กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เมื่อวันก่อน นักเรียนชั้น ม.6 วัย 19 ปี ชาวอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ตัดสินใจฆ่าตัวตาย เพราะกลัวแม่และเพื่อนตำหนิ หลังถูกแก๊งมิจฉาชีพหลอกผ่อนไอโฟน 13 แต่กลับไม่ส่งของ แถมไม่คืนเงิน
บอกตามตรงว่าอ่านข่าวแล้ว “สลดใจ” อย่างยิ่ง ไม่นึกว่าการที่เยาวชนหาทางออกไม่ได้ ยอมฆ่าตัวตายเพราะถูกมิจฉาชีพหลอก จะเกิดขึ้นซ้ำอีก และหากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไม่ทำอะไร มิจฉาชีพเหล่านี้ก็กัดกร่อนสังคมให้พินาศฉิบหาย
แม้จะมีข่าวมิจฉาชีพหลอกลวงให้เยาวชนหมดอนาคต ตั้งแต่เท้าแชร์ออมเงินผ่านไลน์ หลอกนักเรียนวัย 17 ปี เอาเงินประกันของพ่อที่เสียชีวิต 50,000 บาท ไปลงทุนจนหมดตัว แล้วต้องบากหน้าไปจี้ชิงทรัพย์ร้านทอง
หรือข่าวนักเรียนชั้น ม.3 ถูกมิจฉาชีพชักชวนให้ดูโฆษณาผ่านยูทูป เพื่อหารายได้พิเศษ แล้วหลอกให้ซื้อสินค้า 10 ชิ้น วางขายออนไลน์เก็งกำไร ยอมฉกเงินแม่ 14,000 บาท ภายหลังรู้ว่าถูกหลอกขอทวงเงินคืนแต่ไม่ให้ จึงยอมฆ่าตัวตาย
แต่ที่ผ่านมาข่าวแบบนี้ ส่วนใหญ่ตำรวจมักจะจับกุมได้เฉพาะคนที่เปิดบัญชีม้า ซึ่งเป็นการจับกุมที่ “ปลายเหตุ” เพราะสุดท้ายปลายทางตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน พม่า กัมพูชา ซึ่งตำรวจตามไปดำเนินคดีลำบาก
มาถึงกรณีนักเรียน ม.6 ชาวนครศรีธรรมราช มิจฉาชีพใช้วิธีก็อปรูปร้านมือถือชาวบ้านเขามา แล้วสร้างโปร์ไฟล์เฟซบุ๊กปลอม หลอกขายโทรศัพท์มือถือ เมื่อมีคนสนใจทักแชตไป ก็หลอกลวงเขาไป มีผู้เสียหายจำนวนมาก
หนึ่งในนั้นก็คือนักเรียน ม.6 รายนี้ สนใจซื้อมือถือรุ่นไอโฟน 13 ร้านมือถือกำมะลอแห่งนี้ก็พยายามให้ผ่อนเงินดาวน์ ซึ่งนักเรียน ม.6 รายนี้ก็ผ่อนไป เงินตัวเองไม่พอ ก็ขอยืมเงินเพื่อนสนิท 5,500 บาท อีกคนหนึ่ง 2,600 บาท
โอนเงินรวมกันแล้ว 18,500 บาท แต่กลับไม่ได้สินค้า เมื่อพยายามทวงถามหลายครั้ง แต่ถูกบ่ายเบี่ยงและประวิงเวลา เมื่อเห็นนานผิดปกติ ได้แชตทวงถามและขอเงินดาวน์คืน แต่กลับให้โอนเงินค่าประกัน 2,000 บาท
ด้วยความกลัวว่าจะไม่ได้เงินที่โอนให้ไปคืน จึงโอนเงินไป 2,000 บาท หลังจากนั้นถูกบล็อกแชตและเงียบหายไม่โอนเงินคืนกลับมาอีกเลย ด้วยความที่นักเรียน ม.6 รายนี้เครียดเพราะถูกโกง กลัวแม่จะตำหนิ จึงตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลง
อ่านข่าวแล้วก็เศร้า เพราะเยาวชนวัยนี้ ภูมิคุ้มกันทางสังคมยังไม่เข้มแข็งพอ จึงถูก “ผู้ใหญ่ที่ไม่ดี” หลอกให้ตกเป็นเหยื่อ ทำกับคนธรรมดายังว่าเลวแล้ว แต่กลับทำกับเยาวชน แบบนี้จะเรียกว่าอะไรดี
ที่หนักไปกว่านั้น ... ยังมีเยาวชนอีกส่วนหนึ่ง ถูกตกให้เป็นผู้กระทำความผิดด้วยการ “รับจ้างเปิดบัญชีม้า” โดยเฉพาะเยาวชนอายุไม่ถึง 20 ปี ที่อาศัยตามแนวชายแดน และเยาวชนที่เป็นเพศหญิง!
