xs
xsm
sm
md
lg

ยลโฉมรถไฟชั้น 3 ติดแอร์ กรุงเทพฯ-ปราจีนบุรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทย พ่วงตู้ปรับอากาศในขบวนรถชานเมืองเส้นทางสายตะวันออกเพิ่ม ขบวนที่ 371/372 กรุงเทพ (หัวลำโพง)-ปราจีนบุรี หลังนำร่องเพิ่มตู้ปรับอากาศพ่วงกับขบวนรถชานเมือง ขบวนที่ 389/390 กรุงเทพ (หัวลำโพง)-ชุมทางฉะเชิงเทรา ไปก่อนหน้านี้

ทราบมาว่า หลังจากเพิ่มตู้ปรับอากาศพ่วงกับขบวนรถชานเมือง กรุงเทพ-ชุมทางฉะเชิงเทรา ขบวน 389 ที่ออกจากสถานีกรุงเทพตอน 12.10 น. และเที่ยวกลับ ขบวน 390 ออกจากสถานีชุมทางฉะเชิงเทราตอน 14.05 น. ไปตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา พบว่าได้รับผลตอบรับที่ดี มีผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

มาคราวนี้ก็เลยนำรถปรับอากาศชั้น 3 ที่ปรับปรุงใหม่ มาให้บริการกับขบวน 371 ออกจากสถานีกรุงเทพตอน 17.40 น. และเที่ยวกลับ ขบวน 372 ออกจากสถานีปราจีนบุรีตอน 05.00 น. ถือเป็นหนึ่งในสี่ขบวนของสายตะวันออกที่ออกหลังเวลาราชการ และเป็นหนึ่งในสามขบวนที่มีกำหนดถึงสถานีกรุงเทพ หรือหัวลำโพงก่อนเวลาราชการ

ทำให้ปัจจุบัน รถไฟสายตะวันออก มีรถปรับอากาศให้บริการไป-กลับรวม 6 ขบวน ได้แก่ ขบวนที่ 997/998 กรุงเทพ-บ้านพลูตาหลวง-กรุงเทพ เป็นขบวนรถพิเศษโดยสาร เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2561 เดินรถเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว กระทั่งผ่านมาปีนี้ เพิ่มขบวนที่ 389/390 และล่าสุดขบวนที่ 371/372


ความแตกต่างระหว่างทั้งสามขบวนก็คือ ขบวนที่ 997/998 ใช้รถดีเซลรางสปรินเตอร์ สลับกับรถดีเซลรางแดวู ส่วนขบวนที่ 389/390 ใช้รถดีเซลรางนั่งปรับอากาศชั้นที่ 2 (กซม.ป.) รองรับผู้โดยสารได้ 62 ที่นั่ง แต่ขบวนที่ 371/372 ใช้รถโบกี้ชั้นที่ 3 ปรับอากาศ (บชส.ป.) นำมาให้บริการ เบาะนั่งแข็งๆ เหมือนรถไฟชั้น 3 รองรับผู้โดยสารได้ 80 ที่นั่ง

ในช่วงปี 2530-2535 การรถไฟฯ ปรับปรุงรถโบกี้ชั้นที่ 3 ธรรมดาให้กลายเป็นรถปรับอากาศจำนวน 5 คัน แล้วนำมาให้บริการในบางเส้นทาง ปัจจุบันทราบมาว่า รถที่ผ่านการปรับปรุงใหม่และใช้การได้ขณะนี้มี 2 ขบวน ได้แก่ บชส.ป.2 นำมาให้บริการเส้นทางกรุงเทพ-ปราจีนบุรี และ บชส.ป.10 ส่วนอีก 4 ขบวนกำลังทำวาระปรับปรุงสภาพใหม่

ต้องรอลุ้นว่าหลังปรับปรุงสภาพใหม่หมดจด 4 ขบวนที่ว่านี้ จะได้ไปประจำการขบวนไหน เพราะการรถไฟฯ มีแผนที่จะพ่วงตู้โดยสารปรับอากาศกับขบวนรถชานเมืองเส้นทางอื่น เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้กับผู้โดยสารขบวนรถเชิงสังคม ควบคู่กับการตรวจเช็คและปรับปรุงตู้โดยสาร เพื่อนำมาเปิดให้บริการประชาชนได้อย่างเพียงพอ






