กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ช่วงนี้คอฟินเทค ที่นิยมชมชอบเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ โดยเฉพาะผู้ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) มีเรื่องให้ตื่นเต้นอยู่สองเรื่อง
เรื่องแรก ... กูเกิล (Google) เปิดให้บริการแอปพลิเคชันกระเป๋าเงินดิจิทัลที่ชื่อว่า กูเกิล วอลเล็ต (Google Wallet) ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา
ลักษณะจะเป็นการเพิ่มบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตลงไปในแอปฯ แล้วนำไปใช้จ่ายที่ร้านค้า โดยใช้โทรศัพท์มือถือแตะที่เครื่อง EDC แทนการใช้บัตรพลาสติก ซึ่งจะต้องใช้มือถือระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และมีฟังก์ชัน NFC ในตัว
เบื้องต้น เปิดให้บริการแก่ผู้ถือบัตรเครดิต VISA และ MasterCard ของ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี ส่วนระยะต่อไปจะเป็น บัตรมาสเตอร์การ์ดของทรูมันนี่ จะใช้ได้เร็วๆ นี้
ส่วนร้านค้าที่สามารถใช้ได้ เท่าที่ทดสอบด้วยตัวเองพบว่า ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และร้านแมคโดนัลด์ ใช้ได้ดีไม่มีปัญหา รวมทั้งมีคนที่นำไปใช้ที่กรูเมต์ มาร์เก็ต ก็ผ่านฉลุย แต่แปลกใจที่ท็อปส์ ทดลองใช้งานแล้วกลับใช้ไม่ได้
แม้คนที่ใช้มือถือแอนดรอยด์ ที่ไม่มีฟังก์ชัน NFC จะไม่สามารถใช้มือถือชำระเงินได้ แต่แอปฯ Google Wallet ยังให้เพิ่ม บัตรสะสมคะแนน ลงในแอปฯ โดยการสแกนบาร์โค้ดหรือคิวอาร์โค้ดบัตรสมาชิกลงในแอปฯ เพื่อเก็บไว้
จากนั้นเมื่อต้องการสะสมคะแนน ให้นำข้อมูลบัตรที่อยู่ในแอปฯ มาแสดงเพื่อให้ทางร้านสแกน หลักการคล้ายกับเมนู “บัตรสมาชิก” ในแอปฯ K PLUS ของธนาคารกสิกรไทย แต่จะมีเฉพาะข้อมูลบัตร ไม่มีข้อมูลคะแนนสะสมใดๆ
ปัจจุบัน สมาชิก My Starbucks Rewards ของร้านกาแฟสตาร์บัคส์, สมาชิก IKEA FAMILY ของห้างอิเกีย, สมาชิกวัตสัน (WATSONS), สมาชิก Shell GO+ ของสถานีบริการน้ำมันเชลล์ สแกนบาร์โค้ดเพื่อเพิ่มบัตรได้ทันที
ส่วนสมาชิกบัตรสะสมคะแนนอื่นๆ พบว่าถ้าไม่มีบาร์โค้ดจะไม่สามารถเพิ่มบัตรได้ หรือหากกรอกหมายเลขบัตร ก็จะแสดงเฉพาะหมายเลขบัตร ไม่มีการแปลงเป็นบาร์โค้ดหรือคิวอาร์โค้ดใดๆ ซึ่งคงต้องรอการพัฒนาอีกครั้ง
ในช่วงที่ Google Wallet ยังไม่เปิดให้บริการในไทย คนที่สนใจฟินเทคแสวงหาบัตรจากต่างประเทศเข้ามาใช้งาน ยอมเสียค่าออกบัตรและค่าธรรมเนียมที่แพง และไม่รู้ว่าระหว่างใช้งานจะถูกยกเลิกบัตรเมื่อไหร่
คนที่ใช้มือถือแอนดรอยด์ ต้องติดตั้งไฟล์ APK จากเว็บไซต์ภายนอก ซึ่งเสี่ยงต่อปัญหาด้านความปลอดภัย ส่วนคนที่ใช้มือถือไอโฟน ที่มีบริการ Apple Pay ต้องเปลี่ยนการตั้งค่าเป็นประเทศอื่น แทนประเทศไทยที่ยังไม่รองรับบริการนี้
อาจเรียกได้ว่า ในประเทศไทย ค่ายกูเกิลที่มี Google Wallet ล้ำหน้าค่ายแอปเปิลที่มี Apple Pay โดยที่ยังไม่รู้อนาคตว่า แอปเปิลเพย์จะให้บริการในไทยเมื่อไหร่ เฉพาะภูมิภาคอาเซียนมีให้บริการแล้วที่สิงคโปร์ และล่าสุดมาเลเซีย
ที่ผ่านมา ในประเทศไทยเคยมีบริการชำระเงินผ่านเครื่อง EDC โดยใช้โทรศัพท์มือถือ เช่น ซัมซุง เปิดบริการ Samsung Pay กับผู้ใช้มือถือซัมซุงในไทย เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2559 แต่ได้ยกเลิกไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564
หรือจะเป็นบริการ ShopeePay ของช้อปปี้เคยเปิดบริการ Contactless Payment ผ่าน NFC บนบัตรเสมือน ShopeePay Prepaid Card เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 แต่ได้ปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา
