xs
xsm
sm
md
lg

ทางด่วนไปนครนายก รื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ภาพ : https://www.exat-chalongrat.com
กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

โครงการทางพิเศษฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ระยะทาง 104 กิโลเมตร ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบผลการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กำลังจะเสนอคณะรัฐมนตรีอยู่แท้ๆ

ปรากฏว่าโครงการนี้ถูกรื้อแผนเดิมไปเรียบร้อยแล้ว เท่ากับว่าอาจกลายเป็นการ “ดับฝัน” ชาวนครนายก ที่รอคอยทางด่วนเส้นนี้ไปโดยปริยาย!

เมื่อการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้ให้บริษัทเอกชนดำเนินงานศึกษาและจัดทำรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR 10) ปฐมนิเทศโครงการเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา

เห็นข้อความจากเพจ "ที่นี่ นครนายก" กล่าวว่า "โครงการทางด่วนฉลองรัช-นครนายก-แก่งคอย โดนรื้อแผน กุดเหลือแค่คลอง 11 ลำลูกกา และไม่วกมานครนายกแล้ว ขอขอบคุณรัฐบาลที่ดับฝันชาวนครนายก" คนแชร์นับสิบ คอมเมนต์นับร้อยแล้ว ไม่รู้จะพูดยังไงดี

สาระสำคัญก็คือ โครงการนี้เมื่อผ่านทางแยกต่างระดับจตุโชติ ทางพิเศษฉลองรัช ตัดกับถนนกาญจนาภิเษก (ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9) ไปแล้ว ก็จะผ่านถนนหทัยราษฎร์ ถนนนิมิตรใหม่ ปรากฏว่า พอเลยพื้นที่บริการทางพิเศษ (Rest Area) บริเวณคลองเก้าไปแล้ว จะเบี่ยงจากเส้นทางเดิมไปทิศตะวันออก สิ้นสุดที่ถนนวงแหวนฯ รอบที่ 3

จากจุดนี้ ต่อไปจะกลายเป็นโครงการมอเตอร์เวย์และทางรถไฟ เรียกว่า MR 6 สายกาญจนบุรี-สระแก้ว แทน เพราะกรมทางหลวงจัดทำแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-Map) เชื่อมโยงภูมิภาค 10 เส้นทาง ตามนโยบายของรัฐมนตรีคมนาคมรายหนึ่ง ก็เลยเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการขึ้นมาใหม่

ที่มา : https://mrmapdoh.com/397/
จากข้อมูลของงานศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) กรมทางหลวง พบว่า เสนอให้ปรับแนวโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี จากเดิมตั้งแต่ช่วงถนนวงแหวนฯ รอบที่ 3 ถึงสระบุรี มาเป็นถนนวงแหวนฯ รอบที่ 3 ถึงปราจีนบุรี แทนเส้นทางเดิม

กรมทางหลวงอ้างว่า ในแผน MR-MAP มีเส้นทางรองรับจากกรุงเทพฯ ไปยังโซนภาคอีสานเหนือ ในเส้นทางถนนวงแหวนฯ รอบที่ 3 หรือ MR 10 เชื่อมกับโครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 6 บางปะอิน-นครราชสีมา ในระยะทางที่สั้นกว่า จึงเสนอเส้นทางใหม่เพื่อลดความซ้ำซ้อน หลีกเลี่ยงพาดผ่านพื้นที่ชุมชน และกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่ใหม่

เมื่อเสนอมาแบบนี้ การทางพิเศษฯ ก็ต้องรื้อโครงการขึ้นมาใหม่ ทั้งที่โครงการเก่าซึ่งรอคอยมานาน 7-8 ปี เสียงบประมาณศึกษาความเหมาะสมไปแล้ว อีไอเอก็ผ่านแล้ว กลับต้องมานับหนึ่งใหม่ และเชื่อมต่อเส้นทางใหม่ที่ยังเป็นเพียงแค่ “แผนแม่บท” โดยที่ยังไม่รู้อนาคตด้วยซ้ำ

