xs
xsm
sm
md
lg

สถานีขนส่งหมอชิต 2 เปลี่ยนไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เดือนธันวาคม 2566 หากไม่นับการปิดตำนานหมอลำหมอชิต 2 ที่สำนักงานเขตจตุจักรสั่งห้ามแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นๆ บริเวณลานด้านข้างสถานีขนส่งหมอชิต 2 ก็พบว่ามีความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ

เริ่มจาก บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. ทดลองเพิ่มจุดจอดรถโดยสารที่ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ประตู 3 ก่อนจะไปส่งชานชาลาขาเข้า สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) มาตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา

จากเดิม รถ บขส.ขาเข้ากรุงเทพฯ หลังจอดส่งผู้โดยสารที่นวนคร รังสิต และสนามบินดอนเมืองแล้ว ก็ขึ้นทางแยกต่างระดับรัชวิภา ไปยังถนนกำแพงเพชร 2 แล้วกลับรถเข้าถนนด้านหลังสถานีขนส่งหมอชิต 2 ไปยังชานชาลาขาเข้า

แต่คราวนี้ หันไปทางห้าแยกลาดพร้าว ถนนพหลโยธิน ถนนกำแพงเพชร เลี้ยวขวาที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เข้าสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จอดส่งผู้โดยสารก่อน จากนั้นจึงไปชานชาลาขาเข้าเพื่อต่อรถเมล์และแท็กซี่

ตอนที่ได้ยินข่าวนี้ก็ตบเข่าดังฉาด! ไม่นึกไม่ฝันว่าจะเกิดขึ้นจริง ถือเป็นข่าวดีสำหรับนักเดินทาง ไม่ต้องเจอโชเฟอร์รถแท็กซี่และวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างเกาะกันเป็นพรวน จะไปรถไฟฟ้าใช่ไหม ก็ลงใต้ดินไปเลยสิ!

เป็นเรื่องที่ “ทำดีต้องชม” และควรส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมต่อการเดินทางแบบนี้


ถ้าจะให้อธิบายก็คือ ปกติแล้วรถทัวร์ที่เป็นรถร่วม บขส. แต่ละบริษัท จะแวะส่งคนกลางทางขึ้นอยู่กับใครจะลง สายเหนือจอดที่อยุธยา สายอีสานจอดที่สระบุรี วังน้อย หลังจากนั้นจึงจอดที่นวนคร รังสิต สนามบินดอนเมือง

ทีนี้ พอมาถึงชานชาลาขาเข้า สถานีหมอชิต 2 ก็จะเจอสารพัดโชเฟอร์รถแท็กซี่ และมอเตอร์ไซค์รับจ้างมาล้อมหน้าล้อมหลัง เท่านั้นยังไม่พอ ยังถูกโก่งราคาค่าโดยสารหลายร้อยบาท แม้ สน.บางซื่อจะดำเนินคดีก็ไม่หายสักที

ทุกวันนี้เวลานั่งรถทัวร์จากต่างจังหวัดมาลงกรุงเทพฯ ถ้าไม่ได้ลงที่รังสิตหรือหน้าสนามบินดอนเมือง ก็จะลงที่หน้าศูนย์บริการนครชัยแอร์ ถนนกำแพงเพชร 2 เพราะจะมีวินรถแท็กซี่ที่คิดราคาตามมิเตอร์อยู่

น่าเสียดายที่จุดจอดรถโดยสาร สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จอดเฉพาะรถ บขส.999 เท่านั้น รถร่วม บขส. ยังคงส่งป้ายสุดท้ายที่ชานชาลาขาเข้า หรือบางบริษัทจอดป้ายนครชัยแอร์ก่อนก็มี


จากจุดจอดสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สามารถต่อรถไฟทางไกล ไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ ใครขึ้นรถไฟที่นี่ หากมีเวลาเหลือสามารถแสดงตั๋วรถไฟ เพื่อใช้บริการห้องอาบน้ำได้ฟรี

หรือจะเดินทางต่อด้วยรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน เปิดให้บริการเที่ยวแรก 05.00 น. เที่ยวสุดท้าย เที่ยงคืน ปัจจุบันคิดค่าโดยสารสูงสุดเพียง 20 บาท ตามนโยบายรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน

หากลงที่สถานีบางซ่อน ต่อรถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง ใช้บัตรเครดิต VISA Mastercard ทุกธนาคาร บัตรเดบิตธนาคารกรุงไทย และธนาคารยูโอบี แตะเข้า-ออกใบเดียวกันก็เหมาจ่าย 20 บาท โดยคืนค่าโดยสารส่วนต่างภายใน 3 วัน


ส่วนรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน สถานีบางซื่อ มีประตูเชื่อมต่อกับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เปิดตั้งแต่เวลา 05.44 น. ปิดเวลา 00.05 น. ถ้ามาถึงกรุงเทพฯ เร็ว แนะนำให้นั่งรอภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ปลอดภัยกว่า

