กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เมิ่อวันก่อนผู้เขียนมีโอกาสมาใช้บริการรถไฟที่สถานีปาดังเบซาร์ ประเทศมาเลเซีย หลังจากไม่ได้เยือนที่นี่มานานกว่า 3 ปี เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งพบว่าเปลี่ยนไปพอสมควร
การเดินทางคราวนี้ เราใช้วิธีการนั่งรถไฟจากสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งกลับมาเดินรถขบวนรถโดยสารไปปาดังเบซาร์ ประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา
ขบวนรถโดยสารไปปาดังเบซาร์ มีให้บริการวันละ 2 ขบวน ได้แก่ ขบวน 947 ออกจากชุมทางหาดใหญ่ 07.30 น. ถึงปาดังเบซาร์ 08.25 น. และขบวน 949 ออกจากชุมทางหาดใหญ่ 14.00 น. ถึงปาดังเบซาร์ 14.55 น.
เที่ยวกลับ ขบวน 948 ออกจากปาดังเบซาร์ 08.55 น. (เวลาประเทศไทย) ถึงชุมทางหาดใหญ่ 09.50 น. และขบวน 950 ออกจากปาดังเบซาร์ 15.40 น. ถึงชุมทางหาดใหญ่ 16.35 น. ค่าโดยสาร 50 บาท หรือ 7 ริงกิตมาเลเซีย
ทีแรกผู้เขียนมีแผนที่จะไปเกาะปีนัง แต่ผิดแผน เนื่องจากเดินทางมาถึงหาดใหญ่ตอน 16.00 น. วันต่อมาจึงต้องเปลี่ยนแผนเหลือแค่มาเที่ยวเมืองอลอร์สตาร์ (Aloe Setar) เมืองที่มีหอชมเมืองสูงๆ ซึ่งใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 1 ชั่วโมงแทน
อีกทั้งขากลับยังจองตั๋วรถไฟขบวนรถทักษิณารัถย์ เพื่อกลับกรุงเทพฯ เอาไว้ จึงต้องรีบกลับให้ทันก่อน 5 โมงเย็น เพื่อให้มีเวลาเตรียมตัวอาบน้ำที่สถานี กินข้าว ซื้อเสบียง ก่อนนั่งรถไฟยาวๆ กลับกรุงเทพฯ
บทความนี้จะขออนุญาตพูดถึงการให้บริการรถไฟเป็นหลัก เนื่องจากมีเวลาเที่ยวเมืองอลอร์สตาร์เพียงแค่ 3 ชั่วโมง ไม่อาจเก็บรายละเอียดได้มากเท่าไหร่ เอาไว้มีโอกาสไปเยือนอย่างจริงจังแล้วจะเล่าให้ฟังอีกครั้ง
อีกตัวเลือกหนึ่ง ยังมีรถตู้ออกจากสถานีขนส่งผู้โดยสารหาดใหญ่ รถออกเที่ยวแรก 07.30 น. ค่าโดยสาร 60 บาท แต่ถ้าจะลงหน้าด่านแล้วไปต่อรถไฟ อาจไม่สะดวกเหมือนเมื่อก่อน
เพราะปัจจุบัน สถานีปาดังเบซาร์ได้ปิดสะพานลอยจากฝั่งด่านปาดังเบซาร์ ข้ามทางรถไฟมายังสถานี จากเดิมเมื่อก่อนลงจากมอเตอร์ไซค์ ข้ามสะพานลอยมายังตัวสถานีได้ทันที ตอนนี้ไปไม่ได้แล้ว
ต้องใช้วิธีนั่งรถรับ-ส่งจากด่านไทย ไปด่านมาเลเซีย อ้อมไปตามทางหลวงหมายเลข 7 ข้ามทางรถไฟแล้วเข้าสถานีรถไฟ ซึ่งทราบมาว่าต้องจ่ายประมาณ 300 บาทต่อรอบ เรียกว่าแพงกว่าค่าตั๋วรถไฟเสียอีก
แต่มีอีกวิธี คือ จ๊อบพาสปอร์ตที่ด่านฝั่งไทย และด่านฝั่งมาเลเซียแล้ว ให้ไปที่ตลาดปาดังแวร์มาร์ท (Padang Waremart) จะมีป้าย Grab Pick Up & Drop Off แล้วเรียกแกร็บไป Padang Besar Station ค่าโดยสารจะถูกกว่า
ปัจจุบันการเดินทางเข้าประเทศมาเลเซีย สำหรับหนังสือเดินทางประเทศไทย ไม่ต้องใช้หลักฐานการฉีดวัคซีนหรือหลักฐานการตรวจโควิด-19 ใดๆ สามารถประทับตราเข้าประเทศได้เลย อยู่ได้ยาวสูงสุด 30 วัน
