กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เมื่อวันก่อนมีโอกาสลาพักร้อนไปเกาะปีนัง และกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียผ่านทางรถไฟที่สถานีปาดังเบซาร์เช่นเคย เลยถือโอกาสได้ทดลองใช้ระบบการชำระเงินของที่นั่นไปด้วย
มาเลเซียเริ่มพัฒนาระบบการชำระเงินที่เรียกว่า DuitNow (ดูอิทนาว) มาตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 โดยลูกค้าธนาคารสามารถโอนเงินหากันผ่านโมบายแบงกิ้ง และอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง โดยใช้เลขที่บัตร MyKad หรือเบอร์มือถือ
ต่อมามีการพัฒนา DuitNow QR (ดูอิทนาว คิวอาร์) เพื่อให้ผู้ค้าสามารถรับเงินจากลูกค้าด้วยมาตรฐานเดียวกันทุกธนาคาร หลังจากที่ผ่านมาผู้ค้าประสบปัญหาแบกรับต้นทุนค่าธรรมเนียมจากผู้ให้บริการแต่ละราย
ปัจจุบัน มีสถาบันการเงินและผู้ให้บริการอี-วอลเล็ตที่รองรับระบบ DuitNow QR จำนวน 39 แห่ง และมีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการกว่า 1.8 ล้านแห่งทั่วประเทศมาเลเซีย
นอกจากนี้ ยังให้บริการ QR Cross-border Payment การชำระเงินข้ามแดนผ่านคิวอาร์โค้ด รองรับโครงสร้างระบบชำระเงิน NETS ของประเทศสิงคโปร์, PromptPay ของประเทศไทย และ QRIS ของประเทศอินโดนีเซีย
ขณะนี้มีแอปพลิเคชัน 4 ธนาคาร ใช้สแกนจ่ายได้ที่ประเทศมาเลเซีย ได้แก่ Krungthai NEXT ธนาคารกรุงไทย, KMA ธนาคารกรุงศรีฯ, Bangkok Bank ธนาคารกรุงเทพ และ CIMB THAI ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย
แต่จากการทดลองด้วยตัวเอง พบว่าแม้แอปพลิเคชันธนาคารของไทย จะสามารถสแกนจ่าย DuitNow QR ได้ แต่ไม่ใช่กับทุกธนาคาร และทุกสถาบันการเงินของมาเลเซีย
ผู้เขียนทดลองใช้แอปพลิเคชันธนาคารแห่งหนึ่งสแกนจ่ายผ่าน DuitNow QR ไป 3 แห่ง เริ่มจากแห่งแรก ร้าน Rail Boutique ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกของการรถไฟมาลายา (KTM Berhad) ที่สถานี KL Sentral กรุงกัวลาลัมเปอร์
เราถามว่าที่ร้านรับบัตรเครดิตไหม พนักงานแจ้งว่ารับเฉพาะเงินสด และคิวอาร์โค้ด ก่อนแบมือไปที่ DuitNow QR ที่อยู่หน้าประตู เราก็ใช้แอปพลิเคชันธนาคารของไทยสแกนจ่าย กรอกตัวเลข ซึ่งทำรายการได้ตามปกติ
ปัญหาก็คือ เมื่อทำรายการสำเร็จไม่มี e-Slip ข้อความเป็นภาษาไทย พนักงานร้องขอให้แปลข้อความบนหน้าจอ ก็ตอบไปว่าทำรายการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดสำเร็จ จำนวนเท่าไหร่ คิดเป็นเงินไทยเท่าไหร่
ความจริงน่าจะพัฒนาให้มี e-Slip และระบุข้อความเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้ร้านค้าเป็นที่ยอมรับง่ายขึ้น เพราะบางทีมือถือที่ใช้ทำธุรกรรมร้านค้าไม่ได้อยู่กับตัวเจ้าของร้าน พนักงานต้องถ่ายรูปหน้าจอ ส่งไปให้เจ้าของร้านอีกที
