xs
xsm
sm
md
lg

"รวมหนี้บัตรเครดิต" อีกตัวเลือกยามปรับขึ้นอัตราผ่อนจ่ายขั้นต่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


แฟ้มภาพ
กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

มีคนเคยกล่าวเอาไว้ว่า “ธนาคารให้ร่มแก่เราเมื่อแดดออก แต่ขอคืนร่มกลับเมื่อฝนตก” อาจเป็นมุกตลก แต่ชีวิตจริงยังมีเรื่องตลกร้าย เมื่อธนาคารและสถาบันการเงินผู้ออกบัตรเครดิตแต่ละแห่ง ปรับอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต จาก 5% เป็น 8% ในปีนี้ (2567) ก่อนที่จะปรับขึ้นเป็น 10% ในปีหน้า (2568)

ส่งผลทำให้มนุษย์เงินเดือน ที่นิยมผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่าง บัตรเครดิตใบหนึ่ง วงเงิน 100,000 บาทต่อบัตร ผู้ถือบัตรใช้ไปเต็มวงเงิน โดยเลือกผ่อนชำระขั้นต่ำ จากเดิม 5% คิดเป็นตัวเลขกลมๆ 5,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 8% หรือตัวเลขกลมๆ 8,000 บาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลขกลมๆ 3,000 บาท

หากปีหน้า (2568) บัตรเครดิตใบนั้นปรับอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 10% หรือตัวเลขกลมๆ 10,000 บาท คิดเป็นเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลขกลมๆ จากปีที่แล้วถึง 5,000 บาท ซึ่งที่ผ่านมาพฤติกรรมของคนที่ผ่อนชำระขั้นต่ำ มักจะผ่อนแล้วยังใช้บัตรนั้นต่อ ส่งผลทำให้ติดกับดักหนี้ ไม่มีเงินเหลือพอนำไปใช้จ่ายกับสิ่งที่จำเป็นในชีวิตอื่นๆ หรือแม้แต่จะมีเงินเก็บ

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ผู้ออกบัตรเครดิตแต่ละแห่ง ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนแปลง จากเดิมผ่อนชำระขั้นต่ำ 10% หรือขั้นต่ำ 1,000 บาท เปลี่ยนแปลงเป็น ขั้นต่ำ 5% ต่อรอบบัญชีตามจริง โดยไม่กำหนดจำนวนเงินที่ต้องชำระขั้นตํ่าที่ 1,000 บาท

มาตรการนี้เริ่มต้นเมื่อรอบบัญชีเดือนเมษายน 2563 ถึงรอบบัญชีเดือนธันวาคม 2566 เป็นเวลา 3 ปี 9 เดือน ซึ่งช่วงเวลานั้นประเทศไทยต้องรับมือกับโรคระบาดอย่างหนัก กว่าจะสถานการณ์คลี่คลาย สามารถเปิดประเทศและให้เป็นโรคประจำถิ่นก็กลางปี 2565 ที่ผ่านมา แต่เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวช้า เพราะยังมีภาวะสงครามเกิดขึ้นที่ต่างประเทศ

แต่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินผู้ออกบัตรเครดิต หลังใจดีมากพอแล้ว ก็เริ่มค่อยๆ ปรับอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำเป็น 8% ส่งผลทำให้มนุษย์เงินเดือนที่มีหนี้บัตรเครดิตอยู่แล้ว ต้องจ่ายค่าบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นนับพันบาท บางรายตั้งแต่ 3,000-5,000 บาท ยิ่งคนที่มีบัตรเครดิตตั้งแต่ 2 ใบขึ้นไป ก็ยิ่งต้องจ่ายค่าบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว

เมื่อจ่ายไม่ไหวดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ใช้เวลานานกว่าจะหมดหนี้ หรือบางคนเมื่อรวมกับหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้รถยนต์ และหนี้สินเชื่อบ้านรวมกัน สุดท้ายกลายเป็นคนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวในที่สุด

ข้อมูลจาก บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร ระบุว่า ณ สิ้นไตรมาส 3/2566 (30 กันยายน 2566) พบว่าคนไทยมีหนี้บัตรเครดิตสูงถึง 546,000 ล้านบาท จากจำนวนผู้ถือบัตรเครดิต 23.8 ล้านใบ เมื่อคิดรวมหนี้ครัวเรือนที่อยู่ภายใต้เครดิตบูโรทั้งหมด 13.5 ล้านล้านบาท

ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ได้ออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน หนึ่งในนั้นคือ ลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ค้างชำระเกิน 120 วัน สามารถเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ได้ โดยได้รับการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ให้ผ่อนเฉพาะเงินต้นนานสูงสุด 10 ปี อัตราดอกเบี้ยเพียง 3-5% ต่อปี และยกดอกเบี้ยค้างเดิมให้เมื่อชำระครบตามสัญญา

