กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เวลาใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้าและบริการ เมื่อสรุปยอดในแต่ละวัน ถึงเวลารับเงิน ร้านค้าจะได้รับเงินไม่เต็มจำนวน เพราะธนาคารจะหัก “ค่าธรรมเนียมร้านค้ารับบัตร (MDR)” ขึ้นอยู่กับประเภทบัตร
ถ้าเป็นบัตรที่ออกในประเทศไทยจะน้อยหน่อย บัตรต่างประเทศจะเยอะหน่อย ตัวเลขกลมๆ ประมาณ 2-3%
ค่าธรรมเนียมที่หักไป จะถูกแบ่งเป็น 3 ส่วน
ส่วนที่ 1 ธนาคารผู้ออกบัตรเครดิต จะได้มากที่สุด ซึ่งรายได้ตรงนี้ส่วนหนึ่งจะเอาไปทำการตลาด หรือโปรโมชันต่างๆ เช่น คะแนนสะสม เครดิตเงินคืน หรือทำโปรโมชันร่วมกับร้านค้าต่างๆ
ส่วนที่ 2 ธนาคารเจ้าของเครื่อง EDC จะได้รองลงมา แต่ไม่ใช่ได้แค่ส่วนแบ่งอย่างเดียว ยังได้ค่าธรรมเนียมจากร้านค้าทางอื่น เช่น ค่าสมัครและติดตั้ง ค่าบริการรายเดือน ค่ากระดาษเซลสลิป ค่าบำรุงรักษารายเดือน เป็นต้น
ส่วนที่ 3 ตัวกลางในการตัดเงิน จะได้ราว 10 สตางค์ แต่ถือว่าเป็น “เสือนอนกิน” เพราะแม้ได้ส่วนแบ่งน้อยที่สุด แต่ถ้ามีคนใช้บัตรมาก ตัวกลางก็ได้ค่าธรรมเนียมมาก
เพราะสถาบันการเงินนับหมื่นแห่ง ต้องใช้ “ตัวกลาง” เชื่อมระหว่างธนาคารกับร้านค้าทั่วโลก
ตัวกลางเหนื่อยเฉพาะสร้างแบรนด์ สร้างเครือข่ายกับธนาคาร และพัฒนาเทคโนโลยี แต่ไม่ต้องออกบัตรเอง และไม่ต้องหาลูกค้าหรือร้านค้า เพราะธนาคารเป็นผู้ออกบัตร หาร้านค้ารับบัตร รับ-ส่งข้อมูลธุรกรรมและอนุมัติรายการ
ย้อนกลับไปในอดีต บัตรเครดิตเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อกว่า 70 ปีก่อน มีจุดเริ่มต้นจากนักธุรกิจรายหนึ่งลืมพกกระเป๋าสตางค์ ไปกินข้าวร้านอาหารแล้วไม่มีเงินจ่าย ต้องให้ภรรยานำเงินมาจ่าย จึงคิดว่าถ้ามีบัตรพิเศษที่ใช้แทนเงินได้ก็จะดี
ปัจจุบัน ตลาดบัตรเครดิตและบัตรเดบิต ครอบครองโดยตัวกลาง 6 บริษัท ได้แก่
ไดเนอร์ส คลับ (Diners Club) ก่อตั้งในปี ค.ศ.1950 (พ.ศ. 2493) ปัจจุบันอยู่ในเครือดิสคัฟเวอร์ (Discover)
อเมริกัน เอ็กซ์เพรส (American Express) ก่อตั้งในปี ค.ศ.1958 (พ.ศ. 2501)
วีซ่า (VISA) ก่อตั้งในปี ค.ศ.1959 (พ.ศ. 2502) จากการที่ธนาคาร แบงค์ ออฟ อเมริกา (Bank of America)ตั้งบริษัท แบงค์ ออฟ อเมริการ์ด (Bank Americard) ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น VISA
เจซีบี (JCB) ตัวกลางสัญชาติญี่ปุ่น ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1961 (พ.ศ. 2504) ออกบัตรเครดิตเป็นครั้งแรกของญี่ปุ่น
