กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เป็นที่ทราบกันดีว่า ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นมา มีการย้ายขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ ทั้งรถด่วนพิเศษ รถด่วน และรถเร็ว ไปให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือ สถานีกลางบางซื่อ
ส่วนขบวนรถไฟเชิงสังคม ได้แก่ ขบวนรถธรรมดา ขบวนรถชานเมือง รวมทั้งขบวนรถนำเที่ยว ยังคงให้บริการที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เช่นเดิม ซึ่งจะไม่เข้าสถานีกลางบางซื่อ แต่จะจอดที่สถานีชุมทางบางซื่อที่อยู่ติดกันแทน
ก่อนหน้านี้มีรีวิวขึ้นรถไฟจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในราคาเที่ยวละ 20 บาท ด้วยความสนใจ อีกทั้งยังไม่เคยเข้าไปใช้บริการรถไฟทางไกล ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์สักครั้ง
ผ่านไป 2 เดือน เพิ่งจะมีโอกาสได้เข้ามาใช้บริการ ซึ่งความรู้สึกส่วนตัวเห็นว่า บางอย่างที่มองว่าไม่ดีกลับดี แต่บางอย่างที่คิดว่าจะดีกว่านี้ก็ต้องปรับปรุงแก้ไขกันไป
ก่อนหน้านี้เคยใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ลงสถานีบางซื่อ เพื่อขึ้นไปยังสถานีกลางบางซื่อ แล้วต่อรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงไปรังสิต หรือไม่อย่างนั้นก็นั่งรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงจากสถานีตลิ่งชันแล้วเปลี่ยนขบวนรถ
แต่วันนี้ลองมารอรถเมล์ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิดูบ้าง เพราะเป็นจุดศูนย์รวมการเดินทางทั้งรถตู้ รถเมล์ และรถไฟฟ้าบีทีเอส กะว่าจะนั่งรถเมล์สาย 77 เซ็นทรัลพระราม 3 – หมอชิตใหม่ ที่ผ่านสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
ปรากฏว่าตอนนั้นไม่มีรถเมล์ในช่วงเวลานั้นเลย รอประมาณครึ่งชั่วโมง สุดท้ายจึงตัดสินใจเรียกแท็กซี่ ยามบ่ายวันหยุดที่รถไม่ติด ค่าโดยสารตามมิเตอร์ 69 บาท แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพการจราจร
คนที่จะใช้บริการรถไฟทางไกล ถ้านั่งรถแท็กซี่ ให้ตรงไปจอดที่ประตู 4 เดินเข้ามาด้านในจะมีช่องจำหน่ายตั๋วโดยสาร ส่วนคนที่นำรถยนต์ส่วนตัวมา จะมีที่จอดรถชั้นใต้ดิน ชั่วโมงละ 20 บาท วันละ 250 บาท
เมื่อเข้ามาด้านใน จะมีช่องจำหน่ายตั๋วโดยสาร ที่นี่รับทั้งเงินสด บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้ง “ทรูมันนี่ วอลเล็ต” แต่พบว่าใช้ได้เฉพาะยอดเงินในทรูวอลเล็ตเท่านั้น เพราะฉะนั้น ก่อนซื้อตั๋วต้องเติมเงินทรูวอลเล็ตก่อน
ขบวนรถเร็วที่ 109 กรุงเทพอภิวัฒน์-เชียงใหม่ รอบเวลา 14.15 น. เป็นรถนั่งพัดลมชั้น 3 ค่าโดยสารอัตราพิเศษ 20 บาท ต่างจากรถธรรมดา และรถชานเมืองจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เพียง 5 บาทเท่านั้น
