กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เมื่อวันก่อน มีโอกาสไปศึกษาดูงาน โครงการนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ โครงการวังจันทร์วัลเลย์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 3,454 ไร่ ริมถนนสาย 344 ชลบุรี-แกลง ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง
งานนี้มาในนาม หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 11 นำโดย คุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ผู้อำนวยการหลักสูตร และ คุณอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ผู้จัดการหลักสูตร
เราเคยได้ยินชื่อของวังจันทร์วัลเลย์มาสักระยะหนึ่งแล้ว จากสถานศึกษาอย่างเช่น โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) เป็นโรงเรียนประจำ ที่คัดเยาวชนหัวกะทิปีการศึกษาละ 72 คน เข้ามาเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
โดยนักเรียนที่สอบผ่านการคัดเลือก จะได้รับทุนการศึกษาฟรีเป็นเวลา 3 ปี หลักสูตรการเรียนการสอนเน้นไปที่ชีววิทยา เคมี หรือฟิสิกส์ ก่อนจบต้องทำงานวิจัย 1 เรื่อง และมีหอพักสำหรับนักเรียน กลับบ้านได้ในวันเสาร์-อาทิตย์
อันที่จริง วังจันทร์วัลเลย์ ยังมี สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย รับนักศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอก เข้าศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยให้ทุนการศึกษาทั้งหมด
มี 4 สำนักวิชา ได้แก่ สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล และสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
มีแลนด์มาร์คที่โดดเด่นเป็นสง่า คือเสาที่ทำมาจากวัสดุที่เรียกว่า คาร์บอนนาโนทิวบ์ (Carbon Nanotube)
แต่สถาบันการศึกษาที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงโซนหนึ่งของวังจันทร์วัลเลย์เท่านั้น เพราะแท้ที่จริงแล้ว คือเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่จัดให้เป็นเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน ประเภทเมืองใหม่แห่งแรกในประเทศไทย
วังจันทร์วัลเลย์ ตั้งอยู่บนหลักกิโลเมตรที่ 66 ของถนนสาย 344 ชลบุรี-แกลง ห่างจากมอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-พัทยา-มาบตาพุด บริเวณด่านบ้านบึง ประมาณ 60 กิโลเมตร และห่างจากสามแยกแกลง ประมาณ 36 กิโลเมตร
ด้านหน้าจะเป็นปั๊มน้ำมัน PTT Station (Jiffy) มีสะพานลอยกับป้ายรถเมล์ แต่ถ้าเป็นนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ก็จะมีรถบัสรับ-ส่งไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ และสำนักงานใหญ่ ปตท. ถนนวิภาวดีรังสิต ไปวันศุกร์กลับวันอาทิตย์
เข้าไปด้านในจะเป็นถนนลาดยาง ด้านข้างเป็นทางจักรยานและทางเดินเท้าแยกส่วนกัน มีป้ายรถเมล์อัจฉริยะ ผ่านสถานีตำรวจภูธรวังจันทร์ สาขาโรงเรียนกำเนิดวิทย์ฯ ก่อนจะพบกับทางเข้าที่ 1 ซึ่งเป็นทางเข้าหลักของโครงการ
ที่นี่มีระบบรักษาความปลอดภัยทั้งระบบตรวจจับใบหน้า ระบบตรวจสอบป้ายทะเบียนรถสำหรับคนที่เข้า-ออกในพื้นที่ ระบบตรวจสอบการบุกรุก ระบบกล้องจับความร้อนในเวลากลางคืนในพื้นที่อับแสง
วังจันทร์วัลเลย์ เกิดจากความร่วมมือระหว่างกลุ่ม ปตท. กับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาให้เป็น เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) แบ่งเป็น 5 โซนหลัก
เริ่มจากโซนแรก Education Zone เป็นโซนสถาบันการศึกษา ประกอบด้วย โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และโครงการป่าวังจันทร์ สถาบันปลูกป่า ปตท. พื้นที่รวม 1,186 ไร่