อธิบายก่อนว่า การสร้างบัญชีม้าของกลุ่มมิจฉาชีพ ไม่ว่าจะเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พนันออนไลน์ หรืออะไรก็แล้วแต่ มักจะสร้างบัญชีม้ากันเป็นเป็นแถว เมื่อมีเหยื่อโอนเงินเข้ามาก็จะโอนต่อกันเป็นทอดๆ อย่างรวดเร็ว
คดีนักเรียน ม.6 ถูกหลอกผ่อนดาวน์ไอโฟนเที่ยวนี้ พบว่ามีการเปิดบัญชีม้า 4 แถว โดยแถวแรกเป็นบัญชีธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ของ น.ส.ดอกแก้ว แก้วเจิม อายุ 23 ปี ชาวจังหวัดชัยภูมิ ถูกจับกุมหลังเหยื่อเสียชีวิตได้ 1 วัน
ทีแรก น.ส.ดอกแก้วทำเฉไฉ อ้างว่าไม่ทราบว่าตัวเองเปิดบัญชี ไปสมัครงานหลายที่ แต่ไม่เคยถูกเรียกสัมภาษณ์หรือได้งานทำ และอ้างว่าหลายปีก่อนไปสมัครแอปฯ เงินกู้ด้วยบัตรประชาชนและสแกนใบหน้า
ตอนอ่านข่าว นึกในใจว่า “ไม่เชื่อ” เพราะธนาคารที่ น.ส.ดอกแก้วเปิดบัญชี เป็นธนาคารที่นิยมใช้ “เปิดบัญชีม้า” เป็นอันดับต้นๆ เพราะไม่ต้องไปสาขาธนาคารที่ถูกยุบเหลือไม่กี่แห่ง แค่สแกนใบหน้าก็เปิดบัญชีได้เลย
บอกไว้เลยว่า ธนาคารในประเทศไทยประมาณ 10 แห่ง ที่เปิดบัญชีโดยไม่ต้องไปสาขา มีโอกาสถูกใช้เป็นบัญชีม้าได้เสมอ เพราะทุกวันนี้หากเปิดบัญชีที่สาขา บางธนาคารพนักงานจะถามย้ำว่าเอาไปทำอะไร?
