กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เมื่อวันก่อนได้มีโอกาสไปร่วมศึกษาดูงาน สปป.ลาว หลักสูตร “มองจีนยุคใหม่ ความท้าทายที่สื่อไทยควรรู้” ครั้งที่ 4 จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือการเดินทางด้วยรถไฟ EMU ที่มักจะเรียกกันว่า “รถไฟความไวสูง” ขบวนที่ C82 จากนครหลวงเวียงจันทน์ ไปยังนครหลวงพระบาง
รถไฟลาว-จีน เปิดการเดินรถอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 โดยมี ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับ นายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นประธาน มุ่งหวังที่จะร่วมกันสร้าง “สายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) ระหว่างสองประเทศ
โครงการรถไฟลาว-จีน มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่สถานีบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา สิ้นสุดที่สถานีนครหลวงเวียงจันทน์ มีความยาว 426 กิโลเมตร และหากเชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟของจีน เริ่มจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน จะมีความยาวรวม 1,035 กิโลเมตร ใช้ระบบรถไฟตามมาตรฐานของจีน และรางขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร
หลายคนคงได้ทราบถึงรูปแบบของรถไฟ “ขบวนล้านช้าง” หรือรถไฟ EMU ที่ได้รับความนิยมจากประชาชนลาวและนักท่องเที่ยวกันบ้างแล้ว จากนี้จะเป็นการบอกเล่าประสบการณ์การเดินทางกันบ้าง ซึ่งความจริงหากวอล์กอินไปเองอาจจะไม่ได้มีโอกาสเช่นนี้ เพราะตั๋วรถไฟหมดเร็วมาก แทบจะไม่มีโอกาสได้ซื้อด้วยซ้ำ
ที่นั่งรถไฟลาว-จีน ขบวนรถ EMU จะมีทั้งหมด 3 ชั้น ได้แก่ รถนั่งชั้นธุรกิจ มีที่นั่งเป็นแคปซูลแถวละ 3 ที่นั่ง ตามมาด้วย รถนั่งชั้นหนึ่ง แถวละ 4 ที่นั่ง และ รถนั่งชั้นสอง แถวละ 5 ที่นั่ง ผู้เขียนได้รถนั่งชั้นที่สอง ซึ่งทราบมาว่า กว่าที่ไกด์จะได้ตั๋วมาก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก และต้องแยกออกเป็นสองกลุ่ม
ทราบจากทางไกด์ที่จัดหาตั๋วรถไฟมาให้ ได้ความว่า แม้ราคาหน้าตั๋วจากสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ ถึงสถานีหลวงพระบาง ที่นั่งชั้นสองจะระบุราคา 242,000 กีบ (หรือประมาณ 570 บาท) แต่ความจริงถ้าอยากได้ราคานี้ ต้องต่อคิวไปซื้อเอง ซึ่งที่สถานีรถไฟเปิดขายเป็นรอบ วันละ 3 รอบ ไม่ได้ขายตลอดเวลาเหมือนสถานีรถไฟในประเทศไทย
ทำให้มีคนรับจ้างต่อคิวซื้อตั๋วรถไฟ ถึงขั้นหอบเสื่อผืนหมอนใบ มานอนรอคิวที่ด้านนอกสถานีรถไฟเลยทีเดียว ซึ่งตั๋วในวันเดินทางถูกจับจองจนเหลือไม่ถึง 180 ที่นั่ง ตั๋วที่ได้จากคนรับจ้างต่อคิวก็จะนำไปขายต่อ สร้างรายได้ประมาณ 50,000-100,000 กีบ (หรือประมาณ 120-240 บาท)
