กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
โครงการรรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา และจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ พร้อมเก็บค่าโดยสาร 3 มกราคม 2567
รถไฟฟ้าสายสีชมพู มีระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตร แนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ไปตามถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนติวานนท์ ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนรามอินทรา ถนนสีหบุรานุกิจ สิ้นสุดที่สถานีมีนบุรี ถนนรามคำแหง
มีสถานีให้บริการทั้งหมด 30 สถานี เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี รถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีหลักสี่ รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และในอนาคตจะเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีส้มที่สถานีมีนบุรี
ใช้ขบวนรถอัลสตอม อินโนเวีย โมโนเรล 300 จำนวน 4 ตู้ต่อขบวน ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางจากสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ถึงสถานีมีนบุรี ประมาณ 1 ชั่วโมง 6 นาที
หลังจากเมื่อวันก่อนมีโอกาสทดลองใช้บริการ ต่อไปนี้จะขออธิบายการเดินทาง พร้อมข้อมูลประกอบการเดินทางเพิ่มเติม สำหรับผู้ที่สนใจใช้บริการในวันข้างหน้า
เริ่มจากบัตรโดยสาร ช่วงทดลองใช้บริการฟรี สามารถรับบัตรได้ที่เจ้าหน้าที่สถานี หรือกดเลือกสถานีปลายทางด้วยตัวเองได้ที่เครื่องจำหน่ายบัตรโดยสาร ส่วนผู้ถือบัตรแรบบิทแตะเข้าและออกจากสถานีได้เลย
แต่ในช่วงเก็บค่าโดยสาร จะเปิดชานชาลาเชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เครื่องจำหน่ายบัตรโดยสาร จะมีเมนูสายสีชมพู และสายสีเขียวให้เลือก ให้กดเลือกสถานีปลายทางที่ต้องการ และชำระเงิน
กรณีบัตรแรบบิท สามารถแตะเข้าสถานีสายสีชมพู แล้วเปลี่ยนขบวนรถขึ้นไปยังชานชาลาสายสีเขียวที่อยู่ด้านบน แล้วแตะที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสปลายทางได้ โดยระบบจะคำนวณค่าโดยสารตามเส้นทางที่เลือกไว้
อีกทางเลือกหนึ่ง เมื่อสายสีชมพูเก็บค่าโดยสาร คือ บัตรเดบิต ธนาคารกรุงไทย และธนาคารยูโอบี (ในประเทศไทย) และบัตรเครดิตทุกธนาคารในประเทศไทย จะมีเครื่องอ่านบัตร EMV Contactless ที่ประตู Swing Gate ทุกสถานี
เมื่อเข้าไปในระบบรถไฟฟ้า ให้แตะบัตรที่สัญลักษณ์ “แตะเข้า” รอไฟสัญลักษณ์สีเขียวแล้วเข้าไปใน Swing Gate เมื่อถึงสถานีปลายทาง ให้แตะบัตรที่สัญลักษณ์ “แตะออก” รอไฟสัญลักษณ์สีเขียวแล้วออกจากระบบรถไฟฟ้า
ระบบจะคำนวณและหักค่าโดยสารทันที พร้อมแสดงชื่อร้านค้าว่า “BTS (ชื่อสถานีภาษาอังกฤษ)” เช่น BTS MINBURI แตกต่างจากสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง ระบบจะหักค่าโดยสารเวลาประมาณ 02.00 น. ชื่อร้านค้า MRT-BEM
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนว่าหากเปลี่ยนระบบเป็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว จะใช้ระบบ EMV Contactless ได้หรือไม่ ต้องรอการประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้งเมื่อเก็บค่าโดยสารเต็มรูปแบบ
สำหรับการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีชมพู แม้ขบวนรถจะรองรับผู้โดยสารได้ทั้งหมด 568 คนต่อขบวน แต่มีที่นั่งจำนวนจำกัดเพียง 60 ที่นั่ง นอกนั้นเป็นที่ยืน โดยจับห่วง หรือราว หรือเสาขณะเดินทาง
จากสถานีมีนบุรี ไปสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 32 นาที ส่วนจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ไปสถานีศรีรัช (เพื่อต่อโดยสารรถสาธารณะไปยังเมืองทองธานี) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 16 นาที
ผู้โดยสารอาจต้องทำใจว่า ในชั่วโมงเร่งด่วนจะไม่มีที่นั่ง ถ้าเดินทางระยะสั้นไม่เป็นไร แต่ถ้าเดินทางระยะยาว การยืนเป็นเวลานานจะมีผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะมักมีปัญหาที่เท้า น่อง หลัง และอาการหลอดเลือดขอด
ขณะเดียวกัน บนขบวนรถจะระบุ ที่นั่งสำหรับบุคคลพิเศษ (Priority Seat) เอาไว้ สามารถนั่งได้ แต่ควรเอื้อเฟื้อที่นั่งแก่พระภิกษุสงฆ์ ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ เด็กเล็ก ผู้พิการ และผู้ที่จำเป็นต้องใช้ เช่น ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ
สำหรับคนที่ยืนโดยสารเป็นระยะเวลานานๆ เมื่อถึงจุดหมาย ถ้าสถานที่เอื้ออำนวยแนะนำให้นั่งพักและยืดกล้ามเนื้อ และเมื่อกลับถึงบ้าน ให้นั่งพักและนวดกล้ามเนื้อขาด้วยตัวเอง 15-20 นาที เพื่อช่วยให้อาการปวดขาลดลง
สำหรับจุดหมายปลายทางแต่ละจุดพอสังเขป เผื่อผู้โดยสารจะเดินทางไปยังแต่ละจุดหมายปลายทางมีดังนี้ (โปรดสังเกตทางออกที่สถานีปลายทาง)
สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ตั้งอยู่ที่หน้าโรงภาพยนตร์เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ งามวงศ์วาน-แคราย ห่างจากสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี รถไฟฟ้าสายสีม่วงประมาณ 450 เมตร ทางเชื่อมลอยฟ้ากำลังก่อสร้าง
สถานที่สำคัญ ได้แก่ ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี ศาลหลักเมืองนนทบุรี ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 1 รัตนาธิเบศร์ สำนักงานเทศบาลนครนนทบุรี ศาลจังหวัดนนทบุรี ศาลแขวงนนทบุรี อุทยานมกุฏรมยสราญ
ถ้าต้องการไปห้างเดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน ให้ต่อรถเมล์ ขสมก. สาย 134, 191 และรถเมล์เอกชน สาย 337 ที่ป้ายรถเมล์หน้าโรงภาพยนตร์เอสพลานาด หรือต่อรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง 60 บาท
สถานีแคราย ตั้งอยู่ที่หน้าสถาบันโรคทรวงอก สถานที่สำคัญ ได้แก่ สถาบันโรคทรวงอก ห้างโลตัส รัตนาธิเบศร์ สำนักงานขนส่งจังหวัดนนทบุรี ศูนย์โทรคมนาคม นนทบุรี และการไฟฟ้านครหลวง เขตนนทบุรี
ที่ป้ายรถเมล์หน้าสถาบันโรคทรวงอก ถ้าต้องการไปห้างเดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน ให้ต่อรถเมล์สาย 69, สาย 69E และสาย 104 แต่หากต้องการไปท่าน้ำนนทบุรี ให้ต่อรถเมล์ ขสมก. สาย 32
สถานีสนามบินน้ำ ตั้งอยู่ก่อนถึงแยกสนามบินน้ำ สถานที่สำคัญ ได้แก่ โรงเรียนสันติวัน สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง นนทบุรี กรมพลาธิการทหารบก ไปโรงเรียนนนทบุรีพิทยาคม โรงเรียนทานสัมฤทธิ์วิทยา
ถ้าต้องการไปสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ให้ใช้ทางออกที่ 2 แล้วไปรอที่ป้ายรถเมล์หน้ากรมพลาธิการทหารบก ต่อรถเมล์ไทยสมายล์บัส สาย 69, 69E หรือรถสองแถวสายนนทบุรี-สนามบินน้ำ (วนซ้าย)
