กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ในช่วงที่ประเทศไทยอากาศร้อนถึงขีดสุด เดินออกไปไม่กี่ก้าวก็เหงื่อออก นอกจากเอาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่ปรับอากาศ เช่น ออฟฟิศ ห้าง ร้านกาแฟ ฯลฯ การอาบน้ำถือเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายระหว่างวัน
ปกติแล้วห้องอาบน้ำ ขึ้นอยู่กับสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง จะมีให้บริการเฉพาะกลุ่ม เช่น สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ สถานออกกำลังกาย ร้านนวด สปา ออนเซน ฯลฯ แต่สำหรับสถานที่อาบน้ำแบบเป็นจริงเป็นจังนั้นเพิ่งจะเคยเห็น
เมื่อวันก่อนลงรถไฟฟ้าที่สถานีสีลม เดินขึ้นมาที่ทางเชื่อม อาคารสีลมเอจ (Silom Edge) สี่แยกศาลาแดง พบสัญลักษณ์ฝักบัวพร้อมข้อความว่า “THE COMMUNAL SHOWER 6 AM – 9 PM, 2 FL.”
ด้วยความสนใจ จึงเดินเข้าไปดู ตามลูกศรเขียนว่า “COMMUNAL SHOWER” แยกจากคำว่า REST ROOMS (ห้องสุขา) พบว่าเป็นห้องอาบน้ำจริง แยกโซนระหว่างชาย-หญิง แม่บ้านนั่งอยู่ที่เคาน์เตอร์กล่าวว่า “สอบถามได้นะคะ”
ดูจากราคาพบว่า ค่าบริการอาบน้ำเริ่มต้นที่ 40 บาท แต่ถ้าไม่มีเครื่องอาบน้ำ จะมีเซตเครื่องอาบน้ำให้ซื้อเพิ่มได้ในราคา 30 บาท นอกจากนี้ ยังมีหมวกคลุมผม สำลีก้าน ผ้าขนหนูแบบใช้แล้วคืน และใช้แล้วทิ้งจำหน่ายเพิ่ม
บริการนี้ดูแลโดย บริษัท เอ แอนด์ พี เมนทิเนนซ์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการทำความสะอาด ตามอาคารสำนักงาน คลังสินค้า โรงงาน ศูนย์การค้า โรงแรม โรงพยาบาล หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจต่างๆ
ที่นี่เปิดบริการตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 3 ทุ่มทุกวัน เสียดายที่ไม่ได้ถ่ายรูป แต่ก็บอกกล่าวกันเผื่อเป็นข้อมูล สำหรับคนที่ต้องการอาบน้ำระหว่างวัน เพราะดูแล้วเป็นเรื่องใหม่ ไม่ค่อยพบเห็นตามอาคารสำนักงานต่างๆ
พูดถึงที่อาบน้ำในกรุงเทพฯ สมัยก่อนเคยมีโอกาสใช้บริการตามสถานีขนส่ง และสถานีรถไฟ แต่ละแห่งจะคิดค่าบริการตั้งแต่ 10-20 บาท แต่ต้องเอาแชมพู สบู่ และผ้าขนหนูมาเอง ขึ้นอยู่กับทำเลและลักษณะห้องน้ำที่ให้บริการ
นานมาแล้ว ผู้เขียนเคยใช้บริการห้องอาบน้ำที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ซึ่งแยกส่วนกับห้องสุขาชายต่างหาก เป็นห้องปูด้วยกระเบื้อง มีฝักบัว น้ำไหลแรงมาก แต่ปัจจุบันไม่มีให้บริการอีกแล้ว
เมื่อขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ย้ายไปให้บริการที่ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 พบว่ามีห้องอาบน้ำให้บริการจุดเดียว คือ ห้องน้ำประตู 5 ทางทิศเหนือของสถานี
คนที่มาจากประตู 4 ฝั่งทิศตะวันออก ซึ่งเป็นประตูที่จะเข้าไปยังช่องจำหน่ายตั๋ว ให้เดินตรงมาเรื่อยๆ ถึงประตู 5 ฝั่งทิศตะวันตก แล้วให้สังเกตเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ เลี้ยวขวาจะเห็นห้องน้ำชาย-หญิง มีสัญลักษณ์รูปฝักบัวตั้งอยู่
