กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เมื่อวันก่อน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศบนแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT ว่า "ยกเว้นค่าธรรมเนียมถอนเงินไม่ใช้บัตร ครั้งละ 10 บาท 1 ครั้งต่อเดือน ตั้งแต่ 1 พ.ค. 66 ถึง 31 ก.ค. 66"
ส่วนเว็บไซต์ของธนาคารฯ ได้ประกาศอัตราค่าธรรมเนียมล่วงหน้า มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2566 ระบุว่า “บริการถอนเงินแบบไม่ใช้บัตรผ่านเครื่อง ATM ของธนาคาร (Cardless ATM Withdrawal – on us) 10 บาทต่อรายการ”
พร้อมกันนี้ ทางธนาคารฯ ได้ประชาสัมพันธ์ว่า “เพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัล ลดการใช้เงินสด ธนาคารขอยกเว้น! ค่าธรรมเนียมการถอนเงินสดแบบไม่ใช้บัตร (Cardless ATM Withdrawal) 1 ครั้งต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2566 ถึง 31 ก.ค. 2566 (เริ่มเก็บค่าธรรมเนียมการถอนเงินสดแบบไม่ใช้บัตร (Cardless ATM Withdrawal) ครั้งละ 10 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2566 เป็นต้นไป)”
เรื่องนี้กลายเป็นที่วิจารณ์สนั่นโซเชียลฯ เพราะจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ผ่านมา มีหลายคนเลิกทำบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต หันมาใช้บริการกดเงินไม่ใช้บัตรแทน เนื่องจากไม่ต้องการเสียค่าธรรมเนียมรายปี ที่สูงถึง 200 บาทต่อปี
อีกทั้งไม่ใช่ว่าทุกคนจะหันมาใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัล หลายคนยังมีความจำเป็นต้องใช้เงินสดในชีวิตประจำวัน และยังมีร้านค้าอีกหลายแห่งหันมารับเฉพาะเงินสด ไม่รับเงินโอน เพราะกลัวเรื่องภาษีเหมือนช่วงโครงการคนละครึ่ง แถมเงินเก็บในบัญชีก็ยังมีความเสี่ยงที่จะถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ดูดเงินหมดเกลี้ยง
ปัจจุบัน ธนาคารกรุงไทย มีจำนวนเครื่องเอทีเอ็มทั้งสิ้น 7,461 แห่ง ประกอบด้วย กรุงเทพฯ และปริมณฑล 1,679 แห่ง และต่างจังหวัด 5,782 แห่ง ส่วนผู้ใช้แอปพลิเคชัน Krungthai NEXT มีอยู่ประมาณ 16 ล้านราย
คาดว่าหากธนาคารกรุงไทยเก็บค่าธรรมเนียมถอนเงินไม่ใช้บัตรเป็นเจ้าแรก อาจจะมีธนาคารอื่นทยอยเก็บค่าธรรมเนียมตาม คนที่เดือดร้อนมากที่สุดคือผู้บริโภค
เมื่อเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคมาแบบไฟลามทุ่ง ผ่านไปวัน-สองวัน ธนาคารกรุงไทยประกาศว่า “ธนาคารฯ ยินดีน้อมรับฟังทุกความคิดเห็นเพื่อนำมาปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ โดยตระหนักถึงความเดือดร้อนของลูกค้าที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้เงินสดในชีวิตประจำวัน จึงยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวออกไปก่อน”
แม้การประกาศเก็บค่าธรรมเนียมถอนเงินไม่ใช้บัตร จะต้องพับแผนลงในระยะเวลาอันสั้น แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าในอนาคตอันใกล้จะไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมในลักษณะดังกล่าวเลย
