฐภัทร แก้วพรหม แต่งโดยทหารสังกัด พัน.ปจว. ซึ่งเปิดตัวบนเวทีคอนเสิร์ตสไมล์ อาร์มี่ ไปบ้างแล้ว และเตรียมเผยแพร่มิวสิควีดีโอเร็วๆ นี้
อย่างต่อมา คือการเปิดตัว “พลทหารคิม” พลทหารศราวุฒิ สุทธิประภา ทหารกองประจำการ ผลัด 2/66 หลังผ่านการฝึกมานานนับเดือนแล้ว ก็ได้มีโอกาสขึ้นเวทีร้องเพลงบนคอนเสิร์ตสไมล์ อาร์มี่ อีกด้วย
ก่อนหน้านี้ พลทหารคิมเป็นพระเอกหมอลำวง “หนึ่งรุ่งทิวาอำนวยศิลป์” ตอนแรกรู้สึกกดดันว่าทำได้ไหม แต่ได้รับการดูแลจากวงสไมล์ อาร์มี่ฝึกสอนเป็นอย่างดี และได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ให้ตัวเองมีคุณภาพมากขึ้น
ฝากพ่อแม่ที่เป็นห่วงลูกว่าจะเกิดอันตราย ว่าการฝึกไม่เหมือนอดีต กองทัพบกสนับสนุนคนที่มีความสามารถเต็มที่ คนที่เก่งชุดช่างก็จะพาไปเป็นช่าง ส่วนคนที่เก่งร้องเพลง ก็สมัครลงกองพันปฏิบัติการจิตวิทยา (พัน.ปจว.) ได้
นอกจากนี้ ยังมีคณะตลกที่คิดค้นการแสดงโดยใช้สถานการณ์ปัจจุบัน หรือสิ่งที่เป็นไวรัลในการเล่นตลกบนเวที โดยเฉพาะ “ปรีชา ฟ้าแว้บแว้บ” และ “นางไหนิคกี้” ก็ยังคงมีอยู่
อย่างไรก็ตาม แม้คอนเสิร์ตสไมล์ อาร์มี่ ซีซัน 2 จะจบลงไปแล้ว แต่ก็ยังมีการออกแสดงตามงานต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย บางภารกิจใช้วงดนตรีชุดเล็ก หรือบางภารกิจใช้วงดนตรีชุดใหญ่
หนึ่งในนั้นคืองานที่ชื่อว่า “ปีใหม่ ทหารใหม่ โอกาสใหม่” ของกระทรวงกลาโหม ที่สวนรถไฟ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ชายไทยสมัครใจรับใช้ชาติ ในช่วงการตรวจเลือกทหาร
โดยส่วนตัวติดตามสไมล์ อาร์มี่ มาตั้งแต่ซีซันที่ 1 ในชื่อคอนเสิร์ตรักไทยหัวใจสี่ภาค จากที่ชมผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ก็มีโอกาสไปชมด้วยตัวเองที่จังหวัดราชบุรีเมื่อปีที่แล้ว แรกๆ ก็รู้สึกกล้าๆ กลัวๆ เพราะจัดในค่ายทหาร
แต่เมื่อคอนเสิร์ตจัดขึ้นโดยเปิดให้ประชาชนเข้าชมพร้อมกับกำลังพลในค่ายทหาร แถมยังมีการออกร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม คล้ายกับงานคอนเสิร์ตทั่วไป ก็ทำให้ประชาชนรู้สึกเปิดกว้างและเริ่มทำความรู้จักมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้รู้จักกับ “นับ ยิ้มกว้าง” หรือ “หัวหน้านับ” ที่เคยผ่านประสบการณ์ทั้งการเป็น “ครูหมวกแดงปันยิ้ม” ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาถึงการเป็นหัวหน้าวงสไมล์ อาร์มี่ ที่ต้องดูแลลูกน้องนับร้อยชีวิต
หากมีโอกาสเหมาะสม จะพาไปรู้จักกับหัวหน้านับให้มากกว่านี้ เพราะจากที่เคยเล่าให้ฟัง ชีวิตของเขาน่าสนใจ จากที่ไม่อยากเป็นทหารแต่ถูกจับได้ใบแดง แต่มี “แม่” เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้มีวันนี้ กลายเป็นนายทหารสัญญาบัตร
บอกตามตรงว่า ยอมรับในความสามารถของทหารหน่วยนี้ ที่เดินสายออกคอนเสิร์ตไปทั่วประเทศ สร้างขวัญและกำลังใจแก่กำลังพล พร้อมกับสร้างความบันเทิงและรอยยิ้มให้แก่ประชาชน ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักของ พัน.ปจว.
ในการแสดงแต่ละครั้ง ต้องเดินสายไปทั่วประเทศนานนับเดือน อาจไม่ได้มีชีวิตที่สุขสบายนัก พวกเขาต้องตั้งเวที จัดเครื่องเสียงเอง ดำเนินการเองทั้งหมด หลังจบการแสดงยามดึกก็ต้องเก็บเวทีเอง ออกเดินทางไปยังจังหวัดต่อไป
แต่เหนือสิ่งอื่นใด ภารกิจที่ได้รับ พวกเขาตั้งใจที่จะทำให้ประสบความสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี แม้จะต้องเจอความยากลำบาก รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคที่เข้ามาให้แก้ไขอยู่เรื่อยก็ตาม
สำหรับคนที่อยากติดตามวงดนตรีสไมล์ อาร์มี่ สามารถติดตามได้ผ่านช่องทางหลัก ได้แก่ เฟซบุ๊กเพจ “ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองพันปฏิบัติการจิตวิทยา” และเฟซบุ๊กเพจ “Smile Army”
หรือหากใครเล่นติ๊กต็อก ติดตามได้ทาง “ช่องยิ้มกว้าง” ปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 634,600 ราย มีคอนเทนต์สนุกๆ เกี่ยวกับทีมงานยิ้มกว้าง วงดนตรีสไมล์ อาร์มี่ และพัน.ปจว. บางคลิปเป็นไวรัล มีผู้ชมมากถึง 1 ล้านวิวเลยทีเดียว
ฝากเป็นกำลังใจให้วงดนตรีสไมล์ อาร์มี่ สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้ประชาชนทั้งประเทศ ถือเป็นหนึ่งในภารกิจเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน.