xs
xsm
sm
md
lg

ส่องธุรกิจดิจิทัลแอร์เอเชีย รีแบรนด์แอปฯ MOVE และบัตร Big Pay กำลังจะมา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

มีเรื่องที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ใช้บริการสายการบินแอร์เอเชีย รวมถึงบริการผ่านแอปพลิเคชัน airasia superApp ในอีกประมาณ 2-3 เดือนข้างหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในธุรกิจดิจิทัล

เริ่มจากอันดับแรก เมื่อเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา แคปปิตอล เอ (Capital A) บริษัทแม่ของสายการบินแอร์เอเชีย ประกาศเปลี่ยนชื่อหน่วยงานธุรกิจดิจิทัลจาก แอร์เอเชียดิจิทัล (airasia Digital) เป็น มูฟ ดิจิทัล (MOVE Digital)

โดยมี 2 แพลตฟอร์มหลักที่ดูแลอยู่ ได้แก่ แอปพลิเคชัน airasia Superapp ที่พัฒนาจากจองตั๋วเครื่องบิน เพิ่มเติมทั้งโรงแรม บริการเรียกรถ airasia Ride, บริการสั่งอาหาร airasia Food, จำหน่ายสินค้า airasia Shop เป็นต้น

กับ บิ๊กเพย์ (Big Pay) แอปพลิเคชันเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) ให้บริการแก่ลูกค้าในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ และกำลังจะให้บริการในประเทศไทยในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ต่อด้วยอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ในต้นปี 2567

พร้อมกันนี้ โทนี่ เฟอร์นานเดส ผู้ก่อตั้งสายการบินแอร์เอเชีย ดำรงตำแหน่งประธานบริหารของ MOVE และแต่งตั้ง นาเดีย โอมาร์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ของ airasia MOVE มีผลตั้งแต่ 26 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป




ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างแรก คือ ภายในเดือนธันวาคม 2566 แอปพลิเคชัน airasia Superapp จะเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น airasia MOVE โดยรวมกับบริการทางการเงิน Big Pay ไว้บนแพลตฟอร์มเดียว

ก่อนหน้านี้ ผู้ใช้งานในประเทศมาเลเซียจะสังเกตเห็นเมนู Big Pay ไว้ที่หน้าแรกของ airasia Superapp (ซึ่งผู้ใช้งานในประเทศไทยจะไม่เจอ) ซึ่งได้เปิดให้ผู้ใช้งาน Big Pay เชื่อมบัญชีไปแล้ว

พร้อมกันนี้ ยังมอบโค้ดส่วนลด 5% สำหรับจองเที่ยวบินแอร์เอเชีย โค้ดส่วนลด 5% สำหรับจองเที่ยวบินสายการบินอื่น และส่วนลด 50 ริงกิต สำหรับจองโรงแรมผ่าน airasia Superapp แถมมีส่วนลดพิเศษและคะแนนแอร์เอเชีย 2 เท่า

และในวันข้างหน้า ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบยอดคงเหลือ ใช้จ่ายผ่านแอปฯ และทำธุรกรรมทางการเงินจากบัญชี Big Pay ผ่านแอปฯ airasia Superapp ที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น airasia MOVE ได้ภายในแอปฯ เดียว

นับตั้งแต่การเปลี่ยนโฉมจากการจองตั๋วเครื่องบินและจัดการบุ๊คกิ้งเฉพาะของแอร์เอเชีย ได้พัฒนาบริการที่หลากหลายในรูปแบบ "ซูเปอร์แอปฯ" มาตั้งแต่ปี 2564 ห้วงเวลาที่สถานการณ์โควิดฯ ระบาด ธุรกิจการบินหยุดชะงัก


สำหรับประเทศไทย เริ่มจากแอร์เอเชียซื้อกิจการ GET หรือ Gojek แพลตฟอร์มดีลิเวอรีสัญชาติอินโดนีเซีย ในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อนำมาพัฒนาบริการเป็น แอร์เอเชีย ฟู้ด (airasia Food) ให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก

ก่อนพัฒนาบริการแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวออนไลน์ (OTA) ที่ได้รับการรับรองจาก IATA จองเที่ยวบินกว่า 700 สายการบินทั่วโลก จากนั้นพัฒนาบริการเรียกรถ airasia Ride โดยประเทศไทยให้บริการในปี 2565 ต่อจากมาเลเซีย

ล่าสุด แอร์เอเชีย ประเทศไทย ได้ร่วมมือกับ ฟู้ดแพนด้า (foodpanda)ให้ผู้ใช้งาน airasia Superapp เข้าถึงบริการฟู้ดดีลิเวอรีของฟู้ดแพนด้าได้ทั่วประเทศ ขณะที่ผู้ใช้งานฟู้ดแพนด้า ก็สามารถเรียกรถ airasia Ride ได้อีก

