xs
xsm
sm
md
lg

ทางหลวงหมายเลข 22 : ถนนนิตโยที่เปลี่ยนไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีทางหลวงแผ่นดินสายประธาน ซึ่งทำหน้าที่รับรถจากทางหลวงหลัก ได้แก่ ถนนมิตรภาพ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2) ไปยังพื้นที่สำคัญแต่ละจังหวัด รวม 5 เส้นทาง ได้แก่

1. ทางหลวงหมายเลข 12 (กลางสะพานมิตรภาพที่แม่สอด (เขตแดนไทย/พม่า) – มุกดาหาร) ระยะทาง 771 กิโลเมตร จัดให้เป็นถนนสายเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก เชื่อมระหว่างประเทศเมียนมากับ สปป.ลาว

2. ทางหลวงหมายเลข 21 (สามแยกพุแค – เลย) ระยะทาง 412 กิโลเมตร เริ่มต้นที่ถนนพหลโยธิน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี ผ่านพื้นที่บางส่วนของ จ.ลพบุรี จ.เพชรบูรณ์ สิ้นสุดที่ถนนมลิวรรณในตัวเมืองเลย

3. ทางหลวงหมายเลข 22 (อุดรธานี – นครพนม) หรือ ถนนนิตโย ระยะทาง 240 กิโลเมตร เริ่มต้นที่ห้าแยกวงเวียนน้ำพุ เทศบาลนครอุดรธานี ผ่านพื้นที่ จ.สกลนคร สิ้นสุดที่ถนนสุนทรวิจิตร ริมแม่น้ำโขง จ.นครพนม

4. ทางหลวงหมายเลข 23 (บ้านไผ่ – อุบลราชธานี) หรือถนนแจ้งสนิท ระยะทาง 276 กิโลเมตร เริ่มต้นที่ถนนมิตรภาพ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ผ่านพื้นที่ จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร สิ้นสุดที่ถนนชยางกูร จ.อุบลราชธานี

5. ทางหลวงหมายเลข 24 (ทางต่างระดับสีคิ้ว – อุบลราชธานี) ระยะทาง 419 กิโลเมตร เริ่มต้นที่ถนนมิตรภาพ และถนนสีคิ้ว-ชัยภูมิ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ผ่านพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ จ.สุรินทร์ จ.ศรีสะเกษ

เดิมคือถนนโชคชัย-เดชอุดม ก่อสร้างสมัยรัฐบาลถนอม กิตติขจร จาก อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา สิ้นสุดที่ อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี ปัจจุบันรวมกับถนนสถลมาร์ค ผ่าน อ.วารินชำราบ สิ้นสุดที่สะพานเสรีประชาธิปไตย จ.อุบลราชธานี

ที่ผ่านมาในพื้นที่ภาคอีสาน มีการขยายทางหลวงแผ่นดินสายประธาน และสายรองประธานอย่างต่อเนื่องเป็นถนน 4 ช่องจราจร เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและขนส่งสินค้า รวมทั้งรองรับการจราจรช่วงเทศกาล


ถนนที่จะนำมาบอกเล่าในวันนี้ คือ ถนนนิตโย ถือเป็นถนนสายหลักในพื้นที่อีสานเหนือ ตั้งแต่อุดรธานี สกลนคร ไปถึงนครพนม วันนี้กลายเป็นถนน 4 เลนตลอดสาย ใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมงเศษเท่านั้น

ถนนนิตโย เดิมมีชื่อเรียกว่า “ทางหลวงแผ่นดินสายอุดรธานี-ธาตุนาเวง-นครพนม” ได้รับการตั้งชื่อในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพื่อเป็นเกียรติแก่ นายโสภณ นิตตะโย อดีตนายช่างกำกับแขวงการทางชุมแพ

ถูกจัดให้เป็นโครงข่าย ทางหลวงสายเอเชีย หมายเลข 15 (AH15) เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดอุดรธานี ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 ไปยัง สปป.ลาว สิ้นสุดที่เมืองวิญ ประเทศเวียดนาม ระยะทาง 556 กิโลเมตร

