xs
xsm
sm
md
lg

“สกายวอล์กพื้นกระจก” จุดขายใหม่ท่องเที่ยว?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เมื่อวันก่อนได้มีโอกาสมาเยือนจังหวัดกาญจนบุรี ตั้งใจว่าจะไปเยี่ยมชม “สกายวอล์กกาญจนบุรี” แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่เปิดให้เข้าชมเมื่อไม่นานมานี้

สกายวอล์กกาญจนบุรี หรือ สกายวอล์กเมืองกาญจน์ เป็นชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการของ จุดชมวิวแม่น้ำสองสี เป็นทางเดินพื้นกระจกใส ทำจากกระจกนิรภัย สูงประมาณ 12 เมตร ระยะทาง 150 เมตร ขนานไปตามแม่น้ำแควใหญ่

เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ ท่าเทียบเรือขุนแผน รับผิดชอบโดย จังหวัดกาญจนบุรี สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกาญจนบุรี และเทศบาลเมืองกาญจนบุรี

ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านเหนือ อ.เมืองฯ จ.กาญจนบุรี ประกอบด้วย จุดชมวิวแม่น้ำสองสี ปรับปรุงภูมิทัศน์ ปรับปรุงระบบไฟฟ้าและแสงสว่าง ตกแต่งภูมิทัศน์งานต้นไม้ พื้นที่สำหรับพักผ่อนและออกกำลังกาย และงานประติมากรรม


โครงการนี้ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 29,970,000 บาท ผู้รับจ้าง คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด วรรณพงษ์ ก่อสร้าง เริ่มสัญญาจ้างวันที่ 26 มีนาคม 2564 สิ้นสุดวันที่ 5 มีนาคม 2565 แต่ได้ขยายการก่อสร้างจากสถานการณ์โควิด-19

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชนและตรวจราชการที่จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างนั้นได้แวะขึ้นไปชมสถานที่ ทำให้มีผู้สนใจเฝ้ารอการเปิดให้บริการ

กระทั่งวันที่ 18 สิงหาคม 2565 ได้ทดสอบความพร้อมการให้บริการประชาชนเข้าชมเฟสแรก ก่อนจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา เปิดให้บริการแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ

ปรากฏว่าระหว่างนั้นเกิดปัญหาทั้งรองเท้าผ้า ที่สวมทับรองเท้าเพื่อเดินบนพื้นกระจกไม่เพียงพอ ต้องปิดให้บริการชั่วคราว เกิดกระแสดรามาผ่านโซเชียลฯ เป็นระยะ กระทั่งการบริหารจัดการเริ่มเข้าที่เข้าทางในเวลาต่อมา


ปัจจุบัน เทศบาลเมืองกาญจนบุรี เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. รอบละไม่เกิน 1 ชั่วโมง จำกัดจำนวนรอบละไม่เกิน 100-120 คน โดยเสียค่าเข้าชมคนละ 60 บาทต่อคน

ซึ่งค่าเข้าชมจะได้รับรองเท้าผ้า สำหรับสวมทับรองเท้าที่ใส่มาโดยไม่ต้องถอดรองเท้า ซึ่งเงินจำนวนนี้จะนำไปเป็นค่าบำรุงรักษาสถานที่ ค่าเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัย

รองเท้านี้ไม่มีการรับคืน สามารถถอดนำกลับบ้านได้เลย กรณีที่นักท่องเที่ยวเคยมาใช้บริการแล้ว สามารถนำรองเท้ามาใช้ซ้ำได้อีก ซึ่งจะเสียค่าเข้าชมเหลือเพียง 30 บาทต่อคน แต่ต้องเป็นรองเท้าของสกายวอล์กกาญจนบุรีเท่านั้น


สกายวอล์กกาญจนบุรี อยู่ที่ท่าเทียบเรือขุนแผน ถนนสองแคว ห่างจากศาลหลักเมืองกาญจนบุรี 400 เมตร ห่างจากสถานีขนส่งผู้โดยสารกาญจนบุรี 850 เมตร ห่างจากโรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี 450 เมตร

