กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
แม้ความพยายามในการปรับเปลี่ยนรถตู้โดยสารสาธารณะมาเป็นรถมินิบัส หรือไมโครบัส จะยังไม่เกิดขึ้นจริงในยุคนี้ เนื่องจากกรมการขนส่งทางบก ยังคงให้เป็นไปตามความสมัครใจ และยืดอายุรถเป็น 12 ปี
แต่ก็มีความพยายามของผู้ประกอบการบางราย เริ่มเปลี่ยนจากรถตู้มาเป็นรถมินิบัสกันบ้างแล้ว แต่เส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ ไปยังต่างจังหวัด และระหว่างจังหวัดที่มีระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร ส่วนหนึ่งยังคงใช้รถตู้กันอยู่
อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ทำให้เราได้พบเห็นรถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้า ให้บริการแก่ประชาชน เฉกเช่น บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด ที่มีสัมปทานเดินรถในกรุงเทพฯ มากกว่า 81 เส้นทาง
ล่าสุด บริษัท เน็กซ์ เอ็กซ์เพรส จำกัด (NEX Express) ผู้ประกอบการเดินรถโดยสารประจำทางน้องใหม่ ได้เปิดให้บริการรถโดยสารประจำทาง (รถร่วม บขส.) ในรูปแบบรถมินิบัสพลังงานไฟฟ้าแห่งแรกในไทย
ประเดิมเส้นทางแรก สาย 37 (จ) กรุงเทพฯ-ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2565 ค่าโดยสาร 105 บาทตลอดสาย ตามมาด้วย สาย 39 (จ) กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา (จากสถานีขนส่งเอกมัย) เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2565
โดยทางเน็กซ์ เอ็กซ์เพรส ได้นำรถมินิบัสพลังงานไฟฟ้าล็อตแรก มาให้บริการจำนวน 32 คัน ใน 4 เส้นทาง ได้แก่ หมอชิต-ศรีราชา, เอกมัย-ศรีราชา, หมอชิต-ฉะเชิงเทรา และเอกมัย-ฉะเชิงเทรา รับ-ส่งผู้โดยสารฝั่งละ 4 คัน
ผลิตโดยโรงงานแอ๊บโซลูท แอสเซมบลี (AAB) ที่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา โดยร่วมทุนกับบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ซึ่งผลิตและประกอบยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) เชิงพาณิชย์แบบครบวงจรแห่งแรกในไทย
เมื่อวันก่อน ผู้เขียนมีโอกาสใช้บริการรถมินิบัสไฟฟ้า สายกรุงเทพฯ-ศรีราชา ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารเอกมัย ที่นี่มีรถให้บริการวันละ 4 เที่ยว ได้แก่ 06.00 น., 10.00 น., 13.00 น. และเที่ยวสุดท้าย 17.00 น.
