xs
xsm
sm
md
lg

นั่งไทยสมายล์บัส เหมาจ่าย 40 บาท เหมือนจะดี แต่...

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ไทยสมายล์กรุ๊ป ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้า ไทยสมายล์บัส และเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า ไทยสมายล์โบ้ท (หรือชื่อเดิม ไมน์ สมาร์ท เฟอร์รี่) เปิดตัวโปรโมชันค่าโดยสารเหมาจ่ายที่ชื่อว่า เดลี่แม็กซ์แฟร์ (Daily Max Fare) สำหรับผู้ถือบัตร HOP

โดยผู้ถือบัตร HOP เมื่อแตะจ่ายค่าโดยสารรถเมล์ไทยสมายล์บัสไปแล้ว 40 บาท ระบบจะไม่หักเงินจากบัตรอีก และสามารถนั่งรถเมล์แบบยาวๆ ได้ตลอดทั้งวันถึงเที่ยงคืนวันเดียวกัน ส่วนใครที่นั่งรถเมล์ไทยสมายล์บัส และเรือไฟฟ้าไทยสมายล์โบ้ทไปด้วย เมื่อแตะจ่ายค่าโดยสารไปแล้ว 50 บาท ระบบจะไม่หักเงินจากบัตรอีกเช่นกัน

จุดแข็งของไทยสมายล์กรุ๊ป คือ มีเส้นทางเดินรถอยู่ในมือมากถึง 122 เส้นทาง ทั้งของไทยสมายล์บัสที่ได้รับใบอนุญาตเอง 71 เส้นทาง ร่วมลงทุนกับรถร่วมบริการ ขสมก. เดิมอีก 8 เส้นทาง ซื้อกิจการสมาร์ทบัส 37 เส้นทาง เรือไฟฟ้าไมน์ สมาร์ท เฟอร์รี่ 3 เส้นทาง และเพิ่งจะซื้อกิจการอีก 2 บริษัท 6 เส้นทางอีกด้วย

แต่ช่วงนี้หลายเส้นทางเดินรถได้ปรับเปลี่ยนไปพอสมควร เพื่อให้ตรงกับใบอนุญาตเดินรถตามเส้นทางปฏิรูปที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดไว้ เพราะฉะนั้นจะมีบางเส้นทางที่ไม่ผ่านสถานที่เดิม เช่น สาย 127 ตลาดบางบัวทอง-บางลำพู เปลี่ยนไปใช้ถนนราชพฤกษ์แทน ไม่ผ่านวัดคงคา โรงพยาบาลบางใหญ่ วัดศรีประวัติ และสายใต้ใหม่


ที่ผ่านมา ไทยสมายล์บัส และไทยสมายล์โบ้ท ได้เปลี่ยนระบบชำระค่าโดยสารแบบอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาใหม่ โดยเปลี่ยนมาใช้บัตร HOP CARD ที่ออกโดย บริษัท ดีไวน์ คอนเน็ค จำกัด แทน พร้อมติดตั้ง เครื่อง E60 ซึ่งเป็นเครื่องอ่านบัตรที่ประตูทางขึ้นและทางลงรถเมล์ และบริเวณท้ายเรือ กับ เครื่อง AVM ที่บริเวณเสากลางรถตรงข้ามประตูลงรถ
รวมทั้งได้นำ เครื่อง Z90 ซึ่งเป็นเครื่องออกตั๋วรถเมล์ผ่านกระดาษความร้อน (Thermal Paper) มาให้พนักงานใช้แทนเครื่อง EDC และกระบอกตั๋วรถเมล์ ซึ่งนับจากนี้จะไม่สามารถใช้บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตแตะจ่ายค่าโดยสารเหมือนช่วงเปิดตัวใหม่ๆ ได้อีก ถ้าไม่มีบัตร HOP จะต้องจ่ายด้วยเงินสดแทน

บัตร HOP หาซื้อยากมาก ขึ้นอยู่กับบัสโฮสเตส หรือพนักงานเก็บค่าโดยสารจะนำมาขายหรือไม่ สมัยก่อนจำหน่ายใบละ 20 บาท ไม่มีเงินในบัตร ต้องเติมเงินและอัปเดตยอดก่อนใช้งาน ปัจจุบันจำหน่ายในราคาใบละ 60 บาท โดยมีวงเงินในบัตร 40 บาท ใช้ได้ทันที วงเงินหมดก็เติมเงินแล้วอัปเดตยอดที่เครื่อง AVM เพื่อใช้งานได้ต่อเนื่อง


