xs
xsm
sm
md
lg

เคลียร์ขยะกำพร้า เคลียร์ใจ ทำตัวเองให้เบาขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เมื่อวันก่อนมีโอกาสเอาขยะกำพร้าไปบริจาคในโครงการ “ขยะกำพร้าสัญจร” ซึ่งย่านถนนพระรามที่ 2 มีโรงพยาบาลนครธน เป็นสถานที่จัดกิจกรรมรับบริจาคขยะกำพร้าเดือนละครั้ง ตลอดปี 2567

ในแต่ละเดือน บริษัทรับกำจัดขยะที่ชื่อว่า “เอ็น 15 เทคโนโลยี” จะนำรถบรรทุกจากโรงงานที่จังหวัดชลบุรี มารับขยะตามจุดต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ก่อนที่จะนำขยะกำพร้าเหล่านี้มาผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ หรือ RDF

โดยกระบวนการนับจากนี้ ทางโรงงานจะนำขยะกำพร้ามาบดเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหิน ส่วนหนึ่งไปเป็นเชื้อเพลิงให้กับเตาเผาปูนซีเมนต์ อีกส่วนหนึ่งไปเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้า

ก่อนที่จะมีโครงการขยะกำพร้า ย้อนกลับไปในปี 2555 ผู้จัดจำหน่ายชุดชั้นในสตรีรายหนึ่ง เคยรับบริจาคบราซึ่งผลิตจากโพลิเมอร์ที่เสื่อมสภาพ เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีแบบ Zero Waste และยังรับบริจาคมาถึงปัจจุบัน


กระทั่งเมื่อปี 2564 มีไวรัลรับบริจาคกางเกงในเก่า ยกทรงเก่า เพื่อนำไปทำเป็นพลังงาน แรกๆ สังคมรู้สึกแปลกใจ เพราะของอย่างนี้คนปกติเขาไม่ให้กัน กระทั่งมีการสร้างความเข้าใจว่านำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง ก็เริ่มมีผู้สนใจมากขึ้น

ส่วนตัวเคยนำกางเกงในเก่าที่เสื่อมสภาพไปบริจาค ซึ่งขณะนั้นมีร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง มีบริการรับส่งพัสดุจากสาขาหนึ่ง ไปยังปลายทางอีกสาขาหนึ่ง ก็เคยมีโอกาสส่งพัสดุเป็นกางเกงในเก่าและขยะกำพร้าอื่นๆ เพื่อบริจาค

แต่เมื่อค่าส่งพัสดุแพงขึ้น จึงต้องเว้นวรรคไป กระทั่งมีโครงการขยะกำพร้าสัญจร รับบริจาคขยะตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ ก็เลยมีโอกาสนำขยะกำพร้ามาบริจาคอีกครั้ง ตามแต่โอกาสจะอำนวย

อาจมีคนหายสงสัยถึงการนำกางเกงในเก่าไปทำเป็นเชื้อเพลิงแล้ว แต่อาจมีคนที่สงสัยว่า ขยะกำพร้าคืออะไร ขยะกำพร้าเป็นแบบไหน ขยะอะไรที่บริจาคได้ บริจาคไม่ได้ ซึ่งแม้สลับซับซ้อนแต่ก็ไม่ยากเกินกว่าจะเข้าใจ

ขยะกำพร้า สั้นๆ ง่ายๆ ก็คือ ขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ ขายต่อไม่มีมูลค่า แต่เผาติดไฟได้ ... ย้ำว่า “เผาติดไฟได้” คือ สามารถนำมาบดเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำมารวมกันเป็นก้อนคล้ายฟางข้าว นำไปเผาเป็นเชื้อเพลิง

ภาพ : Bangchak
ประโยชน์ของการบริจาคขยะกำพร้า คือ แทนที่จะทิ้งรวมกันกับขยะมูลฝอย ปลายทางไปยังบ่อขยะ กว่าจะย่อยสลายได้ใช้เวลานับร้อยปี หากมีการเผาในที่โล่งนอกจากจะเกิดฝุ่น PM 2.5 แล้วยังมีสารไดออกซินที่เป็นสารก่อมะเร็ง

แต่การนำขยะกำพร้าไปบดอัดเป็นเชื้อเพลิง ทั้งเตาเผาปูนซีเมนต์ และโรงไฟฟ้าด้วยอุณหภูมิเกิน 1,000 องศาเซลเซียส และเป็นระบบปิดด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายนอก

