xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อรถทัวร์ต่างจังหวัด เปลี่ยนที่จอด “หมอชิต 2”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

1 มีนาคม 2567 รถทัวร์จากต่างจังหวัดที่เป็นรถร่วม บขส. ทุกคัน ต้องเข้าไปส่งผู้โดยสารที่ชานชาลาขาออก จุดเดียวกับอาคารสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) หรือหมอชิต 2

พร้อมกันนี้ ได้ปิด “ชานชาลาขาเข้า” ซึ่งอยู่บริเวณถนนกำแพงเพชร 6 ที่มีวินรถแท็กซี่แบบถาวร ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อใช้เป็นพื้นที่สำรองวินสำหรับรถโดยสารเท่านั้น ห้ามบุคคลอื่นเข้าพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส.ให้เหตุผลว่า เพื่อยกระดับการให้บริการ เน้นความปลอดภัย แก้ปัญหาวินเถื่อนผิดกฎหมาย หลังที่ผ่านมามีผู้โดยสารร้องเรียนว่าถูกโชเฟอร์แท็กซี่ วินจักรยานยนต์รับจ้างก่อกวนขณะลงจากรถ

ก่อนหน้านี้ บขส. ได้ทดลองปิดชานชาลาขาเข้า ตั้งแต่ 2 ทุ่มถึงตี 4 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นมา พบว่าสามารถช่วยแก้ปัญหาวินผิดกฎหมาย และปัญหาอื่นๆ บริเวณพื้นที่ขาเข้าได้ ส่งผลดีกับผู้ใช้บริการ

กลายเป็นที่มาว่า ทำไม บขส. จึงตัดสินใจปิดชานชาลาขาเข้าแบบถาวร แล้วให้รับส่งผู้โดยสารเฉพาะอาคารสถานีฯ และชานชาลาขาออกเพียงจุดเดียว






ก่อนหน้านี้ รถทัวร์จากต่างจังหวัดทุกคันจะเข้าไปชานชาลาขาเข้า ซึ่งอยู่ด้านหลังหมอชิต 2 บริเวณถนนกำแพงเพชร 6 ตรงข้ามทางรถไฟ เพื่อส่งผู้โดยสารและสัมภาระลงจากรถ บริเวณนั้นมีจุดจอดรถแท็กซี่เข้ามารับผู้โดยสาร

ขณะเดียวกัน ยังมีบรรดา “วินผี-แท็กซี่เถื่อน” คอยก่อกวนผู้โดยสารที่ลงจากรถ ถามว่ามอเตอร์ไซค์ไหม แท็กซี่ไหม แล้วปรากฏว่ามีการโก่งค่าโดยสาร คิดค่าโดยสารแพง สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน

สมัยก่อนจะมีอู่หมอชิต 2 ของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นท่ารถเมล์ แต่ได้ย้ายไปอู่กำแพงเพชร 2 แล้ว ขสมก. เตรียมคืนพื้นที่ให้การรถไฟฯ เพื่อประหยัดค่าเช่าที่ดินที่ต้องจ่ายเดือนละเกือบ 9 แสนบาท

แต่ก็มีชาวเน็ตดรามาน้ำตาเล็ด อ้างว่าปล่อยให้ประชาชนต้องเดินตากแดดตากฝนไปขึ้นรถ ซึ่งความจริงป้ายรถเมล์ด้านหน้าก็ไม่ไกล ทำให้รัฐมนตรีแซ่รื้อ สั่งห้ามยกเลิกท่ารถอู่หมอชิต 2 แต่สภาพท่ารถก็ทรุดโทรมถึงทุกวันนี้

ต่อมาก บขส. ให้ ขสมก. นำรถเมล์ 12 เส้นทาง เข้าไปรับผู้โดยสารที่ชานชาลาขาเข้า มาตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2566 เป็นต้นมา พร้อมกับปิดทางเชื่อมระหว่างชานชาลาขาเข้า กับท่ารถ ขสมก. เนื่องจากไม่ปลอดภัย

การปิดชานชาลาขาเข้าแบบถาวรครั้งนี้ ทำให้ ขสมก. ประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป รถเมล์ ขสมก. ยกเลิกเข้าจุดจอดชานชาลาขาเข้า แต่ยังคงจอดที่ท่ารถเมล์ ขสมก. อู่หมอชิต 2 เก่าเช่นเดิม

อาจมีเสียงบ่นจากชาวเน็ตอ้างว่าเดินไกล อ้างว่าของเดิมดีอยู่แล้ว อ้างว่าทำให้ประชาชนลำบาก แต่ถ้าคนที่ใช้บริการหมอชิต 2 จริง การย้ายจุดจอดรถทัวร์จากต่างจังหวัดมาที่อาคารสถานีฯ อาจเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ


29 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้เขียนเดินทางกลับจากโคราช ด้วยรถทัวร์ของบริษัท แอร์โคราชพัฒนา สาย 21 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา เที่ยวเวลา 24.00 น. จากสถานีขนส่ง บขส. 2 ใช้เวลาเกือบ 4 ชั่วโมง ถึงหมอชิต 2 เวลา 03.50 น.