มาสเตอร์การ์ด (Mastercard) ก่อตั้งในปี ค.ศ.1967 (พ.ศ. 2510) โดยมีธนาคาร 7 แห่ง ก่อตั้ง Interbank Card Association ออกบัตรเครดิตที่ใช้ได้ทั่วสหรัฐอเมริกา ใช้ชื่อว่า Mastercharge ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น Mastercard
และ ยูเนี่ยนเพย์ (UnionPay) ตัวกลางสัญชาติจีน ก่อตั้งในปี ค.ศ.2002 (พ.ศ. 2545) โดยคณะมุขมนตรี (คณะรัฐมนตรี) และธนาคารประชาชนจีน (People's Bank of China) ก่อนตั้งบริษัทลูกอย่าง ยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล (UnionPay International) ดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ
จะเห็นได้ว่า ตัวกลางบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตที่ครอบครองตลาดทั่วโลกทั้ง 6 บริษัท มี 4 บริษัทเป็นตัวกลางสัญชาติสหรัฐอเมริกา โดยมีเพียง 2 บริษัทเท่านั้นที่เป็นตัวกลางจากชาติอื่น
ความน่าสนใจก็คือ ตัวกลางสัญชาติจีนอย่างยูเนี่ยนเพย์ แม้จะตามหลังชาติตะวันตกที่เป็นตัวกลางชำระเงินเก่าแก่มายาวนานกว่า 50 ปี แต่ได้ขยายเครือข่ายเติบโตแบบก้าวกระโดดในระยะเวลาเพียง 20 ปี
ในปี 2565 มีสถาบันการเงินเข้าร่วมเครือข่ายยูเนี่ยนเพย์ 2,500 แห่งใน 79 ประเทศ และมีเครือข่ายรับบัตรยูเนี่ยนเพย์ร้านค้านอกจีนแผ่นดินใหญ่ 38 ล้านแห่ง เพิ่มขึ้น 4 เท่าจากปี 2555 ครอบคลุม 181 ประเทศทั่วโลก
ที่ผ่านมามีการพัฒนาเทคโนโลยีการชำระเงินไม่แพ้ค่ายชาติตะวันตก เช่น เทคโนโลยีคอนแทคเลสที่ชื่อว่า Quick Pass, การร่วมกับแอปเปิลให้บริการ Apple Pay แก่ลูกค้าในจีน, การพัฒนาหัวเว่ยเพย์ (Huawei Pay) ร่วมกับบริษัทหัวเว่ย
ข้อมูลจาก นิลสัน รีพอร์ต (Nilson Report) ผู้ให้บริการข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอุตสาหกรรมบัตรชำระเงิน รายงานว่า ในปี 2565 มีมูลค่าธุรกรรมผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิต สูงกว่า 40 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
ส่วนแบ่งการตลาด พบว่าอันดับ 1 ได้แก่ วีซ่า 39% รองลงมากลายเป็น ยูเนี่ยนเพย์ 34% อันดับสาม มาสเตอร์การ์ด 24% และแบรนด์อื่นๆ เพียง 3%
เมื่อพิจารณาจากปริมาณธุรกรรม พบว่าบัตรเครดิต วีซ่ายังคงอันดับ 1 ด้วยจำนวน 87,000 ล้านรายการ รองลงมาคือ มาสเตอร์การ์ด 65,000 ล้านรายการ อันดับสาม ยูเนี่ยนเพย์ 53,000 ล้านรายการ
แต่สำหรับบัตรเดบิต ที่ผูกกับบัญชีธนาคาร พบว่า อันดับ 1 ได้แก่ ยูเนี่ยนเพย์ มีมากถึง 160,000 ล้านรายการ รองลงมาคือ วีซ่า 155,000 ล้านรายการ อันดับสาม มาสเตอร์การ์ด 85,000 ล้านรายการ
