กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ช่วงเวลาสำคัญอย่างวันเกิด วันขึ้นปีใหม่ วันรับปริญญา หรือจะทำบุญใดๆ มักจะมีบางคนบอกช่องทางสำหรับคนที่ไม่สะดวกให้ของขวัญ หรือมาทำบุญด้วยตัวเอง ด้วยการโพสต์เลขที่บัญชี หรือเบอร์พร้อมเพย์ลงโซเชียลฯ เพื่อหวังให้คนรู้จัก และไม่รู้จักแต่ติดตามอยู่นั้น โอนเงินเป็นของขวัญหรือร่วมกันทำบุญ
ถ้าเป็นคนรู้จักอาจจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ก็มีบางคนที่โพสต์ลงโซเชียลฯ เป็นสาธารณะ แม้จะรู้สึกยินดีและไม่อยากขัดศรัทธาใคร ใครที่รักใคร่ชอบคอ อยากจะให้ของขวัญ ฝากทำบุญก็โอนเงินกันไป ซึ่งเดี๋ยวนี้เราโอนเงินจากมือถือง่ายเพียงปลายนิ้ว
แต่ด้วยความเป็นห่วง การโพสต์เลขที่บัญชี หรือเบอร์มือถือที่ผูกกับพร้อมเพย์กันแบบตรงๆ เป็นเรื่องที่ “เสี่ยงอันตราย” แม้เราอาจจะคิดแค่ว่า แค่บอกเลขที่บัญชี และเงินในบัญชีมีไม่มากพอ คงไม่มีใครเอาเงินไปจากเราได้
อีกด้านหนึ่ง บรรดามิจฉาชีพที่กำลังอาละวาดในขณะนี้ มีวิธีการเอาข้อมูลเลขที่บัญชี หรือเบอร์มือถือที่ผูกกับพร้อมเพย์ของเราไปใช้ประโยชน์ ทั้งการใช้กันแบบตรงๆ หรือใช้เป็นทางผ่านในการทำผิดกฎหมาย โดยที่เราไม่รู้ตัว
ถึงเราไม่ได้คิดอะไร แต่มิจฉาชีพพวกนี้ คิดหาทางก่อเหตุได้เสมอ
ตัวอย่างเช่น วันหนึ่งมี “เงินปริศนา” โอนเข้ามาในบัญชี มาจากไหนก็ไม่รู้ และไม่ทราบที่มาที่ไป เมื่อเราตรวจสอบรายการเงินเข้าจากแอปพลิเคชันธนาคาร พบว่าต้นทางกลับเป็นชื่อบัญชีที่เราไม่รู้จักมาก่อน
สักพักมีสายโทรศัพท์เข้ามา บอกว่า “โอนเงินผิดบัญชี” ซึ่งจะมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ
1.) ให้เราโอนเงินกลับคืนมา
2.) โอนเงินไปยังบัญชีอื่น
เราอาจจะไม่ได้คิดอะไร ยอมทำตามที่ปลายสายแนะนำ แต่ผลที่ตามมาก็คือ ไม่รู้ว่าบัญชีปลายทางที่เราโอนเงินไป เป็นบัญชีของคนที่อ้างว่าโอนเงินผิดจริง หรือบัญชีที่ใช้สำหรับก่ออาชญากรรม เช่น การโอนเงินเพื่อซื้อขายยาเสพติด สิ่งผิดกฎหมาย โดยใช้ “บัญชีของเรา” เป็นทางผ่าน
หากวันหนึ่ง ตำรวจจับกุมผู้กระทำความผิด แล้วตรวจสอบเส้นทางการเงิน หากพบว่ามีการโอนเงินเข้ามายังบัญชีของเรา แล้วเรากลับโอนเงินไปยังบัญชีปลายทางที่เป็นผู้กระทำความผิด อาจเข้าข่ายเป็นผู้กระทำความผิดตามไปด้วย ต่อให้เราไม่ผิดอาจจะต้องเสียเวลา เสียเงินเสียทองเพื่อต่อสู้คดี
ถามว่า หากมีคนโอนเงินปริศนาเข้ามาที่บัญชีของเราจริง เราจะตั้งรับอย่างไร?