ปรากฏว่ารถทัวร์ไม่จอดเข้าชานชาลา กลับจอดทางเท้าฝั่งตรงข้าม ซึ่ง บขส. กำหนดให้จอดที่ช่อง 112-122 ช่องใดช่องหนึ่ง เจ้าหน้าที่ บขส. ถามว่าทำไมไม่จอด คนขับรถอ้างว่าจอดไม่ได้ เขาไม่ให้จอด เจ้าหน้าที่ก็ถามว่าใครไม่ให้จอด

ผลก็คือ ผู้โดยสารที่ลงจากรถทุกคนต้องเดินข้ามถนนเพื่อไปยังชานชาลา เจ้าหน้าที่ตำหนิพนักงานขับรถแอร์โคราชพัฒนาว่าไม่จอดเข้าซอง (หมายถึงเข้าช่องจอดแต่ละชานชาลา) วันนี้อนุโลมให้ แต่วันพรุ่งนี้ต้องจอดเข้าซองทุกคัน

ซึ่งความจริง บขส. ควรติดป้ายตั้งแต่ทางเข้าว่า “รถขาเข้า จอดชานชาลา 112-122” เป็นระยะด้วยซ้ำ เพื่อสื่อสารให้พนักงานขับรถเข้าใจ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่และ รปภ. อำนวยความสะดวกโบกรถให้จอดที่ชานชาลาที่ถูกต้อง

ประตูทางออกเพื่อไปยังอาคารสถานีฯ อยู่ที่ ชานชาลาหมายเลข 113 มีป้ายบอกทาง “จุดบริการรถ ขสมก.” และ “จุดบริการรถ TAXI” เป็นระยะ ออกอีกประตูหนึ่งก็จะพบกับอาคารสถานีและที่นั่งคอยผู้โดยสาร




ใครมีญาติมารับ สามารถแจ้งให้ญาติมานั่งที่อาคารสถานีฯ ชั้น 1 ได้ โดยแนะนำให้นั่งรอที่หน้าประตูทางออก เวลาเดินออกจากชานชาลาจะได้พบเห็นง่าย ใกล้กันเลยลิฟต์ไปอีกหน่อยจะมีห้องน้ำบริการฟรี

แม้ช่วงเช้ามืดร้านค้าส่วนใหญ่ยังไม่เปิดให้บริการ รวมถึงร้านเซเว่นอีเลฟเว่น แต่มีร้านค้าสหกรณ์การขนส่ง ขายอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค และความจริงการนั่งรอด้านในอาคารสถานี ปลอดภัยกว่าชานชาลาขาเข้าด้วยซ้ำ

เมื่อเดินไปตามป้ายก็พบกับประตูทางออก เมื่อออกจากประตูไปแล้วก็พบกับ จุดบริการแท็กซี่ ให้ยืนต่อคิวรอแท็กซี่แต่ละคันเข้ามารับ ซึ่งได้จัดระเบียบโดยวางเสากั้นทางเดินให้เข้าคิวอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

สำหรับคนที่ต้องการต่อรถเมล์ ขสมก. สามารถรอได้ 2 จุด คือ จุดแรก ป้ายรถเมล์หน้าสถานีขนส่งหมอชิต 2 เดินไปไม่ไกลมาก แต่ข้อเสียก็คือต้องเจอบรรดาวินผี แท็กซี่เถื่อน ดักก่อกวนผู้โดยสาร อยากให้ สน.บางซื่อเข้ามาจัดการ

กับอีกจุดหนึ่ง คือ ท่ารถ ขสมก. อู่หมอชิต 2 เดิม โดยให้เดินไปตามจุดรับ-ส่งพัสดุภัณฑ์ ผ่านร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เจอกับทางสามแพร่ง มีป้ายเขียนด้วยลายมือลงบนฟิวเจอร์บอร์ด บอกทางกันเอง ให้เดินเลี้ยวขวาไป ขสมก. และรถตู้








ปรากฏว่าบรรยากาศประมาณตี 4 ทางเดินบริเวณนี้เปลี่ยวมาก ร้านค้าร้างหายไปหมด ไฟส่องสว่างไม่มี เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมลักวิ่งชิงปล้นอย่างยิ่ง เดินไปสักพักก็เลี้ยวซ้ายเพื่อไปยังด้านข้างท่ารถ ขสมก.