กล่าวถึงขบวนรถธรรมดาที่ 371 กรุงเทพ-ปราจีนบุรี ที่ผู้เขียนใช้บริการด้วยตัวเองไปเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา พบว่ารถที่นำมาให้บริการเป็น บชส.ป.2 ปรับปรุงสภาพใหม่ ตั้งแต่ทำสีรถใหม่ทั้งคัน ประตูแบบคันโยก และประตูเป็นสปริงดีดปิดอัตโนมัติ ก่อนเข้ามาด้านในขบวนรถ เบาะทำใหม่จากสีเทาเป็นสีน้ำเงิน และติดม่านสีส้มอ่อนที่หน้าต่าง

เครื่องปรับอากาศจะติดอยู่ด้านบนของขบวน โดยมีพัดลมช่วยเพิ่มความเย็น สามารถเปิด-ปิดได้ด้วยตัวเอง มีที่วางสัมภาระบริเวณด้านบนของที่นั่งเหนือศีรษะ รองรับผู้โดยสารได้ 80 ที่นั่ง มีห้องน้ำให้บริการ 2 ห้อง เป็นสุขภัณฑ์แบบนั่งยอง พร้อมด้วยอ่างล้างมือ ด้านในห้องน้ำทาสีใหม่เป็นสีครีม เรียกได้ว่าใหม่หมดจดทั้งคัน

ขบวนรถที่ 371 และ 372 ไม่สามารถจองตั๋วผ่านระบบ D-Ticket ได้ ต้องซื้อตั๋วที่สถานีรถไฟ ซึ่งจะเปิดขายประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนเวลารถออก หรือหากขึ้นจากที่หยุดรถกลางทาง เช่น ที่หยุดรถพญาไท (BTS พญาไท) ที่หยุดรถอโศก (MRT เพชรบุรี) หรือที่หยุดรถสุขุมวิท 71 (ถนนรามคำแหง) ก็สามารถซื้อตั๋วได้จากพนักงานบนรถไฟโดยตรง

วันนั้นมาถึงหัวลำโพงบ่ายสองโมง พนักงานที่คอยอำนวยความสะดวกถามว่าจะไปไหน แจ้งว่าไปปราจีนบุรี แต่จะนั่งรถแอร์ ก็ไปถามพนักงานที่ช่องขายตั๋วโดยสารว่าเปิดขายไหม ก่อนให้เข้าไปซื้อตั๋ว เธอกล่าวว่า “เป็นผู้โดยสารคนแรกนะเนี่ย” เมื่อถามว่าปกติต้องซื้อตั๋วล่วงหน้าเท่าไหร่ก่อนรถออก ได้รับคำตอบว่า จะเปิดขายประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนรถออก






ค่าโดยสารรถโบกี้ชั้นที่ 3 ปรับอากาศ จากกรุงเทพฯ ไปปราจีนบุรี อยู่ที่ 86 บาท แต่พอขึ้นไปบนขบวนรถ ถามน้องที่นั่งเบาะตรงข้ามว่าซื้อตั๋วตอนกี่โมง ก็ตอบว่าประมาณ 5 โมงเย็น ทราบว่าไปลงที่สถานีลาดกระบัง ค่าโดยสาร 23 บาท และด้วยความสงสัย ถามพนักงานบนรถว่าถ้าจะไปฉะเชิงเทราคิดค่าโดยสารเท่าไหร่ ก็ตอบว่า 40 บาท

แสดงว่าค่าโดยสารช่วงกรุงเทพ-ชุมทางฉะเชิงเทรา ใช้อัตราพิเศษเหมือนกับขบวน 389/390 เริ่มต้นที่ 20 บาท สูงสุด 40 บาท แต่ช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา ถึงปราจีนบุรี จะบวกค่าโดยสารเพิ่มจากรถชั้น 3 ปกติอีก 60 บาท ทำให้ค่าโดยสารจากกรุงเทพฯ ไปลงปลายทางช่วงที่หยุดรถโพรงอากาศ ถึงปราจีนบุรี จากปกติ 16-26 บาท จะอยู่ที่ 76-86 บาท