เรื่องนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมถึงไม่เปิดขายตั๋วออนไลน์ เท่าที่ทราบมาจากตัวแทนบริษัทรถไฟลาว-จีน ได้คำตอบว่า กำลังอยู่ในระหว่างพัฒนาระบบ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปลายปี 2565 แต่เมื่อถามนอกรอบไปว่า มีแผนจะเพิ่มขบวนรถ จากที่มีอยู่ในตอนนี้บ้างไหม ได้รับคำตอบว่า ขณะนี้ยังไม่มี
ปัจจุบันทางการอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร ที่จะเดินทางต่อด้วยรถไฟลาว-จีน เฉกเช่น รัฐวิสาหกิจรถเมล์นครหลวงเวียงจันทน์ ได้จัดรถโดยสารไปยังสถานีรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์ ทั้งจากตลาดเช้า สะพานมิตรภาพไทย-ลาว และตลาดซังเจียง หรือไชน่าทาวน์ หากสามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ การเดินทางโดยรถไฟก็จะสะดวกขึ้น
ต่อจากนี้จะบอกเล่าถึงขั้นตอนการเดินทางด้วยรถไฟลาว-จีนพอสังเขป เผื่อวันข้างหน้าหากคุณผู้อ่านมีโอกาสเดินทางมาเยือน ก็จะได้เตรียมตัว ยกเว้นเรื่องการจองตั๋ว ช่วงนี้ยังลำบาก เพราะมีความต้องการเดินทางสูง บอกได้แต่เพียงว่าให้ติดตามเฟซบุ๊กเพจ “Laos - China Railway Company Limited” จะอัปเดตจำนวนที่นั่งคงเหลือในแต่ละวัน
สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนขึ้นรถไฟก็คือ ตั๋วโดยสาร, หนังสือเดินทาง ส่วนกระเป๋าสัมภาระ เนื่องจากมีที่เก็บสัมภาระเหนือศีรษะจำกัด แนะนำว่าไม่ต้องนำสัมภาระไปเยอะ เพราะตอนขึ้นหรือลงจากขบวนรถ ผู้โดยสารจะต้องลากกระเป๋าไปเอง วางกระเป๋าด้วยตัวเอง และต้องวางแนวนอน อย่าให้ล้ำขอบที่เก็บของด้วย แนะนำว่าพกเป้ใบเดียวก็พอแล้ว
วันเดินทาง ให้มายังสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ก่อนรถออกสัก 1 ชั่วโมง เพื่อสแกนกระเป๋าและตรวจค้นอาวุธ อย่านำสเปรย์กระป๋องที่เป็นวัตถุไวไฟ อาวุธและสิ่งผิดกฎหมายเข้าไป ด้านในจะมีที่นั่งพักคอย มีห้องสุขา จุดบริการน้ำดื่ม ห้องรับรองวีไอพีสำหรับผู้โดยสารเฉพาะกลุ่ม ล่าสุดมีคาเฟ่ของดาวคอฟฟี่เปิดบริการแล้ว
07.00 น. เป็นเวลาที่ทางสถานีประกาศให้ผู้โดยสารขึ้นรถไฟ ให้เตรียมตั๋วรถไฟและหนังสือเดินทางมาแสดงแก่เจ้าหน้าที่ เพื่อความรวดเร็วโปรดสังเกตว่า ถ้าเรานั่งคันที่ 1-2-3-4 ให้ไปต่อคิวฝั่งขวา ส่วนคันที่ 5-6-7-8 ให้ไปต่อคิวฝั่งซ้าย เมื่อเข้าไปด้านในชานชาลาแล้ว ให้สังเกตตู้โดยสาร จะระบุเลขคันที่หน้าขบวน และด้านในขบวน
การจัดเรียงที่นั่งแต่ละแถวจะจัดเรียงคล้ายบนเครื่องบิน ฝั่งหนึ่งจะมี 3 ที่นั่ง ได้แก่ ที่นั่ง A ริมหน้าต่าง B ตรงกลาง C ริมทางเดิน อีกฝั่งหนึ่งจะมี 2 ที่นั่ง ได้แก่ ที่นั่ง D ริมทางเดิน และ F ริมหน้าต่าง โดยที่นั่งจะระบุไว้ในตั๋วโดยสาร ตัวอย่างเช่น “Seat: 01-08B” หมายถึง รถคันที่ 1 แถวที่ 8 ที่นั่ง 8B ตรงกลาง
