กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เมื่อวันก่อน ธัญญา ชุนชฎาธาร หรือ อ๋า อดีต 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญ เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 จากไปอย่างสงบเมื่อเวลา 01.15 น. ของวันที่ 23 กรกฎาคม 2565 รวมอายุได้ 72 ปี (ตามวัน เดือน ปีที่เกิดจริง)
นอกจากจะเป็นบุคคลในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว ช่วงชีวิตหนึ่งของผู้เขียน เคยมีโอกาสร่วมงานในฐานะคนทำหนังสือ ช่วยลูกชายทำวารสารการเมือง นอกนั้นก็ช่วยพิมพ์งาน ทำกราฟฟิก ส่งอีเมลในบางโอกาส
พิธีบำเพ็ญกุศลศพเป็นเวลา 5 คืน ที่วัดเสมียนนารี พระอารามหลวง เขตจตุจักร กรุงเทพฯ จัดขึ้นอย่างเรียบง่าย โดยมีญาติสนิท และมิตรสหายทั้งจากแวดวงการเมือง วงการนักเขียน นักวิชาการ และนักธุรกิจ มาร่วมงานกันไม่ขาดสาย
ก่อนพิธีฌาปนกิจศพ กวีซีไรต์อย่าง จิระนันท์ พิตรปรีชา มาอ่านบทกวีที่แปลมาจากเพลง IMAGINE ของ จอห์น เลนนอน อดีตสมาชิกวงเดอะบีเทิลส์ หนึ่งในบทเพลงคลาสสิกที่ธัญญาชื่นชอบ
เช่นเดียวกับหนังสือ “ส่งธัญญา ชุนชฎาธาร สู่การเดินทางครั้งใหม่” แจกเป็นที่ระลึกในพิธีฌาปนกิจศพ ด้วยความหนาถึง 160 หน้า ก็เต็มไปด้วยบุคคลหลากหลายวงการ เขียนด้วยความระลึกถึง
วันก่อนไปช่วยอาสาเล็กๆ น้อยๆ จัดทำหนังสืองานศพ กับรุ่นพี่นักกิจกรรมอย่าง อาร์ต แสงธรรม ชุนชฎาธาร ลูกชายของธัญญา และคณะ เป็นอีกหนึ่งความท้าทายในการทำหนังสือ คือ “ต้องเร่ง ต้องเร็ว และต้องดี”
ด้วยระยะเวลาที่ต้องส่งโรงพิมพ์ก่อนวันฌาปนกิจเพียง 4 วัน (มีวันหยุดราชการ 1 วัน) ถึงแม้ต่อให้ทำออกมาสุดความสามารถแค่ไหน ก็อาจจะเจอข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ หลุดออกมาเสมอ ก็ได้แต่บอกตัวเองว่า พยายามถึงที่สุดแล้ว
ความมุ่งหวังของหนังสือที่ระลึกงานศพ คงไม่มีอะไรมากไปกว่า ให้คนที่นึกถึงธัญญา คิดถึงวันเก่าๆ ได้หยิบมาดูให้หายคิดถึง หวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกำลังใจ และแรงบันดาลใจให้กับคนที่กำลังค้นหาความหมายของชีวิต
สิ่งหนึ่งที่ชื่นชอบก็คือ ระหว่างนั่งพิมพ์ต้นฉบับ ที่คนรุ่นก่อนส่งมาด้วยลายมือตัวเอง พบว่าจะมีชั้นเชิงทางภาษาที่สวยงาม น่าอ่าน ชวนให้สนใจใคร่รู้ถึงเรื่องราวนั้นๆ เหมือนคนรุ่นก่อนเล่าให้ลูกหลานฟัง อ่านแล้วก็ได้แต่อมยิ้มกันไป