การเดินทางจากกรุงเทพฯ ถ้ามาจากถนนเพชรเกษม ต่อเนื่องถนนแสงชูโต (ถนนสาย 323) เมื่อผ่านศาลากลางจังหวัด ถึงสถานีตำรวจภูธรเมืองกาญจนบุรี จะมีแยกไฟแดง ฝั่งตรงข้ามคือสถานีขนส่งผู้โดยสารกาญจนบุรี ให้เลี้ยวซ้าย

ผ่านศาลหลักเมืองกาญจนบุรี ออกไปยังประตูเมืองกาญจนบุรี ตรงไปจนถึงสามแยก ให้เลี้ยวขวาไปตามถนนสองแคว จะเห็นสกายวอล์กกาญจนบุรีอยู่ตรงหน้า สามารถจอดรถได้บริเวณใกล้เคียง

แต่ถ้ามาจากถนนสาย 346 จากจังหวัดปทุมธานี เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสาย 324 (กาญจนบุรี-อู่ทอง) ที่อำเภอพนมทวนแล้ว ถึงสามแยกหอนาฬิกาให้เลี้ยวซ้าย แล้วเลี้ยวขวาอีกครั้งที่สี่แยกไฟแดงตรงหน้าสถานีขนส่งผู้โดยสารกาญจนบุรี

ในอนาคต ถ้ามาจากมอเตอร์เวย์หมายเลข 81 บางใหญ่-กาญจนบุรี ก็เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสาย 324 (กาญจนบุรี-อู่ทอง) ได้เช่นกัน ซึ่งจากทางออกมอเตอร์เวย์ จะอยู่ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรีประมาณ 8 กิโลเมตรเท่านั้น

ส่วนใครที่นั่งรถโดยสารประจำทาง หรือรถตู้จากกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง ให้ลงที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกาญจนบุรี แล้วต่อรถจักรยานยนต์รับจ้าง ส่วนคนที่นั่งรถไฟมาลงสถานีกาญจนบุรี จะอยู่ห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตร


สภาพพื้นที่โดยรอบสกายวอล์กกาญจนบุรี บริเวณทางเดิมริมน้ำกำลังก่อสร้าง ถัดจากนั้นจะเป็นอาคารทางขึ้นสกายวอล์ก ความสูงเท่ากับตึก 4 ชั้น ประกอบด้วยห้องโถง บันไดและลิฟต์สำหรับผู้สูงอายุ

ฝั่งตรงข้ามจะเป็นร้านอาหารเพลงเพื่อชีวิต ขึ้นป้ายให้จอดรถฟรี ถัดจากนั้นจะมีห้องสุขาและห้องอาบน้ำฟรี ของเทศบาลเมืองกาญจนบุรี มีร้านขายของชำ มีร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ และมีลานจอดรถของศูนย์เยาวชนเทศบาล

สมัยก่อนตรงนั้นเต็มไปด้วยแพที่มาจอดเทียบท่าอยู่ตรงนั้น พอมีการก่อสร้างสกายวอล์ก แพที่อยู่ตรงนั้นก็หายไป เมื่อสกายวอล์กเปิดใช้ก็มีนักท่องเที่ยวกลับมา ถือเป็นการจัดระเบียบพื้นที่ตรงนั้นไปในตัว


เริ่มต้นจากซื้อบัตรเข้าชมสกายวอล์กจากเจ้าหน้าที่ 60 บาท รับเฉพาะเงินสด หลังจากนั้นนั่งรอเป็นแถว รอจนกว่าเจ้าหน้าที่จะเรียกขึ้นไปทีละแถว แล้วนำบัตรเข้าชมให้เจ้าหน้าที่เพื่อรับรองเท้าผ้า

จากนั้นนำรองเท้าผ้าที่ได้รับ สวมใส่ครอบรองเท้าของเราให้เรียบร้อยโดยไม่ต้องถอด แล้วเดินขึ้นบันไดไปที่ชั้น 4 ในกรณีที่เป็นผู้สูงอายุ ให้ใช้ลิฟต์และกดปุ่มขึ้นไปที่ชั้น 4 กระทั่งเดินขึ้นไปบนพื้นกระจก แยกระหว่างฝั่งซ้ายกับฝั่งขวา