เล่าให้ฟังเล็กน้อย ตอนที่เดินเข้าไปในขบวนรถ ปรากฏว่าที่นั่งของเราดันมีคนไทยกลุ่มหนึ่งมานั่ง (สังเกตจากหนังสือเดินทางไทย) พอถามก็โบ้ยไปว่า “ของพี่คันหน้านะคะ” ทำเอาเรายืนเหวอ เบียดเสียดผู้คนสักพักหนึ่ง กระทั่งเพื่อนร่วมคณะขอดูตั๋วโดยสาร ปรากฏว่าไม่ใช่ คนไทยกลุ่มนี้เลยออกจากที่นั่ง หยิบกระเป๋าแล้วเดินออกไป ไม่มีขอโทษสักคำ
นึกถึงตอนที่นั่งรถไฟด่วนพิเศษกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ขึ้นจากสถานีบุรีรัมย์ เจอผู้โดยสารวัยรุ่นคนหนึ่งนั่งอยู่ ปรากฎว่าเธอไล่ให้เราไปนั่งด้านหลัง ซึ่งไม่ตรงกับที่ตั๋วระบุไว้ เบาะนั่งก็ชำรุด ภายหลังเจ้าหน้าที่ตรวจตั๋วก็ไล่วัยรุ่นคนนี้ให้ไปนั่งที่เดิม ส่วนเราได้กลับมานั่งที่นั่งตามที่ระบุแทน
นิสัยแบบนี้ไม่ว่าอยู่เมืองไทยหรืออยู่เมืองนอก ด้วยความปรารถนาดี...เลิกได้ก็เลิก!
รถไฟออกจากสถานีนครหลวงเวียงจันทน์เวลาประมาณ 07.30 น. ค่อยๆ แล่นช้าๆ ให้เจ้าหน้าที่จัดระเบียบกระเป๋าสัมภาระ ใบไหนล้ำออกจากที่เก็บของเหนือศีรษะ ก็จะปัดให้ตรงล็อก หรือถ้าไม่มีที่ว่างเหลือ ก็จะนำกระเป๋าไปไว้ที่อื่น สักพักรถไฟก็ค่อยๆ ทำความเร็วเพิ่มขึ้น จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะตรวจตั๋วโดยสารทีละคนจนหมด
ถ้าจะเปรียบเทียบความเร็วกับรถไฟฟ้าของไทย ความคิดเห็นส่วนตัวคล้ายกับแอร์พอร์ตเรลลิงก์ แต่ที่นั่งเป็นระเบียบมากกว่า แต่ที่น่านับถือใจก็คือ ทางจีนซึ่งเป็นฝ่ายก่อสร้าง พยายามทลายอุปสรรคภูเขาที่สูงชันด้วยการเจาะอุโมงค์กันแบบถี่ยิบ ชนิดที่ว่าเห็นท้องฟ้าเห็นตะวันไม่ทันไรก็พรึ่บ! ลอดอุโมงค์แล้ว ลอดอุโมงค์อีก
สองข้างทางเป็นวิวหมู่บ้าน นาข้าว ภูเขา ผ่านสถานีโพนโฮงที่ไม่จอดรับผู้โดยสาร ระหว่างนั้นจะสังเกตเห็น ทางด่วนสายนครหลวงเวียงจันทน์-วังเวียง ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว ก่อนจะลอดอุโมงค์สัก 2-3 ครั้ง เห็นวิวแม่น้ำ มาถึงสถานีวังเวียง เวลาประมาณ 08.30 น. ที่นั่นจอดรับ-ส่งผู้โดยสารเป็นเวลา 3 นาที
หลังจากนั้น ช่วงระหว่างวังเวียง-หลวงพระบาง จะเป็นภูเขา ลอดอุโมงค์หลายครั้ง บางแห่งเป็นอุโมงค์ซ้อนอุโมงค์ คือผ่านภูเขาลูกหนึ่งไปแล้ว ก็ลอดผ่านภูเขาอีกลูกหนึ่ง สัญญาณโทรศัพท์ไม่มีสักขีด แนะนำว่าให้เตรียมเพลงโปรดใส่มือถือเอาไว้ นั่งเสียบหูฟังกันเพลินๆ แต่อย่าเพลินจนลืมปลายทางที่จะลง จะมีเสียงประกาศว่าใกล้จะถึงสถานี