เมื่อได้ตั๋วเรียบร้อยแล้ว เข้าไปด้านในจะมีที่นั่งคอย แบ่งเป็นสายใต้ กับสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ ตรงจุดนี้มีที่ชาร์จแบตมือถือฟรี มีร้านค้าขายขนมและเครื่องดื่ม คอยฟังเสียงประกาศจากเจ้าหน้าที่
13.45 น. มีประกาศเสียงตามสายให้ขึ้นรถไฟที่ชานชาลาหมายเลข 1 ให้นำตั๋วรถไฟมาแสดงกับเจ้าหน้าที่ ตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนที่จะเดินขึ้นบันไดเลื่อนไปยังชานชาลาที่มีขบวนรถไฟจอดอยู่
ในตอนนั้นแม้จะมีคนยืนต่อคิวกันยาวเหยียด แต่การจัดการของเจ้าหน้าที่ทำได้ดี ใช้เวลาตรวจตั๋วรถไฟไม่นานนัก โดยแต่ละแถวจะระบุขบวนรถว่าให้ไปแถวไหน อย่างแถวขวาจะเป็นคันที่ 1-5 ส่วนแถวซ้ายจะเป็นคันที่เหลือ
ข้อดีของการทำสถานีระบบปิด คือ จะไม่มีบุคคลภายนอกแปลกปลอมเข้ามาเลย จะมีเฉพาะผู้โดยสารเท่านั้น แม้จะแปลกใจที่ยังมีแม่ค้าขึ้นมาขายอาหาร เครื่องดื่ม แต่ถ้าซื้อตั๋วเหมือนกันคงจะว่ากันไม่ได้
14.15 น. ได้เวลาขบวนรถออกจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทางยกระดับที่ใช้ร่วมกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ทำให้การเดินรถเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ต้องระวังจุดตัดทางรถไฟ และลดปัญหาการจราจรติดขัดบนท้องถนน
โดยเฉพาะ ถนนงามวงศ์วาน และ ถนนแจ้งวัฒนะ ที่จะต้องข้ามทางรถไฟก่อนไปยังถนวิภาวดีรังสิต สมัยก่อนต่างฝ่ายต่างต้องระวังจุดตัดทางรถไฟกันและกัน แต่ตอนนี้ประหยัดเวลาไปได้เยอะเลย
ผ่านไป 12 นาที ขบวนรถจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ก็มาถึงสถานีดอนเมือง จากนั้นลงจากทางยกระดับ เกือบ 30 นาทีถึงสถานีรังสิต นั่งกันต่อยาวๆ ถึงสถานีอยุธยา เบ็ดเสร็จใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง 5 นาที
จากสถานีรถไฟอยุธยา ถ้ามาเที่ยวเป็นแก๊งหรือหมู่คณะ มักจะเลือกเหมารถสามล้อขนาดเล็ก เรียกว่า “รถตุ๊กตุ๊กหัวกบ” เพราะไปได้หลายที่ แต่ถ้ามาคนเดียวก็มีจักรยานให้เช่า
หรือไม่ก็มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ค่าโดยสารขึ้นอยู่กับระยะทาง อย่างผู้เขียนนั่งจากสถานีอยุธยา ถึงห้างเซ็นทรัล อยุธยา คิด 50 บาท ขากลับนั่งจากศูนย์การค้าอยุธยาพาร์ค ไปสถานีรถไฟอยุธยา ก็คิด 50 บาทเช่นกัน
มาถึงขากลับจากอยุธยา เข้าสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เที่ยวสุดท้าย คือ ขบวนรถเร็วที่ 102 เชียงใหม่-กรุงเทพอภิวัฒน์ ตามตารางเดินรถ จะออกจากสถานีอยุธยา 19.16 น. ถึงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ 20.25 น.
