xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟปาดังเบซาร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

หลังหยุดให้บริการมานานกว่า 2 ปี จากสถานการณ์โควิด-19 ล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดให้บริการรถไฟ ชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ฝั่งประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา

(อ่านประกอบ : เปิดแล้ว! รถไฟหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์-มาเลเซีย เชื่อมเส้นทางการท่องเที่ยว 2 ประเทศ หลังหยุดยาวจากโควิด-19)

ตอนที่ได้ยินข่าวก็รู้สึกดีใจ เพราะประมาณปี 2562 เคยแบกเป้นั่งรถไฟ KTM Komuter จากปาดังเบซาร์ 2 ชั่วโมง ไปถึงบัตเตอร์เวอร์ธ แล้วข้ามเรือเฟอร์รี่ไปเที่ยวเกาะปีนัง รู้สึกประทับใจในความทันสมัย สะอาด ปลอดภัย

พอขากลับ ถึงสถานีปาดังเบซาร์แล้ว จ๊อบพาสปอร์ตเสร็จ มาเจอรถไฟไทยนั่งพัดลม รถไฟค่อยๆ ข้ามประตูพรมแดนไทย-มาเลเซีย มาถึงสถานีชุมทางหาดใหญ่ กลับสู่บรรยากาศเดิม ๆ อีกครั้ง พูดอะไรไม่ได้เท่าไหร่

อันที่จริงก็ใช่ว่ารถไฟไทยจะไม่พัฒนาเลยเสียทีเดียว ที่ใกล้เคียงก็มี รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง แต่ยังไปได้ถึงสถานีรังสิต กับสถานีตลิ่งชัน เทียบกับของมาเลเซียมีนับร้อยกิโลเมตร ก็ต้องรอขยายเส้นทางให้ไปไกลกว่านี้กันต่อไป

ก่อนหน้านี้สถานการณ์โควิด-19 เกิดการแพร่ระบาดทั่วโลก ทางการมาเลเซียออกมาตรการห้ามเข้า-ออกประเทศในช่วงที่ผ่านมา รถไฟชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ จึงหยุดให้บริการไปเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563

ภาพเมื่อปี 2562
ย้อนกลับไปในอดีต เราเคยมีขบวนด่วนพิเศษระหว่างประเทศ กรุงเทพ-บัตเตอร์เวอร์ธ และขบวนรถลังกาวี ชุมทางหาดใหญ่-กัวลาลัมเปอร์ ก่อนจะขยายไปถึงสถานียะโฮร์บาห์รู เพื่อเป็นทางเลือกข้ามแดนไปประเทศสิงคโปร์

ส่วนรถไฟชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ (มาเลเซีย) เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2558 สมัยก่อนใช้รถดีเซลรางนั่งปรับอากาศชั้น 2 แต่ทราบว่าสภาพรถไปต่อไม่ไหว จึงเปลี่ยนมาเป็นรถพัดลมแทน

การกลับมาเปิดรถไฟครั้งนี้ ออกจากสถานีชุมทางหาดใหญ่ รับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีคลองแงะ สถานีปาดังเบซาร์ ฝั่งไทย แล้วข้ามแดนไปจอดที่สถานีปาดังเบซาร์ ฝั่งมาเลเซีย ไป-กลับวันละ 4 ขบวน ได้แก่

- ขบวน 947 ชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ออกจากชุมทางหาดใหญ่ 07.30 น. ถึงปาดังเบซาร์ 08.25 น.

- ขบวน 948 ปาดังเบซาร์-ชุมทางหาดใหญ่ ออกจากปาดังเบซาร์ 08.55 น. ถึงชุมทางหาดใหญ่ 09.50 น.

- ขบวน 949 ชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ออกจากชุมทางหาดใหญ่ 14.00 น. ถึงปาดังเบซาร์ 14.55 น.

- ขบวน 950 ปาดังเบซาร์-ชุมทางหาดใหญ่ ออกจากปาดังเบซาร์ 15.40 น. ถึงชุมทางหาดใหญ่ 16.35 น.