ภายหลังพอตำรวจสอบเค้นเรื่อยๆ จึงรับสารภาพว่า เปิดบัญชีม้าแบบแสกนใบหน้า ด้วยเงิน 300 บาท และได้รับเงินจริง แม้อ่านข่าวดูแล้วจะตงิดใจ เพราะได้ค่าจ้างแค่ 300 บาทเองเหรอ แต่ก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ให้ตำรวจได้เค้นความจริงออกมาดีกว่า
พอลองรวบรวมข้อมูลจากข่าวที่รายงานพบว่า มิจฉาชีพกลุ่มนี้ มีการเปิดบัญชีม้า 4 แถว โดยแถวแรกเป็นของ น.ส.ดอกแก้ว อายุ 23 ปี ชาวจังหวัดชัยภูมิ ก็ยังไม่ถึงวัยเบญจเพส
ที่น่ากลัวก็คือ พอมาแถวที่ 2 แถวที่ 3 และแถวที่ 4 ปรากฏว่าเป็นเยาวชนอายุไม่ถึง 20 ปีทั้งนั้น
บัญชีม้าแถวที่ 2 น.ส.ศิริพร จำปี อายุ 20 ปี แม้ทีแรกมีข่าวว่าหลบหนี แต่ก็มามอบตัวภายหลัง
บัญชีม้าแถวที่ 3 เป็นเยาวชน เพศหญิง อายุ 18 ปี
บัญชีม้าแถวที่ 4 เป็นเยาวชน เพศชาย อายุ 19 ปี
ส่วนมิจฉาชีพที่ทำหน้าที่เป็นแอดมินเพจ สนทนาหลอกลวงขายสินค้า มีไอพีแอดเดรสอยู่ฝั่งประเทศพม่า ตำรวจเชื่อว่าน่าจะเป็นคนไทยที่เข้าออกชายแดน แต่ไปก่อเหตุหลอกลวง จากฝั่งประเทศเพื่อนบ้านอีกที
หลังเหยื่อโอนเงินไปยังบัญชีม้าแถวที่ 1 แล้ว ก็โอนออกไปยังบัญชีม้าแถวที่ 2 กับบัญชีม้าแถวที่ 3 อย่างรวดเร็ว จากนั้นทั้งสองแถวก็โอนเงินออกไปยังบัญชีม้าแถวที่ 4 เพื่อรอการกดออกมาเป็นเงินสด ส่งไปให้ผู้บงการตัวจริงต่อไป
คนที่ทำหน้าที่กดเงิน คือ น.ส.ณัฏฐนิชา สุขศรี อายุ 39 ปี ทำหน้าที่กดเงินไม่ใช้บัตร (Cardless ATM) จากมือถือที่แอปพลิเคชันธนาคารผูกกับบัญชีม้าแถวที่ 4 ซึ่งรับเงินมาจากบัญชีม้าแถวที่ 2 กับบัญชีม้าแถวที่ 3 อีกที
น.ส.ณัฏฐนิชา ระบุว่า ได้รับว่าจ้างจาก “นายจ๋าย” นำโทรศัพท์มือถือที่ติดตั้งแอปฯ ธนาคาร ไปกดเงินที่ตู้เอทีเอ็มฝั่งประเทศไทย แล้วนำไปส่งให้ผู้บงการที่ชายแดนด่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ได้ค่าจ้างกดเงินครั้งละ 300-500 บาท
เป็นที่น่าสังเกตว่า มิจฉาชีพเหล่านี้จะมีคนที่ชักชวนให้เปิดบัญชีม้าอยู่ 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเป็นผู้จัดหาบัญชีม้า รับซื้อบัญชีม้าจากที่ไหนก็ได้ ใช้วิธีเปิดบัญชีออนไลน์ สำหรับใช้เป็นบัญขีม้าแถวแรก
ส่วนบัญชีม้าแถวที่สอง พบว่ามิจฉาชีพใช้วิธีจ้างเยาวชนในพื้นที่ตามแนวชายแดนเปิดบัญชี เพราะเป็นคนพื้นที่ ควบคุมง่าย ติดตามตัวได้ทุกเมื่อ ได้ค่าจ้างบัญชีละ 3,000 บาท
ที่หนักกว่านั้นคือ ยังมีเยาวชนชายวัย 18 ปีอีกราย ทำหน้าที่เป็น “นกต่อ” คอยตระเวนหาเหยื่อเยาวชนเปิดบัญชีม้า โดยเน้นไปที่เยาวชน เพศหญิง อายุระหว่าง 15-18 ปี
รายงานข่าวระบุว่า คนที่บงการตัวจริงคือ "เสี่ยสอง" ชาวพม่า กำกับดูแลเรื่องบัญชีม้า ที่ได้รับมาจากนกต่ออีกที แต่เนื่องจากอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ตำรวจก็ต้องใช้วิธีออกหมายจับตำรวจสากลหรือหมายแดง
นี่เป็นความอำมหิตของมิจฉาชีพวัยผู้ใหญ่ ที่หลอกใช้เยาวชนเป็นเครื่องมือหลอกลวงผู้อื่น นอกจากนักเรียนชั้น ม.6 ต้องจบชีวิตลงอย่างสลดแล้ว เยาวชนที่ถูกเปิดบัญชีม้ามีคดีติดตัว ทำลายอนาคตเข้าไปอีก
