กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
4 พฤษภาคม 2566 เป็นวันแรกที่การรถไฟแห่งประเทศไทย เพิ่มตู้ปรับอากาศพ่วงกับขบวนรถชานเมือง เพื่ออำนวยความสะดวก ลดความแออัด และเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้แก่ผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะในช่วงที่มีสภาพอากาศอุณหภูมิสูงอย่างต่อเนื่อง เช่น ฤดูร้อน
โดยนำร่อง ขบวนรถชานเมืองที่ 389 กรุงเทพฯ (หัวลำโพง) - ชุมทางฉะเชิงเทรา รถออกจากสถานีเวลา 12.10 น. และ ขบวนรถชานเมืองที่ 390 ชุมทางฉะเชิงเทรา - กรุงเทพฯ (หัวลำโพง) รถออกจากสถานีเวลา 14.05 น.
สำหรับค่าโดยสารคิดตามระยะทาง 20-40 บาท เช่น จากสถานีกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ถึงสถานีบ้านทับช้าง 20 บาท สถานีลาดกระบัง 23 บาท ที่หยุดรถพระจอมเกล้า และสถานีหัวตะเข้ 25 บาท สถานีคลองหลวงแพ่ง 30 บาท สถานีเปรง 33 บาท ที่หยุดรถคลองแขวงกลั่น 35 บาท ที่หยุดรถคลองบางพระ 36 บาท และสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา 40 บาท
การรถไฟฯ เปิดเผยว่า ในอนาคตจะปรับการบริการเพิ่มทางเลือกให้กับขบวนรถเชิงสังคม โดยพ่วงตู้โดยสารปรับอากาศกับขบวนรถชานเมืองเส้นทางต่างๆ เพื่อสนองความต้องการของผู้โดยสารในกลุ่มต่างๆ
ปัจจุบัน มีขบวนรถชานเมืองให้บริการไป-กลับที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ทั้งหมด 26 ขบวน ได้แก่ สายตะวันออก 12 ขบวน ปลายทาง ชุมทางฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี
สายเหนือ 8 ขบวน ปลายทาง ชุมทางบ้านภาชี ลพบุรี สายตะวันออกเฉียงเหนือ 4 ขบวน ปลายทาง ชุมทางแก่งคอย และสายใต้ 2 ขบวน ปลายทาง ชุมทางหนองปลาดุก สุพรรณบุรี
ขบวนรถชานเมืองล้วนแล้วแต่เป็นรถนั่งพัดลม!
ส่วนรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย มีบางขบวนที่มีรถดีเซลรางปรับอากาศ 1 ตู้ พ่วงกับรถนั่งพัดลม ให้บริการ รวม 10 ขบวนต่อวัน จากทั้งหมด 34 ขบวนต่อวัน ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 20-25 บาท
ข้อมูล ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 จากสถานีวงเวียนใหญ่ มีให้บริการเที่ยวเวลา 07.00, 10.40, 14.25, 17.00 และ 19.10 น. จากสถานีมหาชัย มีให้บริการเที่ยวเวลา 05.55, 09.35, 13.15, 16.00 และ 18.10 น.