สถานีสามัคคี ตั้งอยู่ใกล้ทางแยกเข้าถนนสามัคคี ระหว่างคลองบางตลาดกับถนนสามัคคี สถานที่สำคัญ ได้แก่ โรงเรียนสมานพิชากร ตลาดสดชลประทาน โครงการชลประทานนนทบุรี โรงเรียนชลประทานสงเคราะห์
สถานีกรมชลประทาน ตั้งอยู่ใกล้กับกรมชลประทาน สถานที่สำคัญ ได้แก่ กรมชลประทาน วิทยาลัยการชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โรงเรียนชลประทานวิทยา วัดชลประทานรังสฤษดิ์ พระอารามหลวง
ที่ป้ายรถเมล์หน้าวิทยาลัยการชลประทาน สามารถต่อรถเมล์ ขสมก. สาย 32 และ 505 ไปท่าน้ำปากเกร็ด รถเมล์ไทยสมายล์บัส สาย 104 ไปปากเกร็ด รถเมล์เอกชนสาย 33 และ 90 ไปจังหวัดปทุมธานี และสาย 367 ไปรังสิต
สถานีแยกปากเกร็ด ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมทางแยกปากเกร็ด แต่ไม่ได้ติดถนนใหญ่ สถานที่สำคัญได้แก่ ไปรษณีย์ไทย สาขาห้าแยกปากเกร็ด มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ โรงเรียนศรีสังวาล คริสตจักรปากเกร็ด
สามารถเดินเท้าไปยังโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ฮอลลีวูด ปากเกร็ด ได้ แต่ต้องเดินข้ามสะพานลอยแล้วเดินเท้า ผ่านไปรษณีย์ไทย ห้าแยกปากเกร็ด และห้าแยกปากเกร็ด ไปอีกประมาณ 400 เมตร
สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด ตั้งอยู่บริเวณหน้าห้างบิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า แจ้งวัฒนะ และโฮมโปร แจ้งวัฒนะ ก่อนถึงทางแยกถนนเลี่ยงเมืองปากเกร็ด ถัดจากนั้นจะเป็นนารายา สำนักงานใหญ่ อาคารจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ทาวเวอร์
ที่ป้ายรถเมล์หน้าห้างบิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า แจ้งวัฒนะ สามารถต่อรถเมล์ไทยสมายล์บัส สาย 51 ไปถนนชัยพฤกษ์ แยกบางบัวทอง เซ็นทรัลเวสต์เกต, สาย 210 ไปถนนชัยพฤกษ์ ถนนราชพฤกษ์ และรถเมล์ ขสมก. สาย 2-36 ไปไทรน้อย
ส่วนคนที่มาจากสถานีมีนบุรี และสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ถ้าจะไปท่าน้ำปากเกร็ด ให้ต่อรถเมล์ ขสมก. สาย 166 และ 2-36 รถเมล์ไทยสมายล์บัส สาย 51, 52 และ 150 ซึ่งส่วนหนึ่งจะวนเข้าปากเกร็ดก่อน แล้วขึ้นสะพานพระราม 4
สถานีแจ้งวัฒนะ – ปากเกร็ด 28 ตั้งอยู่บริเวณศูนย์การค้าเซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ สถานที่สำคัญ ได้แก่ ทางออกที่ 1-2 กองดุริยางค์ตำรวจ อาคารซอฟต์แวร์พาร์ค สำนักงาน ป.ป.ท. โรงแรมเบสท์เวสท์เทิร์นฯ โรงแรมฮ็อปอินน์ แจ้งวัฒนะ
ทางออกที่ 3-4 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล อาคารฟู้ดเทคโนโลยี โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ อาคารธารา พาร์ค สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
สถานีศรีรัช ตั้งอยู่บริเวณซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 35 ก่อนถึงทางด่วนศรีรัช สถานที่สำคัญ ได้แก่ โรงแรมคูล โฮเทล ห้างไทวัสดุ แจ้งวัฒนะ โรงเรียนคลองเกลือ
ถ้าต้องการไปเมืองทองธานี แนะนำให้ลงสถานีศรีรัช ทางออก 1 แล้วต่อรถสาธารณะเข้ามาด้านใน ได้แก่ รถตู้ 15 บาท รถสองแถว 12 บาท รถจักรยานยนต์รับจ้าง 40 บาท และรถ Shuttle Bus ไปอิมแพ็คและคอสโม บาร์ซา บริการฟรีระหว่างเวลา 09.00-13.00 น. และ 14.30-17.00 น.