แห่งที่สอง ร้านอาหารข้างโรงแรมที่พัก ละแวกสถานี KL Sentral ก็ทำรายการสแกนจ่ายตามปกติ แต่พบว่าบัญชีหักเงินไปแล้ว ทางร้านค้ากลับไม่ได้รับการแจ้งเตือนว่ามีเงินเข้า แถมไม่มี e-Slip เป็นหลักฐานให้ดูอีก
พอร้านค้าถามหาหลักฐาน ก็ต้องเปิดแอปฯ ธนาคารของไทย เปิดดูรายการย้อนหลัง แต่ก็พบว่าระบุเพียงชื่อผู้รับเงิน รหัสผู้รับเงิน และยอดเงินที่หักเป็นเงินไทย ไม่ระบุจำนวนเงินริงกิต โชคดีที่ทางร้านเข้าใจและปล่อยผ่านไปได้
ปัญหานี้คล้ายกับการสแกนจ่ายผ่านแอปฯ Alipay ที่ประเทศจีน ฝั่งลูกค้าตัดบัตรเครดิตไปแล้ว แต่ฝั่งร้านค้าเงินยังไม่เข้า ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาประมวลผลพอสมควร บางครั้งต้องรอประมาณ 10-20 นาทีเงินถึงจะเข้ามา
แห่งที่สาม เคาน์เตอร์จำหน่ายอาหารบนรถไฟ ETS ระหว่างสถานี KL Sentral ถึงสถานีปาดังเบซาร์ พบว่าพอสแกนคิวอาร์โค้ดไปแล้วกลับระบุว่า “ไม่สามารถทำรายการได้” แม้จะเปลี่ยนแอปพลิเคชันธนาคารอื่นก็ใช้ไม่ได้อีก
โดยสรุปก็คือ แม้แอปพลิเคลันธนาคารของไทยจะใช้ DuitNow ในประเทศมาเลเซียได้ แต่ไม่ใช่ทุกคิวอาร์โค้ด จึงยังคงแนะนำให้พกเงินสดติดตัวไปด้วย เพราะหากสแกนจ่ายไม่ได้ก็ต้องใช้เงินสดชำระเงินอยู่ดี
ถามว่าพกเงินสดเท่าไหร่จึงจะพอดี แนะนำว่าให้แลกเงินไปสัก 100 ริงกิตก็ได้ เผื่อบางโรงแรมคิดค่ามัดจำห้อง 50 ริงกิต จะได้รับคืนเมื่อเช็กเอาต์ รวมถึงอาจต้องจ่ายภาษีที่พักสำหรับชาวต่างชาติ กรณีที่ไม่ได้บวกไว้ตอนจองที่พัก
รวมถึงใช้ขึ้นรถเมล์ หากไม่ได้เป็นชาวมาเลเซียที่มีบัตรรถเมล์ ก็ต้องจ่ายด้วยเงินสดโดยการหย่อนใส่กล่องที่ด้านข้างคนขับรถ ถ้าไม่มีเศษเหรียญต้องหย่อนธนบัตร 1 ริงกิตที่มีอยู่ใส่กล่องแบบเต็มๆ ไม่มีเงินทอนอีก
หรือบางครั้งอาจต้องใช้จ่ายตามร้านค้าหรือบริการที่รับเฉพาะเงินสด เช่น เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ รับเฉพาะธนบัตรเพื่อแลกเป็นเหรียญ สำหรับหยอดเครื่องซักผ้า และเครื่องอบผ้าโดยเฉพาะ
แต่ถ้าไม่ได้แลกเงินมาเลย มีธนาคารอยู่ 2 แห่ง ที่สามารถใช้บัตรเดบิตถอนเงินสดจากธนาคารนั้นๆ ได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ทั้งฝั่งธนาคารผู้ออกบัตรและธนาคารเจ้าของเครื่อง ได้แก่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย และธนาคารยูโอบี
ส่วนบัตรยูทริป (YouTrip) ที่ออกบัตรร่วมกับธนาคารกสิกรไทย ช่วงนี้ฟรีโปรโมชันถอนเงินสดที่ต่างประเทศ ถึง 31 ธันวาคม 2566 มีตู้เอทีเอ็มถอนเงินสดได้ฟรี 2 แห่ง ได้แก่ CIMB BANK และ MAYBANK
สำหรับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรเติมเงิน (พรีเพดการ์ด) ของไทย สามารถใช้ได้ที่ประเทศมาเลเซีย ทั้ง VISA และ Mastercard โดยมีร้านค้า ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และบริการเรียกรถรองรับ
แต่แนะนำว่าให้ใช้บัตรที่มี ระบบแตะจ่ายไร้สัมผัส (Contactless) เช่น VISA Paywave หรือ Mastercard PayPass เพื่อความสะดวก เนื่องจากร้านค้าในมาเลเซียนิยมใช้งานเครื่อง EDC ในการแตะเพื่อจ่าย