ทราบมาว่าในอดีต เส้นทางระหว่างกรุงเทพ-ชุมทางฉะเชิงเทรา ก็เคยมีขบวนรถพิเศษชานเมือง โดยใช้รถสปรินเตอร์ (Sprinter) ให้บริการ แต่เมื่อมีนโยบายรถไฟฟรีในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช จึงได้เปลี่ยนมาเป็นรถนั่งพัดลม
ต่อมาวันที่ 17 มีนาคม 2561 การรถไฟฯ เปิดให้บริการ ขบวนรถพิเศษโดยสารที่ 997 กรุงเทพ-พัทยา-บ้านพลูตาหลวง และขบวนที่ 998 บ้านพลูตาหลวง-พัทยา-กรุงเทพ เป็นประจำทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว
โดยใช้รถสปรินเตอร์ให้บริการ ค่าโดยสารจากกรุงเทพ ถึงบ้านพลูตาหลวง 170 บาท, ชุมทางฉะเชิงเทรา ถึงบ้านพลูตาหลวง 90 บาท, ชุมทางศรีราชา ถึงบ้านพลูตาหลวง 50 บาท และเที่ยวกลับ ชุมทางฉะเชิงเทรา ถึง กรุงเทพ 80 บาท
แต่สำหรับวันธรรมดา เส้นทางสายตะวันออกไม่มีตู้ปรับอากาศให้บริการ
นับเป็นเรื่องดีที่การรถไฟฯ ตัดสินใจทดลองเพิ่มตู้ปรับอากาศในเส้นทางสายตะวันออก เพราะที่ผ่านมาหากไม่มีฝนตก คนที่นั่งรถไฟชั้น 3 นั่งพัดลมจะต้องเจอทั้งอากาศร้อน ฝุ่นละออง และกลิ่นละอองเหล็กที่คล้ายกับสนิม
วันแรกที่ทดลองเพิ่มตู้ปรับอากาศพ่วงกับขบวนรถชานเมือง แม้การรถไฟฯ จะประชาสัมพันธ์ว่า สามารถสำรองที่นั่งผ่านระบบ D-ticket ได้ในวันเดินทาง แต่กลับพบว่าไม่สามารถจองตั๋วได้ เพราะระบบขึ้นข้อความว่า “ไม่พบข้อมูล”
แม้แต่หลังเวลา 10.10 น. ซึ่งอิงตามระบบ D-Ticket ที่กำหนดให้ราคาอัตราพิเศษ ห้ามขายก่อนรถออก 2 ชั่วโมง ก็ไม่สามารถจองตั๋วได้ สุดท้ายต้องไปซื้อตั๋วด้วยตัวเองที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)
การซื้อตั๋วรถไฟ จำเป็นต้องนำบัตรประชาชนมาแสดงแก่เจ้าหน้าที่ ในวันนี้สถานีรถไฟหัวลำโพงมีช่องขายตั๋วที่ให้บริการเหลืออยู่ไม่มากนัก เพราะพนักงานที่เหลือไปให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือสถานีกลางบางซื่อเดิม
ความจริงมีตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารอัตโนมัติที่อยู่หน้าประตูทางเข้าชานชาลา แต่ใช้ได้เฉพาะรถนั่งพัดลม ชั้น 3 หากอัปเดตให้สามารถจองตั๋วรถไฟชั้น 2 ได้จะดีมาก แต่ก็ไม่ดีเท่ากับสามารถสำรองที่นั่งผ่านระบบ D-Ticket ได้
ด้วยความที่เปิดทดลองเป็นวันแรก กลัวพลาดโอกาส จึงมาซื้อตั๋วรถไฟขบวนนี้เวลา 10.25 น. แต่กำหนดเวลาขบวนรถออกจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เวลา 12.10 น. ช่วงเวลาที่เหลือจึงไปหาอะไรกินที่สามย่านมิตรทาวน์แทน
รถไฟเข้าสู่ชานชาลาหมายเลข 9 เวลา 12.00 น. โดยรถดีเซลรางนั่งปรับอากาศชั้นที่ 2 จะอยู่คันที่ 2 นับจากหัวขบวน รองรับผู้โดยสารได้ 62 ที่นั่ง เมื่อออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงเวลา 12.10 น. พบว่ามีผู้โดยสารประมาณครึ่งคัน
พนักงานตรวจตั๋วรถไฟ ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า พนักงานห้ามล้อ จะเข้ามาตรวจเช็กตั๋วรถไฟว่าที่นั่งตรงกันหรือไม่ เหมือนกับเวลานั่งรถด่วนพิเศษ รถด่วน และรถเร็ว หากไม่ตรงกันก็จะให้ไปที่นั่งที่ตรงกับตั๋วรถไฟ
บางคนที่ซื้อตั๋วรถนั่งพัดลมชั้น 3 ก็จะให้ออกไปยังขบวนด้านนอก ซึ่งไม่ระบุที่นั่ง เว้นเสียแต่ว่าอยากจะเปลี่ยนมานั่งรถปรับอากาศก็จ่ายเพิ่ม แต่ก็ต้องนั่งในที่นั่งที่ไม่มีคนจองเอาไว้แล้วก่อนหน้านี้
แต่สำหรับคนที่ขึ้นมาจากที่หยุดรถพญาไท ที่หยุดรถอโศก และที่หยุดรถพระจอมเกล้า เนื่องจากไม่มีสถานีรถไฟ ไม่มีห้องจำหน่ายตั๋ว หากมีที่นั่งว่างที่ไม่มีคนจองก็สามารถนั่งได้ แล้วซื้อตั๋วกับเจ้าหน้าที่โดยใช้บัตรประชาชนเป็นหลักฐาน
คนที่ขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส ลงที่สถานีพญาไท รถไฟขบวนที่ 389 จะมาถึงที่หยุดรถพญาไทเวลาประมาณ 12.19 น. และคนที่ขึ้นรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที ลงที่สถานีเพชรบุรี รถไฟขบวนที่ 389 จะมาถึงที่หยุดรถอโศกเวลาประมาณ 12.31 น.