ถือเป็นบันทึกแง่มุมของประวัติศาสตร์และความทรงจำ ต่อการขับเคลื่อนทางการเมืองและสังคม ที่ธัญญาเข้าไปมีบทบาท โดยเฉพาะ 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญ ส่งผลไปถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ธัญญา หรือ อ๋า เกิดในครอบครัวจีนต่างด้าว พ่อหนีอพยพสงครามความยากจนในจีน พบกับแม่ลูกจีนชาวสวนตลาดพลู ธนบุรี มีพี่น้องรวมทั้งหมด 6 คน พ่อเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก ส่วนแม่เป็นแม่ค้าหาบเร่ขายถั่วต้ม
เรียนหนังสือชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนกาญจนวิทยา สอบเข้าชั้นมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม ก่อนจะสอบเข้าคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2511 โดยเลือกเรียนสาขาการทูต
ธัญญาร่วมทำกิจกรรมนักศึกษา ตั้งแต่เป็นอาสาสมัครสังเกตการเลือกตั้ง ร่วมกับเพื่อนหลายคนจัดตั้ง “สภาหน้าโดม” พูดคุยเรื่องการเมืองทุกวันศุกร์ ทำหนังสือเล่มละบาท และบุกเบิกหนังสือที่ชื่อ “วรรณกรรมเพื่อชีวิต”
รวมทั้งยังมีบทบาทประสานนักศึกษากลุ่มอิสระตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ไปร่วมงานขบวนการนักศึกษาไกลถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินทางสองคนกับ พรชัย วีระณรงค์ ไปพบกับ นิสิต จิรโสภณ, ผดุงศักดิ์ พื้นแสน, และไกรวุฒิ ศิรินุพงศ์
ขณะเดียวกัน ยังร่วมกับ บุญส่ง ชเลธร และ สุคนธ์ (จัตุรนต์) คชสีห์ ทำค่ายที่ชื่อ โครงการพัฒนาเยาวชนไทยในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีส่วนทำให้นิสิต นักศึกษา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีบทบาททางการเมืองและสังคมมากขึ้น
หลังจาก จอมพลถนอม กิตติขจร ทำรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 มีความพยายามจาก พันเอกณรงค์ กิตติขจร เรียกคนทำค่ายเยาวชนมาคุย แต่เมื่อส่งตัวแทนไปพบ ภายหลังจึงมีคำสั่งปฏิวัติ ยกเลิกโครงการทั้งหมด
ในยุคนั้นอำนาจรัฐคุกคามเสรีภาพทางการเมืองอย่างมาก จะทำหนังสือในมหาวิทยาลัย ก็เจอตำรวจก็ไม่ให้เผยแพร่ จะจัดสัมมนาการเมืองแม้แต่ในวัด ก็ถูกตำรวจตามไปปิดล้อม แม้กระทั่งการทำค่ายเยาวชนก็ไม่ได้ทำ
ทั้งสามก็คิดกันว่า น่าจะมี “สถานที่รวมพล” แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของเพื่อนนักกิจกรรม
จึงตัดสินใจไปที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ พบนมัสการ พระไขแสง สุกใส เพื่อขอคำปรึกษาเรื่องการตั้งสำนักงาน เมื่อก่อนเป็น อดีต ส.ส.ปากกล้า แต่ต้องบวชหนีภัยการเมือง เพราะเคยปะทะกับจอมพลถนอมและพวกมาก่อน