ส่วนคนที่ลงมาจากรถไฟ ออกมาจากระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง หรือขึ้นบันไดเลื่อนมาจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ให้ไปตามทางเดินด้านทิศตะวันตก แล้วเดินตรงไปประมาณ 400 เมตร ถึงประตู 5 เดินผ่านไปสุดทางจะมีห้องน้ำอยู่ซ้ายมือ
ห้องอาบน้ำที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จะมีทั้งหมด 4 ห้อง ด้านในแยกระหว่างโซนแห้ง มีเก้าอี้วางกระเป๋า กับโซนเปียกที่มีฝักบัวและราวตากผ้า บริการฟรีเฉพาะผู้ที่มีตั๋วรถไฟ โดยต้องแสดงตั๋วรถไฟให้แม่บ้านก่อนใช้บริการ
อีกแห่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้ใช้บริการด้วยตัวเอง คือสถานีเดินรถนครชัยแอร์ ถนนกำแพงเพชร 2 มีห้องอาบน้ำให้บริการที่ห้องน้ำ ถัดจากช่องจำหน่ายตั๋ว ที่ตอนนี้แบ่งเป็นเครื่องคีออสจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ
ด้านในห้องน้ำชายจะมีห้องอาบน้ำ 2 ห้อง คนที่ต้องการอาบน้ำเพียงแจ้งแม่บ้าน จ่ายเงิน 10 บาท แม่บ้านก็จะให้กุญแจห้องน้ำพร้อมกับผ้าขนหนูให้ยืมใช้ฟรี แยกระหว่างโซนแห้ง มีที่วางของและกระจกเงา กับโซนเปียกที่มีฝักบัว
เมื่ออาบน้ำเสร็จ ให้คืนกุญแจและผ้าขนหนู แม่บ้านจะเข้าไปทำความสะอาดเพื่อรอลูกค้ารายใหม่เข้ามาใช้บริการ ส่วนตัวชอบตรงที่มีผ้าขนหนูให้ยืมฟรี แต่ไม่ซีเรียสเรื่องแชมพูและสบู่เพราะพกติดตัวมาเอง
ห้องอาบน้ำที่นี่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้โดยสารนครชัยแอร์ คนนอกก็ใช้บริการได้ ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยไปลงงานวิ่งงานหนึ่งที่สวนวชิรเบญจทัศน์ (สวนรถไฟ) ก่อนกลับบ้านก็เคยนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างมาที่นครชัยแอร์ เพื่อมาอาบน้ำที่นี่ก็มี
นอกจากนี้ ที่สถานีเดินรถนครชัยแอร์ยังมีบริการรับฝากของ ชิ้นละ 20 บาทอีกด้วย เหมาะสำหรับคนที่นั่งรถนครชัยแอร์ลงมากรุงเทพฯ เพื่อมาทำธุระในช่วงกลางวัน แล้วเดินทางกลับ หรือต่อไปยังปลายทางอีกจุดหนึ่ง
ส่วนที่สถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต ครั้งหนึ่งนานมาแล้วเคยใช้บริการห้องอาบน้ำ บริเวณหน้าจุดจอดรถ ขสมก. กับฝั่งตรงข้ามหมอชิต 2 ที่สมัยก่อนเป็นที่จอดรถทัวร์และท่ารถตู้ใต้ทางด่วน ซึ่งส่วนมากจะเป็นพนักงานขับรถทัวร์นี่แหละ
อัปเดตล่าสุด แม้ใต้ทางด่วนฝั่งตรงข้ามหมอชิต 2 จะกลายสภาพเป็นสถานีเดินรถโดยสารขนาดเล็กไปแล้ว แต่ที่หน้าจุดจอดรถ ขสมก. ยังมีให้บริการอยู่ครั้งละ 15 บาท แต่ก็ต้องรับสภาพกับความสะอาดด้านใน
ด้านสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ (ตลิ่งชัน) ไม่มีห้องอาบน้ำ แต่สมัยก่อนจะมีโควิด-19 ก็มีร้านนวดเพื่อสุขภาพอยู่ร้านหนึ่ง มีห้องอาบน้ำ สำหรับลูกค้าที่ไม่ได้ใช้บริการนวดสามารถจ่ายค่าบริการเพื่อเข้าไปอาบน้ำได้
ขณะที่สวนสาธารณะ ทราบว่าที่สวนลุมพินี ประตูฝั่งถนนวิทยุ ตรงข้ามโรงเรียนสวนลุมพินี จะมีห้องอาบน้ำอยู่ในห้องน้ำให้บริการฟรี คนที่ออกกำลังกายจะใช้บริการบ่อย มีที่ฝากของกับแม่บ้านครั้งละ 5 บาท