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ถ้าไปลาดพร้าว สุขุมวิท สีลม ปลายทางหลักสอง ผ่านสถานีบางซื่อ วันจันทร์-ศุกร์ เที่ยวแรก 05.58 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เที่ยวแรก 06.02 น. ส่วนเที่ยวสุดท้าย 23.33 น. ทุกวัน

ถ้าจะไปรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ที่สถานีลาดพร้าว เพื่อไปบางกะปิ ศรีนครินทร์ สำโรง รถจะถึงสถานี 23.42 น. สามารถเดินเท้าแบบรีบๆ ไปต่อขบวนรถเที่ยวสุดท้ายของสายสีเหลืองได้ ขบวนรถออกจากสถานีลาดพร้าวเวลา 00.00 น.

ถ้าไปสิรินธร บางยี่ขัน ไฟฉาย ปลายทางท่าพระ (ชานชาลา 3-4) วันจันทร์-ศุกร์ เที่ยวแรก 05.54 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เที่ยวแรก 05.57 น. ส่วนเที่ยวสุดท้าย 00.05 น. ทุกวัน

ขบวนที่เชื่อมต่อสายสีม่วงที่สถานีเตาปูน เที่ยวสุดท้าย วันจันทร์-ศุกร์ 23.27 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ 23.26 น. ต่อขบวนรถสายสีม่วงเที่ยวสุดท้าย 23.33 น. ถึงสถานีคลองบางไผ่ 00.08 น.

แนะนำว่าผู้โดยสารต้องเผื่อเวลาอย่างน้อย 5 นาที ก่อนรถไฟฟ้าเที่ยวสุดท้ายจะออกจากสถานี




การทดลองเพิ่มจุดจอดรถโดยสาร สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ยังเป็นเพียงแค่การทดลองเพิ่มจุดจอดรถเฉพาะขาเข้ากรุงเทพฯ เท่านั้น ส่วนมากจะเป็นช่วงเช้ามืด อุปสรรคก็คือถ้าเป็นชั่วโมงเร่งด่วนอาจต้องเจอการจราจรติดขัดไปบ้าง

ส่วนขาออกยังคงต้องขึ้นรถที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 เหมือนเดิม ปัญหาก็คือ ยังต้องเจอวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างโก่งราคา จากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์คิดค่าโดยสารแพงมาก ส่วนรถแท็กซี่มักปฏิเสธผู้โดยสารอ้างว่าใกล้

นึกถึงตอนที่ ขสมก. จัดรถ Shuttle Bus ไปศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ เมื่อปี 2564 หนึ่งในนั้นมี สายเซ็นทรัลลาดพร้าว-สถานีกลางบางซื่อ (เดินรถวงกลม) ใช้รถยูโรทู 12 คัน ปล่อยรถคันละ 5-10 นาที

ตอนนั้นรถออกจากเซ็นทรัลลาดพร้าว เลี้ยวซ้ายเข้าถนนหอวัง ออกถนนวิภาวดีรังสิต ขึ้นสะพานเข้าถนนพหลโยธิน จอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต จากนั้นเลี้ยวขวาถนนกำแพงเพชร เลี้ยวขวาเข้าสถานีกลางบางซื่อ

จอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีกลางบางซื่อ (ขณะนั้น) แล้วต่อไปยังถนนกำแพงเพชร 6 เลี้ยวซ้ายถนนกำแพงเพชร 2 จอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 แล้วไปทางแยกรัชวิภา ออกถนนวิภาวดีรังสิต เลี้ยวกลับเซ็นทรัลลาดพร้าว

อยากเสนอให้กระทรวงคมนาคม ฟื้นเส้นทางเดินรถวงกลม เซ็นทรัลลาดพร้าว-สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ อีกครั้ง โดยเพิ่มจุดจอด ชานชาลาขาเข้า สถานีขนส่งหมอชิต 2 ก่อน แล้วค่อยวนรถไปยังหน้าสถานีขนส่งหมอชิต 2 อีกที

ถ้า ขสมก. ทำไม่ได้ ก็ประสานให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เดินรถ ซึ่งมีประสบการณ์ทำ BMA Feeder มาแล้ว 2 เส้นทาง ได้แก่ บีทีเอสสนามเป้า และแอร์พอร์ตลิงก์ลาดกระบัง ใช้งบประมาณ 37 ล้านบาท ทำอีกเส้นทางจะเป็นอะไรไป


ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสถานีขนส่งหมอชิต 2 อีกอย่างหนึ่งก็คือ บขส. ไปดีลองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ให้นำรถประจำทาง 12 เส้นทาง มารับผู้โดยสารที่ชานชาลาขาเข้า