เดิมจะเป็นถนน 4 ช่องจราจรตั้งแต่ จ.อุดรธานี ไปถึงแค่ อ.หนองหาน เท่านั้น หลังจากนั้นส่วนใหญ่จะเป็นถนน 2 ช่องจราจรสวนทาง จะมีบางช่วงเป็นถนน 4 ช่องจราจร เช่น ช่วง อ.พรรณานิคม ถึงแยกบ้านธาตุ จ.สกลนคร

ภายหลังได้ขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจรอย่างต่อเนื่อง อาทิ ช่วง อ.พังโคน-อ.พรรณานิคม ในปีงบประมาณ 2557 ตามมาด้วยช่วง อ.หนองหาน-อ.พังโคน และช่วงสกลนคร-นครพนม ในปีงบประมาณ 2561 แล้วเสร็จในปี 2564

ปัจจุบันถนนนิตโย กลายเป็นถนน 4 เลนตลอดสาย ช่วยให้การเดินทางระหว่างจังหวัดอุดรธานี ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภาคอีสานตอนบน ไปยังจังหวัดนครพนม มุ่งหน้าไปยังสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 สะดวกขึ้น


เริ่มจากจังหวัดอุดรธานี เมื่อเข้าเขตทางหลวงแผ่นดิน จะพบกับสะพานข้ามแยกสันตพล หรือแยกบิ๊กซี กับถนนวงแหวนรอบเมืองอุดรธานี ที่รับรถจากถนนมิตรภาพ บริเวณสี่แยกบ้านจั่น ไปยังจังหวัดหนองคาย

หลังจากนั้นจะเข้าเขต อ.หนองหาน มีถนนเลี่ยงตัวอำเภอต่างหาก ถึง แยกหนองเม็ก จุดนี้เลี้ยวซ้ายไป อ.ทุ่งฝน อ.บ้านดุง คำชะโนด เข้าเขต อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร แล้วไปออกถนนพังโคน-บึงกาฬ ที่ อ.คำตากล้า จ.สกลนคร

ถัดจากแยกหนองเม็ก จะมีทางหลวงชนบทไปยัง แหล่งมรดกโลกบ้านเชียง ถ้าไม่ทันยังมีทางเข้าอีกทางหนึ่ง คือซอยวัดป่า ทั้งสองเส้นทางมีซุ้มประตู “มรดกโลกบ้านเชียง” ทั้งคู่ ไม่ต้องกลัวหลงทาง


เข้าเขต อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร สภาพถนนดีขึ้นมาเล็กน้อย ผ่านตำบลบ้านต้ายจะเป็นทางขึ้นภูเขา มีรั้วการ์ดเรลป้องกันอุบัติเหตุ และยังทำสะพานข้ามห้วยยางและจุดกลับรถใต้สะพานเพื่อลดความชันระหว่างภูเขาอีกด้วย

หลังจากนั้นจะเข้าเขตชุมชน ผ่านห้างโลตัส สว่างแดนดิน ถึง แยกสว่างแดนดิน จะมีถนนไป อ.เจริญศิลป์ กับ อ.บ้านม่วง ถัดจากนั้นจะเข้าเขต อ.พังโคน ถึงแยกพังโคน จะมีถนนพังโคน-บึงกาฬ ไป จ.บึงกาฬ 129 กิโลเมตร

หลังจากนั้นจะเข้าเขต อ.พรรณานิคม มีถนนเลี่ยงตัวอำเภอต่างหาก ที่นี่จะมีวัดป่าอุดมสมพร และพิพิธภัณฑ์อาจารย์ฝั้น อาจาโร เกจิอาจารย์ชื่อดังสายวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งจะเป็นรูปเจดีย์ฐานกลมกลีบบัวสามชั้น




ก่อนถึงตัวเมืองสกลนคร จะเป็นถนน 8 ช่องจราจร แยกทางหลักกับทางขนาน ก่อนถึง สี่แยกบ้านธาตุ ถ้าจะเลี้ยวซ้ายไปนครพนม และสนามบินสกลนคร ต้องออกทางขนานก่อน เพราะทางหลักเลี้ยวซ้ายไม่ได้

จากสี่แยกบ้านธาตุ ถ้าตรงไปจะไปยังตัวเมืองสกลนคร ต่อเนื่องไปยังถนนสกล-นาแก ไป อ.นาแก จ.นครพนม แล้วไปออกถนนชยางกูร ที่ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม แต่ถ้าเลี้ยวขวาจะเป็นถนนบายพาส ไป อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์

หลังจากเลี้ยวซ้ายมาแล้ว ตรงไปเล็กน้อยจะมี ทางเข้าสนามบินสกลนคร ผ่าน จุดชมวิวหนองหาร และ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ วัดคริสต์ที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัด กับสถาปัตยกรรมที่แปลกตาและสวยงาม

จากนั้นจะผ่าน อ.กุสุมาลย์ ผ่าน วัดพระวิสุทธิวงศ์ นิรมัย หลังจากนั้นก็เข้าเขตจังหวัดนครพนม ผ่านค่ายพระยอดเมืองขวาง ทางเข้าสนามบินนครพนม ทางเข้ามหาวิทยาลัยนครพนม




ถึง สี่แยกบ้านน้อยใต้ ซึ่งเป็นจุดตัดถนนเลี่ยงเมืองนครพนม (ถนนบายพาส) เลี้ยวซ้ายไปออกถนนชยางกูร ไปสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 และ จ.บึงกาฬ เลี้ยวขวามุ่งหน้า อ.ธาตุพนม จ.มุกดาหาร และ จ.อุบลราชธานี

ผ่านสี่แยกมาแล้ว จะมีทางแยกรูปตัววาย (Y) เลี้ยวซ้ายไปสถานีขนส่ง และหอนาฬิกานครพนม ถ้าตรงไปจะผ่านห้างโลตัส นครพนม (และห้างเมกาโฮม) สิ้นสุดเส้นทางที่ถนนสุนทรวิจิตร บริเวณริมแม่น้ำโขง เทศบาลเมืองนครพนม

จุดสิ้นสุดถนนนิตโย จะพบกับแลนด์มาร์คสำคัญของจังหวัด ได้แก่ พญาศรีสัตตนาคราช รูปปั้นพญานาคเจ็ดเศียร พ่นน้ำ ขดลำตัวและหาง หล่อด้วยโลหะทองเหลือง หันหน้าออกสู่แม่น้ำโขงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

แถบนี้จะเป็นถนนคนเดินริมแม่น้ำโขง ใกล้กันจะมีตลาดอินโดจีน ท่าเทียบเรือการท่องเที่ยว ที่จะมีเรือข้ามฟากระหว่างนครพนมกับเมืองท่าแขก แขวงคำม่วนของ สปป.ลาว และถัดจากนั้นจะเป็นหอนาฬิกานครพนม

เมื่อวัดระยะทางแต่ละช่วงพบว่า จากเทศบาลนครอุดรธานี ถึงแยกบ้านธาตุ จ.สกลนคร มีระยะทาง 155 กิโลเมตร และจากแยกบ้านธาตุ ถึง จ.นครพนม มีระยะทาง 87 กิโลเมตร เบ็ดเสร็จรวม 242 กิโลเมตร




จากอุดรธานีถึงสว่างแดนดิน ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จากสว่างแดนดินไปตัวเมืองสกลนคร ประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ และจากสกลนครไปยังนครพนม ประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที เบ็ดเสร็จใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงเศษๆ

เส้นทางนี้มีปั๊มน้ำมันตามอำเภอหลักๆ เช่น ตัวเมืองอุดรธานี หนองหาน สว่างแดนดิน พังโคน พรรณนานิคม เมืองสกลนคร แต่พอออกจากตัวเมืองสกลนครไปแล้วเริ่มหาปั๊มน้ำมันยาก พบกันอีกทีก็ตัวเมืองนครพนม

แนะนำว่าให้เติมน้ำมันจากตัวเมืองอุดรธานีเอาไว้เลย จะได้ไม่ต้องน้ำมันหมดกลางทาง

ถนนนิตโยขยายเป็นถนน 4 เลนในวันนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ที่ผ่านมาถือเป็นถนนสายสำคัญที่รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 ไปยัง สปป.ลาวและเวียดนาม

แต่สำหรับประชาขนทั่วไป การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นถนน 4 เลน ทำให้ไปไหนมาไหนคล่องตัวขึ้น สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเจอรถบรรทุกขับช้า ลดปัญหาการจราจรหนาแน่น โดยเฉพาะช่วงเทศกาล

ถือเป็นเหรียญคนละด้านที่ถนนจากภาษีประชาชนล้วนแล้วแต่ “มีประโยชน์” ทั้งสิ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น