ข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พบว่า จากบัญชีธนาคารทั้งหมดกว่า 121 ล้านบัญชี พบว่ามีบัญชีม้าในระบบมากถึง 200,000-500,000 บัญชี ซึ่งได้ออกมาตรการป้องกันการเปิดบัญชีม้าไปแล้ว
ขณะเดียวกัน ได้ร่วมกับตำรวจไซเบอร์ คัดกรองรายชื่อที่คาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับบัญชีม้า จากผู้เสียหายที่ถูกฉ้อโกงเข้าแจ้งความ พบว่าได้ประมาณ 70,000 รายชื่อ โดยได้ประสานธนาคารให้ระงับการทำธุรกรรมทั้งหมดแล้ว
คนที่โดนเข้าข่ายเกี่ยวข้องกับบัญชีม้า จะไม่สามารถทำรายการได้นอกจากแสดงตัวตนหน้าเคาน์เตอร์ นอกจากนี้จะรวบรวมรายชื่อกลุ่มผู้ที่เข้าข่ายบัญชีม้าอยู่ต่อเนื่อง โดยพบรายชื่อเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละกว่า 1,000 รายชื่อ
ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับ Google และ TB-Cert ได้ออกมารณรงค์ “ไม่ขายบัญชีธนาคาร หรือซิมโทรศัพท์ของตัวเองให้กับบุคคลอื่น” ผ่านช่องทางต่างๆ ของสถาบันการเงิน
โดยคนที่เปิดบัญชีแล้วถูกนำไปใช้กระทำความผิด มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นธุระจัดหาจำคุก 2-5 ปี ปรับ 200,000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เห็นกรณีที่เยาวชนถูกตกเป็นเหยื่อ และตกเป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพเหล่านี้ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาให้ความรู้เรื่องการหลอกลวงทางออนไลน์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกลงทุน และภัยจากการเปิดบัญชีม้ากับเยาวชน
โดยเฉพาะระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อายุ 15-19 ปี เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชน เพราะอย่างน้อยคนที่ตั้งใจฟังและตระหนัก จะได้นำความรู้ไปถ่ายทอด ไปบอกต่อ หรือไปเตือนสติป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำความผิด
ขณะเดียวกัน ควรมีวิธีสื่อสารตระหนักเรื่องนี้ให้กับเยาวชน ได้ฉุกคิดถึงภัยที่เกิดขึ้นจากการถูกหลอกลวงหรือถูกใช้เป็นเครื่องมือ เช่นเดียวกับปัญหายาเสพติด การก่ออาชญากรรม การพนันฟุตบอล ปัญหาเรื่องเพศ ฯลฯ
เพราะปัญหาบางอย่างไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายที่สามารถบอกได้เลยว่าไม่ดี ไม่ควรทำ แต่เป็นเรื่องสลับซับซ้อนที่เยาวชนมักจะปิดกั้นคนในครอบครัวโดยเฉพาะพ่อแม่ ด้วยวัยที่ถูกมองว่ายังหาเงินด้วยตัวเองไม่ได้ จึงจำต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง
จากข่าวที่เยาวชนถูกหลอกลงทุนฆ่าตัวตาย เยาวชนถูกบ้านออมแชร์โกงต้องไปจี้ชิงทรัพย์ร้านทอง และล่าสุดเยาวชนถูกหลอกผ่อนไอโฟนฆ่าตัวตาย น่าจะนำอุทาหรณ์เหล่านี้มาสอนผ่านสถานศึกษาได้แล้ว
อย่างน้อยผลจากคดีนี้ทำให้สังคมได้รู้ว่า มีเยาวชนทั้งตกเป็นเหยื่อ และถูกตกเป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพ ที่ผู้ใหญ่ทุกคนควรตระหนัก ไม่ควรนิ่งเฉยหรือปล่อยผ่านอีกต่อไป