xs
xsm
sm
md
lg

ตั๋วผี 101 สถานีขนส่งหมอชิต 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เมื่อช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ที่ผ่านมา ผู้เขียนเดินทางไปยังจังหวัดภาคอีสาน เจอประสบการณ์ “ตั๋วผี” เป็นครั้งแรกในชีวิต จากที่ผ่านมาเคยได้ยินมาจากคนอื่น แต่ก็ไม่นึกว่าเกิดขึ้นกับตัวเอง

ความจริงเรื่องนี้อยากให้จบเป็นเพียงแค่เรื่องเล่าเฉพาะพี่ๆ เพื่อนๆ เท่านั้น เพราะไม่อยากมีปัญหากับใคร แต่ผู้ใหญ่ที่เคารพท่านหนึ่ง "เป็นห่วง" และ "รับไม่ได้" จึงช่วยประสานงานนำเรื่องดังกล่าวส่งต่อไปยังผู้บริหาร บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส.

ทาง บขส. ไม่ได้นิ่งนอนใจ หลังทราบเรื่อง ได้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับผู้ประกอบการ ข้อหา "จำหน่ายตั๋วเกินราคาที่กำหนด" เรียบร้อยแล้ว พร้อมคาดโทษว่าหากมีพฤติกรรมเช่นนี้อีก จะลงโทษโดยสั่งให้หยุดเดินรถ 7 วัน

เมื่อเรื่องราวไปถึงขั้นนี้แล้ว จากที่คิดว่าแค่บ่นให้ฟังแล้วปล่อยผ่าน วันนี้ผู้เขียนจึงตัดสินใจบอกเล่าเรื่องนี้ เพื่อเป็นอุทาหรณ์แก่นักเดินทางทุกคน รวมถึงคาดหวังว่า ผู้ประกอบการเดินรถทุกรายคงจะไม่ทำเช่นนั้นอีก

ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ที่ผ่านมา หลายคนประสบปัญหาการเดินทาง ทั้งรถทัวร์ รถไฟ เต็มทุกเที่ยว ต้องเจอรถเสริม หรือจะเป็นการจราจรติดขัด โดยเฉพาะสายอีสาน ถึงจะเปิดมอเตอร์เวย์หมายเลข 6 ไปนครราชสีมา ก็ไม่ช่วย

ผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน ปกติช่วงเทศกาลจะมีเวรหยุดแบบตายตัว ถ้ารู้ว่าหยุดวันไหนก็จะจองตั๋วล่วงหน้านานเป็นเดือนๆ แต่คราวนี้เนื่องจากมีปัญหาภายในเล็กน้อย จึงไม่ได้วางแผนจองตั๋วล่วงหน้า

การเดินทางแบบ “สู้ชีวิต” โดยไม่มีแบบแผนจึงเริ่มต้นขึ้น


ทีแรกกะจะวัดดวงวันทำงานสุดท้ายของปี 2566 คือวันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม 2566 แพ็คกระเป๋าเสื้อผ้ารอไว้แล้ว ปรากฏว่าเห็นข่าวรถติดหนักบนถนนมิตรภาพ บวกกับ บขส. แจ้งว่าวันนั้นผู้โดยสารแน่นสุดกว่า 70,000 คน

สุดท้ายหลังเลิกงานจึงทำได้เพียงแค่รีบนอนเอาแรง แล้วตื่นแต่เช้ามืดเพื่อมาลุ้นอีกที

ตีห้า วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม 2566 ออกจากบ้านแต่เช้ามืด ขึ้นรถตู้เป็นคนสุดท้าย ตอนนั้นผู้โดยสารแน่นมาก ออกจากท่ารถตู้ 05.20 น. ถึงสถานีขนส่งหมอชิต 2 ตอน 6 โมงเช้าเศษ ขณะนั้นผู้โดยสารที่มาแต่เช้ามืดมีจำนวนไม่น้อย

เดิมตั้งใจว่าจะขึ้นรถเมล์ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา แล้วค่อยต่อไปยังจังหวัดอื่น เพราะคิดว่ามีเที่ยวรถเยอะสุด ปรากฏว่าผิดคาด เจ้าหนึ่งเขียนป้ายชัดเจนว่า "เต็ม" อีกเจ้าหนึ่งถามว่าจองมาก่อนไหม พอบอกว่าไม่ได้จองก็บอกว่า “เต็มแล้ว”