ช่องขายตั๋วจะอยู่ที่หมายเลข 17 ตรงกลางของสถานี ค่าโดยสาร 105 บาทตลอดสาย พนักงานจะถามชื่อและเบอร์โทรศัพท์มือถือ รับชำระด้วยเงินสด และคิวอาร์โค้ดแปะไว้ที่หน้าช่องขายตั๋ว
ตั๋วโดยสาร NEX Express จะแตกต่างจากเจ้าอื่น คือ นอกจากจะมีตั๋วที่พิมพ์ด้วยกระดาษความร้อนแล้ว ยังส่ง SMS ไปที่เบอร์โทรศัพท์มือถือ ใช้เป็นหลักฐานกรณีตั๋วกระดาษหาย คลิกลิงก์ที่แนบมากับ SMS เพื่อดูรายละเอียดตั๋วได้
รถมินิบัสไฟฟ้า กรุงเทพฯ-ศรีราชา สถานีขนส่งเอกมัย จะจอดอยู่ที่ชานชาลาหมายเลข 3 ลักษณะเป็นรถมินิบัสความยาว 7.3 เมตร มีที่นั่งทั้งหมด 20 ที่นั่ง เรียงที่นั่งแบบฝั่งประตู 2 ที่นั่ง ฝั่งคนขับ 1 ที่นั่ง เว้นแถวสุดท้ายฝั่งละ 2 ที่นั่ง
เบาะที่นั่งจะเป็นเบาะผ้า หุ้มด้วยผ้าสีน้ำตาลรองศีรษะ คล้ายกับรถประจำทางสาย 21 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ด้านข้างเบาะมีแกนปรับระดับเอนของที่นั่งได้ ด้านหน้าที่นั่งมีที่แขวนถุงพลาสติก และที่วางขวดน้ำ
อย่างไรก็ตาม วันที่เดินทางผู้เขียนไม่เห็นช่องเสียบ USB ซึ่งถ้าเป็นรถทัวร์หรือมินิบัสที่เคยนั่ง จะอยู่ตรงซอกเบาะด้านหน้าและด้านข้าง ภายหลัง ฝ่ายการตลาด NEX Express ชี้แจงว่า ภายในรถมีช่องเสียบ USB แต่จะอยู่ "ใต้เบาะที่นั่ง"
ถ้าเป็นเบาะคู่จะอยู่ตรงกึ่งกลาง หากเป็นเบาะเดี่ยวจะอยู่กลางที่นั่ง
แต่เนื่องจากที่ผ่านมาพนักงานขับรถยังใหม่ อาจจะไม่ได้แจ้งให้ผู้โดยสารทราบ จึงขอชี้แจงเพิ่มเติม ซึ่งจะประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารได้ทราบผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ Nex Express ต่อไป
รถออกจากสถานีขนส่งเอกมัยเวลา 10.00 น. เศษ เมื่อขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เสียงเครื่องยนต์จะคล้ายกับรถกอล์ฟ หรือรถบักกี้ตามรีสอร์ตหรูต่างๆ การเบรคจะกระชากเล็กน้อย ใช้ความเร็วระหว่าง 60-70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ผ่านไปประมาณ 30 นาที รถจะแวะที่จุดจอดรถโดยสารขนาดเล็ก บางนา (ใต้ทางด่วน บริเวณแยกบางนา) แต่ไม่มีผู้โดยสาร ก่อนที่รถจะออกไปทางถนนเทพรัตน (ถนนบางนา-ตราด) ขึ้นทางพิเศษบูรพาวิถี ตรงไปยาวๆ ถึงด่านชลบุรี
สิ่งที่พีคที่สุดก็คือ แม้จะขึ้นทางด่วนบูรพาวิถี แต่มินิบัสคันนี้ก็วิ่งเลนซ้ายสุด ใช้ความเร็วไม่เกิน 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หลับไปหนึ่งงีบ ตื่นมาอีกที่ 11.17 น. เพิ่งถึงสะพานเทพหัสดิน ข้ามแม่น้ำบางปะกงเท่านั้น
รถจะลงด่านชลบุรี ไปตามถนนเทพรัตน ผ่านอมตะนคร เข้าสู่ถนนสุขุมวิท จอดส่งผู้โดยสาร ป้ายแรก ตรงข้ามตลาดใหม่ชลบุรี ตามมาด้วย ป้ายที่สอง สี่แยกเฉลิมไทย สามารถต่อรถมอเตอร์ไซค์ไปศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 2 (เขาน้อย) ได้
