กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ลาพักร้อนเที่ยวนี้ นอกจากจะไปเยือนเกาะปีนังแล้ว ก็แบ่งเวลาส่วนหนึ่งไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซียด้วย และการเดินทางเที่ยวนี้ส่วนใหญ่จะนั่งรถไฟเป็นหลัก
ที่ผ่านมา มาเลเซียเป็นประเทศที่ชอบอีกแห่งหนึ่ง แต่ไปได้แค่เกาะปีนัง บางปีผิดแผนไปได้แค่เมืองอลอร์สตาร์ แต่คราวนี้ตั้งใจว่าจะไปถึงเมืองหลวงของมาเลเซียอย่างกรุงกัวลาลัมเปอร์ให้ได้
เสียดายที่ไม่มีโอกาสไปเยือนถึงเมืองยะโฮร์บาห์รู ประตูสู่ประเทศสิงคโปร์ รวมทั้งเมืองรองอย่างอลอร์สตาร์ที่เคยไปแบบผิวเผิน เมืองอิโปห์ที่เป็นเพียงทางผ่าน และที่เพื่อนแนะนำอย่างเมืองมะละกา ก็เป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจ
เริ่มต้นจากหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก่อนหน้านี้เดินทางจากจังหวัดภูเก็ตด้วยรถบัส ออกจากสถานีขนส่งภูเก็ตแห่งที่สอง เวลา 22.30 น. ถึงสถานีขนส่งหาดใหญ่ 05.00 น. ค่าโดยสาร 462 บาท ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมงครึ่ง
จังหวัดหาดใหญ่ ประเทศซิดนีย์ ตามวลีของอดีตผู้นำประเทศคนหนึ่ง บรรยากาศยามเช้ามืดเงียบสงัดไร้ผู้คน มอเตอร์ไซค์รับจ้างบอกกับเราว่า วันนี้ถือว่ามาช้า เพราะปกติจะมาถึงเร็วกว่านี้ ประมาณ 04.30 น.
ไม่นานนักมาถึงสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ เวลานั้นผู้คนเริ่มทยอยมานั่งรอ แต่ห้องจำหน่ายตั๋วประจำวันยังไม่เปิด สักพักประมาณ 05.30 น. เจ้าหน้าที่เปิดไฟ เปิดคอมพิวเตอร์ สิบนาทีต่อมาจึงเปิดช่องขายตั๋ว
เช่นเคย เราซื้อตั๋วรถไฟขบวนรถด่วนที่ 947 ชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ด้วยราคา 50 บาท เสร็จแล้วรอประมาณ 10 นาที 6 โมงเช้าห้องสุขาและห้องอาบน้ำเปิด ได้เวลาอาบน้ำก่อนเตรียมตัวข้ามประเทศ
ยามเช้า รถเร็วขบวนที่ 171 กรุงเทพอภิวัฒน์ - สุไหงโก-ลก ที่ออกจากต้นทางเมื่อบ่ายโมงเศษวานนี้ มาถึงสถานีชุมทางหาดใหญ่ 07.15 น. จอดพักนานประมาณ 10 นาที ก่อนที่จะออกไปยังสถานีใต้สุดแดนสยาม
หลังจากนั้น ประมาณ 7 โมงเช้า ได้ยินเสียงประกาศเรียกขึ้นรถ จึงเดินข้ามรางรถไฟไปยังชานชาลาที่ 5 ขบวนนี้เป็นรถไฟชั้น 3 นั่งพัดลมทั้งขบวน แต่ยามเช้าของที่นี่อากาศเย็น มีหมอกเล็กน้อย กระทั่ง 07.30 น. รถออกจากสถานี
สาเหตุที่ยังคงต้องเดินทางด้วยรถไฟ เพราะรถตู้หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ คันแรกออก 07.30 น. อีกทั้งที่สถานีรถไฟปาดังเบซาร์ ฝั่งมาเลเซียยังคงปิดสะพานลอยฝั่งที่จะไปยังด่านตรวจคนเข้าเมือง ฝั่งมาเลเซีย