วิธีการเติมเงิน พบว่าคิวอาร์โค้ดด้านหลังบัตรสแกนผ่านแอปฯ ธนาคารไม่ได้ เพราะเป็น URL ไปยังบราวเซอร์ ต้องใช้แอปพลิเคชัน LINE สแกน จึงจะเข้าสู่หน้าเว็บเพจ “เติมเงินบัตร Thai Smile Bus” เติมเงินขั้นต่ำ 50 บาท ชำระเงินผ่านแอปฯ ธนาคาร เฉพาะ Krungthai NEXT (ฟรี) SCB Easy (มีค่าธรรมเนียม 2.50 บาท) หรือ QR Code (ฟรี)
แนะนำให้ Bookmark หน้าเติมเงินบัตร Thai Smile Bus ลงในบราวเซอร์บนมือถือเอาไว้เลย เพื่อความสะดวก รวดเร็ว เวลาเติมเงินครั้งต่อไป จะได้ไม่ต้องสแกนคิวอาร์โค้ดด้านหลังบัตรอีก เพราะเว็บเพจจะอิงจากหมายเลขบัตร 16 หลัก เช่น https://divineconnect.co.th/topup?card_no=xxxxxxxxxxxxxxxx (x = หมายเลขบัตร)

ผู้เขียนจะใช้วิธีสแกน QR Code เพราะเงินจะเข้าทันที แต่เมื่อเติมเงินแล้วยังใช้วงเงินในบัตรที่เติมไม่ได้ ต้องไปแตะบัตรที่เครื่อง AVM ที่บริเวณเสากลางรถตรงข้ามประตูลงรถก่อน เพื่ออัปเดตยอดเงินในบัตร แล้วถึงจะใช้วงเงินในบัตรต่อได้ หรือถ้าไม่มีให้ติดต่อบัสโฮสเตส เพื่อใช้เครื่อง Z90 อัปเดตยอดเงินที่เมนู Registration แล้วแตะบัตรค้างไว้

สำหรับการเช็กยอดเงิน สามารถผูกบัตรไว้กับ แอปพลิเคชัน TSB GO ซึ่งมีไว้ตรวจสอบพิกัด GPS ของรถเมล์แต่ละคัน ลงทะเบียนโดยเพิ่มข้อมูลบัตร HOP ลงไป แต่ข้อเสียก็คือ ใช้ตรวจสอบยอดเงินคงเหลือในบัตรได้อย่างเดียว ไม่สามารถตรวจสอบรายการย้อนหลังได้ว่าขึ้นรถสายอะไร ระยะทางเท่าใด และจ่ายไปเท่าไหร่


วิธีการใช้บัตร เมื่อขึ้นรถเมล์ไทยสมายล์บัส ให้แตะบัตรที่เครื่อง E60 ที่ประตูทางขึ้นรถเมล์ 1 ครั้ง แล้วเข้าไปด้านในรถเมล์ เมื่อถึงปลายทางก่อนลงจากรถให้แตะบัตรที่เครื่อง E60 ที่ประตูทางลงรถเมล์อีก 1 ครั้ง ส่วนเรือไทยสมายล์โบ้ท ให้แตะบัตรที่เครื่องชำระเงิน E60 ที่ท้ายเรือ 2 ครั้ง ได้แก่ ตอนลงจากเรือ และก่อนออกจากเรือ

หากแตะบัตรไม่ครบ 2 ครั้ง ระบบจะคิดค่าปรับตามค่าโดยสารสูงสุด 25 บาท โดยระบบจะหักเงินในการแตะบัตร HOP ในครั้งต่อไป และจะไม่ได้รับเงื่อนไข Daily Max Fare หรือค่าโดยสารเหมาจ่ายตามที่กำหนด

จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนใช้บัตร HOP เดินทางประมาณ 3-4 เดือน แม้จะไม่บ่อยนัก เพราะจะใช้สลับกันกับรถเมล์ ขสมก. หรือรถไฟฟ้าต่างๆ พบว่าระยะแรกสับสนไปบ้าง แต่พอใช้บริการบ่อยครั้งก็ชิน แค่แตะบัตรตอนขึ้นรถเมล์และลงรถเมล์ จะมีก็แต่บัสโฮสเตสทวงถามค่าโดยสาร ก็ตอบไปว่า “แตะบัตรแล้วครับ” พร้อมแสดงบัตร HOP ให้ดู

ข้อดีของการใช้บัตร HOP ก็เหมือนกับการใช้บัตรอื่นๆ จ่ายผ่านระบบขนส่งมวลชน คือ ไม่ต้องพกเงินสด แต่เนื่องจากไทยสมายล์กรุ๊ปทำระบบขึ้นมาเอง ไม่ได้พึ่งพาระบบ EMV เหมือนผู้ประกอบการเดินรถอีกฝั่งหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นว่าต้องพกบัตร HOP เพิ่มอีกใบหนึ่ง แทนที่จะเป็นบัตรใบเดียวสามารถใช้ได้ทุกการเดินทาง

