กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ช่วงนี้มีคนไทยเดินทางไปเที่ยว สปป.ลาวมากขึ้น หลังจากรัฐบาล สปป.ลาว ได้เปิดด่าน เปิดประเทศเต็มรูปแบบไปเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จ.หนองคาย
ก่อนหน้านี้รัฐบาล สปป.ลาว ออกมาตรการสกัดกั้น ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวด มีการปิดด่านสากลสำหรับการเข้า-ออกของบุคคล รวมทั้งปิดด่านท้องถิ่นและด่านประเพณีไปเมื่อเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา
ระหว่างนั้นเกิดความเปลี่ยนแปลงใน สปป.ลาวที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือการเปิดให้บริการเส้นทาง “รถไฟลาว-จีน” จากสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ ถึงสถานีบ่อเต็น ระยะทาง 414 กิโลเมตร ไปเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564
ผลปรากฏว่าได้รับความนิยมจากชาว สปป.ลาว มาใช้บริการอย่างเนืองแน่น เพราะช่วยย่นเวลาการเดินทาง โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวอย่างหลวงพระบาง จากเดิมทางถนนใช้เวลา 7-8 ชั่วโมง เหลือเพียงแค่ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น
เมื่อ สปป.ลาวเปิดประเทศ คนไทยจำนวนไม่น้อย ต่างเดินทางมาสัมผัสความทันสมัยของรถไฟลาว-จีนด้วยตัวเอง พร้อมเที่ยวชมเมืองมรดกโลกอย่างหลวงพระบาง และชมความงามทางธรรมชาติที่วังเวียง
สำหรับการเดินทางจากไทยมายัง สปป.ลาวนั้น ปัจจุบันรัฐวิสาหกิจรถเมล์นครหลวงเวียงจันทน์ ได้กลับมาเปิดให้บริการเดินรถแล้วบางเส้นทาง โดยได้ย้ายไปอยู่ในโครงการก่อสร้างสถานีรถเมล์เป็นการชั่วคราว
รวมทั้งเปิดให้บริการรถโดยสารระหว่างประเทศ ร่วมกับ บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. ของไทย ได้แก่ สายเวียงจันทน์-อุดรธานี วันละ 5 เที่ยว, สายเวียงจันทน์-หนองคาย วันละ 4 เที่ยว และสายเวียงจันทน์-กรุงเทพฯ
สำหรับรัฐวิสาหกิจรถเมล์นครหลวงเวียงจันทน์ ปัจจุบันให้บริการ 6 เส้นทาง ส่วนใหญ่ไปทางทิศเหนือ เชื่อมต่อกับสถานีขนส่งสายใต้ (ชาวลาวเรียกว่า "คิวรถสายใต้") สถานีรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์ และมหาวิทยาลัยแห่งชาติ (ดงโดก) ส่วนเส้นทางอื่นๆ เช่น จากท่าอากาศยานวัตไต, สถานีขนส่งสายเหนือ, ศูนย์ประชุมลาวไอเต็ก ยังไม่เปิดให้บริการ
ขออธิบายแนวเส้นทางทิศเหนือ เริ่มต้นจากถนนล้านช้าง บริเวณทำเนียบประธานประเทศ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านประตูชัย ต่อด้วยถนนไกสอนพมวิหาน ผ่านวงเวียนพิพิธภัณฑ์ตำรวจลาว
จากนั้นจะขึ้นไปทางทิศเหนือ ผ่านหอประชุมแห่งชาติ เจอสี่แยกถนน 450 ปี ถ้าเลี้ยวซ้ายจะไปมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ดงโดก เลี้ยวขวาจะไปท่านาแล้ง ผ่านสถานีขนส่งสายใต้ ผ่านทางเข้าสถานีรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์
แต่ถ้าตรงไป จะผ่านวงเวียนดอนหนูน ตรงไปจะเป็นทางหลวงหมายเลข 10 ไปสะพานท่าง่อน ออกเมืองโพนโฮง เลี้ยวขวาจะเป็นทางหลวงหมายเลข 13 ไปยังเมืองปากซัน ท่าแขก ปากเซ สิ้นสุดที่ด่านหนองนกเขียน เข้าประเทศกัมพูชา
