xs
xsm
sm
md
lg

บัตร EMV กับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ไม่ขึ้น...เดี๋ยวคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง!

เมื่อวันก่อน มีโอกาสเดินทางด้วย รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ซึ่งเปิดให้ประชาชนร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง ช่วงหัวมาก - สำโรง เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2566 เป็นต้นมา

ในวันนั้นทดลองใช้บริการจากสถานีสำโรง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) ทางออกหมายเลข 3 (ถนนเทพารักษ์) กับสถานีสำโรงโดยตรงแบบไม่ต้องลงบันได

ในวันนั้นเป็นช่วงเย็นหลังเลิกงานและเลิกเรียน มีประชาชนทั้งคนทำงาน นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งผู้สูงอายุเข้ามาใช้บริการอย่างเนืองแน่น โดยมีพนักงานบีทีเอสคอยแจกตั๋วโดยสารฟรี และอำนวยความสะดวก

แม้ผู้ถือบัตรแรบบิท สามารถแตะเข้า-ออกสถานีได้ฟรีโดยไม่ถูกหักเงิน แต่บัตรแรบบิทที่ผูกกับบัญชี Rabbit LINE Pay แตะเข้า-ออกสถานีไม่ได้ หน้าจอขึ้นเครื่องหมายตกใจ และข้อความว่า “กรุณาติดต่อห้องจำหน่ายตั๋ว”

ต้องใช้บัตรแรบบิทธรรมดาที่ไม่ผูกกับบัญชีใดๆ แตะเข้า-ออกสถานีได้ ในช่วงทดลองการให้บริการ ไม่ว่าจะมีเงินคงเหลือในบัตรกี่บาท ก็แตะได้โดยไม่หักเงินในบัตรแม้แต่บาทเดียว


จากที่หลายคนเล่าให้ฟังถึงบรรยากาศการเดินทาง ส่วนตัวเดินทางจากสถานีสำโรง ถึงสถานีสวนหลวง ร.๙ เพื่อไปธุระที่ซีคอนสแควร์ พบว่านับจากรถออกจากสถานี ถึงลงจากขบวนรถ ใช้เวลาประมาณ 20 นาที

หลายคนบอกว่ารถอาจจะสั่นหวิวไปบ้าง เมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าขบวนอื่นๆ ที่วิ่งไปบนรางคู่ เพราะเป็นรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยล้อยาง แต่ส่วนตัวไม่รู้สึกว่าอันตราย อาจเป็นเพราะเห็นว่ารถไฟฟ้าโมโนเรลมีใช้ในหลายประเทศ

แม้ขบวนรถรองรับได้ 356 คนต่อตู้โดยสาร แต่ส่วนใหญ่เป็นที่ยืน ส่วนที่นั่งมีน้อยมาก เพราะฉะนั้น “วัยรุ่นข้อเข่าเสื่อม ผู้ถูกเลือกให้ปวดหลัง” หากจำเป็นต้องใช้บริการในชั่วโมงเร่งด่วนโปรดทำใจ

อย่างไรก็ตาม การทดสอบเดินรถเสมือนจริงครั้งนี้ ผลตอบรับดีเกินคาดเพราะไม่เก็บค่าโดยสาร โดยวันแรกมีผู้โดยสาร 38,521 เที่ยวคน ก่อนที่จะค่อยๆ ลดลงสู่ความเป็นจริง วันธรรมดาประมาณ 21,000-22,000 เที่ยวคน


ทราบมาว่า ในวันที่ 19 มิถุนายน 2566 เวลา 10 โมงเช้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีเปิดรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลืองอย่างเป็นทางการ วิ่งทดสอบระบบตลอดสายตั้งแต่ลาดพร้าว-สำโรง

นับจากวันนั้น ผู้โดยสารสามารถใช้บริการได้ครบทั้ง 23 สถานี ต่อรถเมล์ไปมีนบุรีและเรือคลองแสนแสบที่สถานีบางกะปิ หรือต่อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์และรถไฟสายตะวันออกที่สถานีหัวหมากได้เช่นกัน