ก่อกำเนิด “สำนักงานกฎหมายและทนายความธรรมรังสี” อาคารพาณิชย์ปากซอยวรพงษ์ ถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ ย่านบางขุนพรหม โดยมีไขแสงจัดรวบรวมหาทุนจากผู้สนับสนุนมาได้ 80,000 บาท เป็นค่าเช่าสำนักงาน
กลางวันเป็นเวลาทำการของทนายความ แต่หลังเลิกงานจะเป็นที่นั่งคุยปรึกษา แลกเปลี่ยนทัศนคติของนักกิจกรรมยันดึกดื่นหรือตลอดคืน โดยมีธัญญากินนอนประจำอยู่ที่สำนักงานตลอด เว้นแต่ออกประสานงานข้างนอก
ที่แห่งนี้ ยังเป็นที่จัดทำหนังสือ “วรรณกรรมเพื่อนชีวิต” ร่วมกับ ประเดิม ดำรงเจริญ ทำงานทั้งวันทั้งคืน อาศัยห้องทำงานของ ฟัก ณ สงขลา เป็นที่นอน ดำรงนอนบนเก้าอี้ผู้มาเยี่ยม ธัญญานอนหลังโต๊ะ ตื่นเช้ามาก็เก็บที่นอน
และที่แห่งนี้ ธัญญา ได้ร่วมกับ ธีรยุทธ บุญมี และพรรคพวกก่อตั้ง “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” ใช้สำนักกฎหมายธรรมรังสีเป็นที่เสวนา กระทั่งวันที่ 6 ตุลาคม 2516 ร่วมกับเพื่อนแจกใบปลิวเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ
ก่อนที่ธัญญา จะเป็น 1 ใน 13 คนที่ถูกตำรวจจับกุม ถูกตั้งข้อหาเป็นกบฏในราชอาณาจักร กลายเป็นชนวนที่ทำให้นักศึกษาและประชาชนออกมาต่อต้านรัฐบาลจอมพลถนอม 14 ตุลา 16
หลังเหตุการณ์สงบ ธัญญากลับมาเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทั่งสำเร็จการศึกษารัฐศาสตร์บัณฑิต ในปี 2518 ก่อนจะร่วมก่อตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย สู้ในสนามเลือกตั้ง ปี 2518 และ 2519
เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ธัญญาเป็นหนึ่งในคนหนุ่มสาวที่เจ็บปวด เข้าป่าถือปืนร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในชื่อ “สหายแสงธรรม” ประจำสำนักงานแนวร่วมที่ A30 ฝั่งประเทศลาว
กระทั่งได้มาพบรักกับ “สหายอรุณ” หรือ มาลีรัตน์ แก้วก่า ตัดสินใจใช้ชีวิตคู่เมื่อเดือนเมษายน 2524 ก่อนที่จะกลับจากป่าสู่เมืองในปี 2524-2525 หลังรัฐบาลประกาศใช้นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ หรือนโยบาย 66/23
ชื่อของ “สหายแสงธรรม” กลายเป็นชื่อของ “อาร์ต” ลูกชายเพียงคนเดียว ที่ธัญญาและมาลีรัตน์ดูแลใกล้ชิด
เมื่อถึงคราวที่คู่ชีวิตอย่างมาลีรัตน์ ลงสมัคร ส.ส. ธัญญาก็อยู่เบื้องหลังในการผลักดัน ทั้งประสานพรรคการเมือง คิดสโลแกน ออกแบบโปสเตอร์ คิดคอนเทนต์ รวมทั้งหาเงินสู้ศึกเลือกตั้ง เรียกว่าโบนัสที่หามาได้ หมดทุกครั้งที่มีเลือกตั้ง
สิ่งที่ธัญญากล่าวเสมอก็คือ “สู้ให้เต็มที่ เงินหมดก็หาใหม่”