ปัจจุบันเริ่มมีการนำมาใช้กับระบบขนส่งมวลชนบางแห่ง เช่น รถไฟ KTM สามารถใช้บัตร VISA และ Mastercard ซื้อตั๋วรถไฟ Komuter และ ETS ได้ที่เครื่องคีออสภายในสถานี แต่ต้องเป็นบัตรที่รองรับระบบ Contactless
สำหรับผู้เขียน ใช้บริการที่สถานีรถไฟปาดังเบซาร์ เพื่อไปต่อรถไฟ KTM Komuter มาแล้ว 2 ครั้ง โดยมีให้บริการอยู่ 2 เครื่อง แต่ต้องใจเย็นๆ ถ้าครั้งแรกทำรายการไม่สำเร็จ ให้ลองใหม่อีกรอบ เพราะระบบอาจมีขัดข้องไปบ้าง
หรือจะเป็นท่าเรือเฟอร์รี่ บัตเตอร์เวิร์ธ-จอร์จทาวน์ (Butterworth – George Town) รัฐปีนัง ไม่รับเงินสดมาตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ถ้ามีบัตร VISA กับ Mastercard ก็สามารถจ่ายค่าเรือเฟอร์รี่ได้ทันที ในราคา 2 ริงกิต
ส่วนสถานีขนส่ง Penang Sentral เวลาซื้อตั๋วรถทัวร์ไปกรุงกัวลาลัมเปอร์ รับชำระเงินด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน แนะนำว่าให้ไปลงที่ KL Sentral จะไปไหนมาไหนง่ายกว่า เพราะสถานีขนส่ง TBS อยู่ห่างไกลออกไปจากเมือง
แต่สำหรับรถไฟโมโนเรล และรถไฟ LRT ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ถ้าไม่มีบัตร Touch 'n Go ยังคงต้องจ่ายเงินสด ซึ่งค่าโดยสารแพงกว่า รับเฉพาะเหรียญกับธนบัตร 1 ริงกิต และ 5 ริงกิตเท่านั้น เพราะเครื่องจะทอนเงินด้วยเหรียญทั้งหมด
สอบถามคนที่ไปมาเลเซีย ทราบว่าบัตร Touch 'n Go มีจำหน่ายตามซุ้มทางด่วน และปั๊มน้ำมันที่เข้าร่วมบางแห่ง รวมทั้งฮับขนส่งบางแห่งที่ผู้ให้บริการบังคับหรือให้ใช้ เช่น MRT หรือสถานีขนส่งบางแห่ง
ปิดท้าย ได้มีโอกาสคุยกับคนขับแกร็บในปีนัง เขากล่าวว่าเป็นคนที่ไม่ชอบใช้บัตรเครดิต เพราะที่มาเลเซียมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยเพียง 20 วัน (บัตรเครดิตที่ออกในประเทศไทย มีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย 45-50 วัน)
เขากล่าวว่า ส่วนตัวนิยมใช้ WISE มากกว่า ถ้าต้องการใช้บัตรรูดจ่ายที่ต่างประเทศก็เติมเงินลงไป เวลาเข้ามาเที่ยวที่ประเทศไทย นำไปใช้ที่หาดใหญ่ จ.สงขลา อย่างห้างเซ็นทรัล หาดใหญ่ ก็รับบัตรได้ไม่มีปัญหา
ส่วนอีกเจ้าหนึ่งที่เขาแนะนำก็คือ BIG PAY ซึ่งเป็นของกลุ่มสายการบินแอร์เอเชีย น่าเสียดายที่ไม่มีให้บริการในประเทศไทย เพราะเวลาจองตั๋วเครื่องบินแอร์เอเชียจะไม่มีค่า Processing Fee เมื่อเทียบกับช่องทางอื่น
จากที่สัมผัสประสบการณ์สังคมไร้เงินสดที่มาเลเซีย บอกตามตรงว่าแม้เทคโนโลยีบางอย่างจะมาทีหลัง เช่น คิวการชำระเงินผ่านอาร์โค้ด ที่ประเทศไทยพัฒนาก่อน แต่เทคโนโลยีการเงินบางอย่างกลับนำหน้ากว่าไทย
หนึ่งในนั้นคือระบบการชำระเงินผ่าน Apple Pay ประเทศมาเลเซียมีแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่มี ทั้งที่มีผู้ใช้ไอโฟนในไทยจำนวนมาก ต้องเสียเงินออกบัตรจากต่างประเทศ จึงยังคงรอคอยอย่างไม่คาดหวัง