กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เมื่อช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 ที่ผ่านมา มีไวรัลในโลกโซเชียลฯ อยู่ข่าวหนึ่ง เมื่อวงดนตรีทหารที่ชื่อว่า “สไมล์อาร์มี่” (SMILE ARMY) แสดงในงาน ARMY Street Performance ที่ใจกลางสยามสแควร์ กรุงเทพฯ
หนึ่งในนั้นคือการแสดงเต้นคัฟเวอร์เพลงเกาหลี มอมเม (MOMMAE) ของศิลปินเจย์ พาร์ค ในเครื่องแบบทหารหมวกแดงสวมเสื้อเกราะ กลายเป็นที่พูดถึง ถูกแชร์ ถูกบอกต่อ และนำเสนอข่าวจำนวนมาก
ทราบมาว่า หัวหน้านักแสดงก่อนที่จะมาเป็นทหาร เคยเป็นครูสอนเต้นมาก่อน เมื่อเข้ามาเป็นทหารก็ได้ใช้ความรู้ความสามารถตรงนี้มาสร้างสีสันให้ประชาชน
ในวันนั้นนอกจากจะมีวงสไมล์อาร์มี่แล้ว ยังมีวงดนตรี NCO.BAND26 ของนักเรียนนายสิบทหารบก รุ่นที่ 26/65 และวงดนตรี The Bugle Band โรงเรียนดุริยางค์ทหารบกอีกด้วย
วงดนตรีสไมล์อาร์มี่ หรือวงดนตรีกองทัพบกเพื่อประชาชน มาจากกองพันปฏิบัติการจิตวิทยา (พัน ปจว.) หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี
พัน ปจว. เป็นหน่วยหลักด้านการปฏิบัติการจิตวิทยาของกองทัพบก ก่อตั้งขึ้นเพื่อปฏิบัติหน้าที่จิตวิทยาสนับสนุนสงครามนอกแบบ สนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ สนับสนุนการป้องกันภายในให้กับมิตรประเทศ และสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนพิเศษ เป็นต้น
ปัจจุบันมีหน่วยขึ้นตรง 8 กองร้อย ประกอบด้วย กองร้อยกองบังคับการ กองร้อยปฏิบัติการจิตวิทยา กองร้อยผลิตสิ่งโฆษณา กองร้อยรณรงค์ด้านการปฏิบัติการทางจิตวิทยา และอีก 4 กองร้อย ประจำอยู่ตามกองทัพภาคต่างๆ
สำหรับคอนเสิร์ตรักไทยหัวใจ 4 ภาค เป็นการปฏิบัติการจิตวิทยาผ่านเสียงดนตรี เพื่อสร้างความบันเทิงให้แก่ประชาชน โดยมีแผนที่จะจัดการแสดง 21 แห่งทั่วประเทศ
พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กำหนดให้จัดกิจกรรมแสดงดนตรีในพื้นที่ค่ายทหารกองทัพ ภาคที่ 1-4 เพื่อเสริมสร้างอุดมการณ์รักชาติให้แก่กำลังพล ครอบครัว และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง
รวมถึงสร้างการรับรู้บทบาทหน้าที่ของกองทัพบก ในการปฏิบัติภารกิจเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน ตลอดจนสร้างความรับรู้และเข้าใจเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ เมื่อเข้าเป็นทหารกองประจำการอีกด้วย
คอนเสิร์ตรักไทยหัวใจ 4 ภาค จัดขึ้นครั้งแรกในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 ภาคอีสาน เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ตามมาด้วยกองทัพภาคที่ 1 ในเดือนเมษายน 2566 ส่วนเดือนพฤษภาคม 2566 จัดแสดงในพื้นที่กองทัพภาคที่ 4 ภาคใต้
และปิดท้ายในเดือนมิถุนายน 2566 จะจัดแสดงในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 ภาคเหนือ โดยมีทีมงานจากทหารกองพันปฏิบัติการจิตวิทยานับร้อยชีวิต พร้อมเครื่องดนตรีและอุปกรณ์เวที แสง สี เสียง เดินทางมาจากจังหวัดลพบุรี
เคยมีคนถามว่า คอนเสิร์ตนี้จัดที่ค่ายทหาร บุคคลภายนอกเข้าชมได้หรือไม่ ได้รับคำตอบว่าเข้ามาชมได้ แต่ระยะหลังเริ่มจัดแสดงนอกค่ายทหารบ้างแล้ว อย่างครั้งล่าสุดจัดที่สวนสาธารณะ เทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา
คอนเสิร์ตเริ่มตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 4 ทุ่ม มีรูปแบบการแสดงหลากหลาย โดยหลักจะมีการแสดงพื้นบ้าน การแสดงที่สะท้อนอุดมการณ์รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ความเสียสละของทหาร รวมไปถึงการแสดงบันเทิงต่างๆ
ตัวอย่างเช่น การแสดงบทเพลง SMART SOF กล่าวถึงวิสัยทัศน์ SMART ของทหารรบพิเศษ, การแสดงตลกคณะฮาพระกาฬ ที่ทหารแท้ๆ แสดงมุกตลกให้ได้มีเสียงหัวเราะ รวมทั้งการแสดงบทเพลงตามกระแสนิยม
ด้วยความที่ผู้ชมส่วนใหญ่เป็นพลทหาร การแสดงดนตรีจึงมีเพลงฮิตตามกระแส ไม่ว่าจะเป็น บุญบั้งไฟเดือนหก แม่ฮ้างมหาเสน่ห์ หรือล่าสุดมีเพลงแร็ปที่ชื่อว่า Royal Thai Army we’re so proud ก็นำมาแสดงอีกด้วย
ก่อนจะปิดท้ายด้วยเพลงบ้านเกิดเมืองนอน เป็นอันเสร็จสิ้นคอนเสิร์ตในวันนั้น
นักร้อง นักแสดงส่วนใหญ่เป็นทหาร บางคนเคยเข้าประกวดรายการแข่งขันร้องเพลง บางคนทำเพลง แต่งเนื้อร้อง ทำนองให้กับหน่วยก็มี และหลายคนล้วนแล้วแต่มีความสามารถสร้างรอยยิ้มแก่ผู้ชมได้
ในการแสดงแต่ละครั้ง นอกจากจะถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองพันปฏิบัติการจิตวิทยา แล้ว อีกหนึ่งช่องทางเผยแพร่ไฮไลต์คอนเสิร์ตแต่ละครั้ง คือ ติ๊กต็อกที่ชื่อว่า “ช่องยิ้มกว้าง”
ช่องยิ้มกว้าง สร้างขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2565 เนื้อหาคลิปเน้นไปที่กิจกรรมของทหาร กองร้อยรณรงค์ด้านการปฏิบัติการทางจิตวิทยา แฝงด้วยมุกตลก ซึ่งผู้ชมจะรู้สึกเป็นกันเอง ใกล้ชิดระหว่างทหารกับประชาชน
กระทั่งการแสดงคอนเสิร์ตรักไทยหัวใจ 4 ภาค ก็มีการลงไฮไลต์คอนเสิร์ต และรีวิวที่พัก ซึ่งส่วนมากจะเป็นเรือนรับรองมณฑลทหารบกต่างๆ นำมาลงเป็นคอนเทนต์วีดีโอคลิปสั้นเพื่อสร้างรอยยิ้มแก่ประชาชนอีกทางหนึ่ง
บางคลิปกลายเป็นไวรัลในโซเชียลฯ นอกจากคลิปเต้นคัฟเวอร์เพลงเกาหลีที่ถูกพูดถึงแล้ว ยังมีไวรัลอย่างคลิปพลทหารนายหนึ่งไม่มีญาติมาเยี่ยม จึงให้แฟนมาเซอร์ไพร์ส ซึ่งมีผู้ชมกว่าล้านวิว
ความน่าสนใจก็คือ ในเวลาไม่ถึง 5 เดือน ยอดผู้ติดตามทะลุ 2 แสนบัญชี และล่าสุดกำลังจะก้าวเข้าสู่ 3 แสนบัญชี ถือเป็นการผลิตสื่อใหม่ของทหาร ตามเทคโนโลยีและช่องทางการบริโภคสื่อของประชาชนที่เปลี่ยนไป
ใครที่สนใจชมการแสดงของวงสไมล์อาร์มี่ จะจัดขึ้นที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล นครศรีธรรมราช วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ต่อด้วย อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 และ จ.สุราษฎร์ธานี วันที่ 26 พฤษภาคม 2566
เดือนต่อไปจะจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง น่าน พิษณุโลก และนครสวรรค์ กำหนดการและสถานที่ติดตามได้ที่เฟซบุ๊กเพจ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองพันปฏิบัติการจิตวิทยา และเว็บไซต์ https://psyopsregt.com/smile-army/
อย่างน้อยนอกจากคำถามที่ว่า "ทหารมีไว้ทำไม?" จะได้เห็นทหารในมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม.