xs
xsm
sm
md
lg

ทางยกระดับพระรามที่ 2 เจ็บแต่จบภายในปี 68?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ก่อนเทศกาลปีใหม่ 2567 ที่ผ่านมา สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เดินทางมายังศูนย์บริหารการจราจรระหว่างการก่อสร้าง โครงการก่อสร้างทางยกระดับ ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เพื่อตรวจเยี่ยมการก่อสร้างบนพื้นที่ถนนพระรามที่ 2

รัฐมนตรีสุริยะฯ แสดงความมั่นใจว่า ทั้งโครงการก่อสร้างทางยกระดับพระรามที่ 2 (ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว) และโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตกฯ จะมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เป็นไปตามแผนงาน จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2568

โดยการก่อสร้างจะเน้นความปลอดภัยในการทำงานตามหลักปฏิบัติด้านวิศวกรรม และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยจะต้องควบคุมดูแลด้านความปลอดภัยและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ครบทุกมิติ เพื่อสร้างความมั่นใจด้านการคมนาคมขนส่งทางบกให้แก่ประชาชนและผู้ใช้เส้นทาง

สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 ประจำเดือนธันวาคม 2566 พบว่างานโยธาช่วงที่ 1 (บางขุนเทียน-เอกชัย) ภาพรวมคิดเป็น 88.349% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จเดือนมิถุนายน 2567 ส่วนงานโยธาช่วงที่ 2 (เอกชัย-บ้านแพ้ว) ภาพรวมคิดเป็น 39.095% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2568

กรมทางหลวง มีนโยบายในการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ในรูปแบบ PPP Gross Cost ได้แก่ งานระบบและงานบำรุงรักษา โดยจะมีระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบ M-Flow 100% คาดว่าจะเปิดใช้งานสายทางอย่างเต็มรูปแบบในปี 2569

สิ่งที่น่าสงสัยก็คือ งานโยธาช่วงที่ 1 (บางขุนเทียน-เอกชัย) ระยะทาง 10.769 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 3 สัญญา เริ่มต้นสัญญาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562 ใช้งบประมาณแผ่นดิน 10,477.386 ล้านบาท พบว่าผ่านไปเกือบ 5 ปี การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ แม้จะมีโครงสร้างทางยกระดับปรากฏอย่างชัดเจนแล้วก็ตาม

โดยสัญญาที่ 1 ก่อสร้างโดย กิจการร่วมค้าเอ็นทีเอ พบว่าติดสายไฟฟ้า ติดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ตำแหน่งตอม่อติดแนวท่อประปา ได้ปรับปรุงแบบตอม่อ และได้รับอนุมัติงดลดค่าปรับ ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2566 ถึง 15 พฤศจิกายน 2567

สัญญาที่ 2 ก่อสร้างโดย บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ประสบปัญหาผู้รับจ้างขาดแคลนแรงงาน และสัญญาที่ 3 ก่อสร้างโดย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ติดปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดิน และติดสาธารณูปโภค ซึ่งได้ประชุมเร่งรัดการรื้อย้ายไปแล้วก่อนหน้านี้

ส่วนงานโยธาช่วงที่ 2 (เอกชัย-บ้านแพ้ว) ระยะทาง 16.4 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 18,759 ล้านบาท ใช้เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง (กองทุนมอเตอร์เวย์) แบ่งออกเป็น 10 สัญญา ลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 สิ้นสุดสัญญา 15 มกราคม 2568 ซึ่งกรมทางหลวงคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2568

สำหรับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย แบ่งออกเป็น 4 สัญญา พบว่าสัญญาที่ 4 (โครงการก่อสร้างสะพานคู่ขนานสะพานพระราม ๙ เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก) ก่อสร้างโดย บริษัท ช การช่าง จำกัด (มหาชน) แล้วเสร็จตามสัญญา เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา

ส่วนสัญญาที่เหลือ ได้แก่ สัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 3 เริ่มต้นวันที่ 10 มกราคม 2565 สิ้นสุดสัญญา 25 ตุลาคม 2567 ส่วนสัญญาที่ 2 เริ่มต้นสัญญาวันที่ 6 พฤษภาคม 2563 อยู่ระหว่างกำหนดขยายระยะเวลาการก่อสร้าง แต่พบว่าสัญญาที่ 2 และ 3 ช่วงโรงพยาบาลนครธน ถึงสะพานพระราม ๙ เร็วกว่าแผนเล็กน้อย ส่วนสัญญาที่ 1 ช่วงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน ช้ากว่าแผนเล็กน้อย