นอกจากนี้ มาลีรัตน์เคยกล่าวว่า ธัญญาไม่มีสมบัติใดเป็นสมบัติส่วนตัว เว้นหนังสือ และเอกสารงาน เพราะมองว่า “สมบัติเราก็เหมือนสมบัติเขา สมบัติเขาก็เหมือนสมบัติเรา ไม่มีใครเอาอะไรติดตัวไปได้”
เช่นเดียวกับลูกชายอย่างแสงธรรม ก็กล่าวว่า คำสอนที่ได้รับเสมอก็คือ เงินไม่สำคัญ เกียรติยศ ศักดิ์ศรี และอุดมการณ์ สำคัญกว่ามาก อยากกินอะไรกินเลย พ่อหาเงินมาให้ลูกได้ อยากเรียนอะไรเรียนเลย พ่อหาเงินมาได้
ยังไม่พอ พ่อยังสอนเรื่องการแบ่งปัน การเป็นคนใจถึงใจ มากแค่ไหนก็ให้คนอื่นได้ ตามคติของพ่อ “สู้ให้เต็มที่ เงินหมดก็หาใหม่” จึงมีทัศนคติในการดำรงชีวิตที่เห็นเงินไม่สำคัญ ให้คุณค่ากับสิ่งอื่นมากกว่าเงิน
“เมื่อแม่มาเป็นนักการเมือง ได้รับเลือกเป็น ส.ส. ส.ว. ... ภาพจำของคนทั่วไปคือต้องรวยถึงได้เป็นนักการเมือง และยิ่งเป็นนักการเมืองก็น่าจะยิ่งต้องรวย ซึ่งไม่ใช่กับบ้านเรา ที่ยิ่งเป็นนักการเมืองยิ่งมีค่าใช้จ่ายเยอะ และยิ่งมาทำการเมืองภาคประชาชนก็ยิ่งต้องดูแลหลายอย่างเยอะขึ้น”
หลายคนที่ทำกิจกรรมร่วมกับธัญญา ก็เขียนถึงความเป็นคน “ใจถึงใจ” ของธัญญาในหนังสือเล่มนี้ อย่าง บุญส่ง ชเลธร กล่าวว่า ตน ธัญญา และสุคนธ์ (จัตุรนต์) คชสีห์ ถูกตั้งฉายาเป็น “สามพี่น้องในสวนท้อ”
“พี่สุคนธ์เป็นเล่าปี่ อ๋าเป็นกวนอู ส่วนผมน้องสุดท้องเป็นเตียวฮุย อ๋าเป็นกวนอูนั้น เหมาะที่สุด เพราะกวนอูได้ชื่อเรื่องความซื่อสัตย์ ไม่ต่างอะไรกับอ๋า อ๋าเป็นคนซื่อตรงต่ออุดมการณ์ของตัวเอง มีความจริงใจ มีความเกื้อกูล ยืนหยัดในความถูกต้อง และมีความรักในเพื่อนมนุษย์ผู้ยากไร้ พร้อมที่จะสู้และเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่อย่างไม่เคยผันแปร”
“กับเพื่อนแล้ว อ๋าเป็นเพื่อนที่ดีแบบสุดๆ จริงใจ ไม่เคยเอาเปรียบใคร และเอื้ออาทรกับทุกคน อ๋าพร้อมหยิบแบงก์ใบสุดท้ายที่มีในกระเป๋าให้เพื่อนได้โดยไม่กังวลว่า แล้วมื้อต่อไปจะกินอะไร”
เช่นเดียวกับ จัตุรนต์ (สุคนธ์) คชสีห์ ก็กล่าวว่า “อ๋า เป็นหลักในการประสานงาน ชักนำเพื่อนฝูง แก้ปัญหาความขัดแย้ง และประคับประคองขบวนการ จนสำนักงานธรรมรังสี กลายเป็นสายธารเล็กๆ สายหนึ่งที่ไหลรวมกันกับสายธารอื่นๆ เป็นมหานทีใหญ่ ก่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516”
ขณะที่เพื่อนร่วมรุ่นตั้งแต่สมัยมัธยมฯ วัดสุทธิวรารามมาด้วยกัน อย่าง พรชัย วีระณรงค์ กล่าวว่า ธัญญามีบทบาทในกลุ่มกิจกรรมต่างๆ มาโดยตลอด