ใครที่ไม่ได้ซื้อน้ำซื้อขนม บนขบวนรถมีพนักงานเข็นรถขายคล้ายบนเครื่องบิน เท่าที่เห็นก็มีเป๊ปซี่ลาว น้ำดื่มตราหัวเสือ และขนมกล้วยอบกรอบยี่ห้อกับข้าวกับปลา ถุงละ 25,000 กีบ ส่วนคนที่พกขวดน้ำหรือแก้วทัมเบอร์มาเอง มีบริการน้ำร้อนให้กดฟรี บริเวณก่อนถึงประตูรถ ส่วนเหตุผลที่เป็นน้ำร้อน เพราะชาวจีนมักนิยมดื่มน้ำร้อนนั่นเอง
ส่วนห้องน้ำในรถไฟ สุขภัณฑ์จะมีอยู่สองแบบ แบบแรกคือแบบนั่งยอง แบบที่สองคือแบบโถสุขภัณฑ์ สังเกตได้จากสติกเกอร์ติดหน้าประตูห้องน้ำ ภายในมีอ่างล้างมือเมื่อทำกิจธุระเสร็จ โดยรวมถือว่าไม่สกปรกนัก คนที่ใช้โถสุขภัณฑ์ใครที่กังวลเรื่องความสะอาด สามารถนำกระดาษรองนั่งที่พกมาเองนำมาใช้ได้
เรามาถึงสถานีหลวงพระบางเวลาประมาณ 09.20 น. ขบวนรถจะเปิดทางด้านขวา ควรเตรียมกระเป๋าให้พร้อมก่อนออกจากขบวนรถ เพราะรถไฟจะจอดรับ-ส่งผู้โดยสารไม่เกิน 3 นาที ถ้ากระเป๋าสัมภาระสูญหายหรือหาไม่เจอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่อประสานกับทางขบวนรถค้นหากระเป๋าเดินทาง แล้วนำมาส่งคืนให้ภายหลัง เช่น ตอนขากลับจากบ่อเต็น
เมื่อออกจากขบวนรถแล้วจะมีประตูทางออก ให้เตรียมตั๋วโดยสารแสดงแก่เจ้าหน้าที่ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถออกจากสถานีได้ นอกจากจะจ่ายค่าตั๋วเพิ่มตามระเบียบที่กำหนดพร้อมค่าธรรมเนียมแล้ว ยังต้องเก็บเพิ่มอีก 30% ของมูลค่าตั๋วเพิ่ม เพราะฉะนั้นเมื่อขึ้นไปบนขบวนรถแล้ว เก็บรักษาตั๋วโดยสารไว้ให้ดี อย่าเพิ่งทิ้ง
จากนครหลวงเวียงจันทน์ใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง เทียบกับเดินทางด้วยรถยนต์จะกินเวลาเป็นวันๆ เนื่องจากถนนใน สปป.ลาวมีขนาดเล็ก และลัดเลาะผ่านภูเขา โดยเฉพาะช่วงวังเวียง-หลวงพระบาง คนที่เคยไปเล่าให้ฟังว่าเมารถจนแทบอ้วกเลยทีเดียว ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเดินทางใน สปป.ลาว ให้สามารถไปยังเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมง่ายขึ้น
ด้านล่างสถานีรถไฟหลวงพระบาง มีบริการรถตู้ไปยังตัวเมืองหลวงพระบาง ตกแต่งลวดลายคล้ายลายขบวนรถล้านช้าง สนนราคาคนละ 35,000 กีบ (ประมาณ 82 บาท) ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ส่วนขากลับ เท่าที่ถามไกด์ทราบว่า ขากลับรถจะจอดแถวๆ ร้านกาแฟโจมา (JOMA) ระหว่างนั่งรถผ่าน มีตัวแทนจำหน่ายตั๋วในตัวเมืองหลวงพระบางด้วย
สถานที่ท่องเที่ยวหลักของหลวงพระบาง คือ พิพิธภัณฑ์หลวงพระบาง ที่มีหอพระบาง และพระราชวังหลวงพระบาง ใกล้กันจะมีพระธาตุพูสี ซึ่งเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกดิน ต่อด้วยวัดเชียงทอง วัดอาราม ยามเช้าจะมีตลาดเช้าหลวงพระบาง จิบกาแฟยามเช้าที่ร้านกาแฟประชานิยม ยามค่ำจะมีตลาดมืด หรือตลาดนัดกลางคืน บนถนนศรีสว่างวงศ์
