xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาโลกแตก QR บัตรเครดิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เดือนมีนาคม 2567 มีผู้ให้บริการบัตรเครดิตรายใหญ่ ที่มีส่วนแบ่งตลาดอันดับต้นๆ ในไทย ให้บริการ Scan to Pay หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “QR บัตรเครดิต” อยู่ 2 ธนาคาร

ได้แก่ บัตรเครดิตกสิกรไทย สามารถสแกนจ่ายด้วยบัตรเครดิตบน แอปพลิเคชัน K PLUS (Version 5.18.1) ได้ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2567 หลังสแกนคิวอาร์โค้ดแล้วให้กดเมนู “เลือกบัญชี/บัตรเครดิต” ที่มุมขวาบนของ K PLUS

เบื้องต้นสามารถใช้ได้กับบัตรเครดิตกสิกรไทยประเภท VISA และ Mastercard เท่านั้น ส่วนบัตรเครดิต Unionpay และ JCB ยังไม่สามารถใช้ได้

ล่าสุด บัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพ สามารถสแกนจ่ายด้วยบัตรเครดิตบน Bangkok Bank Mobile Banking (Version 3.32.1) ได้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2567 หลังสแกนคิวอาร์โค้ดแล้วให้เลือกบัญชีหรือบัตรเครดิตที่ต้องการ

เบื้องต้นสามารถใช้ได้กับบัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพประเภท VISA และ Unionpay เท่านั้น ส่วนบัตรเครดิต Mastercard ยังไม่สามารถใช้ได้

ขั้นตอนการสแกนจ่ายด้วยบัตรเครดิตกสิกรไทยบน K PLUS


ความจริงบริการ Scan to Pay ไม่ใช่เรื่องใหม่ในไทย 

เพราะย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 6 ปีก่อน เริ่มจากเดือนกรกฎาคม 2561 Mastercard เปิดตัวบริการ Mastercard QR ร่วมกับบัตรเครดิตไทยพาณิชย์ ผ่านแอปฯ SCB EASY

ตามมาด้วยเดือนกันยายน 2561 VISA เปิดตัวบริการ Scan to Pay ร่วมกับบัตรเครดิตเคทีซี ผ่านแอปฯ KTC Mobile, บัตรเครดิตในเครือกรุงศรี ผ่านแอปฯ UCHOOSE บัตรเครดิตไทยพาณิชย์ และบัตรเครดิตซิตี้แบงก์

อย่างไรก็ตาม บริการ Scan to Pay ในเวลานั้น ใช้ได้กับโรงภาพยนตร์ในเครือเอสเอฟ ซีเนมา และศูนย์การค้าบางแห่ง เช่น เครือเดอะมอลล์กรุ๊ป แต่ขณะนั้นยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก

ต่อมาในเดือนกันยายน 2564 แอปพลิเคชัน Dolfin Wallet ของกลุ่มบริษัทเซ็นทรัล เจดี ฟินเทค เปิดบริการ สแกนจ่ายผ่าน QR บัตรเครดิต กับบัตรเครดิตกสิกรไทย และบัตรเครดิตไทยพาณิชย์

แม้ว่าแอปพลิเคชัน K PLUS ขณะนั้นไม่สามารถใช้บริการสแกนจ่ายผ่าน QR บัตรเครดิตได้ แต่ก็สแกนจ่ายผ่านแอปฯ Dolfin Wallet ได้ กระทั่งยุติให้บริการในประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา


ก่อนที่เวลาผ่านไปประมาณครึ่งปี บัตรเครดิตกสิกรไทยสามารถใช้บริการ QR บัตรเครดิต กับแอปพลิเคชัน K PLUS ของตนเอง ซึ่งมีฐานลูกค้าบัตรเครดิตประมาณ 3.2 ล้านใบ จากจำนวนผู้ใช้งาน K PLUS รวม 20 ล้านราย

ส่วนบัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพ แม้จะมาทีหลัง แต่ก็พยายามพัฒนาเรื่องเทคโนโลยี ก่อนหน้านี้ให้บริการ Google Pay รายแรกๆ ในไทย เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ปัจจุบันมีฐานลูกค้าบัตรเครดิตประมาณ 2.1 ล้านใบ