แต่ก็ถือว่าถูกกว่ารถมินิบัสปรับอากาศ กรุงเทพฯ-องครักษ์-ปราจีนบุรี ปัจจุบันค่าโดยสาร 140 บาท หรือถูกกว่า 54 บาท แต่ข้อเสียคือรถปรับอากาศมีเพียงแค่ขบวนเดียว คือ ออกจากกรุงเทพฯ 17.40 น. กว่าจะถึงปราจีนบุรีก็ราวสองทุ่มครึ่งนิดๆ แต่ก็พอกับรถมินิบัสที่ต้องฝ่าการจราจรติดขัดบนถนนรังสิต-นครนายก ยาวไปถึงคลองสิบเอ็ด

คงมีคนสงสัยว่า รถโบกี้ชั้นที่ 3 ปรับอากาศ แอร์ไม่ออกเหรอ พบว่าหน้าต่างทุกบานเปิดออกไม่ได้ และประตูถูกติดตั้ง 2 ชั้น โดยชั้นแรกเปิดด้วยคันโยกแล้วดึงขึ้น ผลักออก ถัดจากห้องน้ำไปแล้วจะมีประตูอีกชั้นหนึ่ง เป็นประตูสปริง เปิดแล้วปิดโดยอัตโนมัติ และถ้าอากาศยังไม่เย็นมากพอ มีพัดลมให้เปิดเสริมคลายความร้อนอีกด้วย






รถออกจากสถานีกรุงเทพ หรือหัวลำโพงตรงเวลา บนรถมีผู้โดยสารประมาณ 18 คน ก่อนจะมีผู้โดยสารทยอยขึ้นจากที่หยุดรถพญาไท จอดรอสับเปลี่ยนที่สถานีมักกะสัน ที่ชัดเจนที่สุดก็คือป้ายหยุดรถอโศก ชาวออฟฟิศหลังเลิกงานขึ้นกันมาก ตามมาด้วยสถานีคลองตัน ป้ายหยุดรถสุขุมวิท 71 สถานีหัวหมาก สถานีบ้านทับช้าง

ถ้าใครที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงที่หยุดรถซอยวัดลานบุญ ถือว่าโชคดีที่ไม่ต้องไปขึ้นรถไกลถึงสถานีลาดกระบัง เพราะจอดรับ-ส่งผู้โดยสารตรงนี้ โดยขาเข้ากรุงเทพฯ รถจะจอดเวลา 07.13 น. และขากลับกรุงเทพฯ รถจะจอดเวลา 18.28 น. โดยประมาณ และจากที่หยุดรถ เดินเท้าไปยังปากซอยลาดกระบัง 1 ระยะทาง 850 เมตร ใช้เวลาเดินเท้า 10 นาที

เมื่อมาถึงสถานีลาดกระบัง ผู้โดยสารลงจากรถจำนวนมาก แต่ก็ยังเหลือผู้โดยสารที่ไปลงฉะเชิงเทราพอสมควร ผ้านป้ายหยุดรถพระจอมเกล้า สถานีหัวตะเข้ สถานีคลองหลวงแพ่ง ก่อนเข้าเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา จอดที่หยุดรถคลองอุดมชลจร สถานีเปรง ที่หยุดรถคลองแขวงกลั่น สถานีคลองบางพระ ที่หยุดรถบางเตย

ช่วงระหว่างสถานีหัวตะเข้เป็นต้นไป เป็นช่วงตะวันตกดิน มองไม่เห็นอะไรเพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นทุ่งนา ที่หยุดรถบางแห่งมีสภาพรกร้างและเปลี่ยว ใครที่ลงจากรถไฟต้องเดินให้เร็วที่สุด บางแห่งอย่างที่หยุดรถคลองแขวงกลั่นดูน่ากลัวเพราะเคยมีอุบัติเหตุใหญ่ แม้กรมทางหลวงชนบทจะติดไฟฟ้าส่องสว่างและแผ้วถางพื้นที่ให้โล่งเตียนก็ตาม






เมื่อเลยที่หยุดรถบางเตย เจ้าหน้าที่เรียกให้คนที่ซื้อตั๋วไปฉะเชิงเทราเตรียมตัวลงจากขบวนรถ ผู้คนก็ทยอยลุกออกจากที่นั่ง เก็บข้าวของ แล้วลงจากรถ ถึงสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา 19.25 น. ล่าช้ากว่ากำหนด 19.20 น. เล็กน้อย ประมาณ 5 นาที หลังจากนั้น รถโบกี้ชั้นที่ 3 ปรับอากาศ เหลือผู้โดยสารไม่ถึง 10 คน