ฝั่งซ้ายซึ่งเป็นทิศใต้ จะมองเห็นแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำแควน้อย และพระพุทธรูปปางประทานพร วัดถ้ำเขาแหลม ส่วนฝั่งขวาซึ่งเป็นทิศเหนือ จะมองเห็นหอพระประวัติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสกายวอล์กกาญจนบุรี อยู่ห่างจากสะพานข้ามแม่น้ำแควประมาณ 3-4 กิโลเมตร อีกทั้งแม่น้ำมีลักษณะโค้ง เพราะฉะนั้นก็จะไม่เห็นสะพานข้ามแม่น้ำแคว แต่จะเห็นภูเขาที่เรียกว่าเขาใหญ่ และเขาพุราง












ถามว่ารู้สึกหวาดเสียวไหม...สำหรับคนที่กลัวความสูงอาจจะตื่นเต้นไปบ้าง แต่จริงๆ แล้วถ้าพยายามเดินอยู่ตรงกลาง และไม่มองไปด้านล่างเลยก็จะช่วยได้ เพราะกระจกที่ใช้ก็เป็นกระจกนิรภัย

ถามถึงความคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป 60 บาท เมื่อหักจากรองเท้าผ้าซึ่งหากนำมาใช้คราวหน้าก็จะคิด 30 บาท ถือว่าสมราคาอยู่บ้าง เพราะวิวแม่น้ำสองสี คือแม่น้ำแควน้อย และแม่น้ำแม่กลอง ถือว่าสวยใช้ได้

แต่จะติดใจอยู่อย่างหนึ่ง คือ “ปิดให้บริการเร็วเกินไป” ประมาณ 5-6 โมงเย็นก็ปิดแล้ว นักท่องเที่ยวที่กลับจากแหล่งท่องเที่ยวต่างอำเภอ เช่น น้ำตกไทรโยคน้อย หรือคนที่ออกจากกรุงเทพฯ ช่วงบ่าย มาถึงจะไม่ทันอยู่แล้ว

และเอาเข้าจริง ทางเดินไม่ยาวมาก นักท่องเที่ยวใช้เวลาขึ้นไปชมด้านบนไม่นานนัก คนละไม่เกิน 30 นาที หรืออย่างมากไม่เกิน 1 ชั่วโมง บางคนชมวิว ถ่ายรูปทีละฝั่ง สักพักก็ลงมาแล้ว ยิ่งถ้าเป็นช่วงอากาศร้อน คงไม่มีใครอยู่บนนั้นได้นาน

ส่วนการบริหารจัดการเป็นยังไง ผู้เขียนมาเยือนหลังเป็นข่าวและดรามาไปสักระยะหนึ่ง เท่าที่ได้รับก็ไม่ได้แย่อย่างที่เป็นข่าวออกไป และเนื่องจากเทศบาลเป็นผู้บริหารสถานที่เอง จึงต้องแก้ปัญหาแบบค่อยเป็นค่อยไป

ขอฝากไปถึงเทศบาลเมืองกาญจนบุรี โดยเฉพาะนายกเทศมนตรี วสันต์ ภูษิตกาญจนา พิจารณาเรื่องเวลาเปิด-ปิดให้บริการ เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีเวลาเที่ยวชมมากขึ้น ควรปิดสัก 1 ทุ่มครึ่งกำลังดี ให้ได้มีเวลาชมวิวยามเย็น

สกายวอล์กวัดผาตากเสื้อ อ.สังคม จ.หนองคาย (ภาพเมื่อเดือนเมษายน 2559)
อันที่จริงสกายวอล์กกาญจนบุรีไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในจังหวัด ก่อนหน้านี้ก็มี “เขาแหลมสกายวอล์ก” ที่เขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ เปิดเมื่อเดือนมกราคม 2563 เพื่อฉลองครบรอบ 34 ปีเขื่อนวชิราลงกรณ

สถานที่ท่องเที่ยวในรูปแบบสกายวอล์ก ที่เป็นทางเดินพื้นกระจก (ไม่นับรวมพื้นที่ส่วนบุคคล) เกิดขึ้นครั้งแรกที่ วัดผาตากเสื้อ อ.สังคม จ.หนองคาย เปิดให้ประชาชนเข้าชมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2559

มีลักษณะเกือกม้า ระยะทาง 16 เมตร เป็นส่วนทางเดินพื้นกระจกใส 15 เมตร ยื่นจากหน้าผาออกมา 6 เมตร พื้นและราวกั้นเป็นกระจกนิรภัยลามิเนต หนา 4 เซนติเมตร รองรับน้ำหนักได้ 500 กิโลกรัมต่อ 1 ตารางเมตร