หากเดินทางด้วยรถตู้ไปลงหน้าด่านปาดังเบซาร์ นั่งมอเตอร์ไซค์ไปจ๊อบพาสปอร์ตแล้ว จะต้องต่อรถรับจ้างซึ่งเสียเงินในราคาที่สูงมาก การนั่งรถไฟเพื่อข้ามไปยังฝั่งมาเลเซียโดยตรง จึงเป็นวิธีที่สะดวกที่สุด
แม้รถไฟจะถึงสถานีปาดังเบซาร์ 08.30 น. แม้จะจ๊อบพาสปอร์ตฝั่ง ตม.ประเทศไทยแล้ว แต่ ตม.ฝั่งมาเลเซียอาจต้องรอเปิดเครื่องสักหน่อย ต่อแถวประมาณ 20 นาที จึงออกมาซื้อตั๋วรถไฟที่ชั้น 2 ของสถานี
ปัจจุบันการซื้อตั๋วรถไฟที่ปาดังเบซาร์ มีเครื่องคีออสที่สามารถซื้อตั๋วรถไฟได้เลย จ่ายผ่านบัตร VISA และ Mastercard แนะนำว่าถ้าครั้งแรกทำรายการไม่สำเร็จ ให้ลองใหม่อีกรอบ เพราะระบบอาจมีขัดข้องไปบ้าง
เราซื้อตั๋วรถไฟ KTM Komuter จากปาดังเบซาร์ ไปลงบัตเตอร์เวิร์ธ เพื่อข้ามไปยังเกาะปีนัง ค่าโดยสาร 11.40 ริงกิต (ประมาณ 88 บาท) รถไฟออกจากสถานี 10.35 น. (เวลามาเลเซีย) ถึงปลายทาง 12.30 น. รวมเวลา 2 ชั่วโมงเศษ
ปัจจุบัน รถไฟ KTM Komuter ขยายเส้นทางสายบัตเตอร์เวิร์ธ-ปาดังเรงกัส เพิ่มอีก 3 สถานี ได้แก่ สถานีกัวลากังซาร์ สถานีสุไหงสีพุท และสถานีอิโปห์ โดยมีรถให้บริการไป-กลับรวม 20 ขบวนต่อวัน
ถ้าซื้อตั๋วรถไฟจากปาดังเบซาร์ สามารถเลือกสถานีอิโปห์ได้ ค่าโดยสาร 21.30 ริงกิต (164 บาท) แล้วเปลี่ยนขบวนรถได้ที่สถานีบูกิตเมอร์ตาจัม แต่ต้องทำเวลาเปลี่ยนชานชาลาหน่อย เพราะห่างกันเพียงแค่ 6 นาทีเท่านั้น!
แต่ถ้าใช้เวลาสั้นที่สุด และสบายที่สุด แนะนำให้นั่งรถไฟ ETS ต่อเดียว แต่ค่าโดยสารแพงไปหน่อย 53-70 ริงกิต (408-538 บาท) พอๆ กับไปกัวลาลัมเปอร์ แต่เบาะนั่งสบายกว่า จอดน้อยกว่า และมีเคาน์เตอร์จำหน่ายอาหาร
วันต่อมา จากปีนังไปกรุงกัวลาลัมเปอร์ มีอยู่สองตัวเลือก ตัวเลือกแรกนั่งรถไฟ ETS จากบัตเตอร์เวิร์ธไปกัวลาลัมเปอร์ อีกวิธีหนึ่งคือนั่งรถบัสปรับอากาศจากสถานีขนส่งปีนังเซ็นทรัล ไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์
ตอนที่ลงจากสถานีบัตเตอร์เวิร์ธก็เห็นรถไฟ ETS จอดอยู่ที่ชานชาลา รวมทั้งอยู่บนเกาะปีนัง คนขับแกร็บที่พูดภาษาไทยได้แนะนำว่า ถ้าจะไปกัวลาลัมเปอร์ให้นั่งรถไฟ ETS จะสะดวกกว่า ช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอมยังไงตั๋วก็ไม่เต็ม
แต่พอมาดูตารางเดินรถไฟพบว่า รถไฟ ETS จากบัตเตอร์เวิร์ธถึงเคแอล เซ็นทรัล (KL Sentral) ช่วงเช้าจะมีรถไฟรอบ 05.15 น. 06.20 น. 07.50 น. แล้วกระโดดไป 12.45 น. เลย ซึ่งกว่าจะถึงกัวลาลัมเปอร์ก็ 5 โมงเย็น
สุดท้ายตัดสินใจนั่งรถทัวร์ปรับอากาศจากสถานีขนส่งปีนังเซ็นทรัลดีกว่า เพราะไม่ต้องรอถึงเที่ยง เดินทางออกจากเกาะปีนังโดยนั่งเรือเฟอร์รี่รอบ 09.30 น. และซื้อตั๋วรถทัวร์ ได้เวลาที่เร็วที่สุดคือ 10.30 น.