รวมทั้ง บริการ Dine-in Voucherจำหน่ายบัตรกำนัลดิจิทัลผ่าน airasia Superapp ราคาเริ่มต้น 300 บาท มีทั้งอาหารไทย จีน ญี่ปุ่น และบุฟเฟ่ต์ ทุกการจองยังได้รับ airasia points ใช้แทนเงินสดชำระค่าบริการอีกด้วย

ปัจจุบัน แอปพลิเคชัน airasia Superapp มีผู้ใช้งานต่อเดือน (MAU) สูงถึง 15 ล้านคน ณ สิ้นไตรมาส 2/2566


อีกบริการหนึ่งที่กำลังรอคอย คือบริการ Big Pay ที่ก่อนหน้านี้ถูกพูดถึงอย่างมากว่าในอดีตหากชำระด้วยบัตรนี้ จะไม่เสียค่าธรรมเนียม Processing Fee เมื่อเทียบกับการชำระเงินผ่านช่องทางอื่น

คนที่จองตั๋วเครื่องบินแอร์เอเชียจะทราบดีว่า ค่าโดยสารรวมน้ำหนักกระเป๋าแบบถือขึ้นเครื่อง (Carry-on) ไม่เกิน 7 กิโลกรัม ต่อให้ไม่เลือกซื้อบริการเสริม ก็จะต้องเจอ ค่าธรรมเนียมที่เรียกว่า Processing Fee ในขั้นตอนชำระเงิน

ค่าธรรมเนียมดังกล่าว ถ้าจ่ายผ่านเคาน์เตอร์ร้านสะดวกซื้อ หรือไดเร็คเดบิต (Direct Debit) จากโมบายแบงกิ้งจะเสียค่าธรรมเนียม 107 บาทต่อเที่ยว แต่ถ้าใช้บัตร VISA หรือ Mastercard ต้องเจอค่าธรรมเนียม 128.40 บาทต่อเที่ยวบิน

ที่ผ่านมา Big Pay ใช้จุดขาย Zero Processing Fees ในการขยายฐานลูกค้า มาตั้งแต่สมัยที่แอร์เอเชียออกบัตรเติมเงินที่ชื่อว่า AirAsia BIG Prepaid Card ในมาเลเซีย จากปกติต้องเสียค่าธรรมเนียมราว 4 ถึง 16 ริงกิตต่อเที่ยวบิน 

แต่แล้วจุดขายดังกล่าวก็หายไป...

ปัจจุบันเที่ยวบินต้นทางและปลายทางมาเลเซีย ได้รับการยกเว้น Processing Fee ไปเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2562 เป็นต้นมา
เมื่อเดือนกันยายน 2562 คณะกรรมการการบินแห่งมาเลเซีย (MAVCOM) สั่งปรับแอร์เอเชีย และแอร์เอเชียเอ็กซ์ สายการบินละ 200,000 ริงกิต เนื่องจากคิดค่า Processing Fee แยกจากค่าโดยสารพื้นฐาน

ก่อนหน้านี้ MAVCOM กำหนดให้ทุกสายการบินในมาเลเซียยกเลิกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแฝง หนึ่งในนั้นคือค่า Processing Fee รวมทั้งธนาคารกลางมาเลเซีย ห้ามไม่ให้ร้านค้าเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม เมื่อชำระด้วยบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต

นับจากนั้น แอร์เอเชียจึงยกเลิกค่า Processing Fee สำหรับเที่ยวบินต้นทางและปลายทางมาเลเซีย ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2562 เป็นต้นมา ยกเว้นเที่ยวบินระหว่างประเทศแบบ Fly-Thru ต่อเครื่องที่มาเลเซีย

เที่ยวบินภายในประเทศมาเลเซีย เที่ยวบินต้นทางและปลายทางมาเลเซีย เช่น สิงคโปร์-กัวลาลัมเปอร์ หรือ ดอนเมือง-กัวลาลัมเปอร์ และเมืองอื่นๆ ในมาเลเซีย ไม่เสียค่า Processing Fee แล้ว

โดยในหน้าการชำระเงิน จะระบุโลโก้ BigPay พร้อมข้อความที่เหลือแต่ระบุว่า "ประหยัดกว่าเมื่อจองน้ำหนักสัมภาระและอาหาร แล้วชำระเงินด้วยบัตร BigPay"

เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวมาเลเซียนิยมเดินทางมายังประเทศไทย โดยเฉพาะเที่ยวบินดอนเมือง-กัวลาลัมเปอร์ มีมากถึงวันละ 10 เที่ยวบิน และกลายเป็นชาติที่มาท่องเที่ยวไทยอันดับหนึ่ง แซงหน้านักท่องเที่ยวจีน 

แต่เที่ยวบินในประเทศไทย และประเทศอื่นที่ไม่ใช่มาเลเซีย ยังคงเสียค่า Processing Fee ในราคาที่สูงเหมือนเดิม เว้นเสียแต่ว่าใช้เงินจากบัญชีเครดิต ที่ได้มาจากการยกเลิกเที่ยวบิน สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่มีค่า Processing Fee