สถานีเมืองทองธานี ตั้งอยู่หน้าห้างแม็คโคร แจ้งวัฒนะ ในอนาคตสามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยายเมืองทองธานี ไปสถานีอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี (ยังไม่เปิดให้บริการ)
สถานีแจ้งวัฒนะ 14 ตั้งอยู่หน้าห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ และซอยแจ้งวัฒนะ 14 สถานที่สำคัญ ได้แก่ ห้างโลตัส ไฮเปอร์มาร์เก็ต แจ้งวัฒนะ โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โรงแรม ทีเค. พาเลซฯ และ มณฑลทหารบกที่ 11
สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่บริเวณหน้ากรมการกงศุล สถานที่สำคัญ ได้แก่ ทางออก 1-2 กองร้อยลาดตระเวนระยะไกลที่ 1 กระทรวงยุติธรรม สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)
ทางออกที่ 3-4 ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ อาคาร A กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมการกงศุล ศาลปกครอง มีทางเดินลอยฟ้า (Skywalk) ไปยังอาคารจอดรถและซ่อมบำรุง (Depot) มีรถ Shuttle Bus ระหว่างอาคาร A และอาคาร B
สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ ตั้งอยู่ระหว่างซอยแจ้งวัฒนะ 5 และ 7 สถานที่สำคัญได้แก่ ทางออก 1-2 กองสรรพาวุธเบาที่ 1 สำนักงานเขตหลักสี่ ทางออก 3-4 บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ไปรษณีย์ไทย หลักสี่ กสทช.ภาค 1
สถานีหลักสี่ ตั้งอยู่หัวมุมแยกหลักสี่ ถนนวิภาวดีรังสิตกับถนนแจ้งวัฒนะ มีสะพานลอยบริเวณทางออกที่ 1 ไปห้างไอทีสแควร์ รถไฟฟ้าสายสีแดงสถานีหลักสี่ วัดหลักสี่ พระอารามหลวง และมีสกายวอล์กไปสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
สามารถต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง ไปสถานีดอนเมือง และสถานีรังสิต ขบวนรถผ่านสถานีหลักสี่เที่ยวแรก 05.12 น. เที่ยวสุดท้าย 00.12 น. และไปสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ผ่านสถานีหลักสี่เที่ยวแรก 05.11 น. เที่ยวสุดท้าย 00.11 น.
หรือป้ายรถเมล์ถนนวิภาวดีรังสิต ฝั่งห้างไอทีสแควร์ สามารถต่อรถเมล์ ขสมก. สาย 59 และ 95ก ไปรังสิต สาย 510 ไป ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต รถเมล์ไทยสมายล์บัส สาย 187 ไปรังสิต คลอง 3 และสาย 538 ไป ม.ราชมงคลธัญบุรี
สถานีราชภัฎพระนคร ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร สถานที่สำคัญ ได้แก่ ห้างอีออน แม็กซ์แวลู แจ้งวัฒนะ โรงเรียนเจริญผล โรงแรม บีทู ดอนเมือง พรีเมียร์ โรงแรมพระนครแกรนด์วิว
สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ สถานที่สำคัญ ได้แก่ สถานีตำรวจนครบาลบางเขน หมู่บ้านอัมรินทร์นิเวศน์ 1 โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ ไปรษณีย์ไทย รามอินทรา สำนักงานเขตบางเขน
สามารถต่อรถไฟฟ้าบีทีเอส ไปสถานีคูคต เที่ยวแรก 05.28 น. เที่ยวสุดท้าย 00.33 น. ไปสถานีเคหะ เที่ยวแรก 05.28 น. เที่ยวสุดท้าย 23.28 น. มีรถเสริมไปสถานีสยาม สถานีสำโรง 23.43 น. และไปสถานีห้าแยกลาดพร้าว 00.13 น.
