xs
xsm
sm
md
lg

ว่าด้วย Apple Wallet ในไทย หลัง IKEA เพิ่มบัตรสมาชิกได้แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

คนที่ใช้มือถือระบบปฎิบัติการไอโอเอส (iOS) อย่างเช่นไอโฟน (iPhone) คงจะรู้จักกันดีกับแอปพลิเคชัน Wallet หรือแอปฯ กระเป๋าสตางค์ สำหรับเก็บพวกบัตรโดยสารเครื่องบิน บัตรผ่านประตู บัตรสะสมแต้ม

Wallet หรือ Apple Wallet เดิมคือ Apple Passbook เกิดขึ้นเมื่อประมาณปี 2555 บนระบบปฎิบัติการ iOS 6 ทำหน้าที่เก็บบัตรเสมือน ทั้งบัตรโดยสารเครื่องบิน ตั๋วชมภาพยนตร์ การแสดง บัตรสมาชิกสะสมคะแนน และคูปองต่างๆ

ในตอนนั้น Apple Passbook ทำหน้าที่จัดเก็บบัตรเสมือนในรูปแบบบาร์โค้ด และคิวอาร์โค้ด ไม่ได้เชื่อมต่อระบบ NFC ผู้ใช้เพียงแค่เปิดแอปฯ Passbook เลือกบัตรที่ต้องการ แล้วแสดงให้เจ้าหน้าที่นำเครื่องยิงโค้ดมาสแกน

ต่อมาในปี 2557 ได้เปิดตัวระบบชำระเงินที่เรียกว่า แอปเปิลเพย์ (Apple Pay) เริ่มจากมือถือ iPhone 6 และ iPhone 6 Plus ที่มีระบบ NFC สามารถเพิ่มบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ที่รองรับเพื่อใช้จ่ายผ่านเครื่อง EDC ตามร้านค้าได้

กระทั่งในปี 2558 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Apple Wallet บนระบบปฏิบัติการ iOS 9 ก่อนที่จะเพิ่มความสามารถทั้งการแตะบัตรได้แม้แบตเตอรี่จะหมด ในโหมดที่เรียกว่า Express Mode หรือการเพิ่มกุญแจรถ BMW กับรุ่นที่รองรับ

สำหรับความปลอดภัยของ Apple Wallet นั้น ข้อมูลบัตรจะผูกกับ Apple ID สามารถจัดการบัตรบนอุปกรณ์ที่ผูกบัญชีไว้ได้ทุกเครื่อง รวมทั้งการจัดเก็บข้อมูล โดยมีการเข้ารหัสเอาไว้เมื่ออยู่บนเซิร์ฟเวอร์ของ Apple

ในประเทศไทย แม้แอปพลิเคชัน Wallet จะไม่สามารถใช้งาน Apple Pay กับสถาบันการเงินในไทยได้ แต่ก็มีแอปพลิเคชัน และโปรแกรมสะสมคะแนนที่รองรับ Wallet อยู่จำนวนหนึ่ง


ล่าสุด อิเกีย ประเทศไทย ผู้จัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้านจากสวีเดน เปิดตัว IKEA Family eCard บัตรสมาชิกรูปแบบใหม่ ใช้แสดงเพื่อสะสมคะแนน หรือแลกคะแนนแทนเงินสดได้ที่อิเกีย สโตร์

ความพิเศษของ IKEA Family eCard ตรงที่ต่อไปไม่ต้องพกบัตรพลาสติก ใช้ eCard บนโทรศัพท์มือถือ เพื่อสะสมคะแนน หรือแลกคะแนน 100 คะแนนเท่ากับ 1 บาท ได้ที่แคชเชียร์ โดยไม่จำเป็นต้องพิมพ์คูปองเงินสดอีกต่อไป

นอกจากนี้ สมาชิกแบบชั่วคราว จะได้เลื่อนขึ้นเป็นสมาชิกแบบถาวร แบบไม่มีวันหมดอายุโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องสะสมยอดใช้จ่าย 1,500 บาทภายใน 1 ปี และหากต้องการบัตรพลาสติกแข็ง สามารถแจ้งขอบัตรทางเว็บไซต์ได้ด้วย

สำหรับวิธีการขอ eCard เข้าไปที่เว็บไซต์ https://family.ikea.co.th เข้าสู่ระบบด้วยหมายเลขบัตรสมาชิกหรือโทรศัพท์มือถือ จากนั้นทำเรื่องขอ IKEA Family eCard ทางอีเมล เปิดอีเมล กรอกรหัส SMS OTP แล้วเพิ่มบัตรได้ทันที