ที่เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วโดยสาร เราแจ้งว่าไปลงกัวลาลัมเปอร์ พนักงานขายตั๋วถามว่าจะไปลงที่ TBS (สถานีขนส่งกัวลาลัมเปอร์) หรือ เคแอลเซ็นทรัล (สถานีกลางกัวลาลัมเปอร์) เราเลือกอย่างหลัง ก็ทำการเลือกที่นั่ง
เมื่อถามชื่อ เรายื่นหนังสือเดินทางให้พนักงานขายตั๋ว ค่าโดยสาร 32 ริงกิต บวกค่าสิ่งอำนวยความสะดวก 1 ริงกิต เป็น 33 ริงกิต (254 บาท) พอได้ตั๋วแล้วจึงนำไปแสดงต่อพนักงานแสดงที่หน้าบันไดเลื่อน แล้วลงไปที่ชั้นล่าง
สถานีขนส่งปีนังเซ็นทรัลทำระบบปิดไว้ดีมาก คนที่อยู่ด้านล่างมีเฉพาะผู้โดยสาร ชานชาลาแบ่งออกเป็น 2 ประตู ให้สังเกตที่ตั๋วว่าเที่ยวที่เท่าไหร่ (Trip No.) ประตูที่เท่าไหร่ (Gate No.) ชานชาลาที่เท่าไหร่ (Platform) เทียบกับหน้าจอ
รถที่เราเดินทางเป็นของบริษัทบิลเลียนสตาร์ ปลายทางไปยังเมืองมัวร์ (Muar) รัฐยะโฮร์ รถออกตรงเวลา เบาะกว้างคล้ายกับรถนอน แอร์เย็นฉ่ำ ใช้เส้นทางออกจากบัตเตอร์เวิร์ธไปขึ้นทางด่วนสาย E1 มุ่งหน้ากัวลาลัมเปอร์
ทางด่วนแห่งนี้ก่อสร้างมานานแล้ว มีเพียง 4 ช่องจราจร ปกติเดินทางได้ดีไม่มีปัญหา แต่ถ้าเมื่อไหร่มีซ่อมบำรุงผิวทาง ก็จะต้องเจอรถติดนานประมาณ 20 นาทีถึงครึ่งชั่วโมง บนเส้นทางผ่านอุโมงค์ ผ่านภูเขา สวยงามระดับหนึ่ง
เมื่อถึงด่านเก็บเงินอิโปห์ รถจะจอดพักให้ผู้โดยสารลงไปเข้าห้องน้ำเป็นเวลาสั้นๆ เวลาตอนนั้นประมาณบ่ายโมง เพราะฉะนั้นแนะนำให้ทำธุระส่วนตัวที่ห้องน้ำให้เรียบร้อย เพราะไม่รู้ว่าจะเจอรถติดอีกไหม
จากด่านอิโปห์ ไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ ระยะทางอีกราว 200 กิโลเมตร มีป้ายบอกทางเป็นระยะ มองเห็นทางรถไฟยกระดับ เป็นรถไฟฟ้า MRT สายปุตราจายา แสดงว่าใกล้จะถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์แล้ว
ออกจากทางด่วนสาย E1 รถจะส่งผู้โดยสารจุดแรก ที่สถานีขนส่งเฮนเตียนดูตา ซึ่งเป็นสถานีขนส่งเล็กๆ ไปยังเมืองต่างๆ ในมาเลเซีย ก่อนที่จะส่งถึงสถานีเคแอลเซ็นทรัลในลำดับต่อมา โดยจอดที่ประตู KL City Air Terminal
รวมระยะเวลาเดินทางจากสถานีขนส่งปีนังเซ็นทรัล ถึงเคแอล เซ็นทรัล กรุงกัวลาลัมเปอร์ 5 ชั่วโมง
เมื่อมาถึงสถานีเคแอล เซ็นทรัล (KL Sentral) เข้ามาจากอาคาร KL City Air Terminal ก็สัมผัสได้ถึงความอลังการของสถานี แต่จะคึกคักเมื่อเดินเข้าไปยังทางเดินเล็กๆ ถึงบริเวณโถงตรงกลางสถานี
สถานีเคแอล เซ็นทรัล หรือสถานีกลางกัวลาลัมเปอร์ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2544 เป็นระยะเวลากว่า 22 ปีมาแล้ว ทดแทนสถานีรถไฟกัวลาลัมเปอร์ (เก่า) มีพื้นที่รวมกันกว่า 290,000 ตารางเมตร
เคยเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย จะเคลมว่า สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แต่ก็เทียบไม่ได้กับการเติบโตของสถานีเคแอล เซ็นทรัลเพราะที่นี่ถือเป็นแหล่งรวมการคมนาคมขนส่งทางราง มารวมไว้ในที่เดียวกัน ทั้งรถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง รถไฟเชื่อมสนามบิน รถไฟรางเบา (LRT) รถไฟรางเดี่ยว (Monorail)
นอกจากนี้ ยังมีจุดรับ-ส่งรถบัส มีอาคารสำนักงาน โรงแรมระดับ 4 ดาวและ 5 ดาว คอนโดมิเนียม และศูนย์การค้า แต่ละวันจะมีผู้คนสัญจรกันอย่างหนาแน่นวันละนับแสนคน
จากอาคาร KL City Air Terminal เดินมาถึงโถงกลางสถานี พบว่าจะมีประตูทางเข้าสถานีรถไฟต่างกัน เช่น รถไฟฟ้าชานเมือง KTM Komuter และ ETS อยู่ประตูหนึ่ง รถไฟฟ้า LRT สาย Kelana Jaya อยู่อีกประตูหนึ่ง
ส่วนรถไฟฟ้าเชื่อมสนามบิน KLIA Express และ KLIA Transit อยู่อีกประตูหนึ่ง โดยจะมีร้านฟาสฟู้ดอย่างแมคโดนัลด์ เบอร์เกอร์คิง และร้านสะดวกซื้อต่างๆ เปิดให้บริการในสถานีจำนวนมาก
ตรงเข้าไปจะเป็นบันไดเลื่อนขึ้นไปที่ ศูนย์การค้านู เซ็นทรัล (NU Sentral) ขนาด 6 ชั้น ชั้นใต้ดินอีก 3 ชั้น แมกเนตหลักก็คือ ซูเปอร์มาร์เก็ต แซม โกลเชอเรีย และโรงภาพยนตร์โกลเดน สกรีน ซีนีมา (GSC)
นอกจากนี้ ยังมีชั้นดาดฟ้าบริเวณชั้น 6 และบันไดเลื่อนหน้าศูนย์การค้าตกแต่งอย่างสวยงาม เป็นแลนด์มาร์คใหม่ที่นักท่องเที่ยวเป็นได้ต้องถ่ายรูปสวยๆ กลับไป
จากจุดนี้สามารถเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวได้หลากหลาย เช่น ตึกแฝดปิโตรนาส ทาวเวอร์ ไปได้ทั้งรถไฟฟ้า LRT สายเกอลานาจายา ลงที่สถานี KLCC หรือรถไฟโมโนเรล ไปลงที่สถานี Bukit Nanas แล้วเดินเท้า 10 นาที
แต่เครื่องคีออสจำหน่ายเหรียญโดยสารรับเฉพาะเหรียญ กับธนบัตร 1 ริงกิต และ 5 ริงกิตเท่านั้น ควรเตรียมธนบัตรย่อยให้พอดี เพราะเคยหยอดเหรียญไม่พอ หยอดธนบัตร 5 ริงกิต ปรากฎว่าทอนออกมาเป็นเหรียญ 50 เซนต์เพียบ
แนะนำว่าให้หาซื้อบัตร Touch N’Go จะเดินทางได้ในราคาประหยัดกว่า ใช้แอปฯ Google Maps นำทาง เซฟไฟล์ภาพแผนที่รถไฟฟ้าเก็บไว้ในมือถือเพื่อดูว่ารถไฟฟ้าสายนี้ไปถึงปลายทางที่ใด
ได้เวลากลับประเทศไทย เราจองตั๋วรถไฟ ETS ขากลับเอาไว้ เป็นขบวน EG9420 จากเคแอล เซ็นทรัล ถึงปาดังเบซาร์ รถออกจากสถานีเคแอล เซ็นทรัล 10.45 น. ค่าโดยสาร 74 ริงกิต (ประมาณ 570 บาท)