ถือเป็นอีกทางเลือกของผู้โดยสารที่มาจากต่างจังหวัด ลงรถชานชาลาขาเข้าแล้ว ไม่ต้องเจอเฉพาะรถแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และไม่ต้องเดินไกลหลายร้อยเมตรเพื่อไปยังท่ารถ ขสมก. อีกต่อไป

เดิมทีจุดจอดรถเมล์ ขสมก. กับรถทัวร์จะแยกกัน ของรถทัวร์จะเป็นชานชาลาขาเข้า ถนนกำแพงเพชร 6 ด้านหลังสถานีขนส่งหมอชิต 2 ส่วน ขสมก. จะเป็นอู่หมอชิตที่อยู่ติดกับสถานีขนส่งหมอชิต 2 ทางเข้าจะอยู่ฝั่งถนนกำแพงเพชร 2

รถเมล์ ขสมก.ส่งผู้โดยสารป้ายสุดท้ายคือหน้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ทางเข้าอู่หมอชิต 2 จากนั้นรถเมล์จะเข้าไปจอดรวมกันที่อู่หมอชิต 2 ส่วนผู้โดยสารจะเดินไปตามทางเดินเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยร้านค้าเพื่อเข้าสู่อาคารสถานีขนส่งฯ

ส่วนรถทัวร์ บขส. และรถร่วม บขส. ส่งผู้โดยสารที่ชานชาลาขาเข้า ถ้าจะไปต่อรถ ขสมก. จะมีทางเดินไปอู่หมอชิตอยู่ 2 ทาง คือ ทางเดินบริเวณชานชาลาขาเข้า กับทางเดินบริเวณอาคารสถานีขนส่งฯ


ปัญหาก็คือว่า ก่อนหน้านี้ ขสมก. ย้ายอู่หมอชิต 2 ไปยังอู่กำแพงเพชร ใต้ทางด่วนศรีรัช ใต้ทางด่วนหลังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ข้างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เมื่อกลางปี 2564 พร้อมกับปิดอู่หมอชิตเพื่อส่งมอบที่ดินคืน

ปรากฏว่ามีชาวเน็ต และผู้โดยสารที่เคยชินกับการเดินเท้าจากชานชาลาขาเข้า ไปยังท่ารถเมล์ ขสมก. ร้องเรียนและดรามา อ้างว่าคนที่มาจากต่างจังหวัด ต้องไปรอรถเมล์ที่ด้านหน้าสถานีฯ ปล่อยให้ต้องเดินตากแดดตากฝนไปขึ้นรถ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม (ขณะนั้น) ก็สั่งให้รถประจำทาง ขสมก. กลับมารับ-ส่งผู้โดยสารตามเดิม จึงกลายสภาพเป็นสถานีเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร ขสมก. แล้วอาคารและพื้นที่โดยรอบทั้งเปลี่ยวและเสื่อมโทรมมาก

มาถึงยุคนี้ ผู้บริหาร บขส. ตัดสินใจประสาน ขสมก. ขอให้รถเมล์เข้ามาจอดที่ชานชาลาขาเข้าเป็นประจำ จากเดิมจอดเฉพาะช่วงเทศกาล เปลี่ยนเป็นขอให้จอดตลอดไป โดย บขส.จะมีชานชาลาให้จอดรถเมล์ 5 ช่อง

ขสมก. จึงจัดรถเมล์เข้าไปรับผู้โดยสารที่ชานชาลาขาเข้า สถานีขนส่งหมอชิต 2 มาตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีรถเมล์ 12 เส้นทาง เข้ามาให้บริการตั้งแต่ 04.00-20.00 น.

ช่วงแรกจะมีกลุ่มบัสแฟนแสดงความเป็นห่วงว่าเมื่อออกจากสถานีเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร ขสมก. แล้ว จะลักไก่ไม่วนเข้าชานชาลาขาเข้า ซึ่งที่ผ่านมาผู้โดยสารจำนวนหนึ่ง ใช้แอปพลิเคชัน VIABUS เพื่อติดตามรถเมล์เป็นประจำ

ภายหลังเข้าไปดูในแอปฯ VIABUS พบว่า ขสมก. ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มีรถเมล์เข้าไปจอดรับผู้โดยสารที่ชานชาลาขาเข้าสม่ำเสมอ และด้วยพลังของกลุ่มบัสแฟน ถือว่า บขส. ประขาสัมพันธ์ได้ผลระดับหนึ่ง


แต่ก็มีดรามาเกิดขึ้น กับผู้ค้าในพื้นที่สถานีเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร ขสมก. ไปร้องเรียนกับเพจแห่งหนึ่งว่า บขส.ปิดทางเชื่อมระหว่างชานชาลาขาเข้า กับท่ารถ ขสมก. พร้อมโพสต์คลิปแม่ค้าไปยืนชี้ที่รั้วสังกะสีที่ปิดตาย