ส่วนเจ้าที่มีเที่ยวรถมากที่สุด คนต่อคิวกันยาวเหยียด แถมเมื่อซื้อตั๋วแล้วไม่ได้เดินทางทันที ต้องรอประกาศเรียกอีกครั้ง ก็เลยเปลี่ยนแผน เดิมตั้งใจจะไปจังหวัดโซนอีสานเหนืออยู่แล้ว เลยตัดสินใจเดี๋ยวนั้นว่าไปอุดรธานีดีกว่า

บังเอิญระหว่างเดินผ่านช่องขายตั๋วแต่ละจุด ได้ยินเสียงป้าคนหนึ่งกล่าวว่า “ขอนแก่น อุดร หนองคาย ซื้อตั๋วตรงนี้ได้เลยค่า” ด้วยความสนใจ จึงเดินไปที่ช่องขายตั๋วดังกล่าว ซึ่งคุณป้าก็ยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นอย่างดี

เมื่อถามว่าเท่าไหร่ ป้าคนขายตั๋วบอกว่า “580 บาทค่ะ” แล้วบอกกับเราว่า “เดี๋ยวรถก็ออกแล้ว” ไปชานชาลาที่ระบุบนตั๋วได้เลย ตอนนั้นเงินสดมีอยู่ 600 กว่าบาทพอดี ผลก็คือเหลือเงินติดกระเป๋าไม่ถึง 100 บาท

เมื่อบนตั๋วระบุว่า “ซื้อตั๋วแล้วไม่รับเลื่อน-ไม่รับคืน มาไม่ทันถือว่าสละสิทธิ์” ด้วยความที่เร่งรีบ กลัวว่าจะตกรถ เลยไม่ได้กดเงิน คิดว่าพอถึงปลายทางแล้วค่อยกดเงินอีกครั้ง เพราะมีตู้เอทีเอ็มอยู่หน้า บขส.อุดรธานีพอดี

ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าค่าโดยสารแพงหรือไม่ เพราะไม่ได้นั่งประจำ ไม่รู้ว่ารถทัวร์ที่จะนั่งเป็นแบบไหน เคยขึ้นของบริษัท นครชัยแอร์ฯ เมื่อนานมาแล้ว แต่จำราคาไม่ได้ ในใจก็ได้แต่คิดว่า “ขอให้มีรถไปถึงอุดรธานีก็พอ”


เดินมาถึงชานชาลาที่ระบุบนตั๋ว ก็หาที่นั่งพักคอย ในตอนนั้นผู้โดยสารถือว่าเยอะพอสมควร ชายรายหนึ่งมานั่งอยู่ข้างๆ เท่าที่พูดคุยแกก็บอกว่าจะกลับบ้านที่จังหวัดชัยภูมิ โชคดีที่ได้นั่งรถรอบเช้า ถ้าเป็นรอบเย็นคงถึงบ้านดึกแน่

ทันใดนั้นสังเกตเห็นผู้คนยืนต่อแถวบริเวณนายท่าชานชาลาที่เราจะขึ้น ด้วยความสงสัยจึงลุกออกจากที่นั่ง ปรากฏว่าตั๋วที่เราซื้อมา “ใช้ขึ้นรถไม่ได้” ต้องนำไปแลกกับตั๋วกระดาษ เขียนด้วยลายมืออีกที

ปกติแล้วเวลาที่เราซื้อตั๋ว จะต้องได้นั่งรถทันทีที่รถเข้ามาในแต่ละรอบ แต่เมื่อหน้าตั๋วไม่ระบุวันเดินทางและเวลา ไม่ระบุเลขที่นั่ง ก็เพิ่งทราบถึงกระบวนการแปลกๆ ของรถทัวร์รายดังกล่าว

รวมทั้งสิ่งที่เรียกว่า “ตั๋วผี” ที่พบเจอครั้งแรกในชีวิต

เริ่มจากผู้โดยสารแต่ละคน ต่างคนต่างซื้อตั๋วคนละช่องขายตั๋วกัน แต่พบว่าให้ไปยังชานชาลาเดียวกัน มารู้อีกทีก็เมื่อถึงชานชาลาแล้ว แต่ละคนได้ตั๋วไม่เหมือนกัน เมื่อถามนายท่า นายท่าก็จะบอกให้นั่งรอก่อนแล้วจะเรียก

จากนั้นนายท่าจะประกาศว่า ใครที่มีตั๋วระบุชานชาลาช่องดังกล่าว ให้มาต่อคิวเพื่อแลกเป็นตั๋วกระดาษ คนที่ไม่ทราบมาก่อนเมื่อคิวเต็มแล้วก็พลาดโอกาส ต้องรอรถรอบถัดไป แม้นายท่าจะบอกว่าเดี๋ยวก็มีรถมาเรื่อยๆ แต่ก็ไม่รู้เมื่อไหร่