“เขาถนัดในการโน้มนำและประสานเพื่อนๆ มาแต่ไหนแต่ไร โดยไม่มีท่าทียกตนข่มท่าน หรือว่ามีดี อีโก้จัด จนคิดว่าตัวเองเป็นเลิศ อ๋าจะเป็นคนพูดแบบอ๋าไปเรื่อยๆ เขามักจะเห็นในสิ่งที่คนอื่นอาจจะไม่เห็น และจะผลักดันหรือโน้มนำเพื่อนที่เขาเห็นแววให้แสดงออกถึงสิ่งที่ถนัดเสมอ”
ส่วน ประสาร มฤคพิทักษ์ ก็กล่าวว่า ที่สำนักงานทนายความธรรมรังสี ธัญญา ทำหน้าที่เจ้าสำนัก เป็นคนประสานงาน คนร่วมการเคลื่อนไหวและให้คำปรึกษากับเพื่อนทุกคนอย่างตั้งอกตั้งใจ และมีน้ำอดน้ำทน
“ธัญญา ยังคงไว้ซึ่งลมหายใจแห่งการต่อสู้ โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เขาเป็นคนมั่นคงในความคิด และกล้าแสดงออกอย่างซื่อๆ ตรงๆ โดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวใดๆ”
ที่หยิบยกมา เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ จากหนังสือที่หนาถึง 160 หน้า ระลึกถึงธัญญาในหลายบทบาท หลายช่วงชีวิต ในฐานะที่เติบโตในยุคแสวงหา และการแสวงหายังไม่สิ้น ช่วงที่มีชีวิตอยู่ยังคงศึกษา ค้นคว้า ติดตามข่าวสารทางการเมืองสม่ำเสมอ
โดยส่วนตัว สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำหนังสือร่วมกันทั้งกับธัญญา และลูกชายรุ่นพี่ คือ การทำงานที่ต้องละเอียดรอบคอบ และการใช้ภาษาที่ต้องหนักแน่น ชัดเจน มีพลัง เพื่อสะกดสายตาผู้อ่านให้ได้
ซึ่งจะได้พบเห็นในช่วงที่ธัญญาส่งบทความ ซึ่งเขียนด้วยลายมือของตัวเองมาให้ช่วยพิมพ์ รวมทั้งการจัดทำอาร์ตเวิร์คทั้งวารสาร สิ่งพิมพ์ และออนไลน์ ในช่วงที่ทำงานร่วมกัน ที่บ้านหลังเล็กๆ ซึ่งขณะนั้นเนรมิตเป็นโฮมออฟฟิศ
อีกทั้งยังมีส่วนสนับสนุนหลัก ของวารสารรายสะดวกที่ชื่อ DemoCrazy ซึ่งตีพิมพ์ระหว่างปี 2551-2556 โดยบริหารงาน ค่าใช้จ่าย และจัดหาโรงพิมพ์ รวมทั้งในบทบาทของการเป็นพ่อบ้าน ที่คอยจัดหาอาหาร รวมทั้งไปรับ-ไปส่ง
อีกสิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ก็คือ การทำงานในฐานะเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังวางกลยุทธ์ต่างๆ ทั้งด้านการเมืองและด้านธุรกิจ แม้กระทั่งเมื่อยามที่คู่ชีวิตอย่างมาลีรัตน์ทำงานในสนามการเมือง และสนามมวลชน ก็คอยให้กำลังใจตลอดมา
แม้ว่าการเดินทางครั้งใหม่ของชีวิตจะไม่มีวันหวนคืนกลับมา แต่สิ่งที่ผู้คนได้พบเห็นและรู้จักตลอดชีวิต 72 ปีของธัญญา ชุนชฎาธาร จะเป็นที่จดจำและบอกต่อถึงคนรุ่นหลัง
สิ่งที่เพิ่งจะเห็นและชื่นชอบที่สุด คือคำว่า “สู้ให้เต็มที่ เงินหมดก็หาใหม่” แม้คนรุ่นใหม่อ่านแล้วบางคนอาจเห็นต่างอยู่บ้าง แต่อย่างน้อยก็ยังคอยบอกตัวเองว่า ถ้าถึงเวลาต้องสู้ ก็สู้กันให้เต็มที่
ดีกว่านึกย้อนกลับไปแล้วเสียใจที่ไม่ได้ลงมือทำ.