บริการกดเงินไม่ใช้บัตร เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2560 โดยมีธนาคารออมสินเป็นเจ้าแรก ตามมาด้วยธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย (ปัจจุบันคือทีเอ็มบีธนชาต) และธนาคารกสิกรไทย
ส่วนธนาคารกรุงไทย ได้เพิ่มฟีเจอร์ถอนเงินไม่ใช้บัตร ผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT เปิดตัวเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2562 พร้อมกับบริการ Krungthai Connext แจ้งเตือนเงินเข้า-เงินออกผ่านไลน์ (LINE)
ผ่านมา 6 ปี บริการกดเงินไม่ใช้บัตร เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบเมื่อเทียบกับผู้ถือบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต เพราะผู้ถือบัตรนอกจากจะต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปีอย่างน้อย 200 บาทต่อปีแล้ว เวลากดเงินสดที่ต่างจังหวัดจะต้องเสียค่าธรรมเนียม 15 บาทต่อรายการ ไม่นับรวมหากกดเงินที่ตู้เอทีเอ็มต่างธนาคารจะเสียค่าธรรมเนียมแพงขึ้น
ขณะที่บริการถอนเงินไม่ใช้บัตร พบว่าแทบจะทุกธนาคารถอนเงินฟรีไม่มีค่าธรรมเนียม ไม่ว่าจะกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มจังหวัดไหนก็ตาม แม้จะมีข้อจำกัดว่าจะกดเงินสดได้เฉพาะตู้เอทีเอ็มธนาคารนั้นๆ ก็ตาม กลายเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายคนไม่ใช้บัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตอีกเลย เพื่อต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย
ขณะที่ธนาคารขนาดเล็ก ออกบริการถอนเงินไม่ใช้บัตรข้ามธนาคาร เช่น ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH BANK และธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ให้ลูกค้าถอนเงินไม่ใช้บัตรที่ตู้เอทีเอ็มธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
โดยพบว่าหากเป็นธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จะมีค่าธรรมเนียม 15 บาทต่อรายการ ส่วนธนาคารเกียรตินาคินภัทร สามารถทำธุรกรรมกดเงินได้ฟรี 10 ครั้งต่อเดือน ตั้งแต่ครั้งที่ 11 เป็นต้นไป จะมีค่าธรรมเนียม 10 บาทต่อรายการ
แม้ว่าในขณะนี้บริการถอนเงินไม่ใช้บัตร ถ้าเป็นธนาคารเดียวกันจะไม่มีค่าธรรมเนียม แต่สิ่งที่ผู้บริโภคมองข้าม คือ แต่ละธนาคารต่างก็มีต้นทุนในการดำเนินงาน โดยเฉพาะการบริหารจัดการเงินสด
เมื่อมาดูการเดินทางของเงินสดที่เรากดผ่านตู้เอทีเอ็ม เริ่มจากธนาคารแห่งประเทศไทย พิมพ์ธนบัตรออกมาก่อน จากนั้นจึงขนส่งธนบัตรจากโรงพิมพ์ธนบัตร ไปยังศูนย์จัดการธนบัตรของแบงก์ชาติ ซึ่งมีอยู่ 10 แห่งทั่วประเทศ
หลังจากนั้น ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ จะเบิกธนบัตรไปยังศูนย์บริหารและจัดการธนบัตร หรือศูนย์เงินสดของแต่ละธนาคาร นับร้อยแห่งทั่วประเทศ แล้วจึงกระจายธนบัตรไปยังสาขาหรือเครื่องเอทีเอ็มต่างๆ โดยใช้รถขนเงินเป็นหลัก