ตอนนั้นผู้เขียนต่อคิวใกล้จะถึงคิวแล้ว ปรากฎว่าที่นั่งหมด ทุกคนจึงแยกย้าย ด้วยความกลัวว่าจะพลาดโอกาสอีก เลยตัดสินใจยืนอยู่อย่างนั้น ขาแข็งเป็นแง่งขิงก็ยอมเพราะไม่อยากพลาดอีก ส่วนคนอื่นไปนั่งบ้าง ออกไปสูบบุหรี่บ้าง

กระทั่งเวลา 06.30 น. รถทัวร์คันแรกเข้ามาถึงชานชาลา นายท่าประกาศว่าเฉพาะตั๋วสีขาวที่แลกมาแล้วเท่านั้น คนที่ซื้อตั๋วมาจากข้างบน จะขึ้นไปที่รถก็ถามว่าแลกตั๋วมาหรือยัง พอตอบว่ายังไม่แลกก็ไล่ออกไปก่อน

เมื่อผู้โดยสารขึ้นมาบนรถเสร็จ รถก็ถอยออกไป สังเกตเห็นนายท่าหยิบตั๋วที่รับแลกมาแต่ละช่องขายตั๋ว น่าจะประมาณ 6-7 ช่องขายตั๋วได้ ซึ่งตั๋วแต่ละใบไม่เหมือนกัน เหมือนเป็นคนละบริษัท นำมาลงบัญชี

สมมติแทนตัวเลขว่า ช่องขายตั๋ว A แลกตั๋วแล้วกี่ใบ ช่องขายตั๋ว B แลกตั๋วกี่ใบ ช่องขายตั๋ว C แลกตั๋วกี่ใบ ฯลฯ ลงตัวเลขจนครบ เสร็จแล้วจึงเรียกผู้โดยสารที่ยังไม่ได้แลกตั๋วมาต่อคิวแลกตั๋วเป็นลำดับถัดไป

นายท่าจะกันตั๋วกระดาษไว้ตามจำนวนที่นั่งรถทัวร์ เช่น รถทัวร์รอบต่อไปมี 42 ที่นั่ง ก็จะกันตั๋วกระดาษไว้พอดี จากนั้นจึงเรียกผู้โดยสารแต่ละคนนำตั๋วมาแลก นายท่าจะถามว่าลงที่ไหน แล้วเขียนลงในกระดาษพร้อมกับตัวเลข


หลังจากได้ตั๋วกระดาษเขียนด้วยลายมือระบุคำว่า “อุดร” เพราะเราขอลงที่อุดรธานี ก็ถึงเวลารอคอยรถทัวร์คันต่อไปที่จะเข้ามา ด้วยความหลงเชื่อว่าเดี๋ยวก็มีรถเข้ามาเรื่อยๆ จึงได้แต่ยืนรอไปเรื่อยๆ ขาแข็งเป็นแง่งขิงก็ยอม

ต่อมาผู้โดยสารรายหนึ่งที่ไม่ได้ต่อคิวเข้ามายืนข้างๆ ถือตั๋วจากช่องขายตั๋วที่ยังไม่ได้แลก เพราะคิดว่าใช้ขึ้นรถ ถามว่าใช่ชานชาลานี้ไหม ก็ตอบว่าใช่ แต่ตั๋วที่ถืออยู่ใช้ไม่ได้ ต้องเอาตั๋วไปแลกก่อน แต่ตอนนี้ยังไม่เปิดให้แลก

ผู้โดยสารรายนี้ก็งง แต่ก็ได้แค่อธิบายให้เข้าใจ ในใจก็คิดว่า ตัวเองก็โดนเป็นครั้งแรกเหมือนกัน ส่วนนายท่าก็กล่าวเช่นกันว่า รอไปก่อน ตอนนี้ยังไม่ให้แลก เห็นเขาเพิ่งทราบแล้วแลกไม่ทันก็รู้สึกเสียดายแทน

ระหว่างที่ยืนรอรถ เพราะเชื่อตามที่นายท่าบอกว่าเดี๋ยวรถก็มีมาเรื่อยๆ ปรากฏว่ามีคนเดินเข้ามาที่โต๊ะนายท่า พร้อมเอกสารและเงินสดจำนวนมาก จึงได้เห็นว่ามีการเคลียร์บัญชีกัน และมีการแบ่งเงินกันแล้วเสร็จ