สิ่งแรก “อย่าโอนเงินคืนด้วยตัวเอง” ให้นอนบัญชีเอาไว้ก่อนแล้วแจ้งธนาคาร เพื่อรอให้ธนาคารดึงเงินกลับไป หากเราถอนเงินไปใช้ จะมีความผิดตามกฎหมายฐานยักยอกทรัพย์ และถูกดำเนินคดีโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจก็ได้
อีกทั้งการโอนเงินคืนด้วยตัวเอง อาจจะเป็นกลลวงของมิจฉาชีพ ที่จะใช้บัญชีของเราเป็นทางผ่านในการฟอกเงิน หากตำรวจจับกุมผู้กระทำความผิดกฎหมาย เช่น ยาเสพติด การพนัน แล้วพบว่ามีบัญชีของเราเป็นทางผ่านจะซวยไปด้วย
สิ่งที่สอง ให้ยึดหลักเสมอว่า ถ้าเป็นความผิดพลาดของธนาคาร หรือของผู้โอนเงินเข้ามาจริง “ธนาคารจะมีหน้าที่ดึงเงินจากบัญชีของเรากลับไปเอง” ไม่ใช่เราต้องเป็นฝ่ายต้องโอนกลับไป
ถ้ามีสายโทรศัพท์โทร. เข้ามา แจ้งว่ามีคนโอนเงินผิดมาให้เรา ให้นึกถึงเสมอว่าเป็นสายของมิจฉาชีพ เพราะคนพวกนี้จะมีวาทศิลป์ให้เราหลงเชื่อ เช่น มีอาการร้อนรนคล้ายร้อนเงิน หรือกล่าวหาว่าเราทำความผิดกฎหมาย
เราก็ใช้โอกาสนี้สอบถามว่าโอนเงินผ่านธนาคารไหน เลขที่บัญชีอะไร ชื่อบัญชีอะไร ช่องทางใด วันใด เวลาใด และจำนวนเงินเท่าไหร่ พร้อมกับขอชื่อ นามสกุล และเบอร์ติดต่อกลับเอาไว้ ก่อนจะบอกว่า "ขอเวลาให้ธนาคารตรวจสอบ"
หลังจากนั้น ให้เราโทรศัพท์ไปที่คอลเซ็นเตอร์ของธนาคารโดยตรง (ไม่ใช่รอให้ธนาคารโทร.เข้ามา) แจ้งว่ามีคนโอนเงินผิดบัญชีเข้ามา ขอให้ธนาคารตรวจสอบ โดยบอกรายละเอียดเงินเข้ามาว่าจำนวนเท่าไหร่ วันใด เวลาใด
พร้อมกับบอกข้อมูลจากฝั่งของคนที่โอนเงิน และแจ้งว่าหากโอนเงินผิดจริง ให้ธนาคารยินยอมโอนเงินกลับไปให้เจ้าของบัญชี ธนาคารจะทำการติดต่อทั้งสองฝ่ายเพื่อดำเนินการดึงเงินคืนกลับไป
ที่ไม่ให้รอให้ธนาคารโทร.เข้ามา เพราะอาจจะเป็นกลุ่มมิจฉาชีพในนาม “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร เพื่อขอให้เราโอนเงินคืนด้วยตัวเอง ทั้งที่ธนาคารมีระบบที่สามารถดึงเงินกลับไปได้
สิ่งสำคัญก็คือ ตั้งสติ แล้วตรวจสอบดูให้ดี ปัจจุบันแอปพลิเคชันธนาคาร ตรวจสอบเบื้องต้นได้ว่าเงินที่เข้ามานั้น มาจากบัญชีธนาคารใด ชื่ออะไร ก็เก็บข้อมูลแล้วรีบโทร.แจ้งธนาคาร อย่าตื่นเต้นตกใจ เพราะจะเข้าทางกลุ่มมิจฉาชีพ
การโพสต์เลขที่บัญชีธนาคารลงโซเชียลฯ จริงๆ ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย ไม่มีใครห้าม แต่เนื่องจากเลขที่บัญชีธนาคาร รวมถึงเบอร์มือถือที่ผูกกับบริการพร้อมเพย์ ถือเป็น “ข้อมูลส่วนบุคคล”
ด้วยความเป็นห่วงว่า จะกลายเป็นช่องโหว่ให้มิจฉาชีพนำไปใช้ในการทำผิดกฎหมาย จึงมีคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่ศึกษา เผื่อใครจะนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนี้
1. กับคนที่ไม่สนิทหรือไม่รู้จักกัน จะทำกิจกรรม ใช้บัญชีธนาคารแยกต่างหาก ไม่ควรใช้ปะปนกับบัญชีรับเงินเดือน หรือบัญชีที่ใช้ทำธุรกรรมเป็นประจำ อาจจะเปิดบัญชีธนาคารเพิ่มอีกบัญชีหนึ่งเพื่อไม่ให้สับสน