มาถึงการซื้อตั๋วรถไฟที่ชั้น 2 ของสถานี จะมีเคาน์เตอร์แยกกันระหว่างรถไฟมาเลเซีย กับรถไฟไทย ค่าโดยสารจากปาดังเบซาร์ไปอลอร์สตาร์ (Aloe Setar) อยู่ที่ 5.70 ริงกิต (ประมาณ 46 บาท) ใช้เงินริงกิตเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ผู้เขียนเลือกใช้วิธีแลกเงินที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งบูธแลกเงินธนาคารแห่งหนึ่งระบุว่ามีเฉพาะธนบัตรใบละ 50 ริงกิต คิด 425 บาท จึงตัดสินใจแลกไว้ก่อน แล้วค่อยกดเงินที่ตู้เอทีเอ็มในมาเลเซีย
โดยมีสองธนาคารที่สามารถใช้บัตรเดบิตที่ออกในประเทศไทย กดเงินสดที่ธนาคารนั้นๆ ในประเทศมาเลเซีย โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ได้แก่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)
แต่ปัจจุบัน การรถไฟมาลายา (KTM Berhad) ได้ติดตั้งตู้คีออสสำหรับซื้อตั๋วรถไฟแล้ว อยู่ตรงข้ามช่องขายตั๋ว รับชำระด้วยบัตร VISA, MasterCard และ American Express รวมทั้งอีวอลเล็ต Boost และ Touch n’Go
ทีแรกผู้เขียนไม่กล้าใช้ตู้นี้ เพราะมีช่องเสียบบัตรประชาชนมาเลเซียที่ชื่อว่า MYKAD เกรงว่าต่างชาติจะใช้ไม่ได้ แต่ขากลับจากสถานีอลอร์สตาร์ ปรากฏว่าช่องขายตั๋วปิด เหลือแต่ตู้คีออสที่ยังเปิดอยู่ ทดลองใช้บริการปรากฏว่าทำได้
เริ่มจากเลือกประเภทรถไฟ ระหว่าง KTM ETS & INTERCITY สำหรับรถไฟ ETS และรถไฟทางไกล (ไปกัวลาลัมเปอร์) หรือ KTM KOMUTER รถไฟบัตเตอร์เวิร์ธ-ปาดังเบซาร์ แล้วเลือกภาษาเป็น ENGLISH
จากนั้นเลือกสถานีปลายทางที่ต้องการ เช่น เราเลือก Padang Besar เสร็จแล้วจะให้เลือกจำนวนผู้โดยสาร ได้สูงสุด 6 คน แบ่งเป็นผู้ใหญ่กี่คน เด็กกี่คน สรุปค่าโดยสารแล้วชำระเงิน เอาบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตแตะได้เลย
จากนั้นตั๋วโดยสารและใบเสร็จรับเงินจะพิมพ์ออกมา เราสามารถนำ QR CODE ที่ปรากฎอยู่ในตั๋วโดยสารไปสแกนที่ประตู AFC Gate เพื่อเข้าสู่ชานชาลาได้เลย ถึงปลายทางก็เอาตั๋วรถไฟสแกนออกจากสถานีอีกครั้ง
ระหว่างเดินทาง ตั๋วรถไฟต้องเก็บรักษาไว้ให้ดี อย่าให้หาย ตอนออกจากสถานีถ้าไม่มีตั๋วรถไฟ จะต้องเสียค่าปรับเป็นจำนวนเงิน 30 ริงกิต หรือ 242 บาทไทย แพงกว่าตั๋วรถไฟเสียอีก
ผู้เขียนใช้บัตรเดบิต CIMB THAI Debit Digital Savings ของซีไอเอ็มบี ไทย แตะบัตรเพื่อซื้อตั๋ว พบว่าค่าโดยสาร 5.70 ริงกิต คิดเป็นเงินไทย 46.93 บาท เพื่อนบอกว่า คิดเป็นเงินบาทแล้ว ตรงตามเรต VISA คือ 0% จริงๆ
กลับมาที่สถานีปาดังเบซาร์กันต่อ เวลาที่ระบุบนตั๋วรถไฟคือเวลาซื้อตั๋ว แต่เวลารถไฟออกให้สังเกตหน้าจอบนสถานี เช่น คำว่า B’WORTH (มาจากคำว่า บัตเตอร์เวิร์ธ) 1035 คือรถออก 10.35 น. เวลามาเลเซีย
สิ่งสำคัญที่ควรทราบ คือ เวลามาเลเซีย เร็วกว่าเวลาประเทศไทย 1 ชั่วโมง
เจ้าหน้าที่จะยังไม่ให้สแกนตั๋วเข้าประตู AFC Gate ทันที จนกว่าใกล้เวลารถออกสักครึ่งชั่วโมง ยกเว้นถ้าจะเข้าห้องน้ำ สามารถเปิดประตูเล็กๆ เพื่อเข้าไปยังห้องน้ำได้ เสียค่าห้องน้ำ 30 เซนต์ (0.30 ริงกิต)