แต่ก็ต้องวัดดวงว่าผู้โดยสารบนขบวนรถ รวมทั้งผู้โดยสารที่จองที่นั่งล่วงหน้าจะเต็มหรือไม่ หากเต็มก็ต้องออกไปยังขบวนด้านนอก เพราะฉะนั้น ถ้าให้สามารถจองตั๋วรถไฟออนไลน์กับรถขบวนนี้ล่วงหน้าก่อนเวลารถออกได้ก็จะดีกว่านี้
รถไฟขบวนนี้จอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่หยุดรถพญาไท สถานีมักกะสัน (เก่า) ที่หยุดรถอโศก สถานีคลองตัน สถานีหัวหมาก (เก่า) สถานีบ้านทับช้าง สถานีลาดกระบัง ที่หยุดรถพระจอมเกล้า สถานีหัวตะเข้ สถานีคลองหลวงแพ่ง
ที่หยุดรถคลองอุดมชลจร สถานีเปรง ที่หยุดรถคลองแขวงกลั่น ที่หยุดรถคลองบางพระ ถึงปลายทางสถานีชุมทางฉะเชิงเทราเวลา 13.35 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 25 นาที ล่าช้ากว่ากำหนดเล็กน้อย 5 นาที
ในวันนั้นอากาศร้อน อุณหภูมิด้านนอกประมาณ 35 องศาเซลเซียส ภายในห้องโดยสารนอกจากจะเปิดเครื่องปรับอากาศแล้ว ยังเปิดพัดลมเสริมให้อากาศหมุนเวียนอีกด้วย ถือว่าเย็นสบายระดับหนึ่ง
แต่เนื่องจากรถจอดรับ-ส่งผู้โดยสารตามรายทางถึง 15 จุด เมื่อเปิดประตูออกมาทั้งจากชานชาลาและระหว่างตู้โดยสาร อากาศร้อนจากด้านนอกทำให้ความเย็นลดลงระดับหนึ่ง ก่อนจะค่อยๆ กลับมาเย็นอีกครั้ง แต่ไม่เย็นเฉียบ
ข้อดีของการนั่งตู้ปรับอากาศ นอกจากจะไม่ต้องเจออากาศร้อน เจอเหงื่อท่วมเหนียวเหนอะหนะแล้ว ยังไม่ต้องเจอฝุ่นละออง ไม่ต้องเจอกลิ่นละอองเหล็กติดตัวและข้าวของเครื่องใช้ กว่าจะหายต้องอาบน้ำไป 2-3 รอบ
ถึงสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา ผู้โดยสารไม่เยอะมากเท่าไหร่ มีเจ้าหน้าที่ประจำสถานีคอยแนะนำให้ผู้โดยสารซื้อตั๋วรถนั่งปรับอากาศชั้น 2 ซึ่งราคาไม่ต่างกันมาก ก่อนที่รถจะออกจากสถานีในช่วงเวลาประมาณบ่ายสองโมง
ส่วนค่าโดยสาร จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ถึงสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา เปรียบเทียบระหว่างขบวนที่ 997 วิ่งเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ ค่าโดยสาร 80 บาท กับขบวนที่ 389 ค่าโดยสารเพียง 40 บาท ถือว่าถูกกว่าครึ่งต่อครึ่ง แถมถูกกว่ารถประจำทาง กรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา สายหมอชิต 2 และสายเอกมัย ที่ปัจจุบันคิดค่าโดยสาร 105 บาท
แต่ก็มีข้อสังเกตอย่างหนึ่ง คือ ช่วงเวลาที่ให้บริการเป็นช่วงเที่ยงวัน คนที่จะไปเที่ยวฉะเชิงเทรา ไปไหว้หลวงพ่อโสธรในวันหยุดก็สะดวกขึ้นมาบ้าง แต่คนที่ไปทำงานหรือไปเรียนหนังสือ แบบเช้าไปเย็นกลับอาจต้องทนนั่งรถพัดลมไปก่อน