น่าสังเกตว่า การที่ธนาคารชั้นนำทั้งสองแห่งออกบริการ Scan to Pay ในเวลานี้ เป็นเพราะการใช้จ่ายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เติบโตขึ้น โดยเฉพาะการสแกนจ่ายผ่านบัญชี เริ่มมีบทบาทในชีวิตประจำวัน

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ณ เดือนธันวาคม 2566 พบว่าประเทศไทยมีธุรกรรมการชำระเงินผ่าน Mobile Banking จำนวนกว่า 107 ล้านบัญชี ด้วยปริมาณกว่า 2,851 ล้านรายการ มูลค่ารายการกว่า 6.3 ล้านล้านบาท

ขณะที่ธุรกรรมการใช้บัตรพลาสติกเพื่อการชำระเงิน เฉพาะบัตรเครดิต พบว่าใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ ณ จุดขายเพียงแค่ 57 ล้านรายการ มูลค่ารวม 176,000 ล้านบาท จากจำนวนผู้ถือบัตรเครดิต 26.49 ล้านใบ

อีกทั้งยังต้องเจอการแข่งขันกับผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อย ทั้งฝั่งธนาคารพาณิชย์ที่มีสินเชื่อบุคคลดิจิทัล เช่น K PAY LATER หรือฝั่งบริษัทด้านฟินเทคก็มีสินเชื่อ เช่น SPayLater, LazPayLater, Grab PayLater, True Pay Next Extra

แม้ว่าเครือข่ายบัตรเครดิตชั้นนำอย่าง VISA และ Mastercard จะเป็นเสือนอนกิน แต่ยุคนี้นอกจากต้องทำการตลาดร่วมกับผู้ออกบัตรแล้ว ยังต้องพัฒนาเทคโนโลยีการชำระเงินให้ก้าวตามให้ทันอีก


สาเหตุที่ QR บัตรเครดิต ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในไทย คาดว่าเป็นเพราะคนไทยยังคุ้นชินกับการสแกนจ่ายด้วยพร้อมเพย์คิวอาร์โค้ดมากกว่า ซึ่งฝั่งร้านค้าสร้างได้ฟรี และรับเงินโอนจากลูกค้าได้โดยไม่มีค่าธรรมเนียม

ขณะที่บริการ QR บัตรเครดิต นอกจากร้านค้าต้องถูกธนาคารสกรีนในขั้นต้นแล้ว ในขั้นตอนการรับเงินร้านค้าต้องถูกหักค่าธรรมเนียมร้านค้ารับบัตร (MDR) ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายของร้านค้า ทำให้ฝั่งร้านค้ามองว่ายุ่งยากและไม่จำเป็น

ยกเว้นร้านค้าที่มีเครื่องรูดบัตร EDC และให้ลูกค้าใช้จ่ายผ่านบัตรได้โดยไม่มีขั้นต่ำ หากเครื่อง EDC รองรับฟังก์ชันสร้าง QR บัตรเครดิตได้ ก็สามารถสแกนจ่ายแล้วเลือกบัตรเครดิตที่ต้องการแทนบัญชีได้เลย

แต่ก็มีร้านค้าบางแห่งที่รับ QR บัตรเครดิต ทั้งในรูปแบบป้ายกระดาษ ป้ายอะคริลิก หรือสร้างจากแอปพลิเคชันรับเงินของร้านค้าโดยเฉพาะ เช่น SCB แม่มณี ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ K SHOP ธนาคารกสิกรไทย ฯลฯ

เปรียบได้กับร้านค้ามีเครื่องรูดบัตรเครดิตอยู่กลายๆ เพียงแต่ลูกค้าไม่ใช้บัตรพลาสติกในการทำรายการ ใช้แอปพลิเคชันที่ผูกกับบัตรเครดิตนั้นๆ ในการสแกนจ่าย ร้านค้าไม่ต้องเสียค่าบำรุงรักษาเครื่อง EDC และไม่ต้องรักษายอดขาย

ปัจจุบันมีโปรโมชันสำหรับร้านค้ารายย่อย ที่รับชำระผ่าน QR บัตรเครดิต ไม่เกิน 900,000 บาทต่อปี ในปี 2567 ธนาคารไทยพาณิชย์คิดค่าธรรมเนียมเพียง 1% ต่อรายการ ส่วนธนาคารกสิกรไทยคิดค่าธรรมเนียมเพียง 1.5%