เมื่อถึงสถานีปาดังเบซาร์ ฝั่งมาเลเซีย ที่นั่นมีด่านตรวจคนเข้าเมือง สามารถเข้าประเทศมาเลเซียตามขั้นตอนที่กำหนด แล้วต่อรถไฟ KTM Komuter ไปสถานีบัตเตอร์เวอร์ธ หรือรถไฟ ETS ไปกรุงกัวลาลัมเปอร์ได้

ซึ่งถ้าเป็นรถไฟ ETS นำขบวนรถรุ่นใหม่มาให้บริการตั้งแต่ปี 2562 หนึ่งในนั้นจะมีชั้น Business Class ที่นั่งกว้าง มีหน้าจอส่วนตัว และสิ่งอำนวยความสะดวกเทียบกับชั้นธุรกิจของสายการบิน

ปัจจุบัน คนไทยที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศมาเลเซีย จำเป็นต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน MySejahtera โดยกรอกข้อมูลแบบฟอร์มที่เรียกว่า Digital Pre-Departure Form (DPDF) ในเมนู Traveller แล้วนำมาแสดงแก่เจ้าหน้าที่

ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดส ลงทะเบียนแล้วเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว แต่ถ้าไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนไม่ครบโดส ต้องตรวจ RT-PCR ก่อนออกเดินทาง 2 วัน ตรวจ RTK-Ag ภายใต้การดูแลภายใน 24 ชั่วโมง และกักตัวอีก 5 วัน

(โปรดตรวจสอบมาตรการเดินทางเข้าประเทศมาเลเซียอีกครั้ง ได้ที่เว็บไซต์ https://mysafetravel.gov.my)

ภาพ : KTM Berhad
น่าสังเกตว่า การรถไฟมาลายา (KTM Berhad) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเดินรถไฟฝั่งประเทศมาเลเซีย โปรโมตขบวนรถไฟหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ จากประเทศไทยมาตั้งแต่ต้นเดือน ชาวมาเลเซียให้ความสนใจไม่น้อย

แต่สำหรับการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่พบว่ามีการประชาสัมพันธ์รถไฟหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์เลย มีเพียงนายสถานีชุมทางหาดใหญ่ออกมาให้ข่าว และสื่อมวลชนเพียงไม่กี่สำนักเท่านั้นที่นำเสนอข่าว

ตอนนี้ที่หาดใหญ่ รถทัวร์หาดใหญ่-กัวลาลัมเปอร์ กลับมาเปิดให้บริการแล้ว รถทัวร์หาดใหญ่-สิงคโปร์ จะเปิดให้บริการตามมา ไม่นับรวมเที่ยวบินแอร์เอเชียจากกัวลาลัมเปอร์ และสกู๊ตจากสิงคโปร์เข้ามาอีก

ทราบมาว่า หลังเปิดการเดินรถไฟชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ คนในพื้นที่ต่างรู้สึกดีใจที่รถไฟกลับมาวิ่งอีกครั้ง หวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ และเห็นว่ารถไฟไทยน่าจะปรับปรุงให้ทัดเทียมกับมาเลเซีย

ฟังแล้วทำให้นึกถึงโครงการรถไฟทางคู่ ชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร งบประมาณ 6,660 ล้านบาท พบว่าอยู่ในระหว่างผลักดันให้เป็น 1 ใน 7 เส้นทาง โครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2

แต่ที่จะได้ก่อสร้างก่อนใครเพื่อน คือ โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร งบประมาณ 29,700 ล้านบาท ทราบว่าเตรียมจะยื่นเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนสิงหาคมนี้

สำหรับรูปแบบเส้นทางชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ จะเป็นรถไฟทางคู่ระบบปิด โครงสร้างพื้นดินและทางยกระดับ มีสถานีทั้งหมด 3 สถานี ได้แก่ สถานีศาลาทุ่งลุง สถานีคลองแงะ (ยกระดับ) และสถานีปาดังเบซาร์ (ฝั่งไทย)

ส่วนป้ายหยุดรถมี 3 จุด ได้แก่ ป้ายหยุดรถบ้านพรุ ป้ายหยุดรถคลองรำ ป้ายหยุดรถบ้านท่าข่อย และมีย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า (Container Yard หรือ CY) 1 แห่ง คือ สถานีปาดังเบซาร์ (ฝั่งไทย)


เดิมโครงการนี้จะติดตั้งระบบจ่ายไฟฟ้า เพื่อรองรับการขยายเส้นทางรถไฟฟ้า ETS จากกรุงกัวลาลัมเปอร์ให้เข้ามาถึงสถานีชุมทางหาดใหญ่ แต่ปีที่แล้ว สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) กลับไม่เห็นด้วย

ให้เหตุผลว่า การติดตั้งระบบจ่ายไฟฟ้า อาจจะเอื้อประโยชน์ให้กับมาเลเซีย ขอให้การรถไฟฯ ทบทวนโดยถอดระบบจ่ายไฟฟ้าออก และปรับให้เป็นรถไฟทางคู่เหมือนโครงการอื่นแทน

