xs
xsm
sm
md
lg

ยลโฉม Touch 'n Go ตั๋วร่วมของมาเลเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

น่าเสียดายที่การมาเยือนประเทศมาเลเซียในช่วงที่ผ่านมา คือ การใช้บัตรที่เรียกว่า Touch ‘n Go (ทัช แอนด์ โก) ซึ่งเป็นระบบตั๋วร่วมที่ใช้ได้ทั้งรถเมล์ และรถไฟฟ้าในกรุงกัวลาลัมเปอร์

เพราะถ้าไม่ใช้บัตร Touch ‘n Go เมื่อซื้อเหรียญโดยสารที่ตู้อัตโนมัติ นอกจากจะรับเฉพาะเหรียญกับธนบัตร 1 ริงกิต และ 5 ริงกิตแล้ว ค่าโดยสารยังแพงกว่า

เช่น ขึ้นรถไฟโมโนเรลจากสถานี KL Sentral ไปยังสถานี Bukit Nanas ถ้าจ่ายด้วยเงินสด เสียค่าโดยสาร 3.10 ริงกิต แต่ถ้าใช้บัตร Touch ‘n Go จ่ายเพียง 2.70 ริงกิต เท่านั้น ประหยัดถึง 0.40 ริงกิต (40 เซน)

ก็เลยคิดว่า ปีหน้าถ้ามีโอกาสไปเยือนมาเลเซียอีก จะหาซื้อบัตร Touch ‘n Go มาใช้สักครั้ง ทราบคร่าวๆ ว่ามีขายที่ศูนย์บริการลูกค้า Touch ‘n Go ชั้น 2 ศูนย์การค้า NU Sentral กรุงกัวลาลัมเปอร์

แต่ถ้าคนไทยที่ขับรถจากด่านสะเดาไปยังมาเลเซียสะดวกหน่อย เพราะด่าน Jitra Toll Plaza ซึ่งเป็นด่านแรกหลังออกจากด่านสะเดา มีบัตร Touch ‘n Go แบบคลาสสิกขาย ราคาบัตร 10 ริงกิต เติมเงินขั้นต่ำ 10 ริงกิต รวม 20 ริงกิต

แต่เมื่อวันก่อน มีกัลยาณมิตรท่านหนึ่งไปเที่ยวที่ปีนัง ผู้เขียนจึงไหว้วานให้ช่วยเป็นธุระจัดหาบัตร Touch ‘n Go ทราบว่ากว่าจะได้มาก็ยากพอสมควร เพราะปั๊มน้ำมัน 5 แห่งในเกาะปีนัง บางแห่งเหลือบัตรเพียงแค่ใบเดียว


บัตร Touch ‘n Go ที่ขายในปัจจุบันเป็นรุ่น Touch 'n Go Card ที่รองรับระบบ NFC ที่ผ่านมามีชาวมาเลเซียให้ความสนใจอย่างมาก กระทั่งช่วงหนึ่งเกิดการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ จึงทำให้บัตรขาดตลาดไปพักหนึ่ง

ปัจจุบัน บัตร Touch ‘n Go ที่รองรับระบบ NFC ราคา 10 ริงกิต (ประมาณ 76 บาท) เติมเงินขั้นต่ำ 10 ริงกิต อายุการใช้งาน เท่าที่ดูจากหน้าบัตรมีอายุถึงปี 2030

ส่วนบัตร Touch ‘n Go แบบคลาลสิกยังคงมีขายตามระบบขนส่งมวลชนต่างๆ รวมทั้งด่านทางด่วนของผู้ให้บริการแต่ละราย เช่น PLUS ผู้ให้บริการทางด่วนสาย NSE หรือทางด่วนเหนือ-ใต้ ยาว 748 กิโลเมตร

สำหรับชาวต่างชาติที่เป็นนักท่องเที่ยว ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ สามารถใช้บัตร Touch ‘n Go ได้ที่รถประจำทางทุกสาย รถไฟฟ้าทุกสาย รวมทั้งใช้ได้กับทางด่วนทุกสาย ที่จอดรถต่างๆ รวมทั้งร้านค้า ปั๊มน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อที่รับบัตร

สามารถเติมเงินได้ที่ร้านสะดวกซื้อและปั๊มน้ำมัน ขั้นต่ำ 10 ริงกิต รวมถึงเครื่องคีออสแบบบริการตัวเอง แต่แนะนำให้เติมเงินที่ร้านวัตสัน เพราะไม่หักค่าธรรมเนียม ส่วนที่อื่นจะหักค่าธรรมเนียม 0.50 ริงกิต (50 เซน)

ส่วนรัฐปีนัง ใช้บัตร Touch ‘n Go ได้ที่ทางด่วน ท่าเรือเฟอร์รี่ระหว่างบัตเตอร์เวิร์ธ-จอร์จทาวน์ และที่จอดรถ 125 แห่ง ส่วนรถประจำทาง Rapid Penang ไม่รองรับ แนะนำให้พกเหรียญ กับธนบัตรราคา 1 ริงกิตไว้เยอะๆ

ความจริงมีแอปพลิเคชัน TNG eWallet สามารถเติมเงินผ่านมือถือที่รองรับระบบ NFC ได้ แต่ใช้ได้เฉพาะเบอร์มือถือมาเลเซียและสิงคโปร์ รวมทั้งเติมเงินได้เฉพาะบัตรเครดิตและบัตรเดบิตที่ออกในประเทศมาเลเซียเท่านั้น

แต่ผู้ถือบัตรสามารถลงทะเบียนบัตรทางออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ https://tngportal.touchngo.com.my โดยกรอกข้อมูลหนังสือเดินทาง ที่อยู่และอีเมล สามารถดูรายการธุรกรรมย้อนหลังได้