สำหรับการจองตั๋วรถไฟล่วงหน้า สามารถจองผ่านเว็บไซต์ https://online.ktmb.com.my/ หรือแอปพลิเคชัน KTMB ชำระผ่านบัตร VISA และ Mastercard ได้ทุกธนาคาร แนะนำว่าให้จองล่วงหน้าสัก 1 เดือนก่อนเดินทาง
ที่นั่งของรถไฟจะมีการหันไปข้างหน้าขบวนรถ และหันหลังให้กับขบวนรถ ทิศทางไปปาดังเบซาร์จะเริ่มต้นที่ขบวน F ก่อน จากนั้นจึงลงมาที่ขบวน E, D, C, B และ A ซึ่งเบาะที่นั่งจะไม่ต่างกันมากนัก
รถไป ETS จากสถานีเคแอล เซ็นทรัล ไปสถานีปาดังเบซาร์ จะมีรถไฟชั้น Business Class รถออกเวลามาเลเซีย 07.08 น. 09.50 น. 18.31 น. และ 22.50 น. ส่วนชั้น Gold Class ที่ถูกลงมาหน่อย รถออกเวลา 10.45 น.
ถ้ามีเวลาเหลือแนะนำให้ไปเดินดูสินค้าที่ระลึกของ การรถไฟมาเลเซีย (KTMB) มีทั้งเสื้อผ้าสวยๆ ตุ๊กตา พวงกุญแจ สายคล้องบัตร ออกแบบได้ทันสมัย แม้จะมีขายที่ช้อปปี้แต่ซื้อได้เฉพาะชาวมาเลเซียหรือผู้ที่พำนักในมาเลเซีย
ร้านจะอยู่ฝั่งประตูทางออก A ใกล้กับช่องจำหน่ายตั๋ว ETS รับชำระทั้งเงินสด และสแกนจ่ายผ่าน DuitNow QR ซึ่งพบว่าแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT ธนาคารกรุงไทยสามารถใช้สแกนจ่ายที่ร้านขายของที่ระลึกได้
หรือใครที่หิวแนะนำให้ไปที่แมคโดนัลด์ มีโจ๊กพร้อมกับแฮชบราวน์ขาย ทานแล้วพอให้อยู่ท้อง แมคโดนัลด์ที่นี่วิวดีสำหรับคนที่ชอบรถไฟ เพราะทานไปด้วย มองเห็นรถไฟรางเบา LRT วิ่งผ่านจากด้านบนไปด้วย
แต่แนะนำว่าถ้าจะกลับประเทศไทย เที่ยวเช้าเหมาะที่สุด ส่วนเที่ยวเย็นถึงปาดังเบซาร์หลังเที่ยงคืน และตีสี่เศษๆ คงไม่สนุกนักหากจะต้องรอด่านปาดังเบซาร์เปิดตอน 6 โมงเช้า และช่องขายตั๋วรถไฟไทยไปหาดใหญ่เปิดตอน 9 โมงเช้า
การเดินทางจากสถานีเคแอล เซ็นทรัล ผู้โดยสารจะต้องขึ้นบันไดเลื่อนไปที่ชั้น 2 ย้อนกลับไปทางซ้าย ประตูทางออก B ให้สังเกตป้ายระบุเลขขบวนและเวลาออก เช่น EG9420 Berlepas jam / Departure at 1045
แนะนำว่าให้มาถึงที่สถานีก่อนเวลารถออก 30 นาที เช่น เวลารถออก 10.45 น. ให้มาที่ประตูทางออก B เวลา 10.15 น. นำตั๋วรถไฟแสดงให้เจ้าหน้าที่ แล้วสแกนคิวอาร์โค้ดผ่านประตูเพื่อเข้าไปนั่งรอด้านใน
หลังจากที่นำตั๋วไปสแกนแล้วนั่งรอด้านใน ก่อนเวลารถออกประมาณ 10 นาที เจ้าหน้าที่จะชูป้ายนำขบวนให้ผู้โดยสารลงไปที่ชานชาลาชั้นใต้ดิน ให้เดินตามเจ้าหน้าที่ถือป้าย ประหนึ่งลูกทัวร์ท่านหนึ่ง
เมื่อลงไปที่ชานชาลาด้านล่างแล้ว ให้รอตามป้ายรถคันที่ A B C D E F เมื่อรถไฟมาถึง ให้ขึ้นตามประตูของรถแต่ละคัน ซึ่งรถไฟขบวนนี้ออกมาจากสถานีเกอมัส (Gemas) เมื่อเวลา 08.05 น. ที่ผ่านมา