ต่อจากนั้นก็มีสกายวอล์กพื้นกระจกตามมาอีกเรื่อยๆ เช่น มหานคร สกายวอล์ค ความสูง 310 เมตร บนอาคารคิง เพาเวอร์ มหานคร เขตบางรัก กรุงเทพฯ กรุงเทพมหานคร เปิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561

เขาแหลมสกายวอล์ก เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี, สกายวอล์กเชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย เปิดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563, สกายวอล์ก ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา เปิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563

สกายวอล์ก วัดเขาตะแบก อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เปิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2563 และล่าสุด สกายวอล์กกาญจนบุรี เปิดเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2565 เท่ากับว่ามีแหล่งท่องเที่ยวสกายวอล์กพื้นกระจกแล้ว 7 แห่ง

สกายวอล์ก วัดเขาตะแบก อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี (ภาพเมื่อเดือนเมษายน 2565)
แม้ว่ากระจกที่นำมาใช้ก่อสร้างทางเดิน พื้นระเบียง หรือสกายวอล์ก จะใช้กระจกนิรภัยอย่างดี และยังไม่มีอุบัติเหตุร้ายแรง แต่ก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบความแข็งแรงของพื้นกระจกอย่างสม่ำเสมอ

ส่วนนักท่องเที่ยว ถ้าจะเข้าชมสกายวอล์ก ต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด และเนื่องจากพื้นเป็นกระจกใส สุภาพสตรีควรแต่งกายให้สุภาพและรัดกุม หากเป็นเด็กเล็ก ต้องมีผู้ปกครองดูแลอย่างใกล้ชิด

ห้ามผู้ที่มีอาการมึนเมาขึ้นชมทัศนียภาพบนสกายวอล์กโดยเด็ดขาด ห้ามพิงและปีนราวกันตก ห้ามวิ่ง หยอกล้อ กระโดด และโยนสิ่งของตลอดเวลาที่อยู่บนสกายวอล์ก และเมื่อฝนตกควรกลับไปอยู่ในที่ร่มหรือด้านในอาคารทันที

ส่วนการสวมใส่รองเท้าที่จัดเตรียมไว้ให้ แล้วแต่ผู้ดูแลสถานที่จะกำหนด บางแห่งจะให้ยืม เช่น วัดเขาตะแบก คิดค่าเข้าชมสกายวอล์ก 40 บาท มีรองเท้าผ้าให้สวมใส่ แล้วนำมาคืนที่ปลายทาง บางแห่งก็จะขายพร้อมบัตรเข้าชมไปเลย


แม้ว่าสกายวอล์กพื้นกระจกจะกลายเป็นจุดขายใหม่ แต่นักท่องเที่ยวก็ใช้เวลาขึ้นไปด้านบนไม่นานนัก ขึ้นอยู่กับความยาวของทางเดินและสภาพอากาศ นอกจากจะมีจุดขายอื่นควบคู่กันไปด้วย เช่น ชมทะเลหมอก ชมพระอาทิตย์

และด้วยต้นทุนการก่อสร้างสกายวอล์กพื้นกระจก เฉกเช่นที่กาญจนบุรีใช้งบประมาณราว 30 ล้านบาท ในวันข้างหน้าอาจจะได้เห็นสกายวอล์กในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยตามมาก็เป็นได้

อย่างที่บอกว่า ขออย่างเดียว ตรวจสอบความแข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ เราคงไม่อยากเจอข่าวร้าย หรืออุบัติเหตุไม่คาดฝัน เป็นโศกนาฎกรรมสะเทือนขวัญและกระทบต่อความเชื่อมั่น ทำให้ผู้คนตื่นตระหนกไม่กล้าขึ้นไปเที่ยวด้านบนได้อีก

และไม่อยากเจอมาตรการแบบ “วัวหายล้อมคอก” เหมือนหลายเรื่องที่เกิดขึ้น เช่น สถานบันเทิงไฟไหม้เมื่อ 13 ปีก่อน มาปีนี้ก็กลับเกิดขึ้นซ้ำอีก เพราะก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน และเจ้าหน้าที่ปล่อยปะละเลย.


กำลังโหลดความคิดเห็น