บริเวณใกล้กันจะเป็น โรงแรม ดิ เอ็นโคนี่ (The EnCony) สูง 4 ชั้น มีห้องพักรวม 72 ห้อง สร้างขึ้นเพื่อรองรับผู้มาปฏิบัติงานหรือเยี่ยมชมหน่วยงานนวัตกรรมใน EECi สถานศึกษา รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่มาชมโครงการป่าวังจันทร์
ถัดจากนั้นจะเป็น Innovation Zone พื้นที่สำหรับงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เป็นที่ตั้งของกลุ่มอาคารกลุ่มนวัตกรรม EECi แหล่งรวมโครงสร้างพื้นฐานรองรับการวิจัย มุ่งเน้น 6 กลุ่มอุตสาหกรรม
ได้แก่ นวัตกรรมการเกษตร, เชื้อเพลิงชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ, แบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงและการขนส่งสมัยใหม่, ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, การบินและอวกาศ และเครื่องมือแพทย์
EECi เปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาเข้าใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นแหล่งรวมนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญ
ใครสนใจลงทุน มีสิทธิการเช่าที่ดินระยะยาวและการเช่าพื้นที่ในอาคารเพื่อการวิจัยและพัฒนา โดยได้รับสิทธิประโยชน์ของ BOI สูงสุด วีซ่าทำงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ ยกเว้นอากรนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการทำวิจัยและพัฒนา
รวมทั้งอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 17% คงที่ สำหรับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบในการทำนวัตกรรม (Regulatory Sandbox) อีกด้วย
เข้ามาสักพักหนึ่งจะเห็น อาคารศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (IOC) เป็นศูนย์ควบคุมและสั่งการระบบสาธารณูปโภค ระบบรักษาความปลอดภัย และระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดของวังจันทร์วัลเลย์
ด้านในจะเป็น ห้องประชุมอัจฉริยะ Smart Meeting Room รองรับระบบประชุมทางไกล มี ห้องควบคุมปฏิบัติการ (Control Room) มีวีดีโอวอลล์ควบคุมและสั่งการระบบปฏิบัติการต่างๆ ภายในพื้นที่
ถัดจากนั้นจะเป็นสถานที่ก่อสร้างสนามทดสอบรถอัตโนมัติ ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ที่กำลังก่อสร้าง และสนามบินขนาดเล็ก เป็นลานกว้างลาดยางความยาว 700 เมตร รองรับเครื่องบินเล็กและเฮลิคอปเตอร์
ระหว่างที่นั่งรถเที่ยวชมโครงการ ยอมรับว่าแม้ถนนด้านในจะเป็นถนนลาดยาง 2 ช่องจราจรสวนทาง แต่ก็มีทางจักรยาน ทางเดินและวิ่งออกกำลังกายแยกต่างหาก มีกล้อง CCTV รักษาความปลอดภัยในพื้นที่มากถึง 800 ตัว
นอกจากนี้ ยังมี ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ Smart Bus Stop และมี รถประจำทางไฟฟ้า (EV Shuttle Buses) ให้บริการในพื้นที่ มีการผลิตไฟฟ้าผ่านโซลาร์เซลล์ใช้ในพื้นที่ มีสถานพยาบาลในพื้นที่อย่างสมิติเวช วังจันทร์วัลเลย์ คลินิกเวชกรรม
ถือว่าออกแบบเมืองให้กลายเป็นสมาร์ทซิตี้สมบูรณ์แบบ ใครที่มีโอกาสเข้ามาเยี่ยมชม ก็จะพบถึงความน่าทึ่งของนวัตกรรมหลายอย่าง ท่ามกลางพื้นที่สีเขียวธรรมชาติของป่าไม้และขุนเขาโดยรอบ เชื่อว่าหลายคนคงอยากได้เมืองในฝันแบบนี้
อย่างไรก็ตาม แม้วังจันทร์วัลเลย์จะมีพื้นที่กว้างขวาง เนรมิตให้เป็นเมืองอัจฉริยะ โครงสร้างพื้นฐานเพียบพร้อม แต่ก็พบว่ามีคนเข้ามาใช้ชีวิตหลักพันคน และใช้ชีวิตในช่วงวันทำงาน เสาร์-อาทิตย์ก็กลับกรุงเทพฯ
คงต้องรอดูอีกสัก 10-20 ปีข้างหน้า วังจันทร์วัลเลย์น่าจะคึกคักกว่านี้