โดยผู้ใช้มือถือไอโฟน จะเป็นการเพิ่มบัตรลงใน Apple Wallet ส่วนมือถือระบบปฎิบัติการแอนดรอยด์ (Android) จะใช้วิธีเพิ่มในหน้าหลัก Home Screen เพื่อดู eCard ได้ทางเบราว์เซอร์ในเครื่องแทน

แต่เนื่องจากการเพิ่มบัตร eCard ของ IKEA Family ลงใน Apple Wallet ถือเป็นการเข้าใช้งานแอปพลิเคชันของบุคคลที่สาม คือ Apple ผู้ใช้จะต้องยินยอมให้อิเกียเปิดเผยข้อมูลตามความจำเป็น เพื่อดำเนินการใดๆ กับ eCard


เมื่อมองย้อนไปถึงการใช้งาน Apple Wallet ในไทย พบว่ามีผู้ใช้งานเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แม้จะมีหลายองค์กรนำมาใช้งานก็ตาม เนื่องจากคนไทยนิยมใช้วิธีสะสมคะแนน โดยแจ้งเบอร์โทรศัพท์มือถือเป็นหลัก

ขณะที่แอปพลิเคชันห้างร้านที่มีโปรแกรมสะสมคะแนน พบว่ามีเมนูบัตรสมาชิก แสดงบาร์โค้ดเพื่อสะสมคะแนนแบบต่างคนต่างทำ เช่น The 1 ของกลุ่มเซ็นทรัล, Lotus’s App ของห้างโลตัส, 7-Eleven ของร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ฯลฯ

ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีการใช้งาน Apple Wallet เฉพาะบางองค์กรและกลุ่มธุรกิจ เช่น กลุ่มสายการบิน กลุ่มโรงแรม กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวเครือข่ายระดับโลก ส่วนกลุ่มธุรกิจค้าปลีกในไทยแทบจะมีน้อยมากหรือไม่มีเลยที่จะทำเอง

แม้จะมีหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจนำ Apple Wallet มาใช้ เช่น การประปาส่วนภูมิภาค, สำนักงานประกันสังคม ซึ่งมีบริษัทเอกชนพัฒนาระบบ แต่ปัจจุบันการประปาส่วนภูมิภาค ไม่มีการอัปเดตข้อมูลไปนานแล้ว

องค์กรที่นำมาใช้ ยกตัวอย่างเช่น การบินไทย และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ใช้กับบัตรขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) และบัตรสมาชิกสะสมไมล์ เช่น Royal Orchid Plus หรือ FlyerBonus ทัดเทียมกับสายการบินอื่นทั่วโลก

ส่วนโปรแกรมสะสมคะแนน ได้แก่ บัตรสมาชิกเชลล์ โก พลัส (Shell GO+) ของสถานีบริการน้ำมันเชลล์, บัตรสมาชิก iMember Privilege By SPVi ของร้าน iStudio by SPVi เป็นต้น


ถึงกระนั้น ก็มีความพยายามของผู้ใช้ไอโฟนอีกส่วนหนึ่ง พยายามสร้างบัตรเสมือนใน Apple Wallet เพื่อใช้เอง โดยมีแอปพลิเคชันสร้างบัตรเสมือนจากข้อมูลเลขสมาชิก เช่น Pass2U, Stocard, Pass2Wallet ฯลฯ

ซึ่งพบว่ามีบางคนเพิ่มทั้งบัตรสมาชิก รวมทั้งนำคิวอาร์โค้ดพร้อมเพย์ เช่น PromptPay THAI QR, G-Wallet, K Plus Wallet มาเพิ่มลงใน Apple Wallet เพื่อความสะดวกเวลาจะให้เพื่อนสแกนจ่ายเพื่อโอนเงิน ถือว่าเป็นไอเดียที่ดี

เพียงแต่กังวลตรงที่การสร้างบัตรเสมือนผ่านแอปฯ ถือเป็นบุคคลที่สี่ต่อจากตัวเรา ผู้ออกบัตรสมาชิก แอปเปิล และแอปพลิเคชันสร้างบัตรเสมือน ซึ่งยังกังวลลึกๆ ว่าจะปลอดภัยหรือไม่ จึงเพิ่มบัตรเสมือนเฉพาะเท่าที่ทำได้

ธนาคาร สถาบันการเงิน หรือผู้พัฒนาระบบพร้อมเพย์อย่าง ITMX น่าจะลองพิจารณาการสร้างพร้อมเพย์ คิวอาร์โค้ด ลงใน Apple Wallet หรือแอปกระเป๋าสตางค์อื่นในอนาคต ผู้ใช้จะได้สะดวก โดยไม่เสี่ยงกับแอปพลิเคชันภายนอก