ขบวนรถนี้จองล่วงหน้าเป็นวันๆ ไม่ได้ จะเปิดระบบให้ซื้อตั๋ว 2 ชั่วโมงก่อนเวลารถออกตามตารางเดินรถ (ส่วนจะเร็วหรือช้าต้องวัดดวงอีกที) ตอนไปซื้อตั๋วขากลับพนักงานบอกว่ายังไม่เปิดขาย ให้รอประมาณ 5 โมงเย็น
แต่วิธีที่เร็วกว่านั้น คือ จองผ่านแอปพลิเคชัน D-Ticket หรือเว็บไซต์ https://www.dticket.railway.co.th/ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย แล้วโชว์หน้าจอไฟล์ PDF ให้เจ้าหน้าที่เป็นหลักฐานแทนตั๋วรถไฟได้
ถ้ายังไม่เปิดระบบ เมื่อกดจองแล้วหน้าจอจะแสดงผลว่า “ราคาอัตราพิเศษ ห้ามขายก่อนรถออก 2 ชั่วโมง” แต่ระหว่างนั้นสามารถดูได้ว่าขบวนรถด่วน และรถเร็วที่เราเลือกในวันนั้นยังมีที่นั่งเหลืออยู่หรือไม่
แต่ถ้าวันนั้นไม่มีขบวนรถเหลืออยู่ ถ้าอยากจะนั่งรถไฟกลับ มีขบวนรถธรรมดาที่ 210 บ้านตาคลี-กรุงเทพ (หัวลำโพง) ถึงสถานีอยุธยา เวลาประมาณ 18.47 น. แต่ต้องทำใจว่าที่นั่งไม่มี มีแต่ที่ยืน และจอดตามสถานีรายทาง
เรารอเวลากดจองตั๋วรถไฟ 17.16 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลา 2 ชั่วโมงก่อนเวลารถออก ถึงเวลาแล้วก็กดจองตั๋วรถไฟ ระบบ D-Ticket สามารถจองและซื้อตั๋วรถไฟได้สูงสุด 10 ที่นั่งต่อครั้ง ชำระผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต
จองเสร็จแล้วเรายังมีเวลากินข้าว ทำธุระส่วนตัว แล้วไปรอที่สถานีรถไฟอยุธยาได้สบายๆ เพราะอย่างน้อยมีตั๋วรถไฟขากลับอยู่ในมือแล้ว แต่แนะนำว่าให้มารอที่สถานีอยุธยาก่อนรถออก ประมาณสัก 1 ทุ่มตรงก็ยังดี
รถเร็วขบวนที่ 102 มาถึงสถานีอยุธยาค่อนข้างจะตรงเวลา ออกจากสถานีอยุธยา 19.16 น. มีสะดุดเล็กน้อย ถึงสถานีรังสิต 20.00 น. ถึงสถานีดอนเมือง 20.11 น. และถึงสถานีปลายทางกรุงเทพอภิวัฒน์ 20.32 น.
เมื่อรถไฟขึ้นทางยกระดับ เราจะเห็นความสวยงามของสนามบินดอนเมือง ถนนวิภาวดีรังสิต ตึกรามบ้านช่องยามค่ำคืน แนะนำว่า อย่ายื่นอวัยวะออกนอกหน้าต่าง และอย่าโยนทิ้งสิ่งของออกนอกทางรถไฟ
ออกจากชานชาลาสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ลงบันไดเลื่อน สามารถนั่งรถเมล์ ขสมก. ฟรีที่ประตู 12 แนะนำให้นั่งรถขึ้นทางด่วนจะเร็วกว่า หรือต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ได้ที่ทางเชื่อมด้านทิศใต้ของสถานี
เท่าที่ทำข้อมูลด้วยตัวเองพบว่า ขบวนรถด่วนและขบวนรถเร็ว ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – อยุธยา ที่คิดค่าโดยสารชั้น 3 อัตราพิเศษ มีทั้งหมดรวมกัน 20 ขบวน แบ่งเป็นเที่ยวไป 10 ขบวน และเที่ยวกลับ 10 ขบวน
จากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึงสถานีอยุธยา เที่ยวแรก 07.10 น. เที่ยวสุดท้าย 23.05 น. ส่วนจากสถานีอยุธยา ถึงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เที่ยวแรก เวลาประมาณ 03.07 น. เที่ยวสุดท้ายเวลาประมาณ 19.16 น.
เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการเดินทาง จากศูนย์กลางการคมนาคมทางรางที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ไปยังเมืองมรดกโลก ด้วยระยะเวลาเพียง 1 ชั่วโมงเศษ และค่าโดยสารราคาเป็นมิตรกับกระเป๋าสตางค์