ปรากฏว่าระหว่างนั้นมีมนุษย์ลุงและมนุษย์ป้า ที่คาดว่าไม่ได้ซื้อตั๋วรถปรับอากาศเข้ามานั่งภายในขบวนรถ เจ้าหน้าที่จึงเดินเข้ามาสอบถาม มนุษย์ลุงถามว่ามาจากกรุงเทพฯ ค่าโดยสารเท่าไหร่ พอตอบว่า 86 บาทก็อุทานออกมา เจ้าหน้าที่จึงให้ลุงกับป้าชั้นสองไปนั่งขบวนข้างหน้า จบลงด้วยดี ที่ผ่านมาก็มีเจ้าหน้าที่คอยเดินผ่านเพื่อตรวจตราตลอด

ข้อเสียอย่างหนึ่งที่สังเกตได้ คือ ระหว่างเดินทางมีฝนตกหนัก จู่ๆ มีน้ำฝนรั่วซึมเข้ามาทางช่องหน้าต่างที่ปิดไว้ แต่ไม่เยอะมาก ตกใจเล็กน้อย อยากจะให้เป็นข้อสังเกตสำหรับการปรับปรุงในภายหน้า

จากสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา ยังคงเป็นทุ่งนามืดๆ ผ่านที่หยุดรถโพรงอากาศ สถานีบางน้ำเปรี้ยว สถานีชุมทางคลองสิบเก้าที่เห็นรถไฟบรรทุกน้ำมันสวนทาง ต่อจากนั้นจอดที่หยุดรถไฟคลองยี่สิบเอ็ด เข้าเขตจังหวัดปราจีนบุรี จอดสถานีโยทะกา สถานีบ้านสร้าง ที่หยุดรถไฟหนองน้ำขาว สถานีบ้านปากพลี ก่อนถึงปลายทางสถานีปราจีนบุรี






จากกรุงเทพฯ ถึงสถานีปราจีนบุรี ใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมง ออกไปนอกสถานีจะมีรถตุ๊กตุ๊กจอดอยู่ บรรยากาศโดยรอบมีร้านอาหารเปิดเป็นบางร้าน มีห้างสรรพสินค้าร้างอยู่ฝั่งตรงข้าม (อดีตเคยเป็นห้างบิ๊กซี) นั่งรถตุ๊กตุ๊กออกมาพบว่าผู้คนปิดร้าน ปิดบ้านนอนกันหมดแล้ว ถือว่าเป็นเมืองเล็กๆ ที่ไม่มีอะไรคึกคักเมื่อเทียบกับเมืองอื่น

ระบบขนส่งมวลชนของที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นรถตุ๊กตุ๊ก ค่าโดยสารโซนในเมืองเริ่มต้นที่ 60 บาท ออกไปนอกเมือง เช่น ศูนย์โตโยต้า 80 บาท แยกนเรศวร 150 บาท ไปอำเภอรอบนอกอย่าง อำเภอประจันตคาม 200 บาท สี่แยกโคกปีบ อำเภอศรีมโหสถ 250 บาท อำเภอศรีมหาโพธิ 250 บาท อำเภอบ้านสร้าง 300 บาท และแยกคลองรั้ง 304 ราคา 400 บาท

เคยถามว่าถ้าจะไปเขาอีโต้ ซึ่งอยู่เลยแยกนเรศวรคิดเท่าไหร่ คนขับตุ๊กตุ๊กบอกว่า ถ้าเป็นราคาเหมาอยู่ที่ 300 บาท แนะนำให้ขอเบอร์โทรตุ๊กตุ๊กเอาไว้ บางคนมีนามบัตรแจกให้โทร.เรียกถ้าจะใช้บริการก็มี

เมื่อก่อนจังหวัดปราจีนบุรีก็มีรถสองแถวประจำทางวิ่งรับส่งผู้โดยสารจำนวนมาก แต่ด้วยสภาวะทางเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งราคาน้ำมันแพง ทำให้ผู้ประกอบการรถสองแถวแบกรับภาระไม่ไหวเลิกกิจการทั้งหมด ส่วนคนขับรถสองแถวหลายคันเลิกวิ่งรถ เพราะไม่คุ้มค่าน้ำมัน หันไปหาอาชีพรับจ้าง