เข้าไปในขบวนรถ มีที่วางกระเป๋าขนาดใหญ่อยู่ที่หน้าขบวน และช่องวางของเหนือศีรษะบริเวณด้านบน ทุกที่นั่งด้านหน้าจะเป็นโต๊ะพับได้สำหรับรับประทานอาหาร และมีหัวปลั๊กบริเวณใต้ที่นั่ง เป็นกล่องสีขาวๆ สำหรับชาร์จแบตเตอรี่
รถไฟปิดประตู ออกจากสถานีเคแอลเซ็นทรัลเวลาประมาณ 10.55 น. โผล่ออกจากสถานีมองเห็นแสงสว่าง เห็นสถานีรถไฟกัวลาลัมเปอร์ อายุมากกว่า 100 ปี ยังคงผสมผสานสถาปัตยกรรมภายนอกที่งดงาม
รถไฟ ETS คันนี้ตัวรถผลิตโดยบริษัท ซีเอสอาร์ จูโจว อิเล็กทริค โลโคโมทีฟ เมื่อปี 2558 มีอายุการใช้งานประมาณ 8 ปี มีสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งห้องน้ำที่ใช้สุขภัณฑ์แบบปิด พร้อมสายชำระ มีห้องละหมาดที่รถคันที่ C
มีหน้าจอแสดงผลบอกเวลา บอกความเร็ว บอกสถานีต่อไป ซึ่งพบว่าเมื่อออกนอกเมืองจะทำความเร็วประมาณ 110-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สักพักก็จะทำความเร็วได้สูงสุดกว่า 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
รถคันที่ C จะเป็นเคาน์เตอร์จำหน่ายอาหารพร้อมที่นั่งรับประทาน ราคาอาหารเริ่มต้นที่ 11 ริงกิต รับเฉพาะเงินสด แต่ด้วยความที่เข็ดเมนูนาซีเลอมัค เลยเอาข้าวผัดแบบจีน อร่อยใช้ได้แม้จะผ่านไมโครเวฟก็ตาม
เมนูที่จำหน่ายมีทั้งนาซีเลอมัคไก่แดง ผัดหมี่สไตล์มามัก ข้าวผัดแบบจีน ผัดหมี่หุ้นสิงคโปร์ ราคา 11 ริงกิต ข้าวกับไก่ผัดเนย ข้าวสวยกับผัดเปรี้ยวหวานปลาดอรี่ ข้าวกับผัดไก่เผ็ดเกาหลี ข้าวหมกเนื้อแกงเรนดัง ราคา 12 ริงกิต
ส่วนอาหารว่าง พบว่ามีทั้งแซนด์วิชทูน่าและแซนด์วิชชีส ราคา 5 ริงกิต บะหมี่ถ้วยราคา 4 ริงกิต มันฝรั่งกระป๋องละ 4 ริงกิต น้ำเปล่าขวดละ 2 ริงกิต เครื่องดื่มกระป๋องละ 3-4 ริงกิต เครื่องดื่มร้อนแก้วละ 3 ริงกิต
แม้จะรับเงินสดและคิวอาร์โค้ด DuitNow QR แต่พบว่าธนาคารของไทยไม่สามารถใช้สแกนจ่ายได้ แนะนำว่าพกเงินสดติดตัวไปด้วยดีกว่า บรรยากาศคล้ายรถเสบียงของรถไฟไทยแต่โต๊ะจะเล็กกว่าและมีเพียงแค่ 2-3 โต๊ะ
ถึงกระนั้น ก็มีคนที่มากันแบบครอบครัวนิยมนำอาหารใส่กล่องมากินเองเพื่อประหยัด บ้างก็ซื้อจากร้านสะดวกซื้อภายนอก ที่นั่งบางจุดมีโต๊ะรับประทานอาหาร ใครที่จองที่นั่งตรงนั้นก่อนถือว่าโชคดีไป
ส่วนตัวคิดว่าการจำหน่ายอาหารรถไฟ ETS ดีกว่ารถไฟไทยตรงที่ ขายกันแบบอะลาคาสต์ ไม่ได้ขายแบบเซต ซึ่งราคาแอบแรงพอสมควร ชุดละ 190 บาท แต่อาหารเป็นแบบไมโครเวฟ อายุการเก็บรักษาประมาณ 1 เดือน