ความก้าวหน้าสะสมประจำเดือนธันวาคม 2566 ได้แก่ สัญญาที่ 1 (ต่อทางยกระดับพระรามที่ 2 ถึงโรงพยาบาลนครธน) ก่อสร้างโดย กิจการร่วมค้า ยูเอ็น-ซีซี แผนงานสะสม 56.84% ผลงานสะสม 54.73% ช้ากว่าแผน -2.11%

สัญญาที่ 2 (ตั้งแต่โรงพยาบาลนครธน ถึงโรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล) ก่อสร้างโดย กิจการร่วมค้า ซี ที บี แผนงานสะสม 79.94% ผลงานสะสม 82.47% เร็วกว่าแผน +2.53%

และสัญญาที่ 3 (ตั้งแต่โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล ถึงสะพานคู่ขนานสะพานพระราม ๙) ก่อสร้างโดย กิจการร่วมค้า ไอทีดี – วีซีบี แผนงานสะสม 56.84% ผลงานสะสม 59.65% เร็วกว่าแผน +2.81%

อาจมีหลายคนสงสัยว่า ทางพิเศษและทางยกระดับถนนพระรามที่ 2 ทั้งสองโครงการเมื่อไหร่จะแล้วเสร็จและเปิดการจราจร เมื่อวันก่อนมีโอกาสพูดคุยนอกรอบกับแหล่งข่าว ซึ่งขออนุญาตไม่เอ่ยนาม พบว่าได้รับทราบข้อมูลบางอย่าง โดยเฉพาะงานโยธาช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย ทำไมถึงยังไม่เสร็จ?

แหล่งข่าวกล่าวว่า ทางยกระดับพระรามที่ 2 ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ความคืบหน้าโดยภาพรวมประมาณ 70% แต่ในปี 2567 จะเร่งรัดการก่อสร้างมากขึ้น เพื่อให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายภายในปี 2568 ยืนยันว่าทั้งโครงการทางพิเศษสายพระราม 3ฯ และทางยกระดับพระรามที่ 2 จะต้องแล้วเสร็จตามเป้าหมายภายในปี 2568 ไม่มีปล่อยไว้แน่นอน

เพราะทั้งการทางพิเศษฯ และกรมทางหลวง สังกัดกระทรวงเดียวกัน มีรัฐมนตรี มีปลัดกระทรวงคนเดียวกัน ก็ลงมาจี้งานเหมือนกัน จึงต้องทำโครงการตรงนี้ให้แล้วเสร็จตามแผน

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้การก่อสร้างอาจขยายเวลาปิดการจราจรเพิ่มขึ้น โดยมีแนวคิดว่าจะปิดช่องทางหลัก (Main Road) จากเดิม 3 ทุ่มถึงตี 5 อาจขยายไปถึง 7 โมงเช้า อาจมีผลกระทบกับผู้ใช้รถใช้ถนนเพิ่มขึ้น ซึ่งโดยปกติก็เจอแบบนี้อยู่แล้ว แต่ก็น้อมรับ และยืนยันว่าจะต้องให้แล้วเสร็จตามกำหนด ไม่เช่นนั้นที่ก่อสร้างมาจะเปล่าประโยชน์

ที่ผ่านมาการก่อสร้างโดยปิดช่องทางหลัก ตั้งแต่เวลา 3 ทุ่มถึงตี 4 นั้นไม่เพียงพอ เพราะกว่าจะเตรียมการทั้งก่อนและหลังปิดถนนก็ใช้เวลานาน อีกทั้งระยะเวลาในการก่อสร้างก็มีเวลาให้น้อยมาก เพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน บางครั้งก็เกิดปัญหาทางเทคนิคระหว่างการก่อสร้างก็มี

ส่วนข้อสงสัยที่ว่างานโยธาช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย ทำไมถึงยังไม่เสร็จ? ได้รับคำตอบว่า มีอยู่สัญญาหนึ่ง ผู้รับจ้างประสบปัญหาช่วงโควิด-19 กระทบการก่อสร้าง อีกทั้งประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้บริหาร กรมทางหลวงก็เลยลงไปกำกับดูแลปัญหาอย่างใกล้ชิด กระทั่งโครงสร้างเริ่มเป็นรูปเป็นร่างใกล้จะแล้วเสร็จ

อย่างไรก็ตาม แม้ต่อให้การก่อสร้างงานโยธาช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย แล้วเสร็จ แต่ก็ไม่สามารถเปิดให้ประชาชนขึ้นไปใช้บริการได้ เพราะโครงการทางพิเศษสายพระราม 3ฯ ยังไม่แล้วเสร็จ จึงไม่สามารถเชื่อมต่อทางยกระดับเข้าหากันได้ และหากเปิดให้ใช้เพียงไม่กี่กิโลเมตร เช่น ขึ้นด่านพันท้ายนรสิงห์ ลงด่านมหาชัย 1 ก็ไม่มีประโยชน์