หลังจากนั้น รถมินิบัสจะเลี้ยวซ้ายที่แยกบ้านสวน ไปตามถนนเศรษฐกิจ เลี้ยวขวาไปตามถนนบายพาส ถนนเลียบมอเตอร์เวย์ เลี้ยวซ้ายขึ้นสะพาน เข้าถนนข้าวหลาม แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเลี่ยงตลาดหนองมน ออกถนนสุขุมวิท
รถจะจอดส่งผู้โดยสาร ป้ายที่สาม ตลาดบางพระ ป้ายที่สี่ โรงเรียนดาราสมุทร (ห้างเซ็นทรัลศรีราชา) และป้ายสุดท้าย โรบินสัน ตรงข้ามห้างโรบินสัน ศรีราชา เวลา 12.15 น. เบ็ดเสร็จใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 15 นาที
จากจุดนี้สามารถรอรถตู้เพื่อไปยังบางละมุง พัทยา สัตหีบ และระยองได้ ส่วนใครที่จะไปลงอ่าวอุดม ต้องแจ้งที่พนักงานขายตั๋วล่วงหน้าตอนที่ซื้อตั๋ว ซึ่งถ้ามีผู้โดยสารก็จะไปส่งให้ แต่ถ้าไม่มีก็จะจอดป้ายโรบินสันเป็นป้ายสุดท้าย
มาถึงขากลับกรุงเทพฯ จุดขายตั๋วโดยสารและขึ้นรถมีที่เดียว คือ หน้าศูนย์การค้าแปซิฟิกปาร์ค ศรีราชา ฝั่งธนาคารกรุงเทพ สาขาศรีราชา เพราะฉะนั้นถ้ามาจากอ่าวอุดม ม.เกษตรฯ ศรีราชา ต้องมาขึ้นรถที่นี่
ตอนไปซื้อตั๋ววันนั้นปรากฎว่ารถไปหมอชิตเต็ม ส่วนเอกมัยรอบ 16.30 น. เหลือไม่กี่ที่นั่ง นายท่าแนะนำว่า ครั้งต่อไปให้เราจองตั๋วล่วงหน้าผ่านไลน์ @nexexpress เพื่อความสะดวกรวดเร็ว เพราะรถมีให้บริการเพียงไม่กี่เที่ยวเท่านั้น
รถจากศรีราชาไปเอกมัย มีให้บริการวันละ 4 เที่ยว ได้แก่ 05.30 น., 08.30 น., 14.30 น. และเที่ยวสุดท้าย 16.30 น. จอดส่งที่ห้างโฮมโปร บางพลี, แยกบางนา, สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส อุดมสุข, พระโขนง และสถานีขนส่งเอกมัย
รถจากศรีราชาไปหมอชิต มีให้บริการวันละ 4 เที่ยว ได้แก่ 07.00 น., 10.00 น., 14.00 น. และเที่ยวสุดท้าย 17.00 น. จอดส่งที่ดินแดง, ม.หอการค้าไทย, แยกลาดพร้าว, สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หมอชิต และสถานีขนส่งหมอชิต
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้โดยสารเต็มก่อนเวลา รถก็จะออกก่อนเวลาเช่นกัน เพราะฉะนั้นถ้ามาถึงเร็วได้ยิ่งดี รถออกเร็วผู้โดยสารจะได้ประโยชน์ด้วย แต่ถ้าผู้โดยสารไม่เต็ม รถจะออกตามเวลา ไม่ต้องรอที่นั่งเต็ม
วันนั้นรถออกจากท่าเวลา 16.25 น. เร็วกว่าเวลาที่กำหนด 5 นาที ไปตามถนนสุขุมวิท ซึ่งปกติเย็นวันอาทิตย์รถมากเคลื่อนตัวช้าตั้งแต่ตลาดหนองมน แยกบางแสน ถึงตัวเมืองชลบุรี รถก็ทำความเร็วอยู่ที่ 60-70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
กระทั่งเวลา 17.25 น. รถเพิ่งขึ้นทางด่วนบูรพาวิถี ด่านชลบุรี เจอรถมากเคลื่อนตัวช้าแถวๆ บางบ่อ กระทั่งลงทางด่วนบริเวณบางพลี จอดส่งผู้โดยสารป้ายแรกที่ห้างโฮมโปร บางพลี (ห้างมาร์เก็ตวิลเลจ สุวรรณภูมิ) เวลา 18.15 น.