จริยา ทองจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจและการเงิน ตอบคำถามในการประชุมปฐมนิเทศโครงการ ว่า “ทางพิเศษฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี 105 กิโลเมตร ขั้นตอนแรกสุดต้องศึกษาความเหมาะสมให้แล้วเสร็จ แล้วถึงจะทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งตอนนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว

ถ้าการทางพิเศษฯ จะทำ ก็สามารถทำได้เลยทั้ง 105 กิโลเมตร แต่ขั้นตอนการทำของการทางพิเศษฯ ไม่ใช่บอกว่า แค่งานศึกษาความเหมาะสมกับอีไอเอผ่านแล้วจะทำได้เลย ยังมีขั้นตอนที่จะต้องออกแบบรายละเอียด เอาแบบรายละเอียด มีประมาณราคา มีงบประมาณ มีแหล่งที่มาของเงิน ถึงจะเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการ

ในช่วงแรกที่เชิญมาฟัง การทางพิเศษฯ มีนโยบายว่า จะสร้างจากจตุโชติ ถึงวงแหวนฯ รอบ 3 ระยะทางประมาณ 17.075 กิโลเมตร ซึ่งพอแนวเส้นทางเปลี่ยน ก็ต้องทำรายงานอีไอเอใหม่ เขาใช้คำว่า แก้ไขรายละเอียดโครงการในรายงานอีไอเอ ต้องทำตัวนี้ใหม่เพราะกฎหมายกำหนด

ถามว่าต่อจาก 17 กิโลเมตร จนถึงสระบุรี การทางพิเศษฯ จะทำไหม? อันนี้ก็เป็นเหมือนหลักการอยู่แล้วว่า หนึ่ง เดี๋ยวนี้ทางคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พูดเลยว่าอีไอเอมีอายุ 5 ปี เพราะฉะนั้น อีไอเอจนถึงสระบุรี ถ้าในปี 2569 ยังไม่ทำ จากวงแหวนรอบสามไปยังไม่ทำ ต้องทำการแก้ไขอีไอเอใหม่ ถ้าจะทำ


โดยหลักการของการทางพิเศษฯ เอง พอระยะเวลาเปลี่ยนแปลงไป 3 ปี 5 ปี สภาพการจราจร สภาพบ้านเรือนเปลี่ยน การทางพิเศษฯ ก็จะมีการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน โดยเฉพาะปริมาณการจราจร การเชื่อมต่ออะไรพวกนี้ใหม่ เพราะฉะนั้นตอนนี้ เบื้องต้นใน 5 ปีนี้ คิดว่าจะทำแค่วงแหวนฯ รอบ 3 ก่อน

ในส่วนของการที่จะต่อจากวงแหวนฯ รอบ 3 ไป การทางพิเศษฯ น่าจะต้องศึกษาความเหมาะสมและทำอีไอเอใหม่ เป็นแผนที่การทางพิเศษฯ วางไว้ แต่ว่ายังไม่ชัดเจน”


ฟังผิวเผินเหมือนโครงการนี้จะยังไม่เลิกล้มไป แต่เมื่อรายงานอีไอเอมีอายุถึงปี 2569 ประกอบกับการทางพิเศษฯ มีแผนจะก่อสร้างถึงถนนวงแหวนฯ รอบ 3 ก่อน เพราะฉะนั้น โอกาสที่โครงการนี้จะเกิดขึ้น อาจจะมีน้อยมาก ในเมื่อรัฐมนตรีต้องการที่จะทำ MR-Map เบี่ยงเส้นทางไปแถบปราจีนบุรี หรือสระแก้วแทน

เรื่องนี้กลายเป็นที่น่าเสียดายของชาวนครนายกที่รอคอยโครงการนี้ เพราะปัจจุบันเส้นทางหลักเข้า-ออกกรุงเทพฯ มีเพียงทางหลวงหมายเลข 305 ถนนรังสิต-นครนายก เท่านั้น ใช้เวลาเดินทางมากกว่า 2 ชั่วโมง ยิ่งถ้าเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะรถติดมาก

ส่วนตัวเคยผ่านประสบการณ์รถติดนานเป็นชั่วโมง เมื่อครั้งไปนครนายก กระทั่งบอกให้ไปใช้เส้นองครักษ์-บางน้ำเปรี้ยว ปรากฏว่าตอนนั้นกรมทางหลวงชนบทสร้างถนนเจ็ดชั่วโคตร ทั้งเส้นมีแต่ดินแต่หิน รถบรรทุกวิ่งเป็นหลุมเป็นบ่อ ถึงกรุงเทพฯ ปรากฏว่าช่วงล่างพังเสียหาย ไม่นับรวมตอนก่อสร้างเสร็จ ได้ข่าวว่าถนนพังจนต้องเอายางมาปะอีก

ข้อมูลจากสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง ระบุว่า ในปี 2564 ถนนรังสิต-นครนายก ย่านรังสิตคลอง 2 (กม. 4+550) มีปริมาณการจราจรเฉลี่ยถึงวันละ 120,392 คันต่อวัน ส่วนย่านรังสิต คลอง 11 (กม. 25+870) แม้จากข้อมูลจะระบุว่า มีปริมาณการจราจรเฉลี่ยวันละ 15,778 คันต่อวัน แต่ต้องดูของจริงวันเสาร์-อาทิตย์

ถ้าทางด่วนฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ก่อสร้างแล้วเสร็จ นอกจากจะช่วยให้การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปนครนายกใช้เวลาสั้นลง ไม่ต้องเจอรถติดแถวรังสิต ธัญบุรีแล้ว ยังเป็นการกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่ชานเมืองกรุงเทพฯ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และไม่ต้องแออัดกับสภาพถนนสายหลักที่ต้องใช้ร่วมกับชุมชนอีก


ส่วนที่กรมทางหลวงอ้างว่าให้ใช้ถนนวงแหวนฯ รอบ 3 แล้วไปต่อมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ระยะทางจะสั้นกว่านั้น อย่างนี้ไม่ตัดโอกาสคนที่อยู่โซนนครนายก บ้านนา องครักษ์เลยหรือ? ต้องขับรถอย่างน้อย 30-50 กิโลเมตร เพื่อมาขึ้นมอเตอร์เวย์ MR 6 ระหว่างด่านบางน้ำเปรี้ยว กับด่านปราจีนบุรี เสียเวลาไปอีกเท่าไหร่กว่าจะได้เข้ากรุงเทพฯ

ไม่นับรวมโครงการ MR-Map ยังเป็นแค่แผนแม่บท ที่ไม่รู้อนาคตเลยว่าจะเกิดขึ้นเป็นรูปร่างได้จริงหรือไม่ นอกเสียจากว่าหลังรัฐบาลหมดวาระในปี 2566 แล้วเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ หากพรรคที่คุมกระทรวงคมนาคมกลับมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็อาจจะได้สานต่อ แต่งบมหาศาลขนาดนี้ 10-20 ปีจะเสร็จไหมก็ไม่รู้

ที่ผ่านมาโครงการ MR-Map ถูกตั้งคำถามว่า เป็นการเพิ่มความสามารถรองรับการเดินทางแบบเกินความจำเป็น ไม่สามารถลดการลงทุนของภาครัฐได้ หนำซ้ำค่าก่อสร้างยังแพงและไม่คุ้มค่า เพราะจะมีมอเตอร์เวย์มาแย่งลูกค้ารถไฟทางคู่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือถนนแลนด์บริดจ์ กระบี่-ขนอม เวนคืนที่ดินไว้กว้างมาก แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีรถไฟเข้ามา

ณ ตอนนี้ เสียดายโครงการทางด่วนฉลองรัช-นครนายก-สระบุรีมาก ที่ผ่านมาเสียเวลา เสียงบประมาณศึกษาความเหมาะสม ทำอีไอเอไปแล้ว มาคราวนี้กลับรื้อโครงการขึ้นมาใหม่ เท่ากับว่าอาจกลายเป็นการดับฝันคนนครนายก ที่เขาต้องการโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มากกว่าถนนรังสิต-นครนายกที่เป็นอยู่ ซึ่งส่วนมากเป็นถนนเลียบคลอง ยากที่จะขยับขยายได้แล้ว

ไม่รู้จะพูดยังไง กับของที่เขาทำมาดีๆ ต้องมาเจอสถานการณ์ที่ “รื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า” กันแบบนี้!
กำลังโหลดความคิดเห็น