ปัจจุบันแอปพลิเคชันธนาคารบนมือถือ สามารถเปิดบัญชีออมทรัพย์เพิ่มได้ โดยไม่ต้องไปสาขาธนาคาร แต่ควรศึกษาเงื่อนไขและค่าธรรมเนียม เช่น ค่ารักษาบัญชีกรณีที่บัญชีไม่เคลื่อนไหว หรือค่าธรรมเนียมการปิดบัญชีก่อนกำหนด
ส่วนคนที่สนิทหรือรู้จักกัน ยังคงใช้บัญชีของเรารับเงินตามปกติ แค่พึงระวังหากจะเผยแพร่บัญชีออกสู่สาธารณะ ให้คำนึงเสมอว่า เลขที่บัญชีธนาคาร เลขที่บัตรประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ คือข้อมูลส่วนบุคคล
2. ใช้ PromptPay QR CODE แทนการบอกเลขบัญชี เวลาจะโอนเงิน ผู้โอนจะเซฟภาพคิวอาร์โค้ดเก็บไว้ในเครื่อง แล้วเข้าเมนูสแกนจ่าย ก่อนกดเลือกที่ไอคอนรูปภาพ เพื่อดึงภาพคิวอาร์โค้ดแล้วทำรายการโอนต่อไป
ปัจจุบันแอปพลิเคชันธนาคารส่วนใหญ่จะบอกแค่ชื่อบัญชี กับแสดงผลเบอร์มือถือบางตัวเท่านั้น แม้จะไม่สามารถป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล คือเบอร์โทรศัพท์มือถือได้ แต่คนที่จะเอาเบอร์มือถือมาได้ก็อาจจะยุ่งยากขึ้นมาบ้าง
แต่กับคนที่ไม่สนิทหรือไม่รู้จักกัน แนะนำว่าควรใช้พร้อมเพย์ผูกกับเบอร์มือถือที่เราไม่ค่อยได้ใช้ ไม่ใช่เบอร์ส่วนตัวที่สามารถติดต่อเข้าถึงตัวได้ และไม่ควรใช้เบอร์พร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขที่บัตรประชาชน
3. ใข้ e-Wallet ที่สามารถโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารได้ฟรี เช่น แอปพลิเคชัน เป๋าตัง หรือ ดอลฟิน วอลเล็ต สามารถสร้าง PromptPay QR CODE เพื่อรับเงินจากแอปพลิเคชันธนาคารและวอลเล็ต แล้วค่อยโอนเข้าบัญชีได้
ส่วนแอปพลิเคชันบางธนาคาร เช่น K PLUS ธนาคารกสิกรไทย จะมีรหัส PromptPay QR CODE ที่เรียกว่า K PLUS WALLET แยกออกมาต่างหาก ช่วยปกป้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะเลขที่บัญชีได้
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ สำหรับคนที่ต้องการโพสต์เลขที่บัญชีธนาคาร หรือพร้อมเพย์ลงบนโซเชียลฯ เราไม่มีทางรู้ว่า บรรดาเพื่อนที่อยู่บนโซเชียลฯ จะมีสักกี่คนที่เรารู้จักกันหรือสนิทกันจริงๆ ยิ่งถ้าเป็นทวิตเตอร์ ถ้าไม่ล็อกบัญชีเอาไว้ ไม่ใช่แค่ผู้ติดตามเท่านั้นที่เห็น แต่ทุกคนที่เข้ามาดูก็เห็นทั้งหมด
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต อาจเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด จึงต้องพิจารณาหากจะโพสต์อะไรลงไป เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพนำไปใช้ในทางมิชอบ ทำให้เราเดือดร้อน
ที่ผ่านมาผู้คนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อสูญเงินจำนวนมากอย่างไม่มีวันกลับคืน แม้จะตามจับได้บ้าง แต่ก็มีวิธีการใหม่เกิดขึ้นแบบไม่รู้จบ การป้องกันความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคล จึงเป็นเกราะป้องกันที่ดีทางหนึ่ง
สวัสดีปีใหม่ครับ!