ตอนนี้ด้านบนสถานีคึกคักไปด้วยบูธขายซิมการ์ด ซึ่งมีคนขายซิมการ์ดไทยขายกันแบบตัวต่อตัว ขณะที่ร้านอาหารเล็กๆ ในสถานียังคงเปิดเหมือนเดิม มีข้าวแกงและเครื่องดื่มในตู้แช่เลือกซื้อกันได้ตามสะดวก
จริงๆ ถ้าไปมาเลเซียแค่ไม่กี่วัน ซื้อแพ็คเกจประเทศเพื่อนบ้านจากค่ายมือถือของไทยมาใช้ก็ได้ ส่วนใหญ่จะขายแบบ 2GB 7 วัน 99 บาท แม้จะตั้งค่ายุ่งยากเสียหน่อยแต่ก็ดีกว่าเสียเงินซื้อซิมการ์ดมาเลเซีย
มาถึงขากลับจากมาเลเซียมายังประเทศไทย มีสองตัวเลือก คือ รอรถไฟเข้าประเทศไทย จะมีขบวน 950 ปาดังเบซาร์-ชุมทางหาดใหญ่ ออกจากสถานีปาดังเบซาร์ 15.40 น. (16.40 น. เวลามาเลเซีย)
อย่างที่บอกว่าช่วงนี้สถานีปาดังเบซาร์ปิดสะพานลอยข้ามไปยังด่านปาดังเบซาร์ เพราะฉะนั้นมีตัวเลือกหนึ่ง คือ แท็กซี่ไปด่านปาดังเบซาร์ ซึ่งค่าโดยสารแพงมาก เพราะต้องไปอ้อมทางหลวงหมายเลข 7 ข้ามทางรถไฟขึ้นมา
แต่นับว่ายังโชคดีสำหรับลูกค้าแกร็บ เพราะที่สถานีรถไฟปาดังเบซาร์ มีป้าย Grab Pick Up & Drop Off ผู้เขียนเลือกปักหมุดไปที่ Arked Niaga (อาเก็ด เนียกา) ซึ่งเป็นตลาดใกล้กับด่านปาดังเบซาร์ คิดแค่ 4 ริงกิต (33 บาท) เท่านั้นเอง
สำหรับมาเลเซีย นักท่องเที่ยวเรียกแกร็บได้ไม่มีใครมากวนใจ แต่ช่วงที่รถไฟมาถึงสถานี อาจจะรอรถนานสักหน่อย เนื่องจากรถต้องขับไปรับไปส่งผู้โดยสาร บางคนไปถึงด่านบูกิตกายูฮีตัม (ด่านสะเดา) ก็มี
ปัจจุบันการเรียกแกร็บในมาเลเซียเริ่มมีข้อกำหนดมากขึ้น เริ่มจากต้องสแกนใบหน้าตนเองเพื่อลงทะเบียนครั้งแรก ผู้โดยสารต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ห้ามจองรถให้กับคนแปลกหน้า เพราะบัญชีอาจจะถูกระงับการใช้งาน
ที่อาเก็ด เนียกา ถือเป็นตลาดชายแดนที่ขายสินค้าทั้งเสื้อผ้า ขนม อาหารและเครื่องดื่ม คล้ายกับตลาดกิมหยง เมืองหาดใหญ่ ใกล้กันจะมี ตลาดปาดัง แวร์มาร์ท ใครมีเงินริงกิตเหลือ ก็สามารถมาละลายทรัพย์ก่อนกลับเมืองไทยได้
ของฝากยอดฮิตที่ผู้คนนิยมซื้อกัน คือ ขนมปังกรอบยี่ห้อ PEPERO ของล็อตเต้ นำเข้าจากประเทศเกาหลีใต้ มีขายที่มาเลเซีย กล่องใหญ่ขายประมาณ 200 บาทไทย เห็นมีคนซื้อไปฝากลูกฝากหลานกันเยอะ
ตอนที่เราถามแม่ค้า ไม่ค่อยสันทัดภาษาเท่าไหร่ แต่มาพีกตรงที่หลังจ่ายเงินแล้ว แม่ค้าพูดภาษาไทยได้ เราเลยถามว่า แม่ค้าเป็นคนไทยเหรอครับ แกตอบว่าใช่ แล้วบอกกับเราว่า ถ้าพูดภาษาไทยตั้งแต่แรกก็จบแล้ว (หัวเราะ)
เดินแบกเป้มาถึงด่านปาดังเบซาร์ เราเรียกมอเตอร์ไซค์ให้ไปส่งถึงท่ารถตู้ปาดังเบซาร์-หาดใหญ่ มอเตอร์ไซค์พาเราไปประทับตราหนังสือเดินทางฝั่งมาเลเซีย ฝั่งไทย ถึงท่ารถตู้ คิด 100 บาท หรือ 10 ริงกิตมาเลเซีย อย่างใดอย่างหนึ่ง
ถือเป็นข้อมูลที่นำมาเล่าสู่กันฟัง เผื่อใครอยากจะไปเที่ยวมาเลเซีย ไปเที่ยวเกาะปีนังด้วยรถไฟในช่วงนี้ หวังว่าคงจะมีประโยชน์อยู่บ้างไม่มากก็น้อย.