หลังจากนั้น รถจะเข้าช่องทางหลัก ถนนเทพรัตน ขาเข้า ในวันนั้นไม่มีใครลงหน้าไบเทค บางนา รถจอดส่งป้ายที่สอง ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส อุดมสุข เวลา 18.30 น. ไปตามถนนสุขุมวิท
จากนั้นติดไฟแดงที่แยกวชิรธรรมสาธิต แยกสุขุมวิท 62 แยกอ่อนนุช แยกพระโขนง แยกวัดธาตุทอง กระทั่งมาถึงสถานีขนส่งเอกมัย เวลา 18.50 น. เบ็ดเสร็จใช้เวลา 2 ชั่วโมง 25 นาที
โดยสรุปก็คือ รถมินิบัสไฟฟ้าสายนี้ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการเดินทางแบบไม่เร่งรีบ แต่ปลอดภัย เพราะใช้ความเร็วเพียง 60-70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขับเลนซ้ายตลอดเส้นทาง และที่สำคัญใช้พลังงานไฟฟ้า 100%
ส่วนความสะดวกสบายที่ได้รับ มีทั้งเบาะที่นั่งกว้าง สำหรับคนที่สูง 175 เซนติเมตรอย่างผู้เขียนถือว่านั่งสบาย แถมมีเบาะเสริมที่นั่งรองศีรษะให้งีบหลับได้อีกด้วย
ส่วนข้อจำกัดก็คือ เมื่อใช้ความเร็วเพียง 60-70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงไม่เหมาะกับคนที่ต้องทำเวลา เช่น รีบไปธุระ ไปต่อรถทัวร์ต่างจังหวัด หรือเครื่องบิน ซึ่งถ้านั่งรถตู้จะเร็วกว่า แต่ต้องแลกกับความเสี่ยงจากอุบัติเหตุโดยไม่คาดคิด
จากประสบการณ์ที่เคยนั่งรถตู้กรุงเทพฯ-ศรีราชา จากศรีราชาไปบางนา ใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะเวลาขึ้นทางด่วนบูรพาวิถี รถตู้จะใช้ความเร็วมากขึ้น หากเน็กซ์ เอ็กซ์เพรส ทำความเร็วตรงจุดนี้ขึ้นมาได้บ้างเล็กน้อยก็จะดี
แต่ถ้าจะเดินทางเร็วกว่านี้ ต้องรอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่มีสถานีศรีราชาเป็นทางผ่าน มีแผนจะเปิดให้บริการในปี 2570 แต่ค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 375 บาท (ศรีราชา-ดอนเมือง)
อีกข้อจำกัดหนึ่ง คือ เที่ยวกลับขึ้นรถได้เฉพาะหน้าห้างแปซิฟิกปาร์ค ศรีราชา (โรบินสัน ศรีราชา) เท่านั้น ถ้ามีจุดรับระหว่างทางสำหรับคนที่จองล่วงหน้า เช่น ห้างเซ็นทรัล ศรีราชาก็ยังดี อาจจะกำชับให้มารอก่อนเวลา 15 นาที
เช่นเดียวกับขาไป น่าจะแวะรับผู้โดยสารที่จุดจอดรถโดยสารขนาดเล็ก บางนา สำหรับคนที่จองล่วงหน้าอีกจุดหนึ่งก็ได้ ไหนๆ ก็แวะเข้าไปแล้ว เพราะคนที่มาจากโซนบางนา จะได้ไม่ต้องไปอ้อมขึ้นรถที่สถานีขนส่งเอกมัย
รถมินิบัสไฟฟ้า กรุงเทพฯ-ศรีราชา ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเดินทาง สำหรับผู้โดยสารที่ไม่เร่งรีบมากนัก แต่ต้องการความปลอดภัยและสะดวกสบาย อีกทั้งรองรับช่องทางการจองตั๋วออนไลน์
ส่วนใครที่ต้องการความเร็ว ปัจจุบันก็ยังมีรถตู้ให้บริการ สะดวกแบบไหนตัดสินใจได้เอง.
(ปรับปรุงล่าสุด 31 ตุลาคม 2565 เวลา 12.00 น.)