นอกจากนี้ ยังมีหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) กำหนดให้สถาบันการเงินต้องให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ดูแลลูกหนี้ที่มีปัญหาชำระหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรังให้ปิดจบหนี้ได้ รวมถึงคุ้มครองสิทธิลูกหนี้

ระยะหลังๆ จะเห็นโฆษณาบัตรเครดิตที่มีข้อความกำกับว่า “ใช้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนตามกำหนด จะไม่เสียดอกเบี้ยสูงสุด 16% ต่อปี” เพื่อส่งเสริมวินัยทางการเงิน ผ่านการให้ข้อมูลของผู้ให้บริการ เพื่อกระตุกพฤติกรรมตลอดวงจรหนี้ และกลางปีนี้จะการแจ้งเตือนเมื่อจะมีภาระค่างวดหรืออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

อีกด้านหนึ่ง จะเห็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินในลักษณะ “สินเชื่อรวมหนี้” โดยรวบรวมหนี้ที่มีในมือไว้เป็นก้อนเดียวกัน แล้วขอสินเชื่อกับธนาคารเพื่อนำเงินที่ได้ไปปิดหนี้ทั้งหมด ซึ่งข้อดีก็คือ รู้ว่าจำนวนหนี้ที่แท้จริงมีจำนวนเท่าไหร่ แล้วผ่อนจ่ายหนี้กับสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียว ไม่ต้องปวดหัวกับสถาบันการเงินหลายแห่ง

สินเชื่อรวมหนี้ มีอยู่หลายลักษณะ มีทั้งรวมหนี้บ้านเข้ากับหนี้บัตรเครดิต รวมหนี้รถเข้ากับบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสด สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อรวมหนี้ที่บางธนาคารโฆษณาชัดเจนว่าเพื่อรวมหนี้บัตรเครดิต หรือสินเชื่อบุคคล โดยขอหลักฐานเพิ่มเติม คือใบแจ้งหนี้พร้อมแบบฟอร์มการชำระเงินฉบับล่าสุดมาด้วย

คุณสมบัติของผู้สมัครไม่ต่างกัน คือ มีรายได้ประจำต่อเดือนตั้งแต่ 20,000-30,000 บาทขึ้นไป วงเงินอนุมัติสูงสุดตั้งแต่ 1.5 ถึง 5 เท่าของรายได้ อัตราดอกเบี้ยถ้าต่ำสุด ส่วนมากจะเป็นวงเงินอนุมัติที่สูง ไม่อย่างนั้นก็เป็นคนที่มีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 50,000 บาทขึ้นไป แต่เท่าที่พบเห็นจะใกล้เคียงกับสินเชื่อบุคคล สูงสุดไม่เกิน 25% ต่อปี

ข้อดีอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อรวมหนี้แล้วผ่อนจ่ายกับสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียว นอกจากจะไม่ต้องปวดหัวกับสถาบันการเงินหลายแห่งแล้ว ยังสามารถวางแผนได้ว่า จะผ่อนให้หมดภายใน 3 ปีหรือ 5 ปี มีโอกาสปลดหนี้ได้ง่ายกว่า เมื่อเทียบกับการจ่ายขั้นต่ำไปเรื่อยๆ จะถูกคิดดอกเบี้ยตลอดเวลา ทำให้รู้สึกว่าผ่อนไปเท่าไหร่หนี้ก็ไม่ลดลงสักที

ส่วนข้อจำกัดในการใช้สินเชื่อรวมหนี้ก็คือ ที่ผ่านมาหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคลที่ออกมาในแต่ละเดือนนั้น จะรวมทั้งเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าปรับต่างๆ หากรวมหนี้แล้ว หนี้ก้อนใหม่ก็จะเป็นยอดหนี้ใหม่ที่ต้องมาเสียดอกเบี้ยซ้ำอีก เท่ากับว่าต้องจ่ายดอกเบี้ยสองต่อ แต่ก็ต้องแลกกับภาวะเลือดหยุดไหลจากบัตรเครดิตใบก่อนหน้าที่ดอกเบี้ยเดินไม่หยุด

อย่างไรก็ตาม การมองหาสินเชื่อรวมหนี้ หรือสินเชื่อบุคคลที่ต้องการรวมหนี้บัตรเครดิต จำเป็นที่จะต้องศึกษารายละเอียดผลิตภัณฑ์ว่ามีลักษณะอย่างไร คิดดอกเบี้ยแบบไหน และคำนวณสินเชื่อต่อเดือนว่าเราจ่ายไหวหรือไม่ หากยอดหนี้เยอะอาจจะผ่อนนานหน่อย ยอดหนี้ไม่เยอะก็สั้นลงมา เน้นส่งเสริมวินัยในการใช้หนี้แบบไม่กดดันตัวเอง

แต่ในกรณีที่ไม่ไหวจริงๆ แล้วเกิดหนี้เสีย ยังมีอีกช่องทางหนึ่ง คือ “คลินิกแก้หนี้” โครงการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน สำหรับคนที่เป็นหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันของสถาบันที่เข้าร่วมโครงการ ค้างชำระมากกว่า 120 วัน รวมกันไม่เกิน 2 ล้านบาท

