กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
การชำระค่าสินค้าและบริการผ่านไทยคิวอาร์ เพย์เมนต์ (THAI QR PAYMENT) ซึ่งชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “สแกนจ่าย” กำลังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยมีปริมาณธุรกรรมมากกว่า 40 ล้านรายการต่อวัน
กลายเป็นศึกชิงความได้เปรียบของสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการโมบายแบงกิ้ง ที่ผ่านมามักจะมีโปรโมชันจูงใจให้ลูกค้าสแกนจ่ายผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อหวังให้ลูกค้าหันมาทำธุรกรรมกับแพลตฟอร์มของตนเองมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนเคยเขียนถึง “เป๋าตังเปย์” (Paotang Pay) อี-วอลเล็ตผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ที่มีผู้ใช้งานจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล กว่า 40 ล้านราย ซึ่งพัฒนาโดย ธนาคารกรุงไทย
ในช่วงเปิดตัวใหม่ๆ มีการแจกคูปองส่วนลด 10 บาท ใช้สแกนจ่ายผ่านร้านค้าถุงเงิน ปรากฎว่าร้านค้าหลายแห่ง เลิกใช้แอปพลิเคชันถุงเงิน ของธนาคารกรุงไทย เพราะสิ้นสุดโครงการคนละครึ่ง จึงทำให้หาร้านที่รับคูปองส่วนลดได้ยาก
คราวนี้ดูเหมือนว่าธนาคารกรุงไทยพยายามแก้ไขเพนพอยต์ (Pain Point) ด้วยการให้ใช้คูปองส่วนลด กับร้านค้าที่มีคิวอาร์โค้ดสำหรับรับชำระเงินของธนาคารที่ร่วมรายการ นอกจากร้านถุงเงิน ธนาคารกรุงไทย
ได้แก่ ร้าน K SHOP ธนาคารกสิกรไทย, ร้านแม่มณี ธนาคารไทยพาณิชย์, ร้านมั่งมีช้อป ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ร้าน Be Merchant NextGen ธนาคารกรุงเทพ และร้าน ttb smart shop ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต เป็นต้น
ขอย้ำว่าเฉพาะคิวอาร์โค้ดที่สร้างจากแอปฯ หรือแพลตฟอร์มเหล่านี้เท่านั้น หากเป็นคิวอาร์โค้ดที่เป็นเบอร์โทรศัพท์มือถือ หรือเลขที่บัตรประชาชน ถึงสแกนจ่ายได้ แต่ใช้คูปองส่วนลดไม่ได้
วิธีใช้คูปองที่เก็บไว้ก็คือ สแกนจ่ายผ่านแอปฯ เป๋าตังตามปกติ จากนั้นในหน้าจ่ายบิลจะปรากฏข้อความ “มี...คูปองที่ใช้ได้” แล้วกดเลือกคูปองที่ต้องการ จากนั้นให้กด “ถัดไป” แล้วยืนยันการทำรายการ
ยอดเงินในวอลเล็ตเป๋าตังเปย์ จะถูกหักออกมาเฉพาะส่วนที่จ่ายจริงหลังหักส่วนลด ส่วนร้านค้าได้รับเงินเต็มจำนวน เพราะธนาคารฯ จะเป็นคนให้ส่วนลดแก่ลูกค้าที่ใช้คูปองโดยอัตโนมัติ
การเปิดให้ลูกค้าเป๋าตังเปย์ใช้คูปองกับคิวอาร์โค้ดธนาคารอื่นได้ นอกจากจะลดช่องว่างระหว่างลูกค้ากับร้านค้าแล้ว ยังเจาะกลุ่มเป้าหมายไปยังร้านค้าธนาคารอื่น โดยเฉพาะธนาคารที่มีจุดรับชำระเงินมากที่สุด
เช่น ธนาคารกสิกรไทย ครองส่วนแบ่งจุดรับชำระเงินมากกว่า 2 ล้านจุดทั่วประเทศ โดยเฉพาะร้านค้าในหมวดเดินทาง อาหารและเครื่องดื่ม และช้อปปิ้ง เติบโตสูงขึ้นหลังการเปิดประเทศ