สำหรับฝั่งผู้ใช้งาน ข้อดีที่เห็นได้ชัดเจน คือ ไม่ต้องพกบัตรเครดิตตัวจริง ไม่ต้องรูดบัตร ไม่ต้องเซ็นชื่อในเซลสลิป และไม่ต้องกรอกข้อมูลบัตรใดๆ เพียงแค่สแกน QR บัตรเครดิตและใส่รหัส PIN ในแอปฯ เท่านั้น

โดยผู้ถือบัตรเครดิตสามารถสแกนจ่าย QR บัตรเครดิตได้ ตามวงเงินในบัตรที่มีอยู่ โดยไม่มีค่าธรรมเนียม และยังสามารถรับคะแนนสะสมหรือเครดิตเงินคืนได้ตามปกติ แต่อาจใช้สิทธิประโยชน์อื่นที่ต้องแสดงหน้าบัตรเครดิตไม่ได้

สำหรับผู้ที่มีบัตรเครดิตจากผู้ออกบัตรเดียวกันจำนวนมาก แล้วไม่รู้ว่าจะใช้ใบไหน ยังสามารถเลือกใช้บัตรเครดิตที่ต้องการ ช่วยบริหารจัดการบัตรในกรณีที่ต้องใช้บัตรตามจำนวนครั้ง เช่น 12 ครั้งต่อปี ได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี

ส่วนข้อดีอื่นๆ ก็เหมือนกับบัตรเครดิตปกติ เช่น ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย 45-50 วัน หากใช้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้เต็มจำนวนตามกำหนด จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย 16% ต่อปี หากมีวินัยทางการเงินถือว่ามีประโยชน์อย่างมาก

อย่างไรก็ตาม จากการทดลองใช้งานพบว่า หากเป็นห้างสรรพสินค้าชั้นนำอย่างเดอะมอลล์กรุ๊ป แคชเชียร์ถูกฝึกมาอย่างดี เมื่อเรากล่าวว่า “ขอจ่ายผ่าน QR บัตรเครดิต” แคชเชียร์ก็จะสร้าง QR บัตรเครดิตให้สแกน ใช้ได้ดีไม่มีปัญหา

แต่หากเป็นร้านค้าขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีเครื่องรูดบัตร EDC บางร้านสร้างคิวอาร์โค้ดที่ใช้ได้กับ QR สำหรับร้านค้า (QR Tag 30) และ QR บัตรเครดิต แต่บางร้านกลับไม่มี สแกนไปแล้วให้เลือกเฉพาะบัญชีธนาคารเท่านั้น

ที่น่าสนใจก็คือ ร้านค้าบางแห่งรับบัตรเครดิต แต่ต้องมียอดซื้อ 300 บาทขึ้นไป ปรากฏว่าพอทดลองสแกนจ่ายผ่าน QR บัตรเครดิต กลับจ่ายได้แบบไม่มีขั้นต่ำ แต่ก็น่าคิดว่าวันหนึ่งร้านค้าอาจต้องบังคับให้มียอดซื้อตามมา

แม้ว่า QR บัตรเครดิตทำให้ผู้ถือบัตรเครดิตใช้จ่ายตามร้านค้าง่ายขึ้น แต่ธนาคารเจ้าของเครื่อง EDC ต้องกำชับร้านค้าถึงการใช้งานตรงนี้ อาจต้องติดป้าย “รับ QR บัตรเครดิต” และขั้นตอนการใช้งาน เพื่อสื่อสารแก่ลูกค้าเพิ่มเติม

ขณะที่บางร้านค้าคิดยอดซื้อขั้นต่ำเมื่อชำระด้วยบัตรเครดิต ยังเป็นปัญหาโลกแตกต่อการใช้งาน QR บัตรเครดิต ที่หากร้านค้ารู้ตัวและไม่ยอมรับการชำระโดยไม่มีขั้นต่ำแล้ว บริการนี้ก็ยังไม่แพร่หลายเหมือนเดิม


กำลังโหลดความคิดเห็น