โดยได้รับการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ให้ผ่อนเฉพาะเงินต้นนานสูงสุด 10 ปี อัตราดอกเบี้ยเพียง 3-5% ต่อปี และยกดอกเบี้ยค้างเดิมให้เมื่อชำระครบตามสัญญา (เฉพาะเจ้าหนี้ที่เข้าร่วมโครงการ)

อีกวิธีหนึ่ง ย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีก่อน เคยมีโอกาสสัมภาษณ์มนุษย์เงินเดือนรายหนึ่ง ที่เคยมีประสบการณ์ในการ “ปิดบัตรเครดิต” มาก่อน เหลือใช้จริงเพียงใบเดียว ระบุว่า ก่อนหน้านี้มีบัตรเครดิตรวมกัน 4 ใบ จุดเปลี่ยนก็คือ ต้องการรวมหนี้ไว้กับบัตรเพียงใบเดียว หากถือพร้อมกัน 4 ใบ และไม่สามารถชำระเต็มจำนวนได้ ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยทุกใบ

ตัดสินใจทยอยปิดบัตรเครดิตทีละใบ หมายหัวเลยว่าใบไหนต้องการจะปิด แล้วใช้วิธี “จ่ายให้มากกว่าขั้นต่ำ” โดยที่ใบอื่น ๆ ยังคงจ่ายขั้นต่ำตามปกติ เพราะหากยังคงจ่ายขั้นต่ำ ผ่านไปหนึ่งปีเงินต้นก็ไม่หมด สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ต้องหักดิบด้วยการ “ไม่นำไปใช้จ่ายอะไรเลย” ต่อให้มีโปรโมชั่นมายั่วยวนก็ตาม เพราะหากยังคงรูดบัตรอยู่ กี่ปีก็ไม่มีวันหมด

อย่างไรก็ตาม เราย้อนกลับไปถามแหล่งข่าวที่เป็นมนุษย์เงินเดือนอีกครั้ง ก็กล่าวว่า วันนี้กับเมื่อ 6 ปีก่อนไม่เหมือนกัน เพราะยิ่งโตขึ้นยิ่งมีค่าใช้จ่ายและภาษีสังคมมากขึ้น การมีบัตรเครดิตประมาณ 2 ใบไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ต้องใช้ให้ถูกวิธี วงเงินไม่ต้องเยอะ และมีวินัยการเงิน เพราะมีเครื่องมือที่เสริมสภาพคล่องให้ใช้

เช่น คนที่มีรถยนนต์ ต้องซื้อประกันภัยรถยนต์ แทนที่จะซื้อเป็นเงินก้อนก็แบ่งชำระโดยผ่อน 0% 10 เดือน ทำให้เรามีเงินสดเหลือไว้เสริมสภาพคล่องมากขึ้น หรือการนำคะแนนสะสมจากบัตรเครดิตมาใช้ เช่น ซื้อของ หรือรับประทานอาหาร ซึ่งพบว่านำคะแนนสะสมมาเป็นส่วนลด พบว่าได้ส่วนลดมากกว่าปกติ

ขณะเดียวกัน การเลือกบัตรเครดิต ก็ควรเลือกบัตรที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ อย่างคนที่ชอบเดินทาง ก็ใช้บัตรเครดิตร่วมกับสายการบิน ส่วนการจ่ายขั้นต่ำไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี เพียงแต่วงเงินต้องไม่เยอะ และต้องไม่รูดอะไรเพิ่ม ไม่อย่างนั้นก็เป็นหนี้ไม่รู้จบ ไม่แนะนำให้ ใช้บัตรเครดิตกดเงินสด หรือนำไปโปะกับบัตรใบอื่น เสี่ยงที่จะเจอหนี้แบบไม่รู้จบ

แหล่งข่าวคิดเหมือนกันอย่างหนึ่งว่า ถ้าไม่ไหวจริงๆ ยังมีวิธี “รวมหนี้บัตรเครดิต” ซึ่งมีสถาบันการเงินให้เรารวมหนี้บัตรเครดิตรวมกันเป็นก้อนเดียวแล้วผ่อนกับสถาบันการเงินนั้น ซึ่งจะช่วยให้เราปลดหนี้บัตรเครดิตที่มีอยู่ได้เร็วขึ้น

ช่วงนี้หลายคนอาจจะเหนื่อยกับการจ่ายบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้น ตามมาตการของแบงก์ชาติที่เพิ่มอัตราการจ่ายขั้นต่ำจาก 5% เป็น 8% แต่หากใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างหนี้ที่มีอยู่ และเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็น ก็ทำให้ชีวิตคล่องตัวและยืนหยัดอยู่รอดได้ ในยามที่เศรษฐกิจซบเซาและมีแต่ความไม่แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น