ไม่จำเป็นต้องพัฒนาแอปฯ ก็ได้ ทำผ่านเว็บบราวเซอร์ เหมือนสำนักงานประกันสังคม ทำระบบ SSO Connect ลงใน Apple Wallet แต่อาจจะเพิ่มความปลอดภัย เช่น ยืนยันตัวตนผ่าน OTP และกำหนดให้ใช้เฉพาะรับเงินโอนเท่านั้น

ตัวอย่างการสร้างบัตรเสมือน SSO Connect เพื่อเพิ่มใน Apple Wallet
ส่วนฝั่งแอนดรอยด์ แม้จะมีแอปพลิเคชัน Google Wallet แต่ก็ยังไม่สามารถใช้งานในไทยได้ เช่นเดียวกับ Samsung Wallet ที่เพิ่งเปิดตัว ขณะนี้ยังใช้ได้เฉพาะบางประเทศ เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี

ส่วนตัวเห็นว่า จุดที่ทำให้ Apple Wallet ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ส่วนหนึ่งเพราะฝั่งแอนดรอยด์ ผู้ใช้งานในไทยยังไม่มี Wallet จึงทำให้เกิดการเปรียบเทียบตามมา ทำนองว่ามีแต่ iOS ของแอปเปิ้ลเท่านั้น

อย่างต่อมา คือ ห้างร้านที่มีโปรแกรมสะสมคะแนน เลือกที่จะนำเมนูบัตรสมาชิก มาอยู่ในแอปพลิเคชันของตัวเอง ซึ่งบางแห่ง เช่น แอปฯ The 1 สามารถพลิกหน้าจอมือถือเป็นแนวนอน เพื่อแสดงบาร์โค้ดและคิวอาร์โค้ดได้

ขณะที่คนไทยเคยชินกับการแจ้งเบอร์โทรศัพท์มือถือเพื่อสะสมคะแนนมากกว่า ตั้งแต่ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ปั๊มน้ำมัน หลายแห่งเลือกที่จะไม่ออกบัตรพลาสติก หรือบัตรแข็งอีกต่อไป

ภายหลังมีเรื่องการถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว เฉกเช่นข่าวที่หญิงรายหนึ่ง ถูกชายที่ไม่รู้จักกันจดจำเบอร์มือถือแล้วพยายามติดต่อเพื่อตามจีบ บางคนจึงเลือกใช้วิธีเปิดแอปฯ ให้สแกนคิวอาร์โค้ดหรือบาร์โค้ดแทนก็มี

ภาพ : The 1
ย้อนกลับมามองที่อิเกีย ประเทศไทย เวลาไปซื้อของ จะรู้เพนพอยต์อย่างหนึ่ง คือการสะสมคะแนน ไม่สามารถบอกเบอร์มือถือได้ ต้องแจ้งรหัสสมาชิก 16 หลัก คนที่ลืมเอาบัตรมา มักจะใช้วิธีพิมพ์บัตรสมาชิกชั่วคราวในสโตร์แทน

เพราะฉะนั้น การนำระบบบัตรสมาชิก eCard ลงใน Apple Wallet เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาลูกค้าลืมบัตรสมาชิก โดยที่ฝั่งผู้ใช้แอนดรอยด์ แม้ประเทศไทยไม่มี Google Wallet ก็ใช้วิธีเพิ่มในหน้าหลัก Home Screen แทน

แม้มองผิวเผินจะดูเสียเปรียบเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ที่เป็นห้างอื่นในกลุ่มเดียวกัน เช่น โฮมโปร บีเอ็นบีโฮม ไทวัสดุ ฯลฯ ที่สามารถแจ้งเบอร์มือถือเพื่อสะสมคะแนนได้ แต่อิเกียถือเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียง และมีกลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่มจริงๆ

หากประเทศไทยมี Google Wallet หรือฝั่งซัมซุงนำ Samsung Wallet มาให้บริการ หลัง Samsung Pay อำลาเมืองไทยไปเมื่อ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา หากส่งเสริมดีๆ อาจจะมีการใช้งานฟังก์ชันนี้อย่างแพร่หลายมากขึ้นก็ได้

เหมือนสแกนจ่ายผ่านคิวอาร์โค้ด ส่วนหนึ่งของระบบพร้อมเพย์ แรกเริ่มเดิมทีถูกมองว่ายุ่งยาก แต่พอภาครัฐส่งเสริมในช่วงโควิดระบาด กลายเป็นว่าผู้คนเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม นิยมสแกนจ่ายแทนเงินสดไปเลย


กำลังโหลดความคิดเห็น