แต่ยืนยันว่าปี 2568 ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการ ตั้งแต่ทางพิเศษพระราม 3ฯ ถึงบ้านแพ้ว ระยะทางประมาณ 46 กิโลเมตร ได้เปิดทดลองใช้แน่นอน แต่จะช้าหรือเร็วก็อีกเรื่องหนึ่ง

ส่วนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 ช่วงบ้านแพ้ว-ปากท่อ ระยะทาง 47.4 กิโลเมตร วงเงินโครงการ 53,219 ล้านบาท นั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า ความคิดเห็นส่วนตัวยังไม่มีความจำเป็นในขณะนี้ เพราะทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ทำหน้าที่ระบายรถจากใจกลางเมืองออกนอกเมือง

เมื่อเลยบ้านแพ้วไปแล้ว การจราจรไม่ถือว่าหนาแน่น แต่หากชุมชนเกิดการขยายตัวจะพิจารณาอีกครั้ง

เพราะได้รับบทเรียนจากโครงการปัจจุบันว่า หากจะก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็วไปด้วย ผู้ใช้รถใช้ถนนปลอดภัยไปด้วยเป็นเรื่องยาก อาจพิจารณาเรื่องนี้ในทีโออาร์โครงการต่อไปว่า ค่าก่อสร้างแพงขึ้นแต่งานต้องเสร็จเร็วขึ้น ผู้รับจ้างรับได้หรือไม่ ซึ่งปัจจุบันค่าก่อสร้างพบว่าเหมือนกันทุกสัญญา ทั้งที่สภาพแวดล้อมต่างกัน

อีกทั้งถนนพระรามที่ 2 เลยบ้านแพ้วไปแล้วถนนมีแค่ 8 ช่องจราจร หากจะต้องปิดถนนอีก ก็ต้องถูกตำหนิจากผู้ใช้รถใช้ถนนแน่นอน หากจะทำโครงการต่อคงต้องคุยกันระยะยาว เปรียบเทียบระหว่างถนนแนวใหม่ตัดผ่านทุ่งนา ทำงานกัน 24 ชั่วโมง กับก่อสร้างบนเกาะกลางถนนสายเดิม มีเวลาทำงานไม่กี่ชั่วโมง และยังต้องรับคำตำหนิจากโซเชียลฯ

ด้วยความสงสัยเลยถามอีกว่า แล้วทำไม ทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ความยาว 53 กิโลเมตร ยังก่อสร้างสร้างไปถึงจังหวัดชลบุรีได้ แหล่งข่าวกล่าวว่า เป็นโครงการของการทางพิเศษฯ ซึ่งไม่ขอก้าวล่วง แต่ยืนยันว่ามอเตอร์เวย์หมายเลข 7 กรุงเทพฯ-ชลบุรี สายใหม่ มีมาก่อนทางพิเศษบูรพาวิถี

แต่ตอนนั้นยังเป็นทางฝั่งละ 2 ช่องจราจร รวม 4 ช่องจราจร และไม่ได้เป็นระบบปิด มีด่านเก็บเงินเพียงแค่ด่านลาดกระบัง และด่านพานทอง ไม่ทราบที่มาที่ไปว่าก่อสร้างทางด่วนบางนา-ชลบุรีด้วยเหตุผลใด แต่ทราบว่าการจัดเก็บค่าผ่านทางไม่เข้าเป้า หากจะเข้าเป้าต้องเกิดขึ้นจากมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 มีปัญหา ทางด่วนบูรพาวิถีถึงจะรองรับตรงนี้ได้

แหล่งข่าวกล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลอีกอย่างหนึ่ง คือการที่มีคนงานสูญเสียจากอุบัติเหตุระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะผลกระทบมีมากกว่าที่คนทั่วไปคิด

เขาเห็นว่า แม้หลังเกิดเหตุการณ์จะมีคำสั่งให้หยุดก่อสร้าง 7 วัน แต่พอกลับมาทำงาน กำลังใจของคนงานจะเสีย เพราะเพื่อนร่วมงานตายไปแล้ว ไม่อยากทำงานต่อแล้ว ก็จะขอลาตรงนี้ ผู้รับจ้างก็ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอีก

แต่หากความสูญเสียเกิดขึ้นกับวิศวกรผู้ควบคุมงาน ยิ่งหนักเข้าไปอีก เพราะขาดหัวหน้าก็เหมือนขาดแม่ทัพ งานก่อสร้างก็จะเป๋ เพราะไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน เปรียบเทียบระหว่างคนงานเสียชีวิต งานก่อสร้างจะกระทบประมาณ 2 สัปดาห์ แต่หากเกิดขึ้นกับวิศวกรผู้ควบคุมงาน จะกระทบการก่อสร้างมากกว่า 1 เดือน

และหากอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับรถเครน ถ้าไม่เสียชีวิตหรือพิการ ก็สูญเสียอวัยวะ อย่างเช่นนิ้วขาด ซึ่งการจะหาคนขับรถเครนได้นั้นเป็นเรื่องยาก เพราะคนขับรถเครนมีคุณลักษณะและทักษะ แตกต่างจากคนขับรถปกติ คือ ต้องใจเย็น เวลายกวัสดุก่อสร้างหากใจร้อนก็เกิดความเสียหายได้ และการหาคนขับรถเครนในตลาดแรงงานถือว่ายากมาก

โดยสรุปก็คือ แหล่งข่าวยืนยันว่าจะเร่งรัดการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 เพราะต้องการ “ปิดจ๊อบ” ตรงนี้ให้เร็วที่สุด ไม่อย่างนั้นสิ่งที่ทำมาทั้งหมดตลอดหลายปีที่ผ่านมานั้นสูญเปล่า

ในขณะที่สัญญาการก่อสร้างสิ้นสุดวันที่ 15 มกราคม 2568 ซึ่งอาจจะล่าช้าประมาณ 2-3 เดือน ถ้าไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างโรคระบาดโควิด-19 หรือวิกฤตเศรษฐกิจหนักๆ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า “ถนนเจ็ดชั่วโคตร” และตั้งคำถามว่าเมื่อไหร่จะแล้วเสร็จ เพราะผ่านไป 50 ปี ถนนพระรามที่ 2 ธนบุรี-ปากท่อ ก็ก่อสร้างแบบไม่หยุดพักเสียที

ฟังจากปากแหล่งข่าวแล้ว ก็ได้แต่อดทนแบบ “เจ็บแต่จบ” พยายามปรับตัวให้เข้ากับการก่อสร้าง หากมีธุระสำคัญต้องเข้ากรุงเทพฯ ด้วยรถสาธารณะ ก็ออกจากบ้านแต่เช้ามืด ที่ผ่านมาคนสมุทรสาคร ขึ้นรถตู้ไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก็ออกเดินทางแต่เช้ามากขึ้น เพราะไม่อยากเจอรถติด ใช้เวลาเพียงแค่ 1 ชั่วโมงเศษก็ถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

แต่ถ้าโดยส่วนตัวจะให้ก่อสร้างมอเตอร์เวย์ ช่วงบ้านแพ้ว-ปากท่อหรือไม่ คิดว่าอยากให้สนใจก่อสร้าง มอเตอร์เวย์หมายเลข 8 นครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กิโลเมตร มากกว่า ซึ่งโครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 81 บางใหญ่-กาญจนบุรี ทำด่านนครชัยศรีรอไว้อยู่แล้ว เหลือแต่ตัดมอเตอร์เวย์ผ่านราชบุรี ปากท่อ เพชรบุรี สิ้นสุดบริเวณก่อนถึงต่างระดับชะอำ

ถ้าเห็นว่าช่วงปากท่อ-ชะอำยังไม่เรียบร้อย เพราะมีชาวบ้านคัดค้าน ก็ทำแค่ช่วงนครชัยศรี-ปากท่อก่อนก็ได้ อย่างน้อยช่วยรับรถจากภาคใต้ไปยังโซนจังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพฯ เหนือ ไหน ๆ มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรีจะแล้วเสร็จ เปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2568 แล้ว ก็เดินหน้าโครงการนี้เพื่อเชื่อมไปยังประตูสู่ภาคใต้ไปด้วยเลย

แต่ตอนนี้เอาทางยกระดับพระรามที่ 2 หรือมอเตอร์เวย์บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ปิดจ๊อบให้เรียบร้อยก่อน ได้แต่คิดว่าผ่านมาจะ 5 ปีแล้ว อดทนอีกสักปีจะเป็นอะไรไป ต่อให้อาถรรพ์คำว่า “ถนนเจ็ดชั่วโคตร” ยังไม่หมดไปก็ตาม แต่เมื่อได้เห็นโครงสร้างทางยกระดับเป็นรูปเป็นร่างแล้วก็อุ่นใจขึ้นมาบ้าง แม้จะเล็กน้อยก็ยังดี
กำลังโหลดความคิดเห็น