Big Pay ให้บริการครั้งแรกในมาเลเซียเมื่อปี 2560 ก่อนขยายมายังประเทศสิงคโปร์ ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้งานบัตร Big Pay ประมาณ 1.4 ล้านคน

บริการของ Big Pay ครอบคลุมทั้งการชำระเงิน การโอนเงินระหว่างประเทศ การประกันภัยรายย่อย สินเชื่อส่วนบุคคล การวิเคราะห์การใช้จ่าย และสนับสนุนพฤติกรรมการออมผ่านการตั้งเป้าหมายการออมเงิน

จุดแข็งของ Big Pay ก็คือ การซื้อบัตรโดยสารแอร์เอเชีย ไม่มีค่า Processing Fee และมีส่วนลดพิเศษ และเมื่อใช้บัตร Big Pay ชำระค่าสินค้าและบริการจะได้รับอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีที่สุด ครอบคลุม 64 ล้านร้านค้าทั่วโลก

และยังมี บัตรเสมือน (Virtual card)ทำธุรกรรมออนไลน์ได้ทันทีที่เปิดบัญชี รวมทั้งบริการ Cross-border QR Paymentสแกนจ่ายได้ที่ร้านค้าในมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และไทย และรับคะแนน airasia points 2 เท่าเมื่อใช้จ่าย

ก่อนหน้านี้ แอร์เอเชียดิจิทัล เคยจะเตรียมนำ Big Pay มาให้บริการในประเทศไทย หลังซื้อกิจการ Gojek และ GoPay ในประเทศไทย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 แต่ก็ต้องเจอโรคเลื่อนมานานถึง 2 ปี

ในที่สุด ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้อนุญาตให้ บริษัท บิ๊ก เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ และให้บริการโอนเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา


ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บริษัท บิ๊ก เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 ทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่ 2 ล้านบาท ก่อนเพิ่มเป็น 102 ล้านบาทเมื่อ 13 มกราคม 2565

กรรมการบริษัท ประกอบด้วย นายผดุงศักดิ์ เลาหสุรโยธิน, นายซูบิน ราดา คริชนาน, นายมิตตะพล สิงห์ ซิทฮู และ นางสาวอภิฤดี ปรัชญาเศรษฐ ซึ่งข้อมูลจากเว็บไซต์ opencorporates.com พบว่านายผดุงศักดิ์ มีชื่อเป็นหุ้นส่วนบริษัทมากกว่า 50 บริษัท

แต่ที่น่าสนใจคือ ชื่อของ นายซูบิน ราดา คริชนาน เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม Big Pay ในมาเลเซีย และชื่อของ นางสาวอภิฤดี ปรัชญาเศรษฐ ปัจจุบันเป็น Country Head ของ Big Pay ประเทศไทย

ในกิจกรรม TFA Talk ของสมาคมฟินเทคประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 นางสาวอภิฤดีกล่าวในตอนต้นว่า “บิ๊กเพย์เป็นธุรกิจฟินเทค อยู่ที่มาเลเซียและสิงคโปร์ จะมาให้บริการประเทศไทยในอีก 2-3 เดือนที่จะมาถึง”

สอดคล้องกับข่าวจากกลุ่มแอร์เอเชีย ระบุว่า Big Pay มีแผนขยายธุรกิจสู่ประเทศไทย และขยายสู่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ในต้นปี 2567 โดยเลือก เธรดด์ (Thredd) เป็นแพลตฟอร์มขับเคลื่อนบริการชำระเงิน

Thredd เป็นผู้ให้บริการด้านการชำระเงิน การประมวลผลธุรกรรมเดบิต การเติมเงิน และบัตรเครดิต และให้บริการฟินเทค ธนาคารดิจิทัล รวมทั้งผู้ให้บริการทางการเงิน ตั้งแต่ผู้บริโภคไปจนถึงองค์กร ใน 44 ประเทศ

โดยได้รับการรับรองจาก Visa และ Mastercard ในการประมวลผลธุรกรรมทั่วโลก และมีสำนักงานในลอนดอน นิวคาสเซิล สิงคโปร์ และซิดนีย์ โดยมีพนักงานกระจายทำงานอยู่ทั่วโลก

การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจดิจิทัลของแอร์เอเชีย หากนักเดินทางที่เป็นขาประจำแอร์เอเชียได้ยินได้ฟังก็คงต้องลุ้นว่า Big Pay ของไทย เวลาจองตั๋วเครื่องบินแอร์เอเชีย จะไม่มีค่า Processing Fee หรือเปล่า?

ถ้าเป็นจริง คงน่าตื่นเต้นไม่แพ้โปรโมชัน BIG SALE ตั๋วเครื่องบินราคา 0 บาท ที่ได้รับความนิยมตลอดมา แต่ถ้ายังต้องจ่ายค่า Processing Fee นับร้อยบาทต่อเที่ยวบินเหมือนเดิม ความน่าสนใจจะลดลงทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น