เข้าใจว่าพื้นที่ตรงนี้ บขส. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะอยู่นอกรั้ว แม้การปล่อยให้ผู้โดยสารต้องเดินเท้าแบบตามมีตามเกิดก็ไม่สมควรอย่างยิ่ง แต่ก็ติดปัญหาตรงที่เป็นที่รกร้างและร้านค้าย้ายออกไปแล้ว

ภายหลัง ขสมก. มีการทำแผนที่ขึ้นมาเอง พบว่าให้เดินเลี้ยวซ้ายแล้วไปออกถนนด้านข้างท่ารถ ขสมก. อีกที และเห็นว่ามีการติดตั้งป้ายจุดจอดรถเมล์ ขสมก. แต่ละเส้นทางเอาไว้ โดยมีม้านั่งจำนวนมากให้ผู้โดยสารพักคอย

ตอนนั้นเวลาประมาณตี 4 มีรถเมล์ ขสมก. เข้าท่ารถอยู่ 2 เส้นทาง คือ สาย 136 หมอชิตใหม่-คลองเตย และสาย 145 หมอชิตใหม่-ปากน้ำ เข้ามาจอดรับผู้โดยสารแต่เช้ามืด ตามมาด้วยสาย 77 หมอชิตใหม่-เซ็นทรัลพระราม 3

โดยสรุปก็คือ การเปลี่ยนจุดส่งผู้โดยสารรถทัวร์จากต่างจังหวัด จากชานชาลาขาเข้า มายังอาคารสถานีฯ สะดวกสบายกว่า แต่พบปัญหาจุดเชื่อมต่อรถเมล์ ขสมก. ที่พบว่าทางเดินมีปัญหาพอสมควร






แต่เข้าใจว่ามาตรการนี้ทำออกมาชั่วคราว ระหว่างที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม มีแผนที่จะย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 และสถานีขนส่งเอกมัย ไปให้บริการรวมกันที่ย่านสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยสร้างเป็นตึกสูงแทน


ตามรายงานข่าวของสำนักข่าวอิศรา ระบุว่า กระทรวงคมนาคมจะเสนอที่ดิน 32 ไร่ บริเวณบางซื่อแปลง A มาใช้ เพราะที่ผ่านมาการรถไฟฯ จะนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ แต่เปิดประมูล 2 ครั้ง ไม่มีเอกชนรายใดสนใจ

อาจมีคนสงสัยว่า ที่ดินบางซื่อแปลง A อยู่ตรงไหน? อยู่ทางทิศใต้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ระหว่างทางรถไฟกับทางด่วนศรีรัช หลังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง แต่มีทางรถไฟยกระดับที่สร้างไว้รองรับโครงการในอนาคตคั่นอยู่

ถึงกระนั้น เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่นิ่ง ที่ผ่านมาเคยมีแผนพัฒนาสถานีขนส่งหมอชิตหลายครั้ง ทั้งโครงการบางกอกเทอร์มินอล หรือการย้ายสถานีขนส่งหมอชิตออกไปทางรังสิต จ.ปทุมธานี แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า

การปรับปรุงสถานีขนส่งหมอชิต 2 เดิม จึงเป็นทางออกที่เป็นไปได้มากที่สุด ระหว่างที่ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจน และเมื่อสถานีขนส่งฯ เปิดใช้มาตั้งแต่ปี 2541 อาคารสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา

การย้ายจุดส่งผู้โดยสารรถทัวร์ต่างจังหวัด มายังอาคารสถานีฯ ครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งความพยายามของ บขส. ในการสะสางปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้โดยสาร แต่ก็ต้องคอยรับฟังเสียงสะท้อนที่ตามมาเพื่อปรับปรุงแก้ไข

รวมทั้งต้องรับมือกับบรรดาวินผี แท็กซี่เถื่อนก่อกวนผู้โดยสาร ขูดรีดค่าโดยสารในราคาที่สูงเกินจริง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพราะเชื่อว่าแม้มีมาตรการออกมาแต่ปัญหาดังกล่าวยังไม่หมดไป






กำลังโหลดความคิดเห็น