อ้างว่าผู้โดยสารที่มาจากต่างจังหวัด จะไปต่อรถ ขสมก. ต้องเดินอ้อมไกล ได้รับความเดือดร้อน และผู้ค้าขายของไม่ได้ กระทั่งสื่อมวลชนสำนักหนึ่งลงพื้นที่ทำข่าว พูดคุยกับผู้ค้าที่อยู่ในบริเวณนั้น

ภายหลัง บขส. จึงชี้แจงว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้โดยสารว่าทางเชื่อมตรงนั้นไม่ปลอดภัย พอลงพื้นที่ไปดูก็พบว่าเป็นพื้นที่ร้าง เปลี่ยว และมืด ไม่มีแสงไฟส่องสว่าง เสี่ยงต่อการก่อเหตุอาชญากรรม

รวมทั้งยังพบว่ามีผู้บุกรุกมาตั้งร้านค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเป็นต้องปิดพื้นที่เพื่อความปลอดภัย

ความจริงเห็นด้วยกับการที่ บขส. จัดระเบียบชานชาลาขาเข้า โดยมีรถเมล์ ขสมก. เข้ามารับผู้โดยสารถึงที่ แต่สิ่งที่ยังขาดคือการประชาสัมพันธ์ หลายคนที่มาจากต่างจังหวัดยังไม่ทราบว่า ตอนนี้ขึ้นรถเมล์ตรงชานชาลาขาเข้าได้แล้ว

บขส. น่าจะทำป้ายขนาดใหญ่ บอกทางไปชานชาลารถเมล์ ขสมก. ติดให้ทั่วชานชาลาขาเข้า รวมทั้งทางเชื่อมที่ปิดตายไปแล้ว พร้อมกับประกาศเสียงตามสายเป็นระยะ ไม่อย่างนั้นผู้โดยสารต้องเดินอ้อมไปไกลเพื่อไปขึ้นรถเมล์ ขสมก.

ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 หลังวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป จะมีประชาชนกลับจากต่างจังหวัดจำนวนมาก หลายคนยังไม่ทราบว่าขึ้นรถเมล์ ขสมก. ตรงชานชาลาขาเข้าได้ ก็ติดป้ายหลายจุดและย้ำเสียงตามสายให้ชัด


อย่างต่อมาคือ การปรับปรุงพื้นที่ชานชาลารถเมล์ ขสมก. ให้เป็นสัดส่วน สะอาด ปลอดภัย รวมทั้งจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น เพิ่มที่นั่งพักคอย จอทีวีแสดงแผนที่จาก VIABUS แต่ก็เข้าใจว่าพื้นที่ไม่ได้กว้างมากขนาดนั้น

อย่างสุดท้าย คืออยากให้ บขส. ประสานงานผู้ประกอบการเดินรถรายอื่น เช่น กลุ่มไทยสมายล์บัส ให้สามารถเข้ามารับผู้โดยสารที่ชานชาลาขาเข้าได้ เพราะมีบางเส้นทาง มีต้นทางหรือปลายทางเป็นสถานีขนส่งหมอชิต 2

แต่พบว่าที่ผ่านมาเห็นรถเมล์ไทยสมายล์บัส ต้องไปจอดพักริมถนนกำแพงเพชร 2 หน้าปั๊มน้ำมัน ปตท. ตรงข้ามสถานีขนส่งหมอชิต ถ้า บขส. ประสานงานให้เข้ามาจอดตรงนี้ได้ จะทำให้ชานชาลาขาเข้ามีรถเมล์ให้บริการครบวงจร

ส่วนสถานีเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร ขสมก. บนที่ดินการรถไฟฯ ที่จะทำเป็นบางซื่อคอมเพล็กซ์ในอนาคต จะทำอย่างไรต่อไป ก็เป็นเรื่องของอนาคต ทราบว่า ขสมก. ยังคงใช้เป็นท่าปล่อยรถต้นทางและปลายทางในบางเส้นทาง

การเพิ่มบริการที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 ทั้งจุดจอดสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และบริการรถเมล์ ขสมก. ที่ชานชาลาขาเข้า ถือว่าเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี และตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารอย่างแท้จริง

เมื่อ บขส. ทำดีแล้ว ก็ขอพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไป พร้อมกับแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ เชื่อว่ายังมีนักเดินทางรวมถึงบัสแฟนจำนวนมาก มีข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาให้ บขส. และหมอชิต 2 เป็นสถานีขนส่งเพื่อผู้โดยสารทุกคน

รวมทั้งลบภาพจำในอดีต เมื่อลงจากรถทัวร์ที่หมอชิต 2 แล้วทำให้ผู้โดยสารต้องเข็ดขยาดไม่กล้าลงรถที่นั่นได้สักที.
กำลังโหลดความคิดเห็น