ผู้เขียนเคยสแกนจ่ายเป๋าตังเปย์ กับเครื่อง EDC หรือ THAI QR PAYMENT ของร้านค้า 3 แห่ง ที่ใช้ระบบของธนาคารกสิกรไทย ได้แก่ คาเฟ่อเมซอน, ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต และ มิสเตอร์ ดี.ไอ.วาย พบว่าสามารถใช้คูปองส่วนลดได้
ข้อดีของธนาคารกสิกรไทยก็คือ เข้าร่วมทั้งร้านค้าใน K SHOP และเครื่อง EDC ซึ่งอาจจะแตกต่างจากธนาคารอื่นที่ใช้ได้เฉพาะแอปฯ คิวอาร์โค้ด สำหรับรับชำระเงินของร้านค้าเท่านั้น เครื่อง EDC บางธนาคารไม่ร่วมรายการ
เท่ากับว่า เราสามารถสแกนจ่ายกับร้านค้าได้นับพันแห่ง ขึ้นอยู่กับว่าเราสแกนไปแล้วจะมีข้อความ “มี ... คูปองที่ใช้ได้” ก่อนยืนยันหรือไม่
ขณะเดียวกัน เป๋าตังเปย์ยังแจกคูปองส่วนลดในรูปแบบต่างๆ เช่น ช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ที่ผ่านมาแจก “คูปองเลิฟ ส่วนลด 10 บาท” เมื่อชำระค่าสินค้าและบริการผ่านวอลเล็ตเป๋าตังเปย์ ตั้งแต่ 50 บาทขึ้นไป
นอกจากนี้ ยังแจกคูปองส่วนลดในแคมเปญ “ภารกิจพิชิตคุ้ม” เมื่อทำธุรกรรมจ่ายบิล เติมเงิน หรือสแกนจ่าย ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด ก็จะได้คูปองส่วนลดใช้สแกนจ่ายร้านค้าถุงเงินที่ร่วมรายการ
รวมทั้งการจัดอีเวนต์ต่างๆ หากธนาคารกรุงไทยเข้าร่วมเป็นสปอนเซอร์หรือพาร์ทเนอร์ ก็อาจจะมีคูปองส่วนลด เช่น ลด 50% สูงสุด 50 บาท ไว้สำหรับใช้ในงานเช่นกัน ส่วนมากจะใช้ได้กับร้านของกิน อาหารและเครื่องดื่ม
สำหรับธนาคารอื่น พบว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ลูกค้าที่ทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชัน KMA (Krungsri Mobile App) ก็มีภารกิจสแกนจ่ายตามเงื่อนไขที่กำหนด ก็จะได้รับกิฟท์ไว้แลกรางวัลเช่นกัน
โดยเงื่อนไขการได้รับกิฟท์ ภารกิจสแกนจ่าย ก็คือ ลูกค้าที่สแกนจ่ายผ่าน KMA-Krungsri Mobile App (ด้วยการกดจากปุ่มเมนูสแกนจ่ายเท่านั้น) อย่างน้อย 5 ครั้งต่อเดือน ยอดขั้นต่ำ 100 บาทต่อครั้ง
ก่อนหน้านี้ก็มีบางธนาคารออกแคมเปญแจกคะแนนสะสมหรือเงินคืนแก่ลูกค้าที่สแกนจ่ายแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับจะแจกโดยทั่วไป หรือจะแจกเฉพาะกลุ่มลูกค้า ซึ่งจะมีการแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชันหรือ SMS
คนที่ใช้โมบายแบงกิ้งที่สนใจโปรโมชันแบบนี้ อาจจะต้องสังเกตโปรโมชันสแกนจ่ายในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งก่อนจะใช้สิทธิควรศึกษาเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด โดยเฉพาะจำนวนสิทธิตลอดรายการ
เพื่อที่จะได้ใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า และไม่เสียอารมณ์เมื่อรู้ว่าสิทธิที่จะต้องได้รับเต็มจำนวนแล้ว