หากเพิ่มตู้ปรับอากาศพ่วงกับขบวนรถชานเมือง ที่ออกจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ในช่วงเย็น แล้ววันถัดมาออกจากสถานีชุมทางฉะเชิงเทราในช่วงเช้ามืด ก็จะตอบโจทย์คนทำงานแบบเช้าไปเย็นกลับมากขึ้น
ถ้าเพิ่มตู้ปรับอากาศแบบนี้ ค่าโดยสารถูกกว่ารถประจำทาง กับเวลาที่เหมาะสม ตอบโจทย์คนที่ไม่อยากขึ้นรถไฟเพราะอากาศร้อน และกลิ่นละอองเหล็กแบบเดิมๆ ก็มีคนยอมจ่ายเพื่อประสบการณ์ในการเดินทางที่ดีกว่า
แม้ว่าการรถไฟฯ มีแผนจะพ่วงตู้โดยสารปรับอากาศกับขบวนรถชานเมืองเส้นทางต่างๆ แต่จากการสอบถามแหล่งข่าวผู้ที่ทำงานด้านระบบรางก็กล่าวว่า “รถดีเซลรางปรับอากาศมีน้อย”
การรถไฟฯ จึงนำตู้โดยสารปรับอากาศไปวิ่งเส้นทางไกล เพื่อจัดเก็บค่าธรรมเนียมได้รายได้มากขึ้น และรองรับผู้โดยสารทางไกล ส่งผลให้ไม่มีตู้โดยสารปรับอากาศในเส้นทางขบวนรถชานเมือง
ขนาดการรถไฟฯ ทำขบวนรถฟีดเดอร์ ธนบุรี-นครปฐม เชื่อมระหว่างรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีตลิ่งชัน ไปยังจังหวัดนครปฐมวันละหลายขบวน แต่ก็พบว่ายังคงใช้รถนั่งพัดลมอยู่เลย ซึ่งอาจจะไม่ตอบโจทย์คนบางกลุ่ม
ขณะที่ปัจจุบัน การรถไฟฯ มีหัวรถจักร 219 คัน ส่วนใหญ่มีสภาพเก่า แม้จะมีการจัดซื้อหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า 50 คันเข้ามาทดแทนก็ตาม ส่วนรถดีเซลรางมี 226 คัน รถโดยสาร 1,286 คัน รถสินค้า 3,219 คัน
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าที่ผ่านมาการรถไฟฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการจัดหาหัวรถจักร แต่ตู้โดยสารใหม่กลับไม่ค่อยได้เห็นมากนัก โดยเฉพาะตู้โดยสารปรับอากาศ ใหม่ที่สุดเท่าที่เห็นก็คือรถโดยสารชุด 115 คัน
ทั้งที่อีกไม่กี่ปีข้างหน้า จะมีทางรถไฟสายใหม่เพิ่มเข้ามาอีก ได้แก่ ทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร และทางรถไฟสายบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 347 กิโลเมตร ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้
ขอฝากการบ้านถึงรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมล่วงหน้า ถึงเวลาที่รัฐบาลใหม่ต้องสนับสนุนงบประมาณซื้อตู้โดยสาร โดยเฉพาะ "ตู้โดยสารปรับอากาศ" นำมาให้บริการเพิ่มเติม
โดยเฉพาะขบวนรถชานเมือง และรถฟีดเดอร์เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง หากเพิ่มตู้โดยสารปรับอากาศ ที่เหมาะกับอากาศร้อนและฝุ่นละออง ในราคาสมเหตุสมผล จะเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถไฟเพิ่มขึ้น
อย่าปล่อยให้ผู้โดยสารที่ไม่มีทางเลือก ต้องทนอยู่กับอากาศร้อนในขบวนรถอีกต่อไปเลย