xs
xsm
sm
md
lg

ปิดตำนาน CNN Philippines แทนที่ด้วย RPTV

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ในที่สุด สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นฟิลิปปินส์ (CNN Philippines) ซึ่งเป็นสถานีข่าวในประเทศฟิลิปปินส์ ก็ยุติการออกอากาศไปแล้วเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา แทนที่ด้วยสถานีโทรทัศน์อาร์พีทีวี (RPTV)

RPTV บริหารงานโดย MediaQuest Holdings ซึ่งเป็นการร่วมทุนกันระหว่าง TV5 Network กับ Radio Philippines Network (RPN) ที่มีบริษัท Nine Media Corporation ผู้ถือลิขสิทธิ์ซีเอ็นเอ็นฟิลิปปินส์เดิม เป็นเจ้าของร่วม

การเซ็นสัญญาร่วมทุนกันเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน ก่อนที่ซีเอ็นเอ็นฟิลิปปินส์จะยุติการออกอากาศ เปลี่ยนผ่านไปสู่ช่อง RPTV ซึ่งเป็นช่องวาไรตี้ ผลิตรายการโดย TV5 Network แต่ RPN ทำหน้าที่ส่งสัญญาณออกอากาศ

กุยโด อาร์ ซาบาลเลโร (Guido R. Zaballero) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TV5 Network ระบุว่า การก่อตั้ง RPTV สอดคล้องกับความมุ่งมั่นยกระดับมาตรฐานออกอากาศรายการบันเทิง กีฬา และบริการสาธารณะในฟิลิปปินส์


เนื้อหารายการช่อง RPTV เน้นไปที่รายการกีฬา วาไรตี้ และข่าวสาร โดยเฉพาะรายการแข่งขันกีฬาบาสเกตบอล ของสมาคมกีฬาบาสเกตบอลฟิลิปปินส์ (PBA) และรายการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอล พรีเมียร์ วอลเลย์บอล ลีก

ขณะเดียวกัน ยังมีรายการวาไรตี้โชว์ยามบ่าย Eat Bulaga! ตั้งแต่เที่ยงวันถึงบ่ายสองโมงครึ่งวันธรรมดา ซึ่งรายการนี้ออกอากาศมายาวนานที่สุดในฟิลิปปินส์ จากเดิมเคยออกอากาศในช่องซีเอ็นเอ็นฟิลิปปินส์ในทุกวันเสาร์

นอกนั้นก็มีรายการออกอากาศคู่ขนานกับคลื่นวิทยุ Radyo 5 True FM อาทิ รายการ Ted Failon at DJ Chacha, รายการแนวช่วยเหลือสังคม Wanted Sa Radyo รวมทั้งรายการข่าว Frontline Tonight จาก TV5 Network

ส่วนช่องซีเอ็นเอ็นฟิลิปปินส์ หลังปิดสถานีได้มีการขนอุปกรณ์ออกจากสำนักงาน อาคาร Worldwide Corporate Center ย่านมันดาลูยอง ในกรุงมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ พร้อมกับพนักงานอีกราว 300 คนต่างถูกเลิกจ้าง

แต่ถึงกระนั้น RPN ซึ่งถือใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (NTC) ภายใต้ชื่อ DZKB-TV จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2569 ก็ถือโอกาสให้ TV5 Network ออกอากาศในชื่อ RPTV

ภาพจากแพลตฟอร์ม X @xianneangel
การยุติออกอากาศซีเอ็นเอ็น ฟิลิปปินส์ กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงสื่อสารมวลชนทั่วโลก อันเนื่องมาจากภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป ปรากฎการณ์ดิจิทัลดิสรัปชัน สื่อโทรทัศน์แบบดั้งเดิมประสบภาวะขาดทุน

นับตั้งแต่ที่ช่องซีเอ็นเอ็น ฟิลิปปินส์ ออกอากาศเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2558 เป็นต้นมา Nine Media Corporation ประสบภาวะขาดทุนสะสมมากกว่า 5,000 ล้านเปโซ หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท

แม้จะพยายามผลักดันให้ซีเอ็นเอ็นฟิลิปปินส์ กลายเป็นเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารที่เชื่อถือได้ในประเทศฟิลิปปินส์ จากปัจจุบันที่ประเทศฟิลิปปินส์ประสบปัญหา ข่าวปลอม (Fake News) อย่างหนักไม่ต่างไปจากประเทศอื่นก็ตาม

นอกจากช่องซีเอ็นเอ็นฟิลิปปินส์แล้ว คอนเทนต์บนออนไลน์ทั้งเว็บไซต์ cnnphilippines.com รวมทั้งบัญชีโซเชียลมีเดีย CNN Philippines ถูกลบทิ้งทั้งหมด เสมือนตัวตนขององค์กรได้หายไปบนโลกออนไลน์

คนข่าวกว่า 300 คน นอกจากจะกลายเป็นคนตกงานแล้ว ยังใจหายและเจ็บปวดที่ผลงานข่าวซึ่งผลิตมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาข่าวบนเว็บไซต์ หรือวีดีโอคลิป เสมือนเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้และผ่านการกลั่นกรองแล้ว ถูกลบทิ้ง!

ลารา ตัน (Lara Tan) อดีตดิจิทัล เอ็กซ์คลูซีฟ โปรดิวเซอร์ ของซีเอ็นเอ็นฟิลิปปินส์ กล่าวอย่างน่าใจหายว่า “9 ปีในการทำงานให้กับซีเอ็นเอ็นฟิลิปปินส์ เริ่มต้นและสิ้นสุดบนเว็บไซต์และหน้าโซเชียลมีเดียของเราเพื่อนำเสนอเนื้อหาที่ยุติธรรม ถูกต้อง และสมดุล ถูกลบทิ้งไปเสียอย่างนั้น ให้ฉันได้เสียใจกับการสูญเสียครั้งนี้”

อดีตพนักงาน CNN Philippines (ภาพจากเฟซบุ๊ก Pinky Webb)
ซีเอ็นเอ็นฟิลิปปินส์ เดิมคือสถานีโทรทัศน์ไนน์ทีวี (ช่อง 9) ซึ่ง Nine Media Corporation ซื้อลิขสิทธิ์ซีเอ็นเอ็น จาก เทอร์เนอร์ บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชัน สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2557 สัญญามีอายุ 5 ปี

โดย Nine Media Corporation จะจ่ายค่าธรรมเนียมรายเดือนต่อซีเอ็นเอ็น ซื้อรายการและความเชี่ยวชาญจากซีเอ็นเอ็น สหรัฐฯ ผลิตรายการข่าวสถานการณ์ประจำวัน และรายการไลฟ์สไตล์ ตามมาตรฐานซีเอ็นเอ็น

สัญญาครั้งแรกสิ้นสุดในปี 2563 แต่ได้ต่ออายุสัญญาครั้งที่สองไปเมื่อปี 2562 และจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 แต่ Nine Media Corporation ตัดสินใจบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนด เนื่องจากปัญหาขาดทุนดังกล่าว

เว็บไซต์ rappler.com สื่อออนไลน์ของฟิลิปปินส์ รายงานว่า ในปี 2565 Nine Media Corporation มีรายได้ 407.29 ล้านเปโซ (ประมาณ 262 ล้านบาท) แต่มีต้นทุนการบริการ 514.88 ล้านเปโซ (ประมาณ 331 ล้านบาท)

ประกอบด้วยเงินเดือน ค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้เทอร์เนอร์ฯ บริษัทแม่ของซีเอ็นเอ็น 139.3 ล้านเปโซ (เกือบ 90 ล้านบาท) และต้นทุนการผลิตอื่นๆ ผลก็คือขาดทุนสุทธิ 239.7 ล้านเปโซ (ประมาณ 154 ล้านบาท)