สถานีรามอินทรา 3 ตั้งอยู่บริเวณหน้าศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก สถานที่สำคัญ ได้แก่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล รามอินทรา มหาวิทยาลัยเกริก โรงเรียนปราโมชวิทยารามอินทรา โรงเรียนประชาภิบาล
สำหรับคนที่มาจากสถานีมีนบุรี สามารถต่อรถเมล์ไปรังสิต ไทยสมายล์บัส สาย 34E และสาย 554 (ไปทางวิภาวดีรังสิต) และรถเมล์ ขสมก. สาย 520 (ไปทางพหลโยธิน) ปลายทางตลาดไท
สถานีลาดปลาเค้า ตั้งอยู่ใกล้กับห้างบิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า รามอินทรา ห่างจากถนนลาดปลาเค้า 400 เมตร สถานที่สำคัญ ได้แก่ สำนักงานตำรวจสื่อสาร การไฟฟ้านครหลวง สถานีย่อยลาดปลาเค้า ตลาดลาดปลาเค้า
สามารถเดินเท้าไปยังตลาดลาดปลาเค้า เพื่อต่อรถสองแถวสีแดง สาย 1071 ไปวัดลาดปลาเค้า ตลาดบัววัฒนา แยกลาดปลาเค้า-ประเสริฐมนูกิจ แยกวังหิน เลี้ยวขวาถนนเสนานิคม 1 ปลายทางตลาดบางเขน ถนนพหลโยธิน
สถานีรามอินทรา กม.4 ตั้งอยู่ระหว่างซอยรามอินทรา 33 และ 37 มีทางออก 4 จุด สถานที่สำคัญ ได้แก่ ห้างฟู้ดแลนด์ รามอินทรา แฟลตการเคหะแห่งชาติบางเขน เคหะชุมชนรามอินทรา ห้างอีส พาร์ค และไปรษณีย์ไทย ไตรรัตน์
สถานีมัยลาภ ตั้งอยู่หน้าปากซอยรามอินทรา 41 ใกล้สามแยกมัยลาภ มีทางออก 4 จุด สถานที่สำคัญ ได้แก่ แฟลตการเคหะแห่งชาติบางเขน เคหะชุมชนรามอินทรา กองบินตำรวจ สำนักงานจเรตำรวจ และห้างอีส พาร์ค
ผ่านจุดที่สูงที่สุดของรถไฟฟ้าสายสีชมพู ข้ามทางพิเศษฉลองรัช ความสูง 27 เมตร
สถานีวัชรพล ตั้งอยู่ถัดจากทางพิเศษฉลองรัช สถานที่สำคัญ ได้แก่ สวนวัชราภิรมย์ โรงเรียนอนุบาลปราโมชพัฒนา ตลาดเลียบด่วนรามอินทรา เฟสใหม่ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีวศึกษาภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร
ถ้าจะไปถนนประดิษฐ์มนูธรรม (เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา) ให้ลงทางออก 4 ต่อรถเมล์ไทยสมายล์บัส สาย 1-77 ปลายทางคลองเตย และรถเมล์ ขสมก. สาย 26ก แต่รถมีให้บริการน้อย
สถานีรามอินทรา กม. 6 ตั้งอยู่ระหว่างซอยรามอินทรา 40 และ 42 สถานที่สำคัญ ได้แก่ โรงเรียนสุขฤทัย โรงเรียนเตรียมแพทย์ เตรียมวิทย์พัฒนา กรุงเทพมหานคร โรงเรียนสายอักษร บมจ.สยามสปอร์ต ซินดิเคท
สถานีคู้บอน ตั้งอยู่ปากซอยรามอินทรา 69/1 สามารถต่อรถเมล์ป้ายหน้าห้างบิ๊กซี มาร์เก็ต คู้บอน ด้วยรถเมล์ ขสมก. สาย 197 และไทยสมายล์บัส สาย 1-64 ไปยัง สน.คันนายาว วัดคู้บอน และซาฟารีเวิลด์
สถานีรามอินทรา กม.9 ตั้งอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลสินแพทย์ ระหว่างซอยรามอินทรา 54 และ 56 สถานที่สำคัญ ได้แก่ ตลาดมิ่งมิตร โรงพยาบาลอินทรารัตน์ โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา โรงแรมโอเค บีเคเค
จากป้ายหน้าโรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา สามารถต่อรถเมล์ไปทางถนนนวมินทร์ ได้แก่ รถเมล์ ขสมก. สาย 36ก, 60, 71, 73, 96, 178 และ 501 รถเมล์ไทยสมายล์บัส สาย 71, 1-39, 1-62 และ 1-64
สถานีวงแหวนรามอินทรา ตั้งอยู่หน้าศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ และเดอะ พรอมานาด สามารถต่อรถเมล์ ไปสยามอะเมซิ่งพาร์ค (สวนสยาม) ได้แก่ รถเมล์ ขสมก. สาย 36ก, 60, 71, 73, 178 ไทยสมายล์บัส สาย 71, 3-32