รถเมล์ที่ออกจากสถานีรถเมล์ตลาดเช้า (Central Bus Station หรือ CBS) นครหลวงเวียงจันทน์ ที่ให้บริการ ณ เดือนสิงหาคม 2565 มีดังนี้
สาย 14 ตลาดเช้า – ท่าเดื่อ - วัดเชียงควน (Buddha Park) ไปทางทิศตะวันออก ผ่านเมืองศรีสัตนาค ตลาดสาละคำ บริษัทเบียร์ลาว สวนวัฒนธรรม แวะเข้าสะพานมิตรภาพ สิ้นสุดที่วัดเชียงควนหลวง มีรถให้บริการวันละ 16 เที่ยว จากตลาดเช้าไปสะพานมิตรภาพ เที่ยวแรก 06.00 น. เที่ยวสุดท้าย 17.00 น. จากสะพานมิตรภาพไปตลาดเช้า เที่ยวแรก 07.20 น. เที่ยวสุดท้าย 18.15 น. ค่าโดยสาร รถ ISUZU ราคา 12,000 กีบ รถไฟฟ้า (EV) 10,000 กีบ
สาย 28 ตลาดเช้า – สถานีขนส่งสายใต้ - สถานีรถไฟลาว-จีน ไปทางทิศเหนือ ผ่านสถานีขนส่งสายใต้ สิ้นสุดที่สถานีรถไฟลาว-จีน ใช้เวลาประมาณ 30-40 นาที ให้บริการวันละ 2 เที่ยว ออกจากตลาดเช้า 06.10 และ 13.00 น. ออกจากสถานีรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์ 07.30 และ 15.45 น. ค่าโดยสาร 15,000 กีบ
สาย 23 ตลาดเช้า - ท่าง่อน ไปทางทิศเหนือ ผ่านประตูไชย วงเวียนพิพิธภัณฑ์ตำรวจลาว วัดโพนพะเนา บ้านพะขาว ถึงสี่แยกถนน 450 ปี เลี้ยวขวาวนเข้าสถานีขนส่งสายใต้ ออกมาแล้วเลี้ยวขวาเข้าเส้นทางเดิม ผ่านวงเวียนดอนหนูน ตรงไปทางตลาดดงหมากคาย สี่แยกไฟแดงหลัก 19 ตลาดท่าง่อน สิ้นสุดที่ก่อนถึงสะพานท่าง่อน ค่าโดยสารรถเมล์ลาว 10,000 กีบ รถไฟฟ้า (EV) 8,000 กีบ
สาย 29 ตลาดเช้า - ดงโดก ผ่านประตูไชย วงเวียนพิพิธภัณฑ์ตำรวจลาว วัดโพนพะเนา บ้านพะขาว ถึงสี่แยกถนน 450 ปี เลี้ยวขวาวนเข้าสถานีขนส่งสายใต้ ออกมาแล้วตรงไป สิ้นสุดที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ดงโดก ค่าโดยสารรถเมล์ลาว 6,000 กีบ รถไฟฟ้า (EV) 5,000 กีบ
นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางที่รองรับโครงการรถไฟลาว-จีน ได้แก่ สาย 47 สะพานมิตรภาพ - สถานีรถไฟลาว-จีน ออกจากตลาดเช้าเวลา 13.15 น. จอดรอผู้โดยสารที่สะพานมิตรภาพ 14.00 น. ถึงสถานีรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์ 14.35 น. เที่ยวกลับออกจากสถานีรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์ 15.45 น. ถึงสะพานมิตรภาพ 16.20 น. ค่าโดยสาร 20,000 กีบ
สาย 25 ตลาดซังเจียง – สถานีขนส่งสายใต้ - สถานีรถไฟลาว-จีน เส้นทางนี้จะไม่เข้าใจกลางเมือง เริ่มต้นจากตลาดซังเจียงหรือย่านไชน่าทาวน์ (อยู่ก่อนถึงท่าอากาศยานวัดไตประมาณ 2 กิโลเมตร) ไปตามถนนอาเซียน ผ่านตลาดหนองด้วง ตลาดทุ่งขันคำ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเจ้าอนุ ผ่านบ้านหนองทา ตลาดห้วยหง เลี้ยวขวาเข้าถนน 450 ปี ผ่านมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ดงโดก สถานีขนส่งสายใต้ สิ้นสุดที่สถานีรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์ ค่าโดยสาร 20,000 กีบ