วันหนึ่งซึ่งเป็นเวรหยุด ผู้เขียนกะว่าเดินทางท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ โดยใช้บัตร HOP เหมาจ่ายค่าโดยสารนี่แหละ จึงได้เดินทางออกจากบ้านไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แล้วต่อด้วยท่าน้ำนนทบุรี ไปกินกาแฟที่เรือนจำกลางบางขวาง ตั้งใจว่าขากลับจะใช้บริการเรือไทยสมายล์โบ้ท ที่ท่าน้ำนนทบุรี เพื่อกลับเข้าเมือง

ปรากฏว่าผิดแผน เพราะเรือไฟฟ้าไทยสมายล์โบ้ท ประกาศงดบริการเรือ พระนั่งเกล้า-สาทร รอบเวลา 14.00 น. ต้องรอรอบต่อไปนานกว่า 1 ชั่วโมง หลังกาแฟมื้อเที่ยงในวันนั้น ต้องเปลี่ยนไปนั่งรถเมล์ไทยสมายล์บัสแทน แล้วปรากฏว่าสาย 175 ท่าน้ำนนทบุรี-ถนนตก ไม่ได้ติดเครื่อง E60 ต้องเสียเงินอีก 25 บาท แถมรถเมล์ที่จะไปต่อยังปล่อยรถน้อยด้วย

สรุปว่าในวันนั้น ใช้บัตร HOP ไม่คุ้มกับโปรโมชันค่าโดยสาร Daily Max Fare ตามที่ตั้งใจไว้


ปัญหาการติดเครื่อง E60 ยังไม่ครบทุกคัน ยังปรากฏในบางเส้นทาง นอกจากสาย 175 ท่าน้ำนนทบุรี-ถนนตก แล้ว พบว่าสาย 547 ศาลายา-สวนลุมพินี ยังไม่เปิดใช้เครื่อง E60 อีกด้วย และทราบว่ายังมีอีกหลายเส้นทางที่ยังติดตั้งเครื่อง E60 ไม่ครบเช่นเดียวกัน ไม่นับรวมเมื่อรถออกจากอู่ พนักงานลืมเปิดเครื่อง E60 อีกต่างหาก

อีกปัญหาหนึ่ง คือ การจำหน่ายบัตร HOP ยังคงหาซื้อยาก เพราะพนักงานก็ไม่รู้ว่าวันไหนจึงจะได้รับบัตรมาขาย เวลาผู้โดยสารต้องการซื้อบัตรก็ตอบว่าหมด ถามว่าบัตรจะมาตอนไหนก็ให้คำตอบไม่ได้ จริงๆ ไทยสมายล์บัสควรเพิ่มช่องทางจำหน่ายบัตรเพิ่ม อย่างบัตรแรบบิทของกลุ่มบีทีเอส ยังขายผ่านช้อปปี้ จะคิดค่าขนส่งเท่าไหร่ก็ว่ากันไป

ผู้เขียนได้บัตรมาจากรถเมล์สาย 8 แฮปปี้แลนด์-ท่าเรือสะพานพุทธ ซึ่งกว่าจะได้ซื้อบัตร ต้องไปดักรอที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เวลารถเมล์จอดที่ป้ายต้องตะโกนถามบัสโฮสเตสว่า “มีบัตร HOP ขายไหมครับ” วันนั้นต้องคอยตะโกนถามบัสโฮสเตสไป 3-4 คัน ถ้าคันไหนมีบัตรก็ขึ้นรถทันที ตอนนั้นยังขายใบละ 20 บาท แต่ตอนนี้ 60 บาทแล้ว

ไม่นับรวมปัญหาการปล่อยรถของไทยสมายล์บัส ที่บางเส้นทางมีรถให้บริการเพียงไม่กี่คัน รวมถึงไทยสมายล์โบ้ทที่ปรับลดเที่ยวเรือในช่วงนี้ ทำให้ผู้โดยสารบางกลุ่มต้องพลาดโอกาสในการใช้บริการไปอย่างน่าเสียดาย เป็นปัญหาที่หากไทยสมายล์กรุ๊ปยังแก้ไม่ได้ ก็จะมีผลไปถึงบัตร HOP ที่จะใช้ไม่ได้ และผู้โดยสารจะเสียโอกาส เสียค่าบัตรไปฟรีๆ

โปรโมชัน Daily Max Fare ถือเป็นโปรโมชันค่าโดยสารที่ดี ที่ทำให้ผู้โดยสารสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางลงได้บ้าง แต่ความไม่พร้อมทั้งเครื่องชำระค่าโดยสาร ความถี่ในการเดินรถหรือเดินเรือที่น้อยลง ยิ่งทำให้ผู้โดยสารไม่มั่นใจว่าจะใช้บริการไทยสมายล์บัส หรือไทยสมายล์โบ้ทได้คุ้มค่าตามที่คาดหวังหรือไม่?


กำลังโหลดความคิดเห็น