สำหรับต่างจังหวัด เคยใช้บริการที่จังหวัดใหญ่ๆ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ มีห้องอาบน้ำที่สถานีเดินรถนครชัยแอร์ ใกล้กับสถานีขนส่งอาเขต ครั้งละ 10 บาท เหมาะสำหรับอาบน้ำช่วงเย็นก่อนนั่งรถกลับกรุงเทพฯ ช่วงค่ำ
ส่วนที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีห้องอาบน้ำอยู่ที่สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ ค่าบริการ 10 บาท แต่แนะนำให้ใช้บริการก่อน 5 โมงเย็น เพื่อให้แม่บ้านมีเวลาทำความสะอาดก่อนปิดบริการ
แต่ที่ประทับใจที่สุด คือจังหวัดภูเก็ต เคยใช้บริการทั้งสถานีขนส่งเก่า และสถานีขนส่งแห่งใหม่ พบว่ามีห้องอาบน้ำให้บริการฟรี เที่ยวมาเหนื่อยๆ ได้อาบน้ำสักครั้งก่อนนั่งรถทัวร์กลับบ้านก็มีความสุขแล้ว
ที่น่าคิดอย่างหนึ่งก็คือ นโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หนึ่งในนั้นคือ “ห้องน้ำสาธารณะที่ดีในพื้นที่สาธารณะ” ในหมวด สิ่งแวดล้อมดี และ โครงสร้างดี
ระบุว่า ห้องน้ำในพื้นที่สาธารณะและสถานีขนส่งสาธารณะเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการใช้งานของประชาชน โดยหากดูจากกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะพบว่ามีการกำหนดจำนวนห้องน้ำต่อพื้นที่ไว้สำหรับอาคารประเภทต่างๆ
เช่น อาคารสถานีขนส่งมวลชนต้องมีห้องส้วมชาย 2 ห้อง หญิง 5 ห้อง และที่ปัสสาวะชาย 4 ที่ต่ออาคาร 200 ตร.ม. สถานกีฬาต้องมีห้องส้วมชาย 1 ห้อง หญิง 2 ห้อง และที่ปัสสาวะชาย 2 ที่ต่ออาคาร 200 ตร.ม. หรือ 100 คน
แม้ว่าจะมีกฎหมายจะระบุให้มีห้องน้ำขั้นต่ำไว้แต่บางครั้งก็ยังไม่เพียงพอ เช่น ไม่มีการกำหนดให้ต้องมีการสร้างห้องอาบน้ำในสถานกีฬา นอกจากนี้ การเข้าถึงห้องน้ำที่สร้างไว้ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชน
สำหรับห้องอาบน้ำ ระบุแต่เพียงว่า จะมีนโยบายทบทวนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมอาคาร เกี่ยวกับการปริมาณห้องอาบน้ำขั้นต่ำ โดยเฉพาะสำหรับสถานกีฬาและสวนสาธารณะ
นอกจากนี้ กทม. จะทบทวนและเพิ่มปริมาณห้องน้ำในสถานที่ที่อยู่ในการดูแลของ กทม. เช่น สถานีรถไฟฟ้า สวนสาธารณะ ลานกีฬา ให้มีเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน
แม้ห้องอาบน้ำอาจเป็นความต้องการเฉพาะกลุ่ม เมื่อเทียบกับห้องสุขา ที่คนกรุงเทพฯ ต้องการมากกว่า แต่ก็หวังว่าในยุคผู้ว่าฯ ชัชชาติ หากไม่ลืมไปเสียก่อน คงจะได้เห็นห้องอาบน้ำตามสวนสาธารณะให้ประชาชนได้ใช้บริการ
ไม่จำเป็นที่ห้องอาบน้ำต้องติดเครื่องทำน้ำอุ่น หรือมีสบู่ แชมพูใดๆ ขอเพียงแค่ฝักบัวมีน้ำไหลใช้การได้ มีแม่บ้านทำความสะอาดสม่ำเสมอ มีที่วางของพวกสบู่ แชมพู ครีมอาบน้ำ และที่แขวนเสื้อผ้า แขวนกระเป๋าก็พอใจแล้ว
หากห้องอาบน้ำสะอาดและมีความพร้อมตลอดเวลา ไม่ใช่แค่คนออกกำลังกายเท่านั้นที่จะใช้บริการ แต่จะรวมถึงคนเดินทางที่ต้องเจออากาศร้อนระหว่างวัน ก็จะมีโอกาสได้อาบน้ำเพื่อความสดชื่นอีกด้วย