ขยะกำพร้า เป็นขยะหรือสิ่งของที่ไม่ใช้แล้ว เป็นกระดาษหรือพลาสติกแบบเผาติดไฟได้ นำไปล้างให้สะอาด ผึ่งให้แห้ง แล้วเก็บรวบรวมไปบริจาค เป็นขยะที่แห้งและไม่เหม็นเน่า และต้องไม่ปะปนกับขยะเศษอาหารหรือขยะอินทรีย์

แต่ขยะบางอย่างไม่สามารถบริจาคเป็นขยะกำพร้าได้ คือ โลหะ ขวดแก้ว และเซรามิก เพราะติดไฟไม่ได้ และทำให้ใบมีดในโรงงานกำจัดขยะสึกหรอ ส่วนพลาสติกแบบหนา เช่น ท่อพีวีซีก็ไม่รับ เพราะส่งผลกระทบต่ออิฐทนไฟในเตาเผา

นอกจากนี้ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (e-Waste) จำพวกถ่านไฟฉาย ถ่านกระดุม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สายชาร์จต่างๆ ก็ไม่สามารถเป็นขยะกำพร้าได้ แต่ก็มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น ค่ายมือถือ รับบริจาคเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี

ปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมทั้งสื่อโซเชียลฯ สายสิ่งแวดล้อมให้ความรู้เกี่ยวกับขยะกำพร้าว่ามีอะไรบ้าง ไม่ยากที่จะศึกษาหรือเช็กลิสต์ว่าสิ่งของในบ้านอะไรที่ไม่ได้ใช้ หรือนำกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้ ค่อยนำมาบริจาค

ขณะที่จุดรับบริจาคตามโครงการขยะกำพร้าสัญจร ในกรุงเทพฯ มีหลายพื้นที่หมุนเวียนกันไปเดือนละครั้ง เช่น โรงพยาบาลนครธน สำนักงาน สวทช. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ บางกรวย ฯลฯ

โดยจะมีการประชาสัมพันธ์วันและสถานที่รับบริจาคในแต่ละเดือนผ่านเฟซบุ๊กเพจ “N15 Technology” ส่วนมากจัดช่วงครึ่งวันเช้า ตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น. และมีสถานที่บางแห่ง อนุญาตให้นำขยะกำพร้าไปวางล่วงหน้าได้ 1 วัน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขยะกำพร้าที่ได้รับจากการบริจาคมีไม่ถึง 1% ของขยะเชื้อเพลิงทั้งหมดที่โรงงานผลิตได้ ขณะที่การจัดกิจกรรมจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่าย ทั้งค่าขนส่งรถบรรทุก ค่าเบี้ยเลี้ยงคนงาน หักออกมาแล้วแทบไม่เหลือกำไร

จึงมีเจ้าของสถานที่ และคนที่นำขยะกำพร้ามาทิ้ง ช่วยบริจาคเงินค่าขนส่ง ซึ่งรายได้ที่เหลือจะยกยอดไปใช้ในกิจกรรมคราวหน้าต่อไป คนที่นำขยะกำพร้าไปทิ้ง ถ้าสะดวกใจก็สามารถช่วยบริจาคเงินค่าขนส่งกันได้


ส่วนตัวคิดว่า หากกล่าวถึงการบริจาคขยะกำพร้า ก็มีมุมคิดอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ...

ในปี 2567 เป็นปีที่หลายชีวิตอาจต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ หลังจากต้องใช้สรรพกำลังประคับประคองชีวิตในช่วงวิกฤตโควิด-19 มาตลอดระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา

แม้ว่าวิกฤตโควิด-19 จะคลี่คลาย แต่เศรษฐกิจยังคงซบเซาอย่างต่อเนื่อง หนักกว่านั้นก็คือปัญหา “หนี้เรื้อรัง” ที่เกิดจากการผ่อนน้อย ผ่อนนาน จ่ายขั้นต่ำได้แค่ดอกเบี้ย แต่เงินต้นแทบไม่ลด

ซ้ำเติมด้วยการปรับอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต จาก 5% เป็น 8% และเพิ่มเป็น 10% ในปี 2568 ส่งผลทำให้คนที่มีเงินเดือนน้อย สภาพคล่องในมือน้อยต้องชำระหนี้เพิ่มขึ้น เงินที่ต้องกินต้องใช้หรือลงทุนก็มีจำกัดเพราะต้องใช้หนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทย กำลังจะเริ่ม มาตรการปิดจบหนี้เรื้อรัง ในวันที่ 1 เมษายน 2567 ที่จะถึงนี้ มีทั้งแก้หนี้ก่อนและหลังเป็นหนี้เสีย แก้หนี้บัตรกดเงินสด และการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเป็นธรรม