นอกจากนี้ Nine Media Corporation ยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมออกอากาศเดือนละ 8.2 ล้านเปโซ (ประมาณ 5 ล้านบาท) ให้กับ RPN ในฐานะเจ้าของคลื่นความถี่ เพื่อออกอากาศทางฟรีทีวีช่อง 9 อีกด้วย

Nine Media Corporation กล่าวในงบการเงินปี 2565 ว่ารายได้ที่ลดลงเกิดจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เมื่อปี 2565 พบว่าการโฆษณาของนักการเมือง “ไม่เกิดขึ้นจริง”

แม้การเลือกตั้งจะส่งผลให้พฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้น แต่ไม่ส่งผลต่อรายได้โฆษณาแบบดั้งเดิม เพราะการหาเสียงมุ่งเน้นไปที่โฆษณาผ่านโซเชียลมีเดีย อินฟลูเอนเซอร์ วอคเกอร์ (Vlogger) และคอนเทนต์ ครีเอเตอร์

หลังการเลือกตั้ง ยอดขายโฆษณาไม่ได้เพิ่มขึ้นในทันที เนื่องจากเอเจนซี่และบริษัทต่างๆ ต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ เช่นเดียวกับค่ายสื่อชั้นนำอย่าง GMA Network ที่รายได้ลดลง และ ABS-CBN ที่ประสบภาวะขาดทุน

ที่ผ่านมา Nine Media Corporation พยายามลดต้นทุนการผลิต กระทั่งต่อมาใช้กลยุทธ์ขายเวลาออกอากาศแบบบล็อกไทม์ และการผลิตรายการร่วมเชิงรุก แบบเดียวกับ ABS-CBN

ภาพ : Google StreetView
การปิดกิจการของซีเอ็นเอ็นฟิลิปปินส์ ก็มีท่าทีทั้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน รวมทั้งนักสื่อสารมวลชนในฟิลิปปินส์ แสดงความห่วงใยในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพ

สหภาพสื่อมวลชนแห่งชาติของฟิลิปปินส์ (NUJP) ออกแถลงการณ์ในหัวข้อ “อย่าให้คนทำงานสื่อเป็นคนสุดท้ายที่จะรู้” (Don’t let media workers be last to know) ตำหนิผู้บริหารที่นิ่งเงียบกับปัญหาที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน

โดยชี้ให้เห็นว่า การปิดตัวของซีเอ็นเอ็นฟิลิปปินส์ ขาดการสื่อสารที่ชัดเจนระหว่างฝ่ายบริหารกับพนักงาน เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารแต่ละสำนักข่าวจัดการคลายข้อกังวลในเชิงรุกมากขึ้น

ชาเคอ มานาบัต (Jacque Manabat) อดีตผู้สื่อข่าว ABS-CBN โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์ม X ระบุว่า “สถานการณ์ในซีเอ็นเอ็นฟิลิปปินส์ ส่งผลกระทบไม่เพียงแต่วงการสื่อสารมวลชน แต่สำหรับพวกเรา ในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและข้อมูลที่ถูกบิดเบือน เราจึงเรียกร้องให้มีสื่อสารมวลชนที่ไม่น้อยไปกว่านี้”

“เราต้องการสื่อสารมวลชนที่มากขึ้น เพื่อรักษาพลังในการตรวจสอบและช่วยเหลือประชาชนในการตัดสินใจอย่างมีข้อมูลข้อเท็จจริง”
ชาเคอ ระบุ

ขณะที่ เมลินดา ควินโตส เดอ เจซัส (Melinda Quintos De Jesus) กรรมการบริหาร มูลนิธิ CMFR ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ABS-CBN ระบุว่า เป็นเรื่องน่าตกใจอย่างยิ่ง เพราะทำให้พื้นที่ข่าวที่ต้องการนั้นลดลง

“การสูญเสียช่องซีเอ็นเอ็น ฟิลิปปินส์ เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ ภายใต้ความมืดมนจำนวนมาก ในแง่ที่ว่าสื่อสารมวลชนเราจะเดินไปทางไหน จะไปอยู่ที่ไหน หากเราจะเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนสาธารณะ”