บัตร Touch ‘n Go เปิดตัวครั้งแรกในปี 2540 ใช้ได้กับระบบขนส่งมวลชนในมาเลเซีย ทั้งรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) รถไฟฟ้าโมโนเรล (Monorail) รถไฟระหว่างเมือง (KTM Intercity) รถไฟชานเมือง (KTM Komuter) และรถประจำทาง

รวมทั้งสามารถใช้ได้กับทางด่วนทุกสาย เพราะระบบทางด่วนในมาเลเซียส่วนใหญ่ไม่รับเงินสด (ยกเว้นบางด่านรับบัตรที่ด่านต้นทางแล้วไปจ่ายที่ด่านปลายทาง) และใช้ได้กับร้านค้าที่รับบัตร เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้า ปั๊มน้ำมันต่างๆ

สมัยก่อนผู้ให้บริการขนส่งมวลชนในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ออกบัตรแบบต่างคนต่างทำ บัตร Touch ‘n Go ก็ใบนึง บัตร Myrapid ของ RapidKL ก็อีกใบหนึ่ง แต่สุดท้ายฝั่ง RapidKL ก็มาใช้ระบบของ Touch ‘n Go มาตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2560

ต่อมามีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่นๆ อาทิ SmartTAG ที่เป็นกล่อง OBU สำหรับผ่านทางด่วน, Touch 'n Go RFID สติกเกอร์สำหรับผ่านทางด่วน, Touch 'n Go Charm บัตรในรูปแบบพวงกุญแจ

ล่าสุดได้พัฒนาแอปพลิเคชัน TNG eWallet โดยร่วมทุนกับแอนท์ ไฟแนนเชียล และพัฒนาบัตร Touch 'n Go Card ที่รองรับระบบ NFC สามารถเชื่อมกับโทรศัพท์มือถือที่รองรับเพื่อเติมเงินลงในบัตรได้อีกด้วย

ปัจจุบัน TNG eWallet สามารถสแกนจ่ายผ่านคิวอาร์โค้ด DuitNow ในมาเลเซีย รวมทั้งบริการ Cross-Border QR Payment กับ NETS สิงคโปร์, QRIS อินโดนีเซีย และ PromptPay QR code ของไทยได้อีกด้วย


ผลของการที่บัตร Touch ‘n Go เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของชาวมาเลเซีย ทำให้มีอุปกรณ์บางอย่างที่นำมาใช้ร่วมกับบัตรที่น่าสนใจ นำมาเล่าสู่กันฟัง

ประการแรก ไม้ใส่บัตร Touch ‘n Go ลักษณะคล้ายกับไม้ตียุง ใช้สำหรับเสียบบัตร Touch ‘n Go เพื่อแตะที่เครื่องอ่านบัตรบริเวณด่านเก็บเงินค่าผ่านทาง โดยส่วนมากจะใช้กับรถบรรทุกหรือรถโดยสาร

มีบางคนแซวว่า “เหมือนไม้ตียุงใส่บัตรได้” ก็มี แต่ก็ถือเป็นอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน เพราะไม่ต้องเอื้อมมือไปแตะบัตร แม้ปัจจุบัน Touch ‘n Go จะมีอุปกรณ์อย่าง SmartTAG หรือสติกเกอร์ RFID ก็ตาม

คนไทยที่ใช้บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตแตะจ่ายค่าผ่านทาง น่าจะลองซื้อมาใช้ติดรถดู แต่ต้องออกบัตรเพิ่มอีกใบ ติดกับไม้ใส่บัตรโดยเฉพาะ ถึงกระนั้นถ้าเป็นรถที่ใช้ทางด่วนเป็นประจำ ติด Easy Pass หรือ M Pass สะดวกที่สุดแล้ว


อีกอย่างหนึ่ง เป็นสติกเกอร์ติดบัตร Touch ‘n Go ด้วยความที่หน้าบัตรรุ่นที่ที่รองรับระบบ NFC เป็นสีขาวสะท้อนสีรุ้ง ไม่มีลวดลายใดๆ อาจมีคนมองว่าไม่สวย ก็เลยหาสติกเกอร์ลายที่ชอบมาติดลงบนบัตรเพิ่มเติม

วัยรุ่นมาเลเซียหลายคนนิยมซื้อหาสติกเกอร์มาติดลงบนบัตร มีทั้งลายการ์ตูน ลายสโมสรฟุตบอล รวมทั้งลายศิลปิน K-POP ชื่อดัง ซึ่งสติกเกอร์ดังกล่าวมีความบาง กันน้ำ เมื่อติดลงบนบัตรแล้ว บัตรยังสามารถแตะจ่ายได้ตามปกติ

โดยมีบรรดาครีเอเตอร์ขายตามแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น Shopee หรือ Lazada ของมาเลเซีย นอกจากนี้ ยังสามารถสั่งพิมพ์สติกเกอร์ที่ออกแบบอาร์ตเวิร์คเองตามที่เราชอบได้อีกด้วย รวมทั้งมีสติกเกอร์ที่แปะลงบนบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตได้อีก

สำหรับการเดินทางระหว่างเมืองต่างๆ บัตรเครดิต บัตรเดบิต VISA และ Mastercard ยังสามารถใช้ได้กับรถไฟ KTM Berhad ของมาเลเซียผ่านเครื่องคีออส รวมทั้งสถานีขนส่งต่างๆ ก็เริ่มรับชำระด้วยช่องทางอิเล็กทรอนิกส์แทนเงินสดบ้างแล้ว

เพียงแต่ว่าบัตร Touch ‘n Go ที่ให้บริการมากว่า 20 ปี ยังคงมีบทบาทต่อการเดินทางในชีวิตประจำวันของชาวมาเลเซีย
กำลังโหลดความคิดเห็น