ปัญหาที่ทำให้บริการเหล่านี้ไม่ประสบความสำเร็จ คือ มือถือที่ใช้ต้องรองรับฟังก์ชัน NFC และใช้ได้เฉพาะรุ่นหรือแพลตฟอร์มของตัวเอง อีกทั้งประชาชนอีกส่วนหนึ่งยังกังวลเรื่องความปลอดภัย
การที่กูเกิลให้บริการ Google Wallet ในไทย จุดเด่นก็คือ กูเกิลมีชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือ มีการใช้งานแล้วหลายประเทศ รวมทั้งเปิดกว้างให้ผู้ใช้สมาร์ทโฟนแอนรอยด์ ไม่จำกัดอยู่เพียงแค่บางค่ายหรือบางแพลตฟอร์ม
ส่วนจะยืนยาวได้ขนาดไหน ขึ้นอยู่กับการส่งเสริมการใช้งานของกูเกิลและผู้ให้บริการบัตรเครดิต ยกตัวอย่างเช่น เคทีซี แจก e-Coupon หรือแจกเครดิตเงินคืน เมื่อผู้ถือบัตรเครดิตเคทีซีใช้จ่ายผ่าน Google Wallet เป็นต้น
ว่ากันว่า การเปิดตัว Google Wallet ในไทยเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะสมรภูมิถัดไปจะเป็น "ซูเปอร์แอปฯ" ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า ภายใน 4 ปีนับจากนี้ ประชากรโลกมากกว่า 60% จะใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลไม่ต่ำกว่า 1 กระเป๋า
อ่านประกอบ : Google Wallet แค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง! ศึกนี้ยิ่งกว่าเกมปฏิวัติกระเป๋าสตางค์ (จากโต๊ะ Cyber BIZ)
อีกเรื่องหนึ่ง ... ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ เป๋าตังเปย์ (Paotang Pay) บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง ในรูปแบบซูเปอร์วอลเล็ต สามารถใช้จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ด และร้านค้าถุงเงินทั่วประเทศ
เป๋าตังเปย์ จะแยกส่วนออกมาจาก จี-วอลเล็ต (G-Wallet) สำหรับใช้สิทธิตามมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง ฯลฯ ออกมาต่างหาก โดยจะมีหมายเลขพร้อมเพย์ อี-วอลเล็ต 15 หลัก แยกคนละบัญชีกัน
ความพิเศษของเป๋าตังเปย์ คือ คูปองส่วนลดจากร้านค้าถุงเงิน และร้านค้าชั้นนำ เช่น ร้านค้าในกลุ่มเซ็นทรัล สามารถเก็บคูปอง แล้วนำมาใช้เป็นส่วนลดเวลาสแกนจ่ายเงิน ซึ่งแอปฯ จะแสดงคูปองที่สามารถใช้ได้ให้เลือก
ช่วงแนะนำ เมื่อสมัครเป๋าตังเปย์สำเร็จ จะมีคูปองส่วนลด 10 บาท 5 ใบ เมื่อสแกนจ่ายผ่านร้านค้าถุงเงินตั้งแต่ 50 บาทขึ้นไป และคูปองส่วนลดจากกลุ่มเซ็นทรัล โดยสามารถเก็บคูปองส่วนลดได้ที่เมนู “เก็บคูปอง”
มีคนบอกว่า รูปแบบดังกล่าว เหมือนแอปฯ ดอลฟิน วอลเล็ท (Dolfin Wallet) ของกลุ่มเซ็นทรัล ที่ต้องเก็บคูปองส่วนลดที่อยู่ในแอปฯ ก่อน แล้วค่อยนำคูปองมาเป็นส่วนลดเวลาชำระเงินอีกที
พร้อมกันนี้ ยังมี บัตรเพลย์การ์ด (Play Card) บัตรวีซ่าพรีเพดที่ผูกกับบัญชีเป๋าตังเปย์ ใช้ซื้อสินค้าและบริการตามร้านค้าที่มีเครื่อง EDC ร้านค้าออนไลน์ รวมทั้งแตะจ่ายกับระบบขนส่งมวลชน เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า เรือไฟฟ้า ฯลฯ
บัตรใบนี้ไม่รองรับการถอนเงินสด สามารถตั้งค่าวงเงินการใช้งานบัตรเริ่มต้นที่ 10,000 บาท สูงสุด 500,000 บาทต่อวัน ที่สำคัญ ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี บัตรมีอายุการใช้งาน 5 ปี นับจากเดือนและปีที่ออกบัตร
ปกติมีค่าธรรมเนียมออกบัตรใหม่ 50 บาท และค่าจัดส่งทางไปรษณีย์ 42 บาท แต่ช่วงเปิดตัวสำหรับลูกค้า 15,000 คนแรก ยกเว้นค่าธรรมเนียมออกบัตรและจัดส่งบัตร 92 บาท และจะเริ่มจัดส่งบัตร 13 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ บัญชีเป๋าตังเปย์ ยังใช้จ่ายบิลสาธารณูปโภค บิลโทรศัพท์/อินเทอร์เน็ต บิลบัตรเครดิต/สินเชื่อ บิลเช่าซื้อ/ลีสซิ่ง บิลประกันชีวิต/ประกันภัย บิลหน่วยงานราชการ และบิลสินค้า/บริการ รวมทั้งเติมเงินมือถือ Easy Pass และ M-Pass ได้อีกด้วย