ช่วงหนึ่งไปเยี่ยมชมน้ำตกตาดกวางสี ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองหลวงพระบางประมาณ 30 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งใน สปป.ลาว จุดที่สวยที่สุดจะอยู่ชั้นบน แต่จุดที่เล่นน้ำได้จะอยู่บริเวณตอนกลาง ที่นั่นยังมีศูนย์อนุรักษ์หมี เราจะได้เห็นหมีควายนั่งอยู่ บ้างก็เดินเล่น ที่นี่มีห้องสุขา แต่ไม่มีห้องอาบน้ำ แนะนำให้เตรียมเสื้อผ้ามาเปลี่ยนด้วย
เราถามไกด์ไปว่า ถ้าจะเหมารถไปน้ำตกตาดกวางสีด้วยตัวเอง เขาคิดราคาเท่าไหร่ ได้รับคำตอบว่าอยู่ที่ 2,000 บาทไทย เพราะฉะนั้นนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวต่างชาติ จะนิยมเช่ารถจักรยานยนต์มากกว่า สนนราคาวันละ 500 บาท ระหว่างนั่งรถสังเกตเห็นชาวต่างชาติขี่รถจักรยานยนต์สวนทางเป็นระยะ
การได้นั่งรถไฟลาว-จีนคราวนี้ ถือเป็นการเปิดโลกอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะนครหลวงพระบาง เมืองมรดกโลก ที่บัดนี้กลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยว แต่ด้วยอุปสรรคที่ถ้ามาด้วยตัวเองจะหาซื้อตั๋วรถไฟยาก คงต้องรอให้ระบบจองตั๋วออนไลน์เกิดขึ้นได้จริง ชาวต่างชาติโดยเฉพาะคนไทยซื้อตั๋วได้ ก็จะเอื้อให้เกิดการเดินทางเพิ่มมากขึ้น
ที่ผ่านมาการเดินทางมายังหลวงพระบางมีหลายตัวเลือก ปัจจุบันมีเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ โดยสายการบินแอร์เอเชีย รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) มีเส้นทาง เลย-หลวงพระบาง และ น่าน-หลวงพระบาง ส่วน สปป.ลาว จากนครหลวงเวียงจันทน์ ก็มีเที่ยวบินของการบินลาว และลาวสกายเวย์ให้บริการ
เพียงแต่ว่าช่วงนี้การเดินทางด้วยรถไฟ EMU ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ในการเดินทาง เพราะเป็นเส้นทางรถไฟสายใหม่ รถนั่งที่สะดวกสบาย ถึงจุดหมายปลายทางรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงได้เห็นความต้องการเดินทางที่สูงอย่างต่อเนื่อง แม้ช่องทางการจำหน่ายตั๋วโดยสารยังคงมีอยู่อย่างจำกัดก็ตาม
อีกสิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ คือ การทำสถานีรถไฟระบบปิด แยกส่วนระหว่างผู้โดยสารที่มีตั๋วโดยสาร กับบุคคลภายนอกออกจากกันชัดเจน ข้อดีก็คือเกิดความปลอดภัยแก่ผู้โดยสาร เพราะจะสกรีนตั๋วโดยสารเหมือนนั่งเครื่องบิน แต่ถ้านำมาใช้ในเมืองไทย คนที่เคยชินกับการส่งลูกส่งหลาน บอกลากันถึงหน้าต่างรถไฟ อาจจะไม่คุ้นชินกันไปบ้าง
คงต้องรอความหวังกับโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ที่จะมีขึ้นในอนาคต เราจึงจะได้เห็นรถไฟไทยพัฒนาไปอีกขั้น นอกจากความเร็วสูงแล้ว ยังสะดวกสบาย และปลอดภัยเช่นกัน