แต่การได้มานั่งกินข้าวบนรถไฟ ชมบรรยากาศสองข้างทางรถไฟที่มีทั้งทุ่งนาและภูเขา บนรถปรับอากาศสบายๆ ก็น่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่น่าอภิรมย์ คลายความเบื่อล้าที่ต้องรอคอยรถไฟถึงสถานีปลายทาง
บรรยากาศสองข้างทางรถไฟมีจุดที่น่าตื่นตาตื่นใจ คือสถานีรถไฟอิโปห์ ที่มีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ อุโมงค์รถไฟช่วงเลยสถานีรถไฟปาดังเรงกัส และรถไฟลอยน้ำข้ามอ่างเก็บน้ำบูกิตเมอราห์ ช่วงเลยสถานีไทปิง
จากนั้นเมื่อจอดส่งผู้โดยสารที่สถานีนิบง เตบาล แล้ว รถไฟจะเปลี่ยนเส้นทางไปยังทางรถไฟสายปาดังเบซาร์ รับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีตาเสก เกลูกอร์ ผ่านสถานีซูไงปตานี สถานีอลอร์สตาร์ ที่ได้เห็นหอชมเมืองสูงเด่นมาแต่ไกล
เมื่อส่งผู้โดยสารที่สถานีอาเรา เป็นสถานีสุดท้าย ก่อนถึงสถานีปาดังเบซาร์ ซึ่งจะได้เห็นภูเขาแฝดที่ชื่อว่า เขาชาบัง เป็นสัญลักษณ์เมื่อครั้งมาเยือนมาเลเซียด้วยทางรถไฟจะได้พบเห็นก่อน
ก่อนถึงสถานีปาดังเบซาร์ ตามกำหนดจะต้องถึงสถานีเวลา 16.33 น. แต่ต้องหยุดเพื่อรอสับหลีกขบวน นานประมาณ 10 นาที กระทั่งขบวนรถเคลื่อนต่อเข้าสู่ชานชาลาที่ 2 ของสถานีปาดังเบซาร์เวลา 16.47 น.
ออกจากสถานี ให้นำตั๋วโดยสารที่มีอยู่นำคิวอาร์โค้ดไปสแกนเพื่อเปิดประตูออกจากสถานี หากไม่มีจะต้องถูกปรับ 100 ริงกิต (ประมาณ 770 บาท) ระหว่างนั้นก็พบเห็นรถตู้ไปหาดใหญ่ชักชวนผู้โดยสารว่าเป็นรถเที่ยวสุดท้าย
ขณะนั้นตามกำหนดการเดินรถไฟ ขบวนรถด่วนที่ 950 ปาดังเบซาร์-ชุมทางหาดใหญ่ จะต้องออกจากสถานีเวลา 16.40 น. ตามเวลามาเลเซีย ด้วยความเร่งรีบจึงเดินไปที่เคาน์เตอร์ขายตั๋ว ถามว่าทันไหน ได้คำตอบว่า “ต้องลุ้น”
จ่ายค่าตั๋วรถไฟ 50 บาทแล้ว รีบลงบันไดไปด้านล่าง เพื่อประทับตราออกจากมาเลเซียก่อน แล้วประทับตราเข้าประเทศไทย ตม.ผู้หญิงเห็นเราหอบแฮกก็บอกว่าใจเย็นๆ หลังประทับตราเสร็จเดินออกไปขึ้นรถไฟทันที
โชคดีที่เจ้าหน้าที่รถไฟไทยหยุดรอผู้โดยสารขบวนรถ ETS จากมาเลเซีย จนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีผู้โดยสารขึ้นมาอีก รถจึงออกจากสถานีปาดังเบซาร์ 17.00 น. ตามเวลามาเลเซีย เข้าสู่ประเทศไทยต่อไป
รถไฟถึงสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่เวลา 17.05 น. ล่าช้าไป 30 นาที รถจอดที่ชานชาลาที่ 5 ต้องเดินลงบันไดไปยังทางเดินใต้ดินแล้วขึ้นมาบนสถานี สิ่งแรกที่จัดการคืออาบน้ำ เตรียมกลับกรุงเทพฯ ไฟล์ทดึกที่สนามบินหาดใหญ่ต่อไป