"ฉันคิดว่าสื่อสารมวลชนกำลังจะเดินไปสู่ช่วงเวลาที่ยากลำบากมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ได้แสดงไปทั่วโลก แม้แต่สื่อที่ทรงพลังก็ตาม เฉกเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา พวกเขาสูญเสียและถูกปิดกั้นแพลตฟอร์มข่าวที่แตกต่างกัน ผู้ผลิตเนื้อหาข่าว และสื่อมวลชนอีกหลายคนต้องตกงาน"


การปิดตัวลงของซีเอ็นเอ็นฟิลิปปินส์ เป็นหนึ่งในผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสื่อ ท่ามกลางโซเชียลมีเดีย ที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เกิดปัญหาข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและบิดเบือน

ปัจจุบันอุตสาหกรรมข่าวของฟิลิปปินส์มีอยู่สองเจ้าใหญ่ ได้แก่ ค่าย GMA Network ที่มีช่องข่าว 24 Oras กับ ABS-CBN ที่มีช่องข่าว TV Patrol นอกนั้นก็มีรายการข่าวในช่องวาไรตี้ อาทิ รายการข่าวเย็น Frontline Pilipinas หรือ Frontline Tonight ในช่อง TV5 นอกเหนือจากสื่อของรัฐบาลฟิลิปปินส์อย่างช่อง PTV (People's Television)


ในภูมิภาคอาเซียน ซีเอ็นเอ็นยังเหลือช่องซีเอ็นเอ็นอินโดนีเซีย (CNN Indonesia) ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ผ่านเคเบิลทีวี TransVision ก่อนจะขยายแบบฟรีทูแอร์ไปทั่วประเทศ ปัจจุบันมีอายุ 9 ปี

ผู้ที่ซื้อลิขสิทธิ์ซีเอ็นเอ็น อินโดนีเซีย คือบริษัท ทรานส์มีเดีย (TransMedia) ที่มีมหาเศรษฐีอย่าง ชัยรุล ตันจุง (Chairul Tanjung) เป็นเจ้าของ ซึ่งมีสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีอยู่ 2 ช่อง ได้แก่ TransTV (ทรานส์ทีวี) และ Trans7 (ทรานส์ตูจู)

น่าสังเกตว่า บริษัทที่ทำแบรนด์สถานีข่าวระดับโลก ในภาษาท้องถิ่นได้อย่างต่อเนื่อง ยอมเสียค่าลิขสิทธิ์ปีละเกือบ 100 ล้านบาท ไม่รวมต้นทุนการผลิตอีกจำนวนมาก ต้องมีสายป่านยาวและเงินทุนต้องหนาพอสมควร

มองมาที่บ้านเรา แม้จะมีความพยายามนำรายการจากช่องซีเอ็นเอ็นออกอากาศทางทีวีดิจิทัลช่องหนึ่ง ด้วยคำบรรยายภาษาไทย เมื่อปี 2559 แต่เนื่องจากต้นทุนค่อนข้างสูง จึงได้ลดรายการส่วนใหญ่ลงเหลือรายการที่สถานีผลิตเอง

ปัจจุบันทีวีดิจิทัลช่องดังกล่าวคืนใบอนุญาตให้แก่ กสทช. แล้ว ส่วนซีเอ็นเอ็นยังคงมีผู้สื่อข่าวประจำกรุงเทพฯ และยังมีรายการจากช่อง CNN International ออกอากาศแบบภาษาอังกฤษผ่าน TrueVision และ AIS PLAY

ส่วนจะได้เห็นซีเอ็นเอ็นภาคภาษาไทยบนจอทีวีนั้น ถ้าไม่ใช่ดิจิทัลเซอร์วิสแบบบีบีซี ไทย ก็เป็นไปได้ยากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ด้วยผลกระทบของอุตสาหกรรมสื่อ ที่เปลี่ยนแปลงไปแบบไม่มีวันหวนกลับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น