ที่น่าสนใจก็คือ มาตรการแก้หนี้บัตรกดเงินสด หากจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น นานเกิน 3 ปี สามารถปรึกษาเจ้าหนี้เพื่อหาทางจ่ายคืนหนี้เร็วขึ้นได้ โดยไม่ต้องรอให้จ่ายไม่ไหวหรือมองไม่เห็นทางปิดจบหนี้

หากจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น นานเกิน 5 ปี มีโครงการปิดจบหนี้เรื้อรัง เปลี่ยนหนี้บัตรเป็นหนี้ผ่อนจ่ายรายงวด สูงสุด 5 ปี (60 งวด) และลดดอกเบี้ย เหลือไม่เกิน 15% ต่อปี แต่ต้องเป็นผู้มีรายได้น้อยตามที่กำหนด

แต่หากเป็นหนี้เสียแล้วหรือไม่เข้าคุณสมบัติ ให้เร่งเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ หรือเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ ช่วยหาแนวทางการชำระหนี้ หากมีหนี้รวมกันไม่เกิน 2 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ 3-5% ผ่อนนานสูงสุด 10 ปี

อาจมีคนสงสัยว่า การแก้หนี้เรื้อรังเกี่ยวอะไรกับขยะกำพร้า ... ก็แค่อยากจะบอกว่า ช่วงนี้อะไรที่เคลียร์ตัวเองได้ก็เคลียร์ อะไรที่ทำให้ภาระของตัวเองเบาขึ้นได้ก็ทำให้เบา


ที่ผ่านมาหลายคนคงได้รับบทเรียนจากสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจซบเซา ซึมยาว ทำให้การใช้เงินทุกวันนี้ระมัดระวังขึ้น แม้จะมีอีกส่วนหนึ่งยังคงมีค่านิยมของมันต้องมี ตามอินฟลูเอนเซอร์ก็ตาม ก็ถือเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่ง

หากเราได้มีเวลาทบทวนสิ่งของที่มีอยู่ในบ้าน ก็ดูว่าสิ่งของไหนจำเป็น ยังคงใช้งานอยู่ สิ่งของไหนที่ซื้อมาแล้วบัดนี้ไม่ได้ใช้ หรือสิ่งของไหนซื้อเพราะอยากได้แล้วไม่ได้ใช้เลย ก็พอจะทบทวนได้บ้างว่าอะไรคือสิ่งจำเป็นมากหรือน้อย

ครั้งล่าสุดที่ไปบริจาคขยะกำพร้า ก็บริจาคหน้ากากผ้าที่เคยซื้อหรือได้รับแจก เก็บไว้ราว 20-30 ชิ้น ตอนนั้นหน้ากากอนามัยขาดแคลน ก็ใช้หน้ากากผ้าแทน แต่พอเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ หน้ากากผ้าเอาไม่อยู่ก็เลิกใช้

หรือจะเป็นชุดตรวจโควิด-19 แบบ ATK สมัยก่อนราคาแพง พอราคาถูกลงก็ซื้อเก็บไว้ ปรากฏว่าระยะหลังเริ่มไม่ต้องตรวจ ATK และเมื่อชุดตรวจโควิด-19 มีอายุประมาณ 2 ปี เมื่อหมดอายุก็กลายเป็นขยะไปโดยปริยาย

หากมีเวลาลองเคลียร์ของใช้ในบ้านดู อะไรที่ไม่จำเป็นแล้วแบ่งให้ใครได้ก็แบ่ง หรือไม่รู้จะแบ่งให้ใครมีหลายวิธี เช่น นำไปบริจาคเป็นของมือสองเข้ามูลนิธิ หรือหากสิ่งของที่ใช้ไม่ได้แล้ว แต่เผาติดไฟได้ก็นำมาบริจาคเป็นขยะกำพร้า

เมื่อเคลียร์ของในบ้านออกไปแล้ว อาจค้นพบสัจธรรมในการซื้อข้าวของเครื่องใช้ครั้งต่อไป อาจต้องคิดนานขึ้นว่าคุ้มค่า จำเป็นหรือไม่ พอมีอะไรทดแทนกันได้หรือเปล่า จะได้ไม่ต้องกลายมาเป็นขยะ เงินในกระเป๋าได้นำไปใช้ในกับสิ่งที่ต้องการ

ถือเป็นภูมิคุ้มกันที่ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากสภาพเศรษฐกิจและบ้านเมือง.
กำลังโหลดความคิดเห็น