เหลือเพียงรถสองแถวป้ายูโกะ วัย 63 ปี ขับรถสองแถวสายปราจีนบุรี-บ้านเนินหอม คันสุดท้ายในจังหวัด มีเฉพาะวันจันทร์ถึงศุกร์ช่วงเช้าและเย็น หยุดวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เน้นรับนักเรียน นักศึกษา แม้จะหักค่าเติมก๊าซแล้วแทบไม่มีกำไร แต่ก็ทำเพื่อนักเรียนที่ไม่มีผู้ปกครองมาส่ง และไม่มีรถไปโรงเรียน เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย






โดยสรุปก็คือ การเพิ่มรถโบกี้ชั้นที่ 3 ปรับอากาศ ขบวนที่ 371/372 ระหว่างกรุงเทพฯ ถึงปราจีนบุรี อาจจะไม่ได้ซับพอร์ตคนปราจีนบุรีโดยตรง แต่เน้นรองรับผู้โดยสารระหว่างกรุงเทพฯ ถึงฉะเชิงเทรามากกว่า เพราะคิดค่าโดยสารอัตราพิเศษเริ่มต้นที่ 20-40 บาท ส่วนที่เหลือคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มจากค่าโดยสารรถไฟชั้น 3 ปกติอีก 60 บาท อาจไม่คุ้มค่า

หากสมมติว่าเดินรถไปถึงสถานีสระแก้ว ค่าโดยสารจากปกติ 40 บาท อาจเพิ่มเป็น 100 บาท และหากไปถึงสถานีด่านพรมแดนบ้านคลองลึก ค่าโดยสารจากปกติ 49 บาท อาจเพิ่มเป็น 109 บาท ซึ่งจะถูกมองว่าแพงและไม่จูงใจคนที่เดินทางในราคาประหยัด ส่วนคนที่มีกำลังซื้อก็นิยมนั่งรถตู้กรุงเทพฯ-ตลาดโรงเกลือมากกว่า

แต่สำหรับชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา ปัจจุบันรถไฟมีแต่ขบวนรถธรรมดาและรถชานเมือง ชั้น 3 เมื่อเพิ่มรถไฟปรับอากาศลงไป โดยคิดค่าโดยสารอัตราพิเศษแล้ว ผลตอบรับเป็นไปด้วยดี จึงนำมาเพิ่มกับขบวนที่ 372 ช่วงเช้า และขากลับขบวนที่ 371 ช่วงค่ำ รองรับคนที่ออกเดินทางไปทำงานแต่เช้า กลับเย็น ที่ผ่านมามีผู้โดยสารรถไฟสายตะวันออกเยอะมาก

การปรับปรุงรถโบกี้ชั้นที่ 3 ให้กลายเป็นรถปรับอากาศ เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่มีจำนวนน้อยมากเพียงแค่ 5 คัน ขณะที่ผ่านมารถดีเซลรางปรับอากาศมีน้อย เป็นอุปสรรคที่ทำให้ไม่มีตู้โดยสารปรับอากาศในเส้นทางขบวนรถชานเมือง ยกเว้นสายมหาชัย-วงเวียนใหญ่ ที่มีรถดีเซลรางปรับอากาศ แต่ก็พบว่าไม่ได้เปิดเครื่องปรับอากาศทุกเที่ยว

ส่วนตัวจุดยืนเหมือนเดิม คือ รัฐบาลใหม่ต้องสนับสนุนงบประมาณซื้อตู้โดยสาร โดยเฉพาะ “ตู้โดยสารปรับอากาศ” นำมาให้บริการเพิ่มเติม หากสามารถนำรถโบกี้ชั้นที่ 3 ทยอยปรับปรุงเป็นรถปรับอากาศได้ก็ควรจะทำ และพ่วงทั้งขบวนรถธรรมดา รถชานเมือง และรถท้องถิ่น โดยคิดค่าโดยสารอย่างสมเหตุสมผล ยังไงก็มีคนยินดียอมจ่าย

อย่างน้อย สภาพอากาศในบ้านเราที่ร้อนและมีฝุ่นละออง หากสามารถอัปเกรดรถไฟชั้น 3 ให้มีทางเลือกอย่างรถปรับอากาศ เดินรถสม่ำเสมอ ราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับรถไฟชั้น 3 นั่งพัดลม ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้โดยสาร ที่ต้องการความสะดวกสบายในราคาย่อมเยา ส่งเสริมการใช้รถไฟในการเดินทางแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น