สำหรับตารางเวลาเดินรถ สามารถตรวจสอบได้ที่หน้าสถานีรถเมล์นครหลวงเวียงจันทน์-ตลาดเช้า หรือติดตามทางเฟซบุ๊ก “Vientiane City 2 Bus Service” ซึ่งอาจจะประกาศเส้นทางเดินรถเพิ่มเติมในวันข้างหน้า
ส่วนการเดินทางจากประเทศไทยมายังนครหลวงเวียงจันทน์ พบว่าช่องทางที่สะดวกที่สุดเวลานี้ คือ รถโดยสารระหว่างประเทศ ของบริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. ปลายทางนครหลวงเวียงจันทน์ มีให้บริการจากสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (หมอชิตใหม่), สถานีขนส่งอุดรธานีแห่งที่ 1 จ.อุดรธานี และสถานีขนส่งหนองคาย
เส้นทางหนองคาย-นครหลวงเวียงจันทน์ รถออกเวลา 07.30, 10.00, 15.30 และ 18.00 น. เวลาเดียวกันทั้งสองฝั่ง
เส้นทางอุดรธานี-นครหลวงเวียงจันทน์ ออกจากสถานีขนส่งอุดรธานีแห่งที่ 1 เวลา 08.00, 10.30, 11.30, 15.00 และ 18.00 น. ออกจากสถานีรถเมล์ตลาดเช้า นครหลวงเวียงจันทน์ เวลา 08.00, 11.00, 14.00, 15.00 และ 17.30 น.
เส้นทางกรุงเทพฯ-นครหลวงเวียงจันทน์ ออกจากสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) หรือหมอชิตใหม่ 20.00 น. ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (ชาวลาวเรียกว่า "คิวรถสายเหนือ") นครหลวงเวียงจันทน์ 16.30 น. และออกจากสถานีรถเมล์ตลาดเช้า นครหลวงเวียงจันทน์ เวลา 18.00 น.
ข้อดีก็คือ แม้จะต้องลงจากรถเพื่อประทับตราเข้าประเทศ ทั้งฝั่งไทยและ สปป.ลาว 2 ครั้ง แต่ก็สามารถขึ้นรถคันเดิมเพื่อต่อไปยังสถานีรถเมล์ตลาดเช้าเพียงต่อเดียวได้เลย คนขับและพนักงานจะรอจนกว่าผู้โดยสารจะมาครบทุกคน
เมื่อเทียบกับการลงจากรถทัวร์หรือรถตู้ มายังหน้าด่านหนองคาย เมื่อออกจาก ตม.ฝั่งไทยแล้ว ต้องนั่งรถบัสข้ามสะพานมิตรภาพ เข้าไปยัง ตม.ฝั่งลาว ออกมาแล้วถ้าไม่อยากเหมาแท็กซี่หรือสามล้อ ก็ต้องรอรถเมล์ที่ป้ายเป็นเวลานาน
ค่าใช้จ่ายระหว่างรถประจำทางสายหนองคาย-นครหลวงเวียงจันทน์ ค่าโดยสาร 55-60 บาท กับการนั่งรถข้ามสะพานมิตรภาพ 30-35 บาท แล้วต่อสาย 14 ค่าโดยสาร 12,000 กีบ (ประมาณ 29 บาท) จะพบว่าค่าใช้จ่ายพอกัน
แต่ถ้ามาจากกรุงเทพฯ รถออก 20.00 น. ถึงสะพานมิตรภาพตอนเช้า ค่าโดยสาร 900 บาท และถ้ามาจากสถานีขนส่งอุดรธานีแห่งที่ 1 ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ค่าโดยสาร 80 บาทเท่านั้น พอๆ กับไปต่อรถตู้ที่เหลือชั่วโมงละคัน
ขากลับจากนครหลวงเวียงจันทน์ สามารถซื้อตั๋วรถเมล์กลับประเทศไทยได้ที่ แผนกบริการขายตั๋วรถเมล์ลาว-ไทย สถานีขนส่งตลาดเช้า ตั้งแต่เวลา 06.30-18.00 น. โดยแสดงหนังสือเดินทาง และรับชำระเป็นเงินบาทไทย
ส่วนทางรถไฟ มายังสถานีหนองคาย รถไฟระหว่างประเทศยังไม่เปิดให้บริการ ขบวนรถจากสถานีกรุงเทพฯ หรือรถท้องถิ่นจากสถานีนครราชสีมา ถึงแล้วต้องนั่งรถสามล้อเครื่องมายังหน้าด่านหนองคาย เสียค่าโดยสารอีก 50 บาท
ปัจจุบัน มีขบวนรถขาเข้าสถานีหนองคาย 4 ขบวน ได้แก่
- ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 25 กรุงเทพฯ-หนองคาย (อีสานมรรคา) ออกจากสถานีกรุงเทพ 20.00 น. ถึงสถานีหนองคาย วันถัดไป เวลาประมาณ 06.45 น.