แม้การทำธุรกรรมผ่านบัตรเดบิต ยูเนี่ยนเพย์จะครองแชมป์ แต่บัตรเครดิต วีซ่าและมาสเตอร์การ์ดยังนำอยู่ สอดคล้องกับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของตัวกลาง 4 รายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา คิดเป็น 28% ของปริมาณธุรกรรมทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย ยูเนี่ยนเพย์ ให้บริการเมื่อปี 2548 โดยมีธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China) สาขากรุงเทพฯ ให้บริการเป็นรายแรก ก่อนจะออกบัตรเครดิตร่วมกับธนาคารกรุงเทพ ในปี 2552
ที่ผ่านมาการทำการตลาดของยูเนี่ยนเพย์ มีโปรโมชันที่หลากหลาย รวมทั้งธนาคารสัญชาติจีนยังออกบัตรเดบิตสองสกุลเงิน ได้แก่ สกุลเงินบาท กับสกุลเงินหยวน และบัตรเครดิตที่เจาะกลุ่มลูกค้าที่เดินทางไปประเทศจีนบ่อยครั้ง
ปัจจุบันมีสถาบันการเงินในไทย ให้บริการบัตรเครดิตยูเนี่ยนเพย์ 6 แห่ง และบัตรเดบิตยูเนี่ยนเพย์ 7 แห่ง รวมทั้งร่วมกับธนาคารกสิกรไทย พัฒนาระบบ QR จ่ายเงิน ผ่านเครือข่ายยูเนี่ยนเพย์ ใช้กับแอปฯ K PLUS ได้ที่ประเทศจีนและกว่า 40 ประเทศ
ขณะเดียวกัน ยูเนี่ยนเพย์ ร่วมมือกับธนาคารในไทย ก่อตั้งเครือข่ายบัตรอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศ (Scheme) ที่ชื่อว่า Thai Payment Network (TPN) เป็นรายแรกในไทยเมื่อปี 2559 ใช้เทคโนโลยีของยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล
ถึงกระนั้น บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ (National ITMX) ที่พัฒนาระบบเอทีเอ็มพูล และพร้อมเพย์ ก็ไปร่วมมือกับมาสเตอร์การ์ด พัฒนาเครือข่ายบัตรอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศที่ชื่อว่า พร้อมการ์ด (PromptCard)
ทั้ง TPN และ PromptCard ใช้หลักการเดียวกัน คือ ถ้ารูดบัตรในประเทศไทย ใช้เครือข่ายบัตรอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศประมวลผล แต่ถ้ารูดบัตรที่ต่างประเทศ TPN ใช้เครือข่ายยูเนี่ยนเพย์ PromptCard ใช้เครือข่ายมาสเตอร์การ์ด
ส่วนบัตรวีซ่า ให้ National ITMX ทำหน้าที่ประมวลผลรายการรูดบัตรในประเทศ โดยใช้กฎ Scheme ของวีซ่า ส่วนการรูดบัตรจากต่างประเทศ ใช้เครือข่ายวีซ่า จึงไม่มีคำว่า PromptCard บนบัตร
การก่อตั้งเครือข่ายบัตรอิเล็กทรอนิกส์ในไทย ส่งผลให้ร้านค้าที่รับบัตรเดบิตจากลูกค้าถูกหักค่าธรรมเนียมลดลงเพียงแค่ 0.55% แต่บางร้านค้าไม่เข้าใจ คิดเหมารวมกับบัตรเครดิต ทั้งกำหนดยอดรูดขั้นต่ำ และชาร์จเพิ่ม 3%
ประสบการณ์การใช้จ่ายผ่านเครือข่ายยูเนี่ยนเพย์ที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน พบว่า บัตรเครดิตยูเนี่ยนเพย์ สามารถใช้ได้ตามห้างสรรพสินค้า รวมทั้งร้านค้าปลอดภาษีในสนามบิน