จากนั้น นายท่าจึงประกาศรับแลกตั๋วเป็นลำดับถัดไป ใครทราบก่อนต่อคิวก่อนได้รับแลกก่อน ใครทราบทีหลังแลกตั๋วไม่ทันต้องรอรถคันถัดไป หลังจากนั้นรถทัวร์คันที่สองก็เดินทางมาถึง และเรียกผู้โดยสารที่แลกตั๋วแล้วมาขึ้นรถ

รถทัวร์ที่เรานั่งไม่ใช่รถ 30 หรือรถรับจ้างไม่ประจำทาง แต่เป็นรถทัวร์ปกตินี่แหละ สายกรุงเทพฯ – อุดรธานี มีตรา บขส. และเลขข้างรถ เป็นรถมาตรฐาน 2 ไม่มีห้องสุขภัณฑ์ มีที่นั่งทั้งหมด 42 ที่นั่ง

รถมาถึงชานชาลาประมาณ 07.45 น. ก่อนหน้านี้รถคันแรกออกจากชานชาลาประมาณ 06.30 น. เบ็ดเสร็จใช้เวลารอกว่า 1 ชั่วโมง นึกถึงคำพูดของคนขายตั๋วว่าเดี๋ยวรถก็ออก และคำพูดของนายท่าที่กล่าวว่า เดี๋ยวรถก็มีมาเรื่อยๆ

การรอรถนานกว่า 1 ชั่วโมง ย่อมไม่ใช่ความหมายของคำว่า “มีรถมาเรื่อยๆ” แน่ๆ


หลังรถออกจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ผู้โดยสารที่นั่งข้างๆ ก็ชวนคุย หนึ่งในนั้นถามว่า “พี่จ่ายค่ารถไปเท่าไหร่”

ตอบไปว่า “580”

เขาตอบกลับว่า “ผมโดนไป 600” พร้อมกับหัวเราะ

เป็นเสียงหัวเราะที่ฟังแล้วกลืนไม่เข้า คายไม่ออก เพราะคนที่นั่งข้างๆ เป็นชาวบ้านธรรมดา ไม่ได้มีรายได้มากมาย แต่ต้องจ่ายค่าโดยสารที่แพงกว่าปกติ

การเดินทางแบบสู้ชีวิตยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เจอรถติด รถมากเคลื่อนตัวช้า แถววังน้อย หนองแค ถึงสระบุรีประมาณ 10.45 น. แวะเติมก๊าซที่แก่งคอย จากนั้นจึงเจอรถติดแถวมวกเหล็ก กลางดง ปากช่อง

กว่าจะถึงแยกบายพาสโคราช ประมาณบ่าย 2 โมง แวะรับประทานอาหารกลางทาง รถค่อยๆ ไปอย่างช้าๆ ถึงเมืองพลประมาณ 5 โมงเย็น ถึงบ้านไผ่ประมาณ 6 โมงเย็น ถึงสถานีขนส่ง บขส. 3 ขอนแก่น เวลา 18.45 น.

จากนั้นออกจากขอนแก่น 19.00 น. เติมน้ำมันที่ อ.น้ำพอง กว่าจะถึง บขส.เก่าอุดรธานี เวลา 21.45 น. เบ็ดเสร็จแล้วใช้เวลาเดินทางยาวนานกว่า 14 ชั่วโมง จากปกติ 8 ชั่วโมง เทียบเท่ากับนั่งรถทัวร์กรุงเทพฯ-หาดใหญ่

หลังเหตุการณ์ผ่านพ้นไป เราเลือกที่จะบอกเล่าเรื่องนี้เฉพาะเพื่อนบนโซเชียลฯ โดยไม่ได้ตั้งค่าเป็นสาธารณะ ขณะนั้นมีกระแสแฮชแท็ก #หมอชิต2 บนทวิตเตอร์ ที่มีนักการเมืองรายหนึ่ง เข้ามาตรวจสอบหมอชิต 2 พอดี

มีรายงานข่าวระบุว่า มีคนมาร้องเรียนนักการเมืองรายนี้ว่า มีคนมาขายตั๋วเถื่อน ตั๋วผี จากปกติ 400 บาท เปลี่ยนเป็น 650 บาท สูงขึ้น 250 บาท ซ้ำพูดทิ้งท้ายว่า "ไม่เอาก็ไม่ต้องเอา ระวังไม่มีรถกลับบ้าน มีคนอื่นพร้อมจะซื้ออีกเยอะ"

ตอนนั้นเพื่อนถามว่า ไม่นำเรื่องนี้มาลงทวิตเตอร์เหรอ เพราะตัวเองก็คันปากเหมือนกัน เราก็ตอบไปว่า “ไม่ดีกว่า” ซึ่งในขณะนั้นมีการปั่นกระแสและขับเคลื่อนด้วยการด่า ผู้เขียนก็ไม่ปรารถนาให้ตัวเองลงไปอยู่ในดรามาแบบนั้น