ถึงตอนนั้นในอีกไม่ช้าไม่นาน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก็จะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์และเริ่มจัดเก็บค่าโดยสาร เริ่มต้นที่ 15 บาท สูงสุด 45 บาท แต่ยังไม่ประกาศว่าแต่ละสถานีจะคิดเท่าไหร่

ที่น่าสนใจก็คือ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง มีการติดตั้งระบบหัวอ่านบัตรระบบ EMV (Europay Mastercard VISA) ซึ่งก็คือบัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรพรีเพดการ์ดที่พกติดกระเป๋าสตางค์ในชีวิตประจำวันนั่นเอง

ถือเป็นรถไฟฟ้าลำดับที่ 4 ที่จะสามารถใช้บัตร EMV เดินทางได้ นอกจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หลักสอง-ท่าพระ) รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) และรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต)


แต่ที่แปลกกว่าสถานีอื่น ตรงที่หัวอ่านบัตร EMV ติดตั้งบริเวณจุดเดียวกับ ประตูพิเศษ (Swing Gate) ที่ใช้สำหรับคนพิการ สตรีมีครรภ์ สตรีที่มากับเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ (รวมทั้งข้าราชการตำรวจที่ได้รับสิทธิขึ้นรถไฟฟ้าฟรี)

แตกต่างจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง ที่มีหัวอ่านบริเวณ ประตูอัตโนมัติ (Automatic Gate) รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่ทำประตูอัตโนมัติและหัวอ่านบัตร EMV แยกจากประตูสำหรับบัตรและเหรียญโดยสารต่างหาก

โดยมีสติกเกอร์ระบุบัตรที่สามารถใช้ได้ ได้แก่ บัตรเครดิต VISA และ MasterCard (ทุกธนาคาร) บัตรเดบิต และบัตรพร้อมการ์ด (PromptCard) ธนาคารกรุงไทย และธนาคารยูโอบี เหมือนสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง

ดูจากลักษณะแล้วเข้าใจว่า รถไฟฟ้าสายสีเหลืองน่าจะใช้เคลียริ่งเฮ้าส์ ระบบแมงมุม อีเอ็มวี (Mangmoom EMV) ของหน่วยงานบริหารจัดการกลางระบบตั๋วร่วมแมงมุม ที่มี รฟม. และธนาคารกรุงไทยร่วมกันพัฒนาระบบอยู่ในขณะนี้

เห็นแบบนี้แล้วนึกเป็นห่วงเวลาใช้บริการจริง เมื่อแตะบัตร EMV แล้วจะต้องให้เจ้าหน้าที่เปิดประตูพิเศษก่อนหรือไม่ ซึ่งจะเสียเวลาผู้โดยสาร เมื่อเทียบกับการแตะบัตรโดยสารประเภทเที่ยวเดียว และบัตรแรบบิท

จะอ้างว่าคนใช้บัตรน้อยไม่ได้ เพราะตัวเลขขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ระบุว่า มีผู้โดยสารที่ชำระค่าโดยสารผ่านเครื่อง EDC อยู่ที่ 50,000 คนต่อวัน ตัวเลขนี้อาจจะใช้บริการควบคู่กับรถไฟฟ้าที่รองรับบัตร EMV ก็ได้


ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ระบุว่า ตามนโยบายกระทรวงคมนาคม จะเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว สำหรับการเดินทางเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้ามหานคร เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่าย

โดยรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่สถานีลาดพร้าว ตามเงื่อนไขของสัญญาสัมปทาน เอกชนจะต้องจัดทำระบบรองรับตั๋วร่วม EMV เพื่อเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว ไม่มีการคิดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน

ผู้โดยสารที่ใช้ระบบตั๋วร่วม EMV จะจ่ายค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว ทางผู้รับสัมปทานได้ติดตั้งระบบหัวอ่านรองรับจำนวน 1 ช่อง ในทุกสถานี โดยจะเริ่มใช้ได้เมื่อมีการเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม ระบบตั๋วร่วมจ่ายค่าแรกเข้าครั้งเดียวนี้จะไม่ครอบคลุมกรณีที่ใช้ตั๋วโดยสารแบบอื่น และยังไม่สามารถใช้บัตรโดยสาร MRT Plus เข้าไปแตะได้ เพราะระบบของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองไม่ได้ทำรองรับ

แฟ้มภาพ
ที่ผ่านมาเมื่อรถไฟฟ้าและรถเมล์รองรับบัตรเครดิต บัตรเดบิต แบบ EMV Contactless ก็จ่ายค่าโดยสารด้วยเงินสดน้อยลง ลดการพกบัตรโดยสารรถไฟฟ้าในกระเป๋าสตางค์ เหลือแค่บัตรแรบบิท สำหรับขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสเท่านั้น

แต่ก็ใช่ว่าทุกคนพร้อมที่จะใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิต แตะเข้า-ออกระบบรถไฟฟ้า เพราะคนที่ใช้รถไฟฟ้าสายนั้นเป็นประจำ ที่ซื้อเที่ยวโดยสารเอาไว้ ยังจำเป็นต้องใช้บัตรโดยสารรถไฟฟ้าใบนั้นเพื่อเดินทางอยู่ดี

ที่น่าดีใจอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองยกเว้นค่าแรกเข้า สำหรับคนที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จะทำให้เราจ่ายค่าโดยสารน้อยลงไปอีก เพราะยกเว้นค่าแรกเข้าสายสีเหลือง 1 สถานี เท่ากับ 15 บาท

เหมือนกับขึ้นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินไปลงสถานีเตาปูน แล้วต่อด้วยรถไฟฟ้าสายสีม่วง เมื่อยกเว้นค่าแรกเข้าก็จะเสียค่าโดยสารอยู่ที่ 46-71 บาท แต่กับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ค่าโดยสารสูงสุดจากสถานีลาดพร้าวจะอยู่ที่ 73 บาท

แม้ รฟม. และผู้รับสัมปทานก็ยังไม่ประกาศออกมาว่า ค่าโดยสารแต่ละระยะจะอยู่ที่เท่าไหร่ แต่ก็บอกได้คำเดียวว่า ถูกกว่าคิดค่าโดยสารสองต่อแน่นอน และอาจจูงใจให้คนลาดพร้าวและบางกะปิมาใช้บริการมากขึ้น

ภาพ : การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
สิ่งที่ได้แค่คิดแล้วก็สงสัยก็คือ นับตั้งแต่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทดลองระบบ EMV Contactless มาตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2565 เป็นต้นมา ผ่านมากว่า 1 ปี แม้จะใช้ได้กับบัตรเครดิตทุกธนาคาร แต่บัตรเดบิตใช้ได้แค่ธนาคารกรุงไทย

แม้ภายหลัง ธนาคารยูโอบีจะให้ลูกค้าที่ถือบัตรเดบิตที่มีสัญลักษณ์ Contactless สามารถแตะจ่ายค่าโดยสารได้ แต่ก็ไม่พบว่าธนาคารอื่น โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ เปิดให้ลูกค้าใช้บัตรเดบิตแตะขึ้นรถไฟฟ้าได้เลย

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าเดือนมีนาคม 2566 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ถือบัตรเครดิต 26,070,256 ใบ บัตรเดบิต 60,049,251 และบัตรเอทีเอ็ม 9,916,058 รวม 96,035,565 ใบ

นอกจากรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ที่จะเปิดให้บริการในอนาคตอันใกล้ รัฐบาลใหม่ถึงเวลาที่จะขับเคลื่อนระบบ EMV และตั๋วร่วมแก่ระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ อย่างจริงจังเสียที
กำลังโหลดความคิดเห็น