โดยการรูดบัตรยูเนี่ยนเพย์ในประเทศจีน ใช้ระบบที่เรียกว่า Chip & PIN 6 หลัก คือการเสียบบัตรที่เครื่อง EDC แล้วกดรหัสส่วนตัว (PIN) 6 หลัก กรณีที่มียอดซื้อสินค้าสูงกว่าที่กำหนด ก็จะต้องเซ็นชื่อบนหน้าจอเครื่อง EDC
ส่วนบัตรเดบิตที่ออกในประเทศไทย เช่น บัตรเดบิตยูเนี่ยนเพย์-โกลบอล ธนาคารไอซีบีซี ไทย สามารถถอนเงินสดได้ที่ เครื่อง ATM ICBC ประเทศจีน ขั้นต่ำ 100 หยวน สูงสุดเทียบเท่า 100,000 บาทต่อวัน โดยไม่มีค่าธรรมเนียม
นอกจากนี้ สำหรับร้านค้าที่มีคิวอาร์โค้ดที่มีสัญลักษณ์ UnionPay หรือ หยุนฉานฟู สามารถใช้แอปพลิเคชัน K PLUS ธนาคารกสิกรไทย สแกนจ่ายได้โดยไม่มีขั้นต่ำ และไม่มีค่าธรรมเนียม ทำรายการได้สูงสุด 100,000 บาทต่อวัน
เพียงแต่ว่าร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ UnionPay หรือ หยุนฉานฟู ที่คุนหมิงยังมีน้อยเมื่อเทียบกับร้านค้าที่รับ Alipay หรือ WeChat Pay ซึ่งปัจจุบันรองรับการผูกบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต VISA หรือ Mastercard จากต่างประเทศรวมทั้งไทย
อย่างไรก็ตาม การมีเครื่องมือการชำระเงินที่หลากหลาย ทำให้การเดินทางไปประเทศจีนยุคนี้แทบไม่ต้องใช้เงินสด ไม่ต้องแลกเงิน ลดความเสี่ยงการถูกขโมยเงิน ไม่ต้องยุ่งยากเรื่องการทอนเงิน และปัญหาธนบัตรปลอม
เพียงแต่ว่าในบางครั้งการทำรายการข้ามประเทศ อาจมีปัญหาเรื่องการรับ-ส่งข้อมูลการทำธุรกรรม ที่ร้านค้าอาจได้รับเงินล่าช้า ถ้าตั้งใจจะใช้อี-เพย์เมนต์อย่างจริงจัง ก็ควรมีเงินสดติดกระเป๋าไว้บ้างแต่ไม่ต้องเยอะ สัก 100 หยวนก็พอ
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้วีซ่าและมาสเตอร์การ์ด เครือข่ายตัวกลางชำระเงินสัญชาติอเมริกัน คว่ำบาตรการทำธุรกิจในรัสเซียตามธุรกิจของชาติตะวันตก
การคว่ำบาตรของวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด ส่งผลทำให้ชาวรัสเซียใช้บัตร VISA และ MasterCard ไม่ได้ ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2565 เป็นต้นมา โดยเฉพาะชาวรัสเซียที่อยู่ต่างประเทศถูกตัดขาดทางการเงิน
ขณะนั้นธนาคารบางแห่งในรัสเซียเตรียมออกบัตรเครดิตและบัตรเดบิตที่จะเชื่อมกับระบบยูเนี่ยนเพย์ของจีน และระบบเมียร์ (Mir) ของรัสเซียที่พัฒนาหลังเหตุการณ์แคว้นไครเมียเมื่อปี ค.ศ. 2014 (พ.ศ.2557)
ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรเครือข่ายเมียร์ของรัสเซียแล้ว 64 ล้านใบ และมีเครือข่ายในประเทศใกล้เคียง เช่น อาร์เมเนีย เบลารุส คาซักสถาน คีร์กีซสถาน ตุรกี รวมทั้งเอเชียที่ประเทศเวียดนาม เช่น ธนาคารเวียดนาม-รัสเซีย (VRB BANK)
สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีธนาคารใดกล้าให้บริการบัตรเครือข่ายเมียร์ และเครื่อง EDC ทุกธนาคารในไทยไม่รับบัตร Mir ของรัสเซีย ทั้งที่เฉพาะปีนี้ (มกราคม-กรกฎาคม 2566) มีชาวรัสเซียมาเยือนประเทศไทยกว่า 8 แสนคน
เมื่อเดือนเมษายน 2565 ยูเนี่ยนเพย์ปฏิเสธร่วมมือกับธนาคารสเบียร์แบงก์ (Sberbank) ผู้ให้กู้รายใหญ่ที่สุดของรัสเซีย และระงับเจรจากับธนาคารอื่นๆ ของรัสเซีย เพราะกลัวมาตรการคว่ำบาตรทางอ้อม (Secondary sanctions)
ขณะที่ผู้ถือบัตรยูเนี่ยนเพย์ของรัสเซีย เปิดเผยความยากลำบากในการใช้ชำระเงินในสหรัฐอเมริกา อิสราเอล ยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง เพราะถูกปฏิเสธการชำระเงิน หรือหยุดรับบัตรยูเนี่ยนเพย์ที่ออกในรัสเซีย
ที่ผ่านมาชาวรัสเซียถือบัตรยูเนี่ยนเพย์เพียงแค่ 1% ส่วนใหญ่นิยมถือบัตรวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด แต่เมื่อเกิดสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ชาวรัสเซียเริ่มเปลี่ยนไปใช้บัตรยูเนี่ยนเพย์ และมีความต้องการมากถึง 10 เท่า
แต่เมื่อยูเนี่ยนเพย์เกรงว่าจะถูกมาตรการคว่ำบาตรทางอ้อม จึงต้องจำกัดการทำธุรกรรมจากธนาคารรัสเซีย แต่ไม่ถึงกับหยุดธุรกรรมโดยสิ้นเชิง เมื่อเทียบกับบัตรวีซ่าและมาสเตอร์การ์ดที่ใช้งานไม่ได้เลย
เมื่อปลายปี 2565 ยูเนี่ยนเพย์จำกัดการถอนเงินสดที่ต่างประเทศ จากบัตรที่ออกโดยธนาคารรัสเซียทุกแห่ง ไม่เกิน 50,000 หยวนต่อวัน (ประมาณ 238,000 บาท) และไม่เกิน 500,000 หยวนต่อปี (ประมาณ 2.38 ล้านบาท)
ทำให้ธนาคารในรัสเซียบางแห่ง อย่างเช่น ธนาคารปรีมอร์เย (Primorye Bank) ต้องแจ้งลูกค้าว่า ถ้าต้องการถอนเงินสดมากกว่านี้ให้ออกบัตรเดบิตเพิ่มอีกใบ
ก่อนหน้านี้ สถาบันการเงินในรัสเซียที่ให้บริการบัตรยูเนี่ยนเพย์มี 11 แห่ง แต่จากการสำรวจล่าสุด พบว่าปัจจุบัน มีธนาคารในรัสเซียบางแห่ง ที่ยังคงเปิดให้สมัครบัตรเดบิตยูเนี่ยนเพย์
อาทิ ธนาคารก๊าซพรอมแบงก์ (Gazprom Bank) ธนาคารใหญ่อันดับ 3 ของรัสเซีย และเป็นช่องทางในการค้าพลังงาน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรของรัสเซีย (Russian Agricultural Bank หรือ RSHB) แต่มีค่าใช้จ่ายในการออกบัตรที่แพง
การเกิดขึ้นและมีอยู่ของเครือข่ายตัวกลางชาติอื่น ที่ช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับต้นๆ ขึ้นมาได้ สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจต่อรองโลกธุรกิจในยุคนี้ ไม่ผูกขาดเฉพาะชาติตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาอีกต่อไป