ตอนนั้นเป็นที่วิจารณ์กันว่า ทำไมสภาพัฒน์ฯ ถึงถ่วงความเจริญ เพราะการเพิ่มระบบจ่ายไฟฟ้า ไม่ใช่แค่คนมาเลย์ได้ประโยชน์ แต่คนหาดใหญ่ก็ได้ประโยชน์จากนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาด้วย แทนที่จะทำให้เชื่อมต่อกันได้สะดวก

แต่ก็มีคนเห็นแย้งว่า รถไฟโซนภาคใต้ยังไม่มีรถไฟฟ้า ถ้าจะทำก็ต้องทำใหม่หมด แต่หากก่อสร้างแล้วให้ฝั่งมาเลเซียเดินรถ อาจจะเสียสิทธิ์เส้นทางตกเป็นของมาเลเซีย ขนาดเสาจ่ายไฟฟ้าล้ำมายังฝั่งไทย ยังทำอะไรไม่ได้เลย

อีกสิ่งหนึ่งที่ยังสงสัยก็คือ การรถไฟฯ ยังคงใช้รถพัดลมให้บริการ โดยให้เหตุผลว่า “รถปรับอากาศไม่เพียงพอ” ซึ่งยังเกิดขึ้นกับการให้บริการรถไฟฟีดเดอร์ ธนบุรี-นครปฐม เพื่อรองรับรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่สถานีชุมทางตลิ่งชัน

ภาพ : KTM Berhad
การรถไฟฯ มีแผนจัดหารถดีเซลรางปรับอากาศ (Hybrid DMU) 184 คัน งบประมาณ 14,260 ล้านบาท สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ แต่สภาพัฒน์ฯ กำลังพิจารณาว่า จะเอารถไฟ EV หรือไฮบริด และจะเช่าหรือจะซื้อ

ไม่นับรวมโครงการจัดหารถดีเซลรางปรับอากาศอีก 216 คัน จัดหารถจักรสับเปลี่ยน 20 คัน เช่ารถจักรดีเซลไฟฟ้า 30 คัน จัดหารถดีเซลรางปรับอากาศ รองรับรถไฟทางคู่ เฟส 1 อีก 332 คัน

จัดหารถดีเซลรางปรับอากาศ รองรับรถไฟทางคู่สายใหม่ เชียงของและนครพนม อีก 102 คัน รองรับรถไฟทางคู่ เฟส 2 อีก 192 คัน และจัดหารถดีเซลราง ทดแทนรถโดยสารท้องถิ่นทั่วประเทศ อีก 148 คัน

รวมกันแล้ว 1,294 คัน วงเงินกว่า 1.1 แสนล้านบาท ตามแผนระยะยาวปี 2565-2576 ไม่นับรวมโครงการจัดหารถจักรไฮบริด ที่จะแบ่งออกเป็นเฟสแรก 20 คัน และเฟสสองอีก 50 คัน

(อ่านประกอบ : ส่องแผน "รถไฟ EV" อนาคตระบบรางไทย จาก "ดีเซล" สู่ "รถไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่" พลิกโฉม "ผู้นำระบบรางของอาเซียน")

ใจจริงถ้ารถดีเซลรางปรับอากาศมาถึงแล้ว อยากให้รีบนำมาใช้กับรถไฟฟีดเดอร์ ธนบุรี-นครปฐม, รังสิต-อยุธยา (เร็วๆ นี้) เพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง รวมทั้งรถไฟชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ เพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้ามาเลเซียด้วย

แม้จะต้องเปลี่ยนขบวนรถไฟกลางทาง แต่เมื่อเป็นรถปรับอากาศ และสภาพอากาศที่ร้อนตอนกลางวัน ก็ทำให้เกิดการเดินทางแบบไร้รอยต่อ และจูงใจให้คนหันมาใช้บริการระบบรางได้ รวมทั้งรองรับนักท่องเที่ยวแบบกลุ่ม

ในเมื่อโครงการรถไฟทางคู่หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ จะไม่ทำระบบจ่ายไฟฟ้าแล้ว ถ้าถึงเวลาอันสมควร จัดหารถปรับอากาศมาใหม่แล้ว ก็ควรนำมาอำนวยความสะดวกแก่นักเดินทางทั้งสองประเทศน่าจะดี

ภาพเมื่อปี 2562
กำลังโหลดความคิดเห็น