ข้อมูลล่าสุดจากธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แอปฯ เป๋าตัง มีผู้ใช้งานกว่า 40 ล้านราย แซงหน้าแอปฯ ธนาคารอย่าง Krungthai NEXT ที่มีผู้ใช้งาน 16 ล้านราย ส่วนแอปฯ ถุงเงิน มีร้านค้าลงทะเบียน 1.7 ล้านแห่ง
ที่ผ่านมา แอปฯ เป๋าตัง ถูกนำไปใช้สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ โดยมีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า G-Wallet ตั้งแต่โครงการชิมช้อปใช้เมื่อปี 2562 มาถึงโครงการเราชนะ คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ
อีกทั้งยังมีกระเป๋าสุขภาพ ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), วอลเล็ต สบม. ร่วมกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ, Gold Wallet, ซื้อขายหุ้นกู้, สลากดิจิทัล 80 บาท ร่วมกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
การเปิดตัว เป๋าตังเปย์ อาจก้าวข้ามความเป็นแอปฯ โครงการรัฐ สู่การเป็นซูเปอร์วอลเล็ต พร้อมอัดแน่นจัดเต็มด้วยโปรโมชันต่างๆ เพื่อรักษาฐานลูกค้าในฐานะอี-วอลเล็ต อันดับ 1 ในประเทศไทยเวลานี้
ที่ผ่านมาบ้านเราเต็มไปด้วยสารพัดอี-วอลเล็ต ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน บางคนใช้เพื่อรับส่วนลดหรือสะสมคะแนน บางคนใช้กับร้านค้าประจำ เช่น ใช้ทรูวอลเล็ทกับเซเว่นอีเลฟเว่น, ใช้แอปฯ ดอลฟินกับร้านค้ากลุ่มเซ็นทรัล
แต่แอปฯ อี-วอลเล็ตยุคนี้ไม่ได้จำกัดเพียงแค่การเติมเงินลงในแอปฯ เท่านั้น แต่นิยม ผูกกับบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัญชีธนาคาร เพื่อสะดวกในการใช้จ่าย ซึ่งข้อดีสำหรับบัตรเครดิตคือ รับคะแนนสะสมหรือเครดิตเงินคืนอีกทางได้ด้วย
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า มีผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) รวม 27 บริษัท แต่ก็ไม่รวมผู้ให้บริการแต่ละรายไปจับมือกับพาร์ทเนอร์ เช่น ธนาคารกสิกรไทย กับกลุ่มโออาร์, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กับเครือพีทีจี
แม้บ้านเราจะมีแอปฯ อี-วอลเล็ตมากมายขนาดไหน แต่สุดท้ายผู้บริโภคจะเลือกใช้เฉพาะร้านค้าที่ใช้บริการบ่อยครั้ง และมีสิทธิประโยชน์ตรงใจมากที่สุด จากที่สมัครนับสิบแอปฯ อาจจะใช้งานบ่อยครั้งเพียงแค่ 4-5 แอปฯ ก็เป็นได้
เมื่อกูเกิลจับมือกับเคทีซี บริษัทลูกของธนาคารกรุงไทย ให้บริการ Google Wallet ไปแล้ว ก็เริ่มมีคนคาดหวังว่า บัตรเดบิต บัตรเติมเงินของกรุงไทย รวมทั้งบัตรเพลย์การ์ด จะใช้ได้หรือไม่ ขณะนี้ยังเป็นเพียงแค่การคาดเดา
แต่ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทยพัฒนาระบบอี-เพย์เมนต์ แซงหน้าธนาคารอื่นมาตลอด โดยเฉพาะการพัฒนา ระบบ EMV Contactless กับขนส่งมวลชน เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า เรือไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งธนาคารอื่นในไทยก็ยังได้รับอานิสงส์ไปด้วย
ส่วน Google Wallet (รวมทั้ง Apple Pay) จะใช้กับรถไฟฟ้าได้หรือไม่ วันก่อนได้ส่งฟีดแบคไปยังส่วนสื่อสารองค์กร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ไปแล้ว รับปากว่าจะส่งต่อเพื่อพิจารณา
หากทำได้จริง จะสะดวกสบายเหมือนระบบ Simply Go ที่สิงคโปร์ ผู้ใช้ Apple Pay และ Google Pay (หรือ Google Wallet) สามารถใช้มือถือหรืออุปกรณ์สมาร์ทวอตซ์ แตะจ่ายกับระบบขนส่งมวลชนไปนานแล้ว