เห็นขบวนรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์ ขบวนที่ 32 ชุมทางหาดใหญ่-กรุงเทพอภิวัฒน์จอดอยู่ชานชาลาที่ 1 ออกจากสถานี 17.45 น. ใครที่จองตั๋วเอาไว้แล้วต้องลุ้นนิดๆ ถึงกรุงเทพฯ ประมาณเที่ยงของอีกวัน แนะนำให้อาบน้ำก่อน
การเดินทางด้วยรถไฟมาเลเซีย แม้ปัจจุบันจะพัฒนาบริการให้ทันสมัย เผลอๆ มากกว่ารถไฟไทยด้วยซ้ำ แต่สำหรับชาวต่างชาติ การบริการอาจจะมีความขลุกขลักไปบ้าง
สิ่งหนึ่งที่ต้องเตรียม นอกจากพกเงินสดจำนวนหนึ่งแล้ว การใช้บัตร VISA และ MasterCard ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือที่นิยมกันมากคือบัตร Travel Card ที่อัตราแลกเปลี่ยนดีกว่า ก็ถือว่าลดการพกเงินสดจำนวนมากๆ
ช่องทางจำหน่ายตั๋วรถไฟทั้งเครื่องคีออส เว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน ต่างรองรับบัตรเหล่านี้ แต่บริการบางอย่าง เช่น เคาน์เตอร์จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มบนขบวนรถ คนไทยยังคงต้องชำระด้วยเงินสด เพราะ DuitNow QR ไม่รองรับ
ส่วนการจองที่พัก แม้ย่านสถานีเคแอล เซ็นทรัล ฝั่งตรงข้ามศูนย์การค้า NU Sentral จะมีห้องพักมากมาย แต่ต้องดูเรื่องความสะดวกสบายกับราคาที่ต้องจ่าย ซึ่งสามารถศึกษาได้จากรีวิวขณะเลือกโรงแรมที่พัก
อย่างของผู้เขียนจองโรงแรมแห่งหนึ่ง ติดกับสถานีรถไฟฟ้าโมโนเรล ราคาเริ่มต้นที่ 135-220 ริงกิต แต่จองผ่าน OTA รายหนึ่งได้ราคาประมาณ 1,100 บาทเศษ ซึ่งราคานี้รวมค่าภาษีโรงแรมสำหรับชาวต่างชาติแล้ว ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม
ที่สำคัญ ระวังทรัพย์สินมีค่า โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือและหนังสือเดินทาง อย่าไปในสถานที่แปลกๆ ที่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวหรือช้อปปิ้ง รวมทั้งศึกษาและรับรู้เรื่องมารยาท สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำเมื่ออยู่ในประเทศมาเลเซีย
สิ่งที่เล่าให้ฟังทั้งหมดนี้ คงพอเป็นประโยชน์สำหรับคนที่วางแผนเดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะกรุงกัวลาลัมเปอร์ กับเกาะปีนังด้วยรถไฟ และรถทัวร์ปรับอากาศ จะได้เตรียมความพร้อมเอาไว้ก่อน
ดูแลตัวเองดีๆ ขอให้มีความสุขกับการเดินทางในสถานที่แปลกหูแปลกตา ด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลาย เก็บเกี่ยวประสบการณ์และความทรงจำดีๆ รวมถึงของฝาก ขนมและเครื่องดื่มอร่อยๆ กลับไป
หวังไว้ในใจว่ายังมีเมืองอื่นนอกเหนือจากสองเมืองใหญ่ ที่รอให้เราสัมผัสในโอกาสต่อไป