- ขบวนรถเร็วที่ 133 กรุงเทพ-หนองคาย ออกจากสถานีกรุงเทพ 20.45 น. ถึงสถานีหนองคาย วันถัดไป เวลาประมาณ 07.55 น.
- ขบวนรถท้องถิ่นที่ 415 นครราชสีมา-หนองคาย ออกจากสถานีนครราชสีมา 06.20 น. ถึงสถานีหนองคาย วันเดียวกัน เวลาประมาณ 12.05 น.
- ขบวนรถด่วนที่ 75 กรุงเทพฯ-หนองคาย ออกจากสถานีกรุงเทพ 08.20 น. ถึงสถานีหนองคาย เวลาประมาณ 17.30 น.
ขบวนรถขาออกสถานีหนองคาย 4 ขบวน ได้แก่
- ขบวนรถด่วนที่ 76 หนองคาย-กรุงเทพ ออกจากสถานีหนองคาย 07.45 น. ถึงสถานีกรุงเทพ เวลาประมาณ 17.10 น.
- ขบวนรถท้องถิ่นที่ 418 หนองคาย-นครราชสีมา ออกจากสถานีหนองคาย 12.55 น. ถึงสถานีนครราชสีมา เวลาประมาณ 18.35 น.
- ขบวนรถเร็วที่ 134 หนองคาย-กรุงเทพ ออกจากสถานีหนองคาย 18.50 น. ถึงสถานีกรุงเทพ วันถัดไป เวลาประมาณ 05.45 น.
- ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 26 หนองคาย-กรุงเทพ (อีสานมรรคา) ออกจากสถานีหนองคาย 19.40 น. ถึงสถานีกรุงเทพ วันถัดไป เวลาประมาณ 06.00 น.
ในอนาคตอันใกล้จะมีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร ระหว่างก่อสร้างอาจจะทำให้ขบวนรถมาถึงล่าช้า แต่ถ้าก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยให้รถไฟบางขบวนถึงที่หมายได้เร็วขึ้น
จากสถานีรถไฟหนองคาย ไปนครหลวงเวียงจันทน์ มีสองตัวเลือก คือ นั่งรถสามล้อย้อนไปขึ้นรถที่ บขส.หนองคาย กับนั่งรถสามล้อหรือเดินเท้า (ถ้าถนัด) ไปด่านพรมแดนหนองคาย ต่อรถข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว และต่อรถประจำทางสาย 14
โดยสรุปก็คือ การเดินทางจากประเทศไทย มายังนครหลวงเวียงจันทน์เวลานี้ รถโดยสารประจำทางระหว่างประเทศของ บขส. น่าจะตอบโจทย์ที่สุด เพราะไปถึงใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์ด้วยรถโดยสารเพียงครั้งเดียว
แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่า นักท่องเที่ยวจะสะดวกแบบไหน ในยุคที่ต่างก็มีรีวิวออกมามากมายให้เลือกพิจารณา