เมื่อแต่ละธนาคารรับฝากเงินจากประชาชน ก็จะส่งธนบัตรคืนให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อนำเข้าฝากเป็นเงินในบัญชีเดินสะพัด ซึ่งธนบัตรที่ใช้ไปสักระยะจะเสื่อมสภาพและชำรุด ศูนย์จัดการธนบัตรก็จะนำไปทำลายต่อไป
ที่ผ่านมา แต่ละธนาคารต่างก็มีต้นทุนในการขนส่งธนบัตรไปยังสาขาหรือตู้เอทีเอ็ม รวมทั้งลงทุนในเครื่องจักรนับคัดธนบัตร การดูแลรักษา สถานที่และบุคลากรในการนับคัดและขนส่งธนบัตร แต่ละปีจะมีต้นทุนสูงถึง 47,000 ล้านบาท
แม้จะมีการสื่อสารถึงต้นทุนการจัดการธนบัตรเป็นระยะ พร้อมส่งเสริมการใช้จ่ายผ่าน e-Payment แต่ประชาชนให้ความสนใจน้อยมาก กระทั่งพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากการเติบโตของโมบายล์แบงกิ้ง โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด-19
สิ่งหนึ่งที่ธนาคารกรุงไทยพลาดก็คือ เหตุผลที่ระบุแต่เพียงว่า “เพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัล ลดการใช้เงินสด” แต่ไม่ได้บอกความจริงว่า ธนาคารต้องแบกรับภาระต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดที่สูงขนาดไหน
ในเมื่อการถอนเงินไม่ใช้บัตรยังมีความเหลื่อมล้ำ และต้นทุนที่สูงที่กล่าวมาข้างต้น หากธนาคารเรียกเก็บค่าธรรมเนียมไม่ได้ สุดท้ายก็อาจจะใช้วิธีลดจำนวนตู้เอทีเอ็มลง ต่อไปผู้บริโภคคงหาตู้เอทีเอ็มเพื่อกดเงินสดได้ยากขึ้น หรือไม่อย่างนั้น ก็จำกัดวงเงินธุรกรรมต่อวันให้น้อยลง เพื่อรองรับเฉพาะกลุ่มลูกค้าผู้ที่มีรายได้น้อยจริงๆ
โดยส่วนตัวไม่ขัดข้องหากจะต้องเก็บค่าธรรมเนียมถอนเงินไม่ใช้บัตร แต่การเรียกเก็บสูงถึง 10 บาทต่อรายการ นับตั้งแต่ครั้งแรกของเดือน (แม้จะอนุโลมให้ 3 เดือนแรก) ส่วนตัวถือว่าโหดเกินไป!
เพราะยังมีผู้บริโภคจำนวนมากจำเป็นต้องใช้เงินสดในชีวิตประจำวัน บางคนต้องกดเงินสดเป็นประจำทุกวัน เช่น พ่อแม่โอนเงินให้ค่าขนมลูก พอลูกกดเงินสดเจอค่าธรรมเนียม 10 บาทต่อรายการ ตกเดือนละประมาณ 300 บาท ปีละประมาณ 3,600 บาท แบบนี้หน้าเลือดยิ่งกว่าค่าธรรมเนียมรายปีบัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิตอย่างน้อยปีละ 200 บาทเสียอีก
ถ้าธนาคารพาณิชย์ต้องการเก็บค่าธรรมเนียมถอนเงินไม่ใช้บัตรจริง ก็ต้องหารือกันหลายฝ่าย โดยเฉพาะ ธนาคารแห่งประเทศไทย ควรเป็นตัวกลาง พิจารณาจากต้นทุนการดำเนินงาน และปริมาณธุรกรรมที่พอจะยกเว้นค่าธรรมเนียม รวมถึงพิจารณาจากกลุ่มลูกค้า เช่น ผู้มีรายได้น้อย นักเรียน นักศึกษา ฯลฯ ก่อนที่จะกำหนดให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
อย่างน้อยการกำหนดค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ดีกว่าปล่อยให้ธนาคารแต่ละแห่งกำหนดค่าธรรมเนียมขึ้นมาเอง หลังจากนั้นธนาคารอื่นก็เก็บค่าธรรมเนียมตาม ผู้บริโภคต้องจำยอมจ่ายค่าธรรมเนียมที่สูง โดยไม่มีทางเลือกให้ได้หายใจหายคอกันบ้างเลย