สถานีนพรัตน์ ตั้งอยู่ใกล้โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี สถานที่สำคัญ ได้แก่ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นพรัตน์วชิระ ศูนย์การค้าอมอรินี่ ต่อรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปสวนสยามได้
สถานีบางชัน ตั้งอยู่บนถนนบริเวณซอยรามอินทรา 113 และ 115 ห่างจากปากทางถนนพระยาสุเรนทร์ (ไปถนนเลียบคลองสอง) 350 เมตร และปากทางถนนหม่อมเจ้าสง่างามสุประดิษฐ์ (ไปถนนเสรีไทย) 250 เมตร
สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ตั้งอยู่ใกล้กับโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ก่อนถึงแยกเมืองมีน สถานที่สำคัญ ได้แก่ โรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ไปสวนบึงกระเทียม การไฟฟ้านครหลวง เขตมีนบุรี
จากจุดนี้ถ้าจะไปห้างบิ๊กซี สุวินทวงศ์ โรงพยาบาลสินแพทย์ เสรีรักษ์ สามารถต่อรถจักรยานยนต์รับจ้างได้
สถานีตลาดมีนบุรี ตั้งอยู่บริเวณหน้าตลาดนัดจตุจักร 2 ใกล้กับศูนย์การค้าตลาดมีนบุรี จากป้ายหน้าตลาดนัดจตุจักร 2 สามารถต่อรถเมล์ไทยสมายล์บัส สาย 525 ไปลำลูกกา คลอง 12, สาย 526 ไปบ้านเอื้ออาทร สันติสุข
มีท่ารถมินิบัส สาย 907 กรุงเทพฯ (มีนบุรี)-ฉะเชิงเทรา ในซอยข้างโรงเรียนสุขเนตร (ทางออกที่ 1) ส่วนด้านในตลาดนัดจตุจักร 2 มีท่ารถตู้สายมีนบุรี-อมรทรัพย์ และสายมีนบุรี-วัดลำต้อยติ่ง ผ่านโรงงานซีพี และลำผักชี
ด้านในศูนย์การค้าตลาดมีนบุรี อาคารปลาตะเพียนทอง มีท่ารถตู้ไปโฮมโปรบางพลี หัวตะเข้ และเคหะร่มเกล้า ท่ารถสองแถว มีนบุรี-ลาดกระบัง และ มีนบุรี-เคหะร่มเกล้า-สุเหร่าซีรอ
ถัดมาจะเป็น ขสมก. อู่มีนบุรี สาย 26, 96, 131, 197, 501, 502, 514, 525 และ 526 ต่อด้วยท่ารถเมล์ไทยสมายล์บัส สาย 143, 197, 525, 526, 549, 1-61, 1-71 และ 1-76 ถัดมาเป็นท่ารถตู้มีนบุรี-หนองจอก
ถ้าไม่อยากรอรถเมล์ สามารถต่อรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ไปยังสำนักงานเขตมีนบุรี ศาลอาญามีนบุรี ศาลแพ่งมีนบุรี สวนเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ โรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ตำรวจนครบาล 3 และ สน.มีนบุรี ได้
สถานีมีนบุรี ตั้งอยู่ริมถนนรามคำแหง สถานที่สำคัญ ได้แก่ ห้างไทวัสดุ สาขาสุขาภิบาล 3 ห้างบิ๊กซี ร่มเกล้า ส่วนมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต วิทยาเขตร่มเกล้า ห่างจากตัวสถานีไปประมาณ 1 กิโลเมตร
เมื่อข้ามสะพานข้ามคลองสองไปแล้ว จะเป็นโรงเรียนมีนปราสาทวิทยา ห้างบิ๊กซี สุขาภิบาล 3 และห้างโลตัส สุขาภิบาล 3 ต้องเดินเท้าลอดใต้สะพานไปยังอีกฝั่งคลอง
เดินเท้าไปขึ้นรถเมล์ที่ป้ายหมู่บ้านรุ่งนภา 2 (หน้าห้างไทวัสดุ) สามารถต่อรถเมล์ ขสมก.สาย 168, 514 และ 519 รถเมล์ไทยสมายล์บัส สาย 113 ไปหมู่บ้านสัมมากร แยกบ้านม้า แยกลำสาลี และสาย 1-76 ไปหมู่บ้านบัวขาว
มีอาคารจอดแล้วจร สถานีมีนบุรี รองรับรถยนต์ได้ 3,000 คัน ผู้มาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู คิดค่าจอดรถชั่วโมงละ 5 บาท หากไม่ได้ใช้บริการ คิดชั่วโมงละ 20 บาท หรือผู้ถือบัตรแรบบิท สามารถเหมาจ่ายเดือนละ 1,000 บาท
ปัจจุบันเปิดให้บรืการฟรี เฉพาะชั้น 1 จำนวน 1,000 คัน ถึงวันที่ 2 มกราคม 2567 และเริ่มเก็บค่าบริการในวันที่ 3 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
ในอนาคตจะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี แต่ยังไม่เปิดให้บริการ เนื่องจากยังมีคดีค้างอยู่ในชั้นศาล แถมยังต้องจัดหาขบวนรถและติดตั้งระบบอย่างน้อย 2-3 ปี