ปรากฏว่า ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเป็นห่วงและรับไม่ได้ ไม่อยากให้เรื่องนี้ปล่อยผ่าน ด้วยความช่วยเหลือจากท่าน จึงได้รับการประสานงาน นำเรื่องนี้ส่งต่อไปยังผู้บริหาร บขส. โดยตรง

กระทั่งวันต่อมา ผู้ใหญ่ท่านนี้แจ้งข่าวมาว่า ทางผู้บริหาร บขส. จัดการสั่งปรับทันที 10,000 บาท พร้อมกับคาดโทษว่า หากทำผิดซ้ำ จะถูกสั่งให้หยุดเดินรถ 7 วัน และส่งภาพใบเสร็จรับเงินค่าปรับมาให้

ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยคำอวยพรว่า “เดินทางปลอดภัย เที่ยวให้สนุกนะ”


ต้องขอบคุณผู้ใหญ่ที่เคารพท่านนี้ ที่ไม่ยอมให้ปล่อยผ่านเรื่องที่เราพบเจอ และขอให้ผู้ที่ถูกปรับได้โปรดเข้าใจด้วยว่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และเราเชื่อว่าใครที่พบเห็นเรื่องราวแบบนี้ก็คงรับไม่ได้เช่นกัน

เมื่อตรวจสอบไปยัง เว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก พบว่าค่าโดยสารรถประจำทางหมวด 2 สายที่ 22 เส้นทางกรุงเทพฯ-อุดรธานี ถ้าเป็นรถมาตรฐาน 2 จำนวนที่นั่งเกิน 30 ที่นั่ง ไม่มีห้องสุขภัณฑ์ ค่าโดยสารกำหนดที่ 368 บาท

รถมาตรฐาน 1 (ข) และ 4 (ข) มีห้องสุขภัณฑ์ ค่าโดยสาร 473 บาท รถมาตรฐาน 1 (ข) พิเศษ และ 4 (ข) พิเศษ ค่าโดยสาร 552 บาท และรถมาตรฐาน 1 (ก) และ 4 (ก) หรือรถวีไอพี ค่าโดยสาร 736 บาท

รถที่ผู้เขียนนั่งเป็นรถมาตรฐาน 2 มี 42 ที่นั่ง ความจริงค่าโดยสารเพียงแค่ 368 บาท แต่ถูกเรียกเก็บค่าโดยสารสูงถึง 580 บาท เท่ากับส่วนต่างที่ขบวนการตั๋วผีจะได้รับสูงถึง 212 บาท เพื่อแลกกับการได้ขึ้นรถกลับภูมิลำเนา

เมื่อนำค่าโดยสาร 580 บาท คูณด้วยจำนวนที่นั่ง 42 ที่นั่ง เท่ากับว่ารถเที่ยวดังกล่าวจะมีรายได้สูงถึง 24,360 บาทต่อที่นั่ง คำตอบที่ค้นพบจึงสิ้นสงสัยว่า ทำไมบนโซเชียลฯ ถึงต่างพากันบอกว่า ปรับเงิน 10,000 บาทยังน้อยไป

ผู้เขียนไม่รู้จักผู้ประกอบการเดินรถรายนี้เป็นการส่วนตัวมาก่อน และไม่ได้ผลตอบแทนอะไรจากการร้องเรียน แต่เมื่อเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง จึงขอนำเสนอเรื่องราวเพื่อเป็นกรณีศึกษา

เพื่อย้ำว่าปัญหาตั๋วผีนั้นไม่ใช่แค่ "คำบอกเล่า" แต่ "เกิดขึ้นจริง" บันทึกไว้เพื่อสะท้อนปัญหา และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหานี้ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ และวันหยุดยาวต่างๆ ที่กำลังจะมาถึง

ส่วนตัวหากต้องเดินทางในช่วงเทศกาล อาจต้องเลือกวางแผนการเดินทาง และจองตั๋วล่วงหน้ากันยาวๆ เพราะบอกตามตรงว่า จากที่วัดดวงวันเดินทางในครั้งนี้ ครั้งเดียวก็เกินพอ

สงสารก็แต่คนที่ได้วันหยุดแบบไม่มีทางเลือก จองตั๋วไม่ทัน ถ้าปัญหานี้แก้ไขไม่